เอหิปัสสิโก : เราจะดู เอหิปัสสิโก ในฐานะภาพยนตร์เรียงความ (essay film) อย่างไร?

(2019, ณฐพล บุญประกอบ)

เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า เอหิปัสสิโก หรือ Come and See เป็นหนังสารคดีที่ ‘เกี่ยวกับ’ ธรรมกาย พอเรามองหนังเป็นสารคดี แปลว่าเราคาดหวังหนังที่จะให้ข้อมูลกับเราอย่างตรงไปตรงมา ประหนึ่งว่าหนัง (หรือที่จริงคือคนทำหนัง) ไปเก็บเกี่ยวข้อมูลมาเต็มกระบุงและนำมาวางแผ่บนพื้นผิวของจอให้ผู้ชมได้ชมดู ได้เห็นสิ่งที่หนังรวบรวมมาตรงหน้าอย่างชัดๆ กระจะตา

ตรงข้ามกับการรวบรวมวัตถุดิบแบบสารคดี ภาพยนตร์เรียงความมีวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างออกไป ภาพยนตร์แนวนี้ทำงานไม่เหมือนกับสารคดี ในขณะที่สารคดีมุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดซับเจกต์ที่หนังเลือกอย่างหมดจดกระจ่างชัด essay film มุ่งหน้าหาทางจาระไนความคิดภายในของผู้สร้างให้ออกมาเป็นภาพ กล่าวคือถ้าสารคดีแบบทั่วไปสิ่งสำคัญคือตัวซับเจกต์เบื้องหน้ากล้อง พันธกิจของสารคดีต่อคนดูคือพาคนดูไปเข้าใจซับเจกต์ที่หนังเลือกมาอย่างชื่อตรงชัดแจ้งเป็นกลางอย่างภววิสัย ในขณะที่ essay film หรือเรียงความสนใจในความคิดเห็นของผู้สร้าง ว่าผู้สร้างจะใช้สื่อภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหวถ่ายทอดความคิดข้างในตัวเองออกมาอย่างไร โดยมิต้องเลือกเอาขนบใดขนบหนึ่งของทั้งหนัง fiction และสารคดีมายึดในการนำเสนอ

โดยเบื้องต้นทั่วไป เอหิปัสสิโก ก็คือหนังสารคดี ‘เกี่ยวกับ’ ธรรมกายในช่วงที่รัฐบาล คสช. จะเข้าไปจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโยในคดียักยอกทรัพย์ แต่จากจุดเริ่มต้นจุดนี้ เอหิปัสสิโกพาคนดูไปสู่ข้อสังเกตถึงสังคมไทยที่อาจจะแหลมคมที่สุดเท่าที่หนังไทยขนาดยาวฉายโรงจะพาไปถึง

โดยโครงสร้างแล้วเราอาจจะแบ่งหนังหยาบๆ ออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกพูดถึงธรรมกายในแง่มุมทั่วไป ก่อนที่ก้อนหลังจะค่อยไปโฟกัสกับข่าวการจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโย

โดยในก้อนแรกหนังดำเนินเรื่องไปด้วยลักษณะแบบวิภาษวิธี ซึ่งคือการที่หนังนำเสนอความเห็นด้านหนึ่ง (thesis) ก่อนจะตบด้วยความเห็นด้านตรงข้าม (antithesis) ก่อนจะมีการประสมประสานทั้ง 2 ฝั่งกลายเป็น synthesis ซึ่งทำให้อะไรที่เราคิดว่าเป็นขั้วตรงข้ามกันในคราแรกกลายมาเป็นเรื่องเดียวกันในท้ายที่สุด

โดยในจังหวะแรกนั้นหนังเหมือนวางคนดูไว้ในฐานะคนนอกที่มองเข้ามาในโลกของธรรมกาย หนังนำเสนอความเห็นของฝั่งที่ต่อต้าน ไม่ว่าจะจากทางรัฐ (ตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ) จากอดีตพระสงฆ์ในวัด อดีตสาวกที่เคยเข้าไปแล้วหมดศรัทธาออกมา แล้วหนังก็ขยับไปเสนอฝั่งที่สนับสนุนไม่ว่าจะสาวกปัจจุบัน หรือพระหัวหน้าประชาสัมพันธ์ของวัด หนังพยายามเกลี่ยความเห็น 2 ฝั่งให้ไม่ถ่วงไปด้านใดด้านหนึ่งตลอดในช่วงแรกของเรื่องก่อนที่หนังจะประสม 2 ด้านเข้าด้วยกันผ่านการสัมภาษณ์นักวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของธรรมกายไม่ได้เป็นปัญหาว่าตัววัดไม่ใช่พุทธแท้หรือเป็นพุทธที่ผิดเพี้ยนแบบที่ฝั่งต่อต้านว่าไว้ แต่เพราะธรรมกายเป็นตัวอย่างขั้นปรมัตถ์ของความเป็นพุทธไทย ซึ่งก็คือเป็นพุทธพาณิชย์เน้นการบูชาในแบบที่วัดอื่นๆ ในไทยก็เป็นเช่นกันเพียงแต่อาจไปไม่ถึง ธรรมกายจึงไม่ได้ผิดเพราะทำตัวเหมือนเด็กเกเรที่ไม่ทำตามเด็กคนอื่น แต่ผิดเพราะทำได้ดีมากจนเด็กคนอื่นมองด้วยสายตาขุ่นเคือง

แต่เพราะธรรมกายเป็นตัวอย่างขั้นปรมัตถ์ของความเป็นพุทธไทย ซึ่งก็คือเป็นพุทธพาณิชย์เน้นการบูชาในแบบที่วัดอื่นๆ ในไทยก็เป็นเช่นกันเพียงแต่อาจไปไม่ถึง ธรรมกายจึงไม่ได้ผิดเพราะทำตัวเหมือนเด็กเกเรที่ไม่ทำตามเด็กคนอื่น แต่ผิดเพราะทำได้ดีมากจนเด็กคนอื่นมองด้วยสายตาขุ่นเคือง

และในช่วงที่เสียงสัมภาษณ์ของนักวิชาการชี้ให้เห็นจุดร่วมมากกว่าจุดต่างนี้เอง ภาพของหนังก็หลุดลอยออกจากขอบเขตของวัดธรรมกายและไปเฝ้าสังเกตชีวิตนอกวัด ของคนเดินถนน คนสวดมนต์ประกอบพิธีกรรมในวัดอื่นๆ ที่มีมิติของความเชื่อที่ดู “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” และ “งมงาย” อยู่ด้วย และภาพที่สำคัญมากอันนึงคือร้านขายพระพุทธรูปที่เป็นภาพแทนที่ชัดที่สุดของมิติความเป็นสินค้าของพุทธ พระพุทธรูปที่ไม่ได้ไว้กราบไหว้แต่เป็นสินค้าวัตถุที่วางขายในร้านเป็นสิบๆ กินพื้นที่เกินล้นออกมาทางเท้า ถูกจับโยกย้ายขึ้นรถกระบะไปส่งตามที่หมายเหมือนสินค้าทั่วไป

และจุดนี้เองที่มิติของความเป็น essay film ของหนังพาเนื้อหาเกินเลยไปจากสารคดีเกี่ยวกับธรรมกาย ในช่วงนี้หนังใช้ภาษาการตัดต่อแบบมอนตาจที่เรียงร้อยภาพที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนแต่มีกระบวนทัศน์เบื้องลึกบางอย่างร่วมกัน หนังช่วงนี้ไม่ได้ติดตามซับเจกต์คนใดคนนึง แต่เสนอภาพที่ผ่านการออกแบบของคนทำหนังเองที่มุ่งเน้นจะใช้ฟุตเตจในการตั้งคำถามต่อที่ทางของธรรมกายในสายตาคนนอกวัด จุดสำคัญอีกอันในช่วงนี้คือการพูดถึงความเป็นภัยของธรรมกายที่สร้างศรัทธาต่อคนจำนวนมากจนกลายเป็นความหวาดกลัวของรัฐไทย (อย่างที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนนึงพูดว่า ธรรมกายสามารถยึดประเทศไทยได้) เพราะความศรัทธาที่ว่านั้นมันกระทบกับ ‘สถาบัน’ อื่นในสังคมไทย ณ ตรงนี้หนังได้สลายเส้นลากแบ่งที่กำหนดขอบเขตว่าปัญหาของธรรมกายเกิดขึ้นในกำแพงวัดเพียงถ่ายเดียว แต่ปัญหาของธรรมกายกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมที่มีคนแบบธัมมชโยขึ้นมาเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมากมายอย่างชวนพรั่นพรึง ธัมมชโยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวในสังคมที่ดำรงตำแหน่งนี้ได้ ยังมีคนอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เพียงแต่เขาไม่ถูกตั้งคำถามในแบบเดียวกัน

เพราะความศรัทธาที่ว่านั้นมันกระทบกับ ‘สถาบัน’ อื่นในสังคมไทย ณ ตรงนี้หนังได้สลายเส้นลากแบ่งที่กำหนดขอบเขตว่าปัญหาของธรรมกายเกิดขึ้นในกำแพงวัดเพียงถ่ายเดียว แต่ปัญหาของธรรมกายกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมที่มีคนแบบธัมมชโยขึ้นมาเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนมากมายอย่างชวนพรั่นพรึง ธัมมชโยไม่ได้เป็นบุคคลเดียวในสังคมที่ดำรงตำแหน่งนี้ได้ ยังมีคนอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เพียงแต่เขาไม่ถูกตั้งคำถามในแบบเดียวกัน

และหลังจากก้อนแรกของหนังพาคนดูไปเสาะสำรวจที่ทางของธรรมกายในสังคมไทยในระดับทั่วไป ในครึ่งหลังหนังก็ส่งไม้ผลัดไปสู่ภาพเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจับกุมเจ้าอาวาสธัมมชโยโดยมีศิษยานุศิษย์พากันมาปกป้อง อันเหตุการณ์ที่ว่าสร้างความประพิมพ์ประพายกับเรื่องนอกจอในปัจจุบันขณะอย่างชวนฉงนฉงาย

เอหิปัสสิโก เริ่มถ่ายทำ 2017 ก่อนได้ไปฉายเวิลด์พรีเมียร์ที่เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เกาหลีใต้ปี 2019 และกว่าจะได้ฉายในไทยก็คือปีนี้ 2021 หนังกินเวลาตั้งแต่เริ่มเดินทางเป็นเวลาเกือบ 4 ปี แต่เมื่อตัวผู้เขียนได้ดูหนังใหม่อีกครั้ง ผู้เขียนก็เกิดคำถามว่าหรือการดูหนังเรื่องนี้ในปีนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ?

ครึ่งหลังของเรื่องหนังไปเฝ้าสังเกตช่วงที่มีการจับกุมธัมมชโย รัฐไทยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่วัดและเจอกับประดาศิษยานุศิษย์จำนวนมากออกมาต่อต้านการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ภาพของประดาสาวกวัดออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐพ้องพานไปกับเหตุการณ์ประท้วงในปัจจุบันที่ประชาชนต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกัน ถึงที่สุดทั้ง 2 เหตุการณ์มีความแตกต่างกันมากมาย แต่เราก็เห็นรูปแบบของฝั่งรัฐในการจัดการกับศัตรูของตัวเองอย่างชวนกังขาน่าตั้งคำถามอยู่เสมอ ในตอนหนึ่งที่ศิษย์ของวัดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า เจ้าอาวาสจะยอมมอบตัวให้มีการสืบสวนก็ต่อเมื่อเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นทั้งเรื่องชวนหัวและเรื่องน่าเศร้า มันตลกเพราะเราอาจจะคิดคำเสนอนั้นไม่ได้มาจากความจริงใจ แต่เป็นคำบอกปัดเพื่อยื้อการจับกุมก็ได้ แต่มันก็เศร้าเพราะในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการรัฐจริง? เมื่อรัฐผู้ซึ่งควรเป็นคนผดุงความยุติธรรมผ่านกฎหมายกลับบิดเบือนกฎหมายเพื่อผดุงผลประโยชน์ของตนอยู่ร่ำไป?

เอหิปัสสิโกจึงเป็นหนังที่ทำหน้าที่มากกว่าสิ่งที่มันตั้งใจจะทำในตอนแรก ไม่ว่าจะด้วยลีลาภาษาหนังที่ออกแบบมาเพื่อชี้ให้เห็นนัยซ่อนเร้น หรือทั้งวันกำหนดออกฉายที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งสองอย่างประสมกันอย่างประหลาดลงตัวและทำให้หนังเป็นมากกว่าสารคดี “เฉพาะ” เรื่องธรรมกาย แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าการขยับเขยื้อนของสังคมไทยตั้งแต่ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. มาจนยุคเลือกตั้ง สว. 250 คน ระยะทางที่สังคมไทยเคลื่อนตัวนั้นไม่ได้ไปไกลกว่าจุดสตาร์ทเท่าไหร่เลย

LATEST REVIEWS