Home Article FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 1)

FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 1)

0
FILM CLUB List : Queer Cinema (Part 1)

ในทศวรรษที่ 1950’s – 60’s การเป็นรักร่วมเพศในอเมริกานั้นยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บรรดาคนหนุ่มสาวที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นรักร่วมเพศจะถูกตีตราจากสังคมและมีชีวิตยากลำบาก ในช่วงเวลานั้น เกย์และเลสเบี้ยนบาร์จำนวนหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใน Greenwich Village ที่อยู่ในแมนฮัตตัน และหนึ่งในนั้นคือ Stonewall Inn 

คืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกเข้าไปใน Stonewall Inn เพื่อตรวจค้นบรรดาผู้คนในบาร์ถูกกักตัว และขอให้แสดงบัตรประจำตัว คนที่แต่งเป็นหญิงจะถูกตำรวจหญิงเรียกเข้าไปตรวจในห้องน้ำเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย การต้องแสดงบัตรประจำตัวเท่ากับเป็นการต้องเปิดเผยรสนิยมทางเพศไปในตัว ความกลัวแผ่ไปทั่ว และก่อตัวเป็นความไม่พอใจ บรรดาลูกค้าในบาร์ขัดขืนเจ้าหน้าที่ บางคนที่ถูกปล่อยตัวก็ไม่ยอมกลับและออกมายืนดูเหตุการณ์จนเมื่อเริ่มมีตะโกนด่าไปมา และเจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลังกับผู้คน ความรุนแรงก็ย่อมๆ ก็เริ่มต้นขึ้น 

เหตุจลาจลที่ Stonewall จุดประกายการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหว LGBT จำนวนมาก ผลิดอกออกผลไปสู่การต่อสู้หลากรูปแบบ ทั้งการรวมตัวประท้วง การจัดตั้งองค์กร การรณรงค์ให้แต่ละคนออกมาเปิดเผยตัว รวมไปถึงการเดินพาเหรดเพื่อแสดงตัวตนของตนเองในนาม Pride March ซึ่งในเวลาต่อมาก็ขยายตัวออกไปยังที่ต่างๆ ของโลก

คำว่า ‘Queer’ นั้น อาจแปลตรงตัวว่า ‘ประหลาด แปลก พิลึก’ หากมันถูกนำมาใช้ในการเป็นคำเหยียดหยามดูถูกรสนิยมรักร่วมเพศมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เราอาจบอกได้ว่าเดิมทีเดียวคำว่า Queer โดยตัวของมันเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ จนกระทั่งในอีกนับร้อยปีต่อมาเหล่านักกิจกรรมสิทธิรักร่วมเพศเริ่มช่วงชิงความหมายของมันจากความหมายดั้งเดิม การฉกฉวยเรียกตัวเองว่า Queer เสียเองทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ท้าทายและต่อต้านความหมายดั้งเดิมของมัน คำว่า Queer กลายเป็นความหมายของการไม่ยอมจำนน การต่อสู้ และความภาคภูมิใจ

ในตอนนี้ คำว่า Queer กลายเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุม ว่าด้วยใครก็ตามที่ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศที่ตรงกับเพศของตนหรือตรงกับขนบทางเพศแบบรักต่างเพศที่บอกว่าผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง Queer จึงเป็นความเป็นไปได้ของความหลากหลายที่มากกว่าแค่การเป็นเกย์ เลสเบี้ยนหรือการข้ามเพศ

New Queer Cinema เป็นคำศัพท์ที่เริ่มใช้กันในช่วงทศวรรษ 1990’s เพื่อเรียกการเคลื่อนไหวแวดวงคนทำหนังอิสระ ที่เริ่มพูดถึงการแสวงหาอัตลักษณ์ทางเพศที่ท้าทายทั้งต่อง ‘ขนบของรักต่างเพศ’ และในขณะเดียวกันก็ต่อต้านการพยายามสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของขบวนการ gay liberation movement ในทศวรรษที่ 1980’s เมื่อตัวละครในหนังเหล่านี้ไม่ได้เป็นเกย์/เลสเบี้ยน/ทรานส์ตามขนบอีกต่อไป ไม่ได้เป็นแค่รักร่วมเพศที่ดีตามขนบสังคม พวกเธอและเขาเต็มไปด้วยความสับสนท่ามกลางความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และต่อสู้เพื่อขยายพรมแดนของตน

New Queer Cinema มีคำว่า New เพราะ Queer Cinema มีมาก่อน อาจจะก่อนที่คำนี้ถูกบัญญัติขึ้น หลายเรื่องก็ไม่ได้เกิดจากคนทำหนังที่เป็น LGBT ในยุค 1960’s และ 1970’s คนทำหนังอย่าง Fassbinder หรือ Ulrike Ottinger คือภาพแทนที่งดงามของหนัง Queer ที่มาก่อนกาล และเป็นต้นธารของหนัง Queer มาจนปัจจุบัน

เดือนมิถุนายนจึงเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิ (Pride Month) เดือนแห่งการตระหนักรู้ถึงตัวตนที่หลากหลายของผู้คน ไม่ใช่แค่เกย์ เลสเบี้ยน หรือทรานส์ ใน Queer Cinema นี้เรายังหมายรวมไปถึงภาพยนตร์ที่สำรวจความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ของผู้คน การไปพ้นจากขนบแบบรักต่างเพศในแบบต่างๆ หนังที่ไม่ได้มีหน้าที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ แต่ขุดค้น ตั้งคำถาม ท้าทาย ทั้งต่อความเป็นรักต่างเพศและความเป็นรักร่วมเพศ Queer ได้พาเราให้พ้นไปจากการแบ่งแยกและหลอมรวม พ้นจากความเป็นไปไม่ได้สู่ความเป็นไปได้ 

และในโอกาส​ Pride Month นี้ Film Club ได้ชักชวนผู้คน ทั้งนักวิจารณ์ คนทำหนัง และคนดูหนังจำนวนหนึ่งมาร่วมกันเลือกภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศของผู้คน โดยแต่ละท่านมีอิสระในการเลือก ภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด ทั้งภาพยนตร์ หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงมิวสิควิดีโอ โฆษณา หรือแม้แต่ คลิปไวรัล 

และนี่คือรายชื่อที่เราได้มาในรอบแรก


วรรษชล ศิริจันทนันท์ : นักเขียนประจำ Film Club

House of Tolerance (2011, Bertrand Bonello, France)

หนังของโบเนลโลมีความเควียร์เป็นส่วนประกอบอยู่เรื่อยๆ ใน Saint Laurent (2014) นั้นชัดเจนเพราะเขาตั้งใจนำเสนอภาพชีวิตอันฉูดฉาดของแซงต์ โลรองต์แบบเต็มๆ หรือใน Nocturama (2016, ชมได้ใน Netflix) ก็มีตัวละครวัยรุ่นชายแต่งแดร็กออกมาเดินกรีดกราย แต่ใน House of Tolerance (ในอีกชื่อว่า House of Pleasures) เป็นความเควียร์อีกแบบ นั่นคือถึงแม้จะเป็นเรื่องของกลุ่มโสเภณีในซ่องชั้นสูงที่รับแต่ลูกค้าอีลีทและร่ำรวย ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงชะตากรรมของพวกเธอที่ต้องก้มหน้ารับผลจากความรุนแรงและความปรารถนาของลูกค้าเพศชายมากหน้าหลายตา แต่ความเป็นเฟมินิสต์ดูเหมือนจะครอบคลุมเพียงแค่เนเรทีฟของหนังเท่านั้น วิธีการและตัวเลือกทางศิลปะของหนังกลับดูเควียร์ เพราะเรื่องเกิดขึ้นในที่ที่ครองโดยคนเพศเดียว เมื่อปรากฏคนหรือสิ่งที่ไม่ใช่ heterosexual female (ที่โบเนลโลนำเสนอด้วยสายตาของผู้สังเกตการณ์และเว้นระยะห่างจนแลดูเป็นธรรมชาติและสมจริง) มันจึงดูแปลกปลอมทันที 

หนึ่งในตัวละครหลักที่โดนกรีดปากตอนต้นเรื่องโดนทรีตเหมือนไม่ใช่คนในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง และหนักกว่านั้นเมื่อถูกพูดถึงว่าเหมือนตุ๊กตาเก่าๆ, อีกตัวละครหนึ่งถูกลูกค้าขอให้เล่น role play เป็นตุ๊กตาที่ขยับแขนขาทีละสเต็ปเหมือนหุ่นยนต์, มีสองตัวละครที่ดูสนิทและหลงใหลกันเป็นพิเศษ นอนกอดจูบกัน ทำผมให้กัน อยู่ด้วยกันมากกว่าคนอื่น, มีฉากที่ตัวละคร 6-7 คนกอดจูบลูบคลำกัน ประกอบด้วยผู้หญิงสาวในร่างเปลือยสอง ผู้หญิงแก่สอง คนแคระหญิงหนึ่ง ผู้ชายหนึ่ง และโสเภณีคนที่โดนกรีดปาก นอกจากนั้นยังมีเสือดำตัวหนึ่งที่ลูกค้าจูงเข้ามานอนบนโซฟากำมะหยี่ในซ่องในฐานะสัตว์เลี้ยง — เป็นความเควียร์ในฐานะความเป็นอื่น อื่นไปจากเพศสองขั้ว จากคนกับสัตว์สิ่งของ จากความปกติกับความไม่ปกติ แล้วทุกอย่างก็เลือนไปจนดูไม่ออกอีกแล้วว่าอะไรที่ปกติธรรมดาในโลกของหนังเรื่องนี้


ธีรพันธ์ ​เงาจีนานันต์ : ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ไกลบ้าน 

Laurence Anyways (2012, Xavier Dolan, France/Canada)

ที่ประทับใจเรื่องนี้เพราะว่ามันเป็นประสบการณ์แรกๆ ที่ได้สัมผัสบทสนทนาเรื่องเพศอย่างจัดจ้านในภาพยนตร์ ย้อนไปเมื่อเกือบสิบปีก่อนเท่าที่จำได้คือบทสนทนาเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศยังไม่ถูกพูดคุยในวงกว้างแบบปัจจุบัน 

หนังเรื่องนี้พาผมในฐานะผู้ชมให้แหกขนบของหลักคิดเรื่องเพศแบบ binary แบบพาไปไกลแสนไกล หนังพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่งอยู่กับข้อจำกัดและขนบของความคิดในเรื่องเพศ และตัวละครก็มีท่าทีท้าทายความสะดวกสบายใจของสังคมอยู่หน่อยๆ

หลังจากดูจบมันทำให้ผมได้มีบทสนทนากับตัวเองเยอะมากๆ และมองอัตลักษณ์ของเรากับโลกใบนี้เปลี่ยนไปเลย


สรยศ ประภาพันธ์ : ผู้กำกับหนังสั้น Death of A Soundman, ดาวอินดี้, บุญเริ่ม

Stranger by the Lake (2013, Alain Guiraudie, France)

ว่ายน้ำ/อาบแดด/เพศสัมพันธ์/ฆาตกรรม


วรุต พรชัยประสาทกุล : cinephile

Entre Nous (1983, Diane Kurys, France)

หนึ่งในหนังความสัมพันธ์ที่เราชอบที่สุด มันเล่าเรื่องราวของหญิงสองคนที่คนหนึ่งหลบรอดออกมาจากค่ายกักกันในช่วงสงครามโลกได้จากการยอมแกล้งแต่งงานกับนายทหาร ขณะที่หญิงอีกคนเคยสูญเสียสามีข้าวใหม่ปลามันระหว่างเหตุบ้านการเมือง แต่แทนที่หนังจะถ่ายทอดการต้องระหกระเหินหรือผลกระทบที่รุนแรงจากความเป็นไปของโลก เวลาเกือบทั้งหมดของหนังหันไปจับจ้องช่วงเวลากว่าสิบปีจากนั้นหลังทั้งคู่มาเจอกัน เล่าชีวิตอันสามัญของครอบครัวธรรมดาๆ กับความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคน ราวกับพยายามจะรื้อถอนว่าอะไรคือ ’เรื่องสำคัญ’ ในสายตาของภาพยนตร์เสียใหม่ หรือบอกอ้อมๆ ว่าเรื่องแบบใดก็อาจเป็นภาพยนตร์ได้ไม่น้อยไปกว่าเรื่องอีกแบบที่ดูจะใหญ่โตกว่า หรืออาจเพราะจริงๆ มันก็หนักหนาสาหัสหรือรับมือได้ยากไม่แพ้กันเลย

เราประทับใจที่หนังชวนให้เราตั้งคำถามต่อคำว่าคู่ชีวิตว่ามันจำเป็นหรือที่ต้องเป็นผัวเมียเท่านั้นถึงจะเป็นคู่ชีวิตกันได้ และให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นทางความสัมพันธ์ หนังแสดงความง่อนแง่นและน่าอึดอัดของความสัมพันธ์ผัวเมียชายหญิงดั้งเดิมที่ผูกมากับความรู้สึกของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความเย้ายวนอื่นที่เข้ามาและความเบื่อหน่ายอันเป็นธรรมชาตินิรันดร์ของมนุษย์ที่ขนบดังกล่าวพยายามกดไว้ ไหนจะบทบาทของคนเป็นแม่ที่ถูกคาดหวัง หากชีวิตอีกแบบบนความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างหญิงสองคนไม่ได้กำหนดให้เธอและเธอต้องเป็นอะไรเลย แต่ความสัมพันธ์แบบนี้กลับดูจะมั่นคงเสียกว่า เราจะเห็นว่าทั้งคู่วางแผนจะมีกิจการด้วยกันได้ พวกเธอดูมีความสุข สบายใจ เป็นตัวเอง มีคนเข้าใจและได้ลิ้มรสของชีวิตเวลาพวกเธออยู่ด้วยกันมากกว่าตอนที่อยู่กับผัวหรือกระทั่งลูกๆ

เราชอบที่หนังทำให้เรายิ่งเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ความสัมพันธ์เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเดียวตายตัวจะเข้ากันพอดีกับทุกคนบนโลกที่แตกต่างหลากหลายขนาดนี้ ความสนิทแนบแน่นระหว่างพวกเธอจึงอาจไม่ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์เก่าลงแต่เพราะมันตอบโจทย์ชีวิตของพวกเธอมากกว่า ซึ่งที่น่าสนใจสุดๆ ก็คือแม้มันจะมีความลึกซึ้ง มีความรู้สึกซับซ้อนบางอย่างที่วูบไหวและใกล้ชิดกว่าเพื่อนผ่านคำพูด น้ำเสียง สายตาที่พวกเธอมองกัน สัมผัส หรือท่าทีบางอย่างที่ให้บรรยากาศ แต่หนังก็ไม่ได้เผยให้เห็นเลยว่าพวกเธอปลดปล่อยความปรารถนาทางเพศต่อกันและกัน หรือมีรสนิยมทางเพศแบบหญิงรักหญิง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงดูจะท้าทายความเชื่อที่ว่าคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ประคับประคองกัน ควรเป็นคู่เดียวกันกับคู่เซ็กซ์ การที่พวกเธออาจไม่ได้มีซัมติงกันเลยก็ได้ ยิ่งทำให้เธอหลบซ่อนหรือปิดบังกันน้อยกว่า เปิดกว้างและจริงใจทั้งต่อตัวเองและอีกคนกว่าเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ผัวเมียดั้งเดิม

เราอยากให้ทุกคนได้ดูหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะหนังมันงดงามมากๆ จริงๆ ถ่ายภาพก็สวย หนังยังเต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญในชีวิตแต่น่าสนใจในตัวมันเอง นักแสดงก็เล่นกันละเอียดมาก เคมีดีมาก และไม่ใช่แค่กับนางเอกทั้งสองคนเท่านั้น เรายังชอบตัวละครชายกับอาการแหลกสลายของเขา และการที่หนังให้ฝ่ายหญิงเย็นชา หรือดูจะไร้หัวใจมากๆ ในตอนท้ายๆ แต่หนังก็ไม่ตัดสิน มันเป็นเพียงเรื่องน่าเศร้าแต่ก็จริงที่สุดแล้วที่หลายๆ ครั้งเรื่องอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์มักเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ไม่ว่าจะตอนที่มันงอกเงยหรือสูญสิ้นลง และหนังยังมีการขึ้นประโยคปิดท้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยเห็นมา


ภาณุ อารี : ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล, นักเขียนประจำ Film Club

สัตว์ประหลาด (2004, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

พิจารณาจากช่วงปีที่ฉาย ถือว่าหนังไปไกลก้าวข้ามขนบหนัง LGBT ในช่วงเวลานั้น สังคมที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้เป็นยูโทเปียที่มีความ realistic มากๆ


กิตติกา บุญมาไชย : cinephile

เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2012, จิรัศยา วงษ์สุทิน)

ภาพยนตร์สั้นยุคต้นของ จิรัศยา (ผู้กำกับซี่รีส์ 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ) บอกเล่าโมงยามของสองสาวเพื่อนสนิทที่จะต้องจากลาผ่านการตีแบดมินตัน ความใกล้ชิด บรรยากาศของความโหยหา ความพร่าเลือนของมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ที่มากไปกว่านั้น 

จิรัศยาขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่เข้าใจโลกอันละเอียดอ่อนของผู้หญิงเสมอ ภาพยนตร์สั้นเรื่องดังของเธออย่าง วันนั้นของเดือน อาจจะเป็นที่รักของใครหลายคน แต่เราขอเลือกงานชิ้นนี้เพราะความน้อยนิดของมันช่างมหาศาลเหลือเกิน


จิตร โพธิ์แก้ว : cinephile, ที่ปรึกษา Film Club 

Thirty Years of Adonis (2017, Scud, Hong Kong/China)

สาเหตุที่เลือกหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นหนังที่ตอบสนอง sexual fantasy ของเราได้ตรงที่สุดเท่าที่เคยดูมาเรื่องนึงในชีวิต ก็เลยจัดให้มันเป็นหนึ่งในหนังเกย์ในดวงใจของเรา

เหมือนจริงๆ แล้วเราโหยหาหนังแบบนี้น่ะ หนังที่สามารถตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของผู้ชมได้ในแบบคล้ายๆ หนังอีโรติก แต่ไม่ได้เล่าเรื่องน่าเบื่อแบบหนังอีโรติก คือเหมือนตอนที่เราอายุน้อย ๆ เราก็เคยชอบดูหนังอีโรติกนะ โดยเฉพาะหนังที่นำแสดงโดย Lukas Ridgeston ซึ่งเป็นหนึ่งในดาราภาพยนตร์ที่เราปรารถนามากที่สุดในชีวิต แต่เวลาเราดูหนังอีโรติก บางทีเราก็รู้สึกว่ามันเล่าเรื่องน่าเบื่อน่ะ เราต้อง fast forward ไปดูฉากสำคัญ แทนที่จะนั่งดู “เนื้อเรื่อง” ตั้งแต่ต้นจนจบ คือเหมือนหนังอีโรติกหลายเรื่องมันให้แค่ sexual pleasure แต่มันไม่ได้ให้ความเพลิดเพลินกับเราในทาง “เนื้อเรื่อง” ด้วย

เราก็เลยโหยหามาตั้งแต่เด็ก ว่าอยากให้มีคนสร้างหนังเกย์ที่ตอบสนองแฟนตาซีทางเพศของเราด้วย และให้ความเพลิดเพลินกับเราในทางเนื้อเรื่องด้วย แต่ก็ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้เจอหนังกลุ่มนี้มากนัก คือจริงๆ แล้วมันก็คงมีการผลิตหนังแบบนี้ออกมาหลายเรื่องแหละ แต่สเปคผู้ชายในหนังอาจจะไม่ตรงกับสเปคของเรา เพราะจริงๆ แล้วเกย์แต่ละคนก็ชอบผู้ชายแตกต่างกันไป ผู้ชายที่ “หล่อ เซ็กซี่” สำหรับเกย์คนนึง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกระตุ้นอารมณ์ของเกย์อีกคนนึงได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีการผลิตหนังเกย์ที่นำแสดงโดยผู้ชายหล่อๆ ออกมามากมาย มันก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเหล่านี้จะตอบสนอง sexual fantasy ของเราได้ตรงซะทีเดียว

นอกจาก THIRTY YEARS OF ADONIS แล้ว หนังเรื่องอื่นๆ ที่เข้าทางเราในแบบที่คล้ายๆ กัน ก็มีอย่างเช่น EROTIC FRAGMENT NO. 1, 2, 3 (2011, Anucha Boonyawatana), STRANGER BY THE LAKE (2013, Alain Guiraudie, France), FATHER & SON (พ่อและลูกชาย) (2015, Sarawut Intaraprom), TAEKWONDO (2016, Marco Berger, Martín Farina, Argentina) และอาจจะรวมไปถึง FLESH (1968, Paul Morrissey) กับ TRASH (1970, Paul Morrissey) ด้วย


Inertiatic Groovfie Viaquez : cinephile คนหนึ่ง

AVOP-432 (2019, Miwa Kiyoshi)

มองผ่านๆ มันคือหนัง AV แนวเลสเบี้ยน (ที่อาจจะมีฉาก ช-ญ ผสมอยู่เล็กน้อย) 

แต่ถ้าได้ดูเต็มๆ มันก็ยิ่งตัวเองว่าจะควรเรียกเลสเบี้ยนได้อย่างเต็มปากหรือไม่ เพราะแม้รูปลักษณ์ที่ปรากฏในหนังจะเป็นผู้หญิง แต่เนื้อแท้ในพลอตหลักของหนัง AV เรื่องนี้ มันคือหนังแนวโจรกรรม ฉกชิงเนื้อหนังผู้หญิงมาสวมใส่ โดยผู้สวมมันคือ “ผู้ชาย” ฉะนั้น ผู้ชายที่สวมเนื้อหนังผู้หญิงแล้วกลายสภาพเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายสวมเนื้อหนังผู้หญิงแล้วมีเซ็กซ์กับอีกฝ่ายแบบตีฉิ่งกัน มันจะยังคงเป็นหนังเลสเบี้ยนจริงๆ อยู่หรือไม่ 

ความบันเทิงอีกอย่างทำให้รู้สึกสนุกและตลกไปกับมันแบบที่หนัง AV เป็นก็คือ จังหวะการฉกชิงเนื้อหนังอีกฝ่ายนี่แหละ ยิงเข็มเข้าเป้าหมาย ผู้หญิงคนนั้นก็หมดสติและร่างกายฟีบเหลือแต่ผิวหนัง ทีนี้ผู้ชายคนที่ต้องการเนื้อหนังก็จะมาเอาสวมใส่แล้วก็กลายเป็นผู้หญิงคนนั้นๆ ไป 

สำหรับเรื่องย่อน่ะเหรอ ช่างมันเหอะ เนอะ..


ปราบต์ : นักเขียน

Antonio’s Secret (2008, Joselito Altarejos, Philippines)

หนังเกย์ปินอยว่าด้วยอันโตนิโอหลานเกย์วัยเริ่มเงี่ยน​ กับน้าชายสุดแซ่บที่มาขออาศัยอยู่ในบ้าน​ ​หลานกลัดมันคอยแอบมองกิจวัตรต่างๆ​ ของน้าแล้วเอาไปจินตนาการเซ็กซี่​ ขณะเดียวกัน​ ตัวเรื่องก็แถลงปัญหาเกี่ยวกับชนชั้น​ เศรษฐกิจ​ และชีวิตรากหญ้า​ต่างๆ​ ควบคู่กันไปด้วย​ นึกดูแล้วน่าจะเป็นหนัง​ LGBTQ​ เรื่องแรกๆ​ ในชีวิตที่ได้ดู​ แล้วก็เปิดโลกไปสู่หนังสายไม่แมสในประเทศไทย​ จำได้ว่าตอนได้ดูครั้งแรกตื่นเต้นตื่นตาตลอดเวลา​ (กลัวคนในบ้านเปิดมาเห็น​ 555) ช่วงต้นแอบดูด้วยความรู้สึกเหมือนมันเป็นหนังโป๊​ แต่ไปๆ​ มาๆ​ ก็ตามติดตัวละครต่างๆ​ จนประทับใจมากๆ​ ในจุดจบ​ ที่จริงเราค่อนข้างลืมเรื่องนี้ไปแล้ว​ จนไม่นานนี้ได้มาทำงานของตัวเองชิ้นใหม่​ แล้วก็พบว่าตะกอนหลายอย่างของมันยังตกเต็มในตัวเอง​อยู่เลย​ เหมือนเป็นส่วนที่สร้างตัวเองในวันนี้ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน


พัลลภัทร น้อยธิ : จิตแพทย์ / คนดูหนัง / เขียนวิจารณ์ประปราย

Hannah Gadsby: Nanette (2018, Jon Olb/Madeleine Parry, Australia)

ฮันน่าห์ แก๊ดสบี เป็นคอมเมเดียนชาวออสเตรเลียนซึ่งเราไม่เคยรู้จักมาก่อนจนกระทั่งมาเห็นโชว์นี้ใน Netflix ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในโชว์สแตนอัพที่ดีที่สุดที่เคยดูมาเลย แล้วก็เป็นโชว์ที่เข้ากับ Pride month พอดี

ฮันน่าห์เป็นเลสเบี้ยนและโชว์นี้ก็เล่าเรื่องราวการเป็น “เลสเบี้ยน” ของเขา ซึ่งไล่ตั้งแต่ความรู้สึกไม่เข้าพวกกับเลสเบี้ยนหรือเกย์คนอื่นๆ (ฮันน่าห์สงสัยว่าพื้นที่ของ “เกย์เงียบๆ” อยู่ตรงไหน หรือการที่มีคนมาบอกว่าโชว์ของฮันน่าห์ “เลสเบี้ยนไม่พอ”) การ come out กับแม่ รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาเกือบจะถูกทำร้ายเพราะเข้าใจผิดคิดว่าฮันน่าห์เป็นผู้ชาย โดยระหว่างทางก็ขยับไปพูดเรื่อง Patriarchy ซึ่งมีประเด็นคาบเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะอะไรก็ว่าไป (ฮันน่าห์พูดถึงความระยำของปิกัสโซ่ 😱) ก่อนที่ฮันน่าห์จะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้โชว์นี้ไม่เหมือนกับสแตนอัพคอมเมดี้โชว์ทั่วๆไป โดยการวกกลับมาเล่าเรื่องที่เขาเล่าไปแล้วทั้งเรื่องการ come out ทั้งประสบการณ์แย่ๆที่เล่าแบบขำๆไปตอนต้น เอามาเล่าใหม่ว่าเรื่องราวจริงๆมันจบอย่างไรหรือมันมีเรื่องราวอะไรต่อจากนั้น และอธิบายต่อว่าทำไมต้องเล่าแบบนี้

ซึ่งช่วงหลังนี้มันทั้งจริงจัง ทั้งอ่อนไหว ทั้งหนักหน่วง แต่ในขณะเดียวกันมันก็โอบอุ้มเราด้วย  (และเป็นสิ่งที่มีคนวิจารณ์ว่ามันไม่ตลก ไม่ใช่สแตนอัพคอมมิดี้ หรือไม่ก็เหมือน Ted Talk มากกว่า แต่เราไม่แคร์)

โดยส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ฮันน่าห์ทำในโชว์นี้สำคัญมากๆ มันทำให้เราเห็นเนื้อแท้ของโชว์ประเภทนี้ ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากโชว์หรืองานศิลปะอื่นๆ (พูดถึงศิลปะ นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ฟังการ “ฟาด” งานศิลปะคลาสสิกอย่างเละเทะ) เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก และโลกที่เราอยู่นี้ก็เป็นโลกที่มีอำนาจบางอย่างครอบงำ ควบคุมเรื่องเล่าต่างๆ และอำนาจที่ว่านั้นตกอยู่ในมือเพศชายมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่คนเราโดยเฉพาะคนที่ไร้อำนาจจะต้อง “เล่า” เรื่องของตนเองให้ดี ให้ชัดเจน ให้เรื่องเล่ามันมีชีวิตต่อไปในจิตใจคนอื่น เพราะนี้คือหนทางเดียวที่จะปลดล็อกอำนาจดั้งเดิมในสังคมได้

มีประโยคหนึ่งที่ฮันน่าห์บอก (อย่างเสียดสี) คือ งานศิลปะคลาสสิกเป็นงานที่ทำให้จิตใจสูงขึ้น ส่วนคอมเมดีมันเป็นศิลปะชั้นต่ำ คนที่มาดูโชว์คงไม่มีอะไรดีขึ้นหลังจากดูจบ แต่ในความเป็นจริงเรารู้สึกว่าโชว์นี้อาจจะช่วยขัดเกลาจิตใจคนได้มากกว่างานศิลปะสูงส่งชิ้นไหนๆด้วยซ้ำ

ของแถม: ถ้าดูแล้วชอบ แนะนำให้ต่อด้วย Douglas โชว์ในปี 2020 (มีใน Netflix เช่นกัน) ซึ่งเป็นโชว์ที่ฮันน่าห์แสดงศักยภาพของการเป็นคอมมิเดี้ยนที่สุดยอดมาก เป็นโชว์ที่บอกคนที่รู้จักฮันน่าห์จาก Nanette มาว่าให้ตลกจริงจังก็ได้นะไม่ใช่จะดึงเครียดเป็นอย่างเดียว


นพธีรา พ่วงเขียว : แอดมินหลักในเพจ “คนวิจารณ์หนังไม่เป็น”, นักเขียนรับเชิญ Film Club

Spiral (2019, Kurtis David Harder, Canada) 

ปี 1995 มาริค และ แอรอน คู่รักเกย์หนุ่มย้ายมาอยู่ในชุมชนหนึ่งพร้อมลูกสาวของพวกเขา แม้เรื่องคู่รักในเพศเดียวกันถือว่าเปิดเผยในระดับหนึ่งแล้ว แต่ทั้งสองไม่มั่นใจและเริ่มสงสัยในพฤติกรรมประหลาดของเพื่อนบ้านที่ชอบรวมกลุ่มกันทุกๆ คืน 

แถมสืบประวัติไปมาพบว่าในชุมชนแห่งนี้เคยมีคู่รักเลสเบี้ยนเสียชีวิตอย่างปริศนา! 

นอกจากที่มันจะทำหน้าที่เป็นหนังสยองขวัญที่เสิร์ฟความสยดสยองทางกายภาพ การสร้างสถานการณ์หลอกปั่นหัวไปมา ความหวาดระแวงจากตัวละครต่างๆ หนังยังนำเสนอภาพบริบทเรื่องของ LGBTQ ที่นำเสนอในรูปแบบของหนังลัทธิได้อย่างโหดร้ายและไม่ปราณีคนดูกันเลย

หนังมีสัญลักษณ์หลักของลัทธิอย่างตัว “spiral” (รูปวงกลมแบบเกลียว) ที่น่าจะสื่อตรงกับหนังได้ดีอย่างสุดๆ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ความเกลียดชังจากคนหัวโบราณที่ยังอยู่ในกรอบเดิม และมองว่าคนคบเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่นอกคอก และมันก็เหมารวมถึงการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติเข้าไปอีก

และความเกลียดชังยังคงมีให้เห็น เป็นวัฏจักร วนเวียน เป็นวนลูป และไม่มีวันสิ้นสุด


คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง : อาจารย์สอนภาพยนตร์ คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์

The Trouble with Being Born (2020, Sandra Wollner, Austria/Germany)

จริงๆ แล้วหนังที่เราเลือกอาจจะไม่ตรงโจทย์ pride month นัก แต่มันพูดเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศได้น่าสนใจดี หนังชื่อ The Trouble with Being Born ว่าด้วยพ่อคนหนึ่งที่เอาหุ่นแอนดรอยด์มาเลี้ยงแทนลูกสาวที่หายตัวไป แต่ว่านี่ไม่ใช่หนังซาบซึ้งแบบ A.I. Artificial Intelligence (2001) ของสปีลเบิร์กหรอก เพราะมันเป็นหนังจากประเทศออสเตรีย 5555 

หนังเรื่องนี้อื้อฉาวพอควร เพราะมีฉากพ่อนอนเปลือยกับลูกสาว หรือทำความสะอาดจิ๋มให้หุ่นยนต์ลูก ตอนฉายที่เบอร์ลินมีคนเดินออก เทศกาลหนังที่ออสเตรเลียตัดสินใจถอดหนัง บอกว่ามันเข้าข่าย pedophile ซึ่งแน่นอนว่าพวกนักวิจารณ์ออกมาด่ากลับ

แต่พ้นจากความดราม่านั่นนี่ ช่วงกลางของหนังน่าสนใจมากที่อยู่ดีๆ แอนดรอยด์ตัวนี้เปลี่ยนเจ้าของ แล้วก็ถูกเปลี่ยนเพศเป็นเด็กผู้ชาย เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวตน เปลี่ยนบริบททั้งหมด นำมาซึ่งคำถามน่าสนใจว่าแอนดรอยด์มีตัวตน ความทรงจำ หรือเพศสภาพหรือไม่

ป.ล. นักแสดงเด็กในเรื่องใส่บิกินี แล้วค่อยใช้ซีจีทำให้เปลือย น้องไม่ได้แก้ผ้าจริงๆ


(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 2)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 3)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 4)

(อ่านรายชื่อต่อในพาร์ตที่ 5)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here