Home Film News โคริเอดะนำทีมเรียกร้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นตามโมเดลของฝรั่งเศส สู้วิกฤติวงการหนังซบเซา

โคริเอดะนำทีมเรียกร้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นตามโมเดลของฝรั่งเศส สู้วิกฤติวงการหนังซบเซา

โคริเอดะนำทีมเรียกร้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นตามโมเดลของฝรั่งเศส สู้วิกฤติวงการหนังซบเซา

การจะทำหนังสักเรื่องนั้นใช้เงินไม่น้อย หากไม่ใช่คนทำหนังที่มีสตูดิโอใหญ่หนุนหลังหรือได้ทุนสร้างจากต่างประเทศ คนทำหนังรุ่นใหม่จะหาเงินที่ไหนมาพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่และให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า คำตอบแรกคงหนีไม่พ้นการสนับสนุนจากรัฐบาล – และล่าสุดกลุ่มคนทำหนังญี่ปุ่นก็กำลังพยายามผลักดันให้มันเกิดขึ้น

Action4Cinema หรือ Association for the Establishment of a Japanese Version of CNC คือกลุ่มคนทำหนังญี่ปุ่นที่นำโดย ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (ผู้กำกับ Broker, Shoplifters, Nobody Knows) ที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการจัดตั้งองค์กรสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตามโมเดลของศูนย์ภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวแห่งชาติ หรือ Center National du Cinema et de l’Image Anime (CNC) ของฝรั่งเศส

หากองค์กรดังกล่าวถูกก่อตั้งขึ้นตามโมเดลนี้จริง การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นคือระบบการรวบรวมเงินภาษีจากโรงหนัง ผู้ออกอากาศ และผู้จัดจำหน่าย เพื่อนำมาเป็นทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตามเจตจำนงขององค์กร โดยพึ่งพางบประมาณจากรัฐเพียงส่วนน้อย แต่ความท้าทายคือมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ Motion Picture Producers Association of Japan (MPPAJ) ที่มีค่ายหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างโตโฮและอีกสามค่ายหนังเจ้าใหญ่เป็นสมาชิกตกลงร่วมมือ และแม้ตัวแทนของ MPPAJ จะบอกว่าเห็นด้วย แต่ก็ยังพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้ถือผลประโยชน์’ หลายกลุ่ม

ในการเปิดตัวกลุ่ม พวกเขาได้นำเสนอร่างแนวทางการออกแบบนโยบายเผื่อผลักดันการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยโคเรเอดะกล่าวว่า พวกเขาได้เข้าประชุมกับ MPPAJ รวมถึงหารือและศึกษาข้อมูลกับองค์กรอื่นๆ แล้วก่อนจะก่อตั้งกลุ่ม และเชื่อว่าการก่อตั้งองค์กรแบบ CNC จะช่วยแก้วิกฤติวงการหนังซบเซาจากโควิด-19 และปฏิรูปวงการได้อย่างถอนรากถอนโคน

องค์กรที่พวกเขาเรียกร้องให้จัดตั้งนี้ควรจะช่วยพัฒนาศักยภาพคนทำหนังรุ่นใหม่ เปิดโครงการฝึกฝนทักษะในต่างประเทศ สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทำวงการให้ปราศจากการละเมิดสิทธิและการแบ่งแยกทางเพศ ช่วยคนทำหนังและคนรุ่นใหม่ที่สนใจหนังพัฒนาโปรเจ็กต์ ช่วยเหลือโรงหนังและบริษัทจัดจำหน่ายหนัง และสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรกับคนทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าแรงที่ต่ำและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของชาวฟรีแลนซ์

“เราไม่ได้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่เราหวังว่าเราจะสามารถช่วยผลักดันและพัฒนาบรรยากาศในการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นให้ไปข้างหน้าได้ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม” โคเรเอดะกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1946 – CNC ถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลฝรั่งเศส ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม ถืออำนาจบริหารจัดการการเงินด้วยตัวเอง โดยงบประมาณปีละ 813 ล้านยูโรนั้นได้มาจากภาษีจากรายได้โรงหนัง ภาษีจากรายได้ของทีวี และภาษีจากรายได้ค่าขายและเช่าแผ่นดีวีดี หน้าที่ของ CNC คือรับผิดชอบการดำเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งโทรทัศน์ วิดีโอและมัลติมีเดีย และวิดีโอเกม รวมไปถึงกำกับดูแลรายได้ของผู้จัดฉาย การจดทะเบียนหนังและสื่อทีวี การอนุรักษ์มรดกทางภาพยนตร์ และการละเมิดลิขสิทธิ์ (อ่านเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนหนังของ CNC ได้ที่ เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 2 : ฝรั่งเศส))

โมเดลการบริหารจัดการและระบบรวบรวมเงินภาษีแบบ CNC ถูกรัฐบาลเกาหลีใต้หยิบไปใช้ในการก่อตั้งองค์กรอิสระอย่างสภาการภาพยนตร์เกาหลี หรือ Korean Film Council (KOFIC) มาก่อนแล้วเมื่อปี 1973 (อ่านเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนหนังของ KOFIC ได้ที่ เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้))

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here