เมื่อการจัดจำหน่ายแบบลูกผสม (hybrid distribution) กำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่สำหรับธุรกิจหนังหลังวิกฤตโควิด

อย่างที่รู้กันว่าท่ามกลางวิกฤตของโรคร้ายที่คุกคามอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก จนทำให้เกิดคำถามว่าธุรกิจภาพยนตร์กำลังเข้าสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์หรือไม่ ได้มีความพยายามของสองค่ายสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดซึ่งในแก่ค่ายวอร์เนอร์ และ ค่ายดิสนีย์ที่จะท้าทายสภาวะดังกล่าวด้วยการเข็นหนังที่ถือเป็นความหวังของค่ายเข้าฉายในช่วงเวลาที่ค่ายยักษ์ใหญ่อื่นๆ เลือกที่จะเลื่อนหนังฟอร์มยักษ์ออกไป โดยค่ายวอร์เนอร์เลือกที่จะนำ Tenet หนังทุน 200 ล้านของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน เข้าฉายในรูปแบบปกติในโรงภาพยนตร์ ในต้นเดือนกันยายน ขณะที่ ค่ายดิสนีย์ เลือกเปิดตัว Mulan ในเวลาไล่เลี่ยกันบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองที่ชื่อ Disney Plus โดยผู้ชมต้องชำระค่าเข้าชม 29.99เหรียญ (กว่า 900 บาท) ก่อนที่จะชมภาพยนตร์ได้ในเวลาจำกัด นอกจากนี้ในประเทศที่ Disney Plus ยังไม่เปิดบริการ หนังเข้าฉายโรงปกติ ในวันเดียวกับที่หนังออกฉายทางช่องทางสตรีมมิ่ง

แม้ผลลัพธ์ที่ออกมา ค่ายวอร์เนอร์กลายเป็นผู้แพ้แบบหมดรูป เนื่องจาก Tenet ทำเงินจากการฉายโรงอย่างเดียวเพียงแค่ 357 ล้านเหรียญ โดยเป็นรายได้ในอเมริกาเพียงแค่ 57 ล้านเหรียญเท่านั้น หลังจากแบ่งรายได้กับโรง และหักลบค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมหาศาล สตูดิโอคงหนีไม่พ้นสภาวะความหายนะเมื่อต้องเคลียร์บัญชีในช่วงปลายปี1https://newsabc.net/tenet-is-heading-for-the-flop-and-that-is-bad-news-for-james-bond/ ส่วนค่ายดิสนีย์ แม้โดยรวมดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากรายได้จากค่าสตรีมจากการคาดการณ์ของผู้สันทัดกรณีหลายฝ่าย อาจสูงถึง 270 ล้านเหรียญ2https://www.mediaplaynews.com/report-disney-generated-270-million-in-mulan-pvod-sales/ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น หนังพ้นสถานะจากกการขาดทุนอย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากดิสนีย์ไม่ต้องแบ่งรายได้กับใคร แต่กระนั้น ผลจากการที่โรงถูกบังคับให้ต้องฉายหนังเวลาเดียวกับช่องทางสตรีมมิ่ง จนทำให้ภายในเวลาไม่ถึงวัน ลิงก์หนังเถื่อนที่มีความคมชัดระดับสูงถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก (รวมถึงเมืองไทย) ประกอบกับความไม่พร้อมของผู้ชมที่จะออกมาดูหนังในโรง และการเปิดตัวในจีนที่น่าผิดหวังทำให้รายได้รวมจากการฉายทั่วโลกทำได้เพียงแค่ 66 ล้านเหรียญเท่านั้น3https://www.boxofficemojo.com/title/tt4566758https://www.scmp.com/abacus/culture/article/3101525/piracy-hurt-disneys-mulan-china-1999-and-it-appears-be-happening ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น หลังจากหักลบต้นทุนการผลิตจำนวน 200 ล้านเหรียญ บวกกับรายได้จากค่าฉายที่ต้องแบ่งกับโรงในประเทศต่างๆ และหักลบค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ต้องจ่ายไปก่อนหน้านี้ ดิสนีย์น่าจะได้กำไรติดมือกลับมาไม่กี่มากน้อย แล้วก็อาจเป็นเพราะผลลัพธ์ข้างต้นนี้เองที่ทำให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจภาพยนตร์อเมริกันต้องหันมาขบคิดว่าจะดำรงอยู่ในในภาวะของวิถีใหม่อย่างไร ในเมื่อโรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่แหล่งรายได้หลักต่อไป และ สตรีมมิ่งก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นแหล่งรายได้ทดแทนที่นำมาด้วยผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งต่อมาได้เกิดความเคลื่อนไหวสำคัญสองเหตุการณ์ที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับโลกภาพยนตร์ไม่น้อย จนนำมาสู่ความหวังต่อทิศทางธุรกิจภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่เหลือของปี ความเคลื่อนไหวทั้งสองเหตุการณ์ประกอบด้วย

1. การที่โรงหนังเครือใหญ่อย่าง AMC และ Cinemark บรรลุข้อตกลงกับค่าย Universal (หลังจากมึนตึงไปช่วงหนึ่งหลังจากที่ค่ายแอบเอาหนังเรื่อง Troll World Tour ไปฉายช่องทางสตรีมมิ่ง) ในการลดช่วงเวลาการฉายภาพยนตร์ของค่าย (หรือเรียกว่า Window) จากที่เคยกำหนดระหว่าง 75-90 วัน เหลือเพียง 17 วันสำหรับโรงเครือ AMC4https://variety.com/2020/film/news/universal-amc-deal-theaters-pandemic-1234801134/ ขณะที่โรงเครือ Cinemark ขอสงวนไว้ 2 ทางเลือก โดยภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากกว่า 50 ล้านเหรียญ ช่วงเวลาการฉายคือ 30 วัน แต่สำหรับภาพยนตร์ที่ถ้ารายได้ไม่เกิน 50 ล้านจะมีช่วงเวลาการฉาย 17 วัน โดยหลังจากพ้นช่วงเวลาการฉายที่กำหนดแล้ว ภาพยนตร์ของค่าย Universal สามารถเข้าฉายช่องทางสตรีมมิ่งโดยทันที5https://variety.com/2020/film/news/cinemark-universal-theatrical-window-shortened-pvod-1234833162/ ขณะเดียวกันโรงภาพยนตร์ทั้งสองเครือจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดสตรีมหนังเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไป (ว่ากันว่าประมาณ 15-17%)6https://deadline.com/2020/11/universal-cinemark-ink-shortened-theatrical-window-pvod-share-pact-in-wake-of-amc-deal-1234616550/

แน่นอนว่าโมเดลในลักษณะนี้ เราอาจจะไม่เห็นหนังจากค่าย Universal สร้างสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศประเภทรายได้เกิน 300 ล้านเหรียญอีกต่อไป เพราะช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนคงไม่เอื้อให้หนังทำรายได้เยอะถึงขนาดนั้น แต่ในแง่ความสดและใหม่ของหนัง เมื่อเข้าสู่ช่องทางสตรีมมิ่งอย่าง Netflix น่าจะทำรายได้จากการขายลิขสิทธิ์สตรีมมิ่งให้แก่ค่าย Universal อยู่ไม่น้อย ส่วนโรงก็น่าจะพอใจกับส่วนแบ่งจากยอดสตรีมที่ค่ายแบ่งให้ และถ้าหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จขึ้นมา จนทำให้โรงภาพยนตร์เครืออื่น และค่ายหนังยักษ์ใหญ่ค่ายอื่นๆ หันมาใช้นโยบายแบบนี้กัน ผู้ที่จะเดือดร้อนที่สุดก็คือ บริษัทผลิตหนังขนาดกลางและเล็ก เพราะลำพังอำนาจการต่อรองกับโรงก็ต่ำอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอนโยบายบีบวันฉายให้น้อยลงเท่ากับว่า โอกาสที่หนังจะประสบความสำเร็จจากการฉายโรงก็น้อยลงไปด้วย

2. Wonder Woman 1984 โมเดล ซึ่งเป็นแผนการจัดจำหน่ายของค่ายวอร์เนอร์ที่อาศัยการเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากกรณีการฉาย Tenet ด้วยการเลือกฉายหนัง 2 รูปแบบทั้งโรงภาพยนตร์และช่องทางสตรีมมิ่งผ่านแพลตฟอร์ม HBO Max ฟังเผินๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับ Mulan โมเดลที่ค่ายดิสนีย์ได้ทำไปแล้ว แต่หากพิจารณารายละเอียดการจัดจำหน่ายจะพบว่ามีความแตกต่างพอสมควร ประการแรก หนังจะเปิดตัวทางโรงหนังทั่วโลกก่อนในวันที่ 16 ธันวาคม จากนั้นหนึ่งอาทิตย์ต่อมาซึ่งจะตรงกับช่วงคริสต์มาส หนังก็จะเปิดตัวในอเมริกาทางช่องทางสตรีมมิ่งของ HBO Max และในโรงภาพยนตร์เป็นเวลาหนึ่งเดือน จากนั้นก็จะหยุดบริการแล้วเปิดโอกาสผู้บริโภคดาวน์โหลดแบบต้องชำระค่าบริการเพื่อเก็บหนังไว้ชมในเครื่องรับ (ยกตัวอย่างเช่น iTunes) ก่อนกลับมาฉายที่ HBO Max แบบสตรีมมิ่งอีกครั้ง ขณะที่ Mulan เปิดตัวพร้อมกันทุกข่องทางทั้งโรงและสตรีมมิ่ง ประการที่สอง ค่ายวอร์เนอร์ไม่คิดค่าบริการในการชมภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman 1984 ทางช่อง HBO Max เพียงแต่ว่าผู้ที่จะชมได้ต้องสมัครสมาชิกรายเดือน HBO Max เสียก่อน ซึ่งคิดราคาแค่ 14.99 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่เงื่อนไขในการชม Mulan ผู้ชมต้องสมัครสมาชิก Disney Plus เป็นจำนวน 6.99 เหรียญ ก่อนจากนั้นต้องจ่ายค่าชม Mulan อีก 29.99 เหรียญ7https://www.theverge.com/2020/11/18/21504152/wonder-woman-1984-release-delay-new-date-warner-bros-disney-black-widow-dune-tenet

แม้ว่าโมเดลในการการจัดจำหน่าย Wonder Woman 1984 ดูเหมือนจะมีความซับซ้อน แต่หากพิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่านี่คือการกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและน่าสนใจ แน่นอนว่าการเว้นระยะปลอดภัยให้กับการฉาย นอกอเมริกาถึงหนึ่งอาทิตย์โดยไม่ต้องกังวลว่าจะพบลิงก์หนังผิดกฎหมายจากที่ไหน น่าจะทำให้หนังเก็บรายได้จากการฉายในหลายประเทศได้บ้าง โดยเฉพาะรายได้จากประเทศจีน8https://variety.com/2020/film/box-office/wonder-woman-release-dates-1234839350/ ส่วนในอเมริกา หากไม่นับยอดขายตั๋วที่อาจไม่ดีนัก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวภาวะโควิดน่าจะยังไม่คลี่คลาย การที่หนังเปิดตัวทางช่องทาง HBO Max โดยที่ไม่คิดค่าชมเพิ่ม น่าจะทำให้ยอดสมาชิกของ HBO Max เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณแน่นอน โดยเฉพาะช่วงคริสมาสที่หลายครอบครัวเลือกพักผ่อนที่บ้าน ซึ่งหากเป็นไปตามที่ผู้บริหารวอร์เนอร์คาดคิด Wonder Woman 1984 น่าจะเป็นหนังสตูดิโอเรื่องที่ทำรายได้อย่างงดงามจากการฉายในโรง และจากยอดสมัครสมาชิก

หากพิจารณาสองความเคลื่อนไหวข้างต้นให้ดีจะพบว่า รูปแบบการจัดจำหน่ายภาพยนตร์จะไม่ยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอีกต่อไป แต่จะเป็นการผสมผสานข้ามรูปแบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเรียกว่าเป็น hybrid distribution ก็ไม่ผิดนัก ไม่มีใครบอกได้เมื่อถึงเวลาจริงที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว โมเดลทั้งสองแบบจะไปต่อหรือหยุดลงแค่นี้ แต่ที่แน่นอนก็คือทุกอย่างไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุคลากรทุกฝ่ายในธุรกิจภาพยนตร์คือการยอมรับความจริงแล้วพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

Related NEWS

LATEST NEWS