Home Film News ความเห็นและความเคลื่อนไหว หลังยอดซับฯ Netflix ร่วงครั้งแรกในรอบสิบปี

ความเห็นและความเคลื่อนไหว หลังยอดซับฯ Netflix ร่วงครั้งแรกในรอบสิบปี

ความเห็นและความเคลื่อนไหว หลังยอดซับฯ Netflix ร่วงครั้งแรกในรอบสิบปี

เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา Netflix ได้แถลงผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2022 โดยระบุว่ายอดสมาชิกทั่วโลกได้ลดลงกว่า 200,000 รายชื่อ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี หลังการเติบโตพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องก้าวกระโดดของสตรีมมิงแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ เน็ตฟลิกซ์มองเห็นและส่งสัญญาณนี้มาแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม เมื่อยอดสมาชิกเริ่มเติบโตช้าลง ทำให้ในขณะนี้พวกเขาคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่สอง (เมษา-มิถุนา 2022) ยอดสมาชิกอาจหายไปอีกประมาณสองล้านรายชื่อ

หลังข่าวนี้เป็นที่ยืนยัน หุ้นเน็ตฟลิกซ์ร่วงลงทันทีเกือบ 20% และเพิ่มเป็นกว่า 35% ในวันต่อมา ซึ่งเท่ากับการสูญมูลค่าบริษัทกว่า 54,000 ล้านเหรียญฯ ในคืนเดียว

เน็ตฟลิกซ์แจงเหตุผลที่อาจส่งอิทธิพลต่อยอดสมาชิกที่ร่วงลง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ตลาดสตรีมมิ่งที่แข่งกันดุเดือด ความถดถอยของกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สงครามยืดเยื้อในยูเครน และการแชร์พาสเวิร์ด – ก่อนหน้านี้ เน็ตฟลิกซ์ปรับนโยบายการแชร์พาสเวิร์ดในประเทศชิลี คอสตาริกา เปรู มีแผนขยายพื้นที่บังคับใช้นโยบายนี้ในอนาคต และตอนนี้กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของการยอมให้มีโฆษณา (หลังจากกลุ่มผู้บริหารคัดค้านแนวคิดเรื่องโฆษณามาโดยตลอด)

เหตุผลทั้งหมดที่เน็ตฟลิกซ์ว่ามาอาจส่งผลจริงอย่างละนิดละหน่อยจนนำมาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน แต่อีกหนึ่งสาเหตุที่หลายเสียงจากนอกองค์กรเห็นตรงกันก็คือ ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์กำลังเข้าสู่สภาวะที่แทบไม่ต่างกับเคเบิ้ลทีวีในอดีต หลังจากที่คอนเทนต์จำนวนมากถูกดึงกลับไปยังต้นสังกัดที่พัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองขึ้นมาสู้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปนานเข้า ภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์มก็จะเป็นแค่อีกหนึ่งบริการทีวีที่คนดูต้องเสียเงินแพงแต่ขาดความโดดเด่นน่าสนใจ เพราะทิศทางขององค์กรเริ่มเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และเมื่อถึงช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง (เหมือนที่ทำให้เคเบิ้ลทีวีกลายเป็นอดีต) แค่พฤติกรรมความเคยชินก็คงไม่เพียงพอที่จะดึงให้คนดูยอมเสียค่าสมาชิกรายเดือนไปเรื่อยๆ

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม /Film (slashfilm.com) รายงานจาก CinemaCon ที่ลาสเวกัส ไฮไลต์การสัมภาษณ์ของ จอห์น ฟิเธียน (John Fithian) ซีอีโอสมาคมเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์แห่งชาติ (The National Association of Theater Owners) ที่แสดงความเห็นว่าขณะนี้ประตูโรงหนังพร้อมเปิดกว้างต้อนรับหนังเน็ตฟลิกซ์ ขอแค่เน็ตฟลิกซ์สนใจจะร่วมเดินไปในทางเดียวกับโรงหนัง

สิ่งที่ทำให้เน็ตฟลิกซ์แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (ไม่ว่าจะเป็น Disney+, Hulu, Apple TV+ หรือ ESPN+) ก็คือเน็ตฟลิกซ์ไม่มีธุรกิจหรือรายได้จากทางอื่นเป็นฟูกให้ล้ม (พวกเขายังให้บริการเช่าดีวีดีทางไปรษณีย์อยู่ แต่รายได้ก็เป็นแค่เศษเสี้ยวฝุ่นผงของสตรีมมิ่ง ในขณะที่การลงทุนในธุรกิจเกมก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และยืนยันไม่ได้ว่าจะผลิดอกออกผลเป็นกำไร) บทความของ /Film จึงเสนอว่าอาจถึงเวลาแล้วที่เน็ตฟลิกซ์ต้องคิดทบทวนเรื่องการร่วมมือกับโรงภาพยนตร์อย่างจริงจัง

นับแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นไป การพยายามรักษาสถานะพื้นที่เฉพาะแบบ Exclusively on Netflix อาจไม่ใช่ทางออกหรือไพ่ที่เหนือกว่าเหมือนเมื่อไม่กี่ปีก่อน (เช่น การไม่ให้รายงานตัวเลขรายได้หนังเน็ตฟลิกซ์ที่ฉายโรง) ซึ่งทำให้คนในวงการภาพยนตร์ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปมองว่าเน็ตฟลิกซ์พยายามตั้งตนเป็นศัตรูกับโรงหนัง เพราะในช่วงไม่กี่ปีหลัง วงการภาพยนตร์ได้เห็นความสำเร็จน่าจับตาที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของโรงหนังกับแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือ The Batman (2022) ที่การฉาย 45 วันในโรงทำรายได้กว่า 760 ล้านเหรียญฯ และกลายเป็นหนังยอดชมสูงสุดตลอดกาลของ HBO Max ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ปล่อยสตรีม

เน็ตฟลิกซ์อาจใช้โมเดลเดียวกันนี้กับหนังออริจินัลของตัวเองที่ลงทุนระดับบล็อกบัสเตอร์ Red Notice (2021) หรือ The Gray Man (2022) ได้เช่นกัน ยิ่งเมื่อสถานการณ์โควิดได้เปลี่ยนความคิดของธุรกิจภาพยนตร์ไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่อง theatrical window (ระยะเวลาที่หนังควรฉายในโรงก่อนออกแผ่นหรือปล่อยสตรีม) ที่น่าจะเข้าใกล้จุดลงตัวระหว่างทั้งสองฝ่ายมากกว่าแต่ก่อน

อย่างไรก็ดี แรงเสียดทานระหว่างสตรีมมิงแพลตฟอร์มกับโรงภาพยนตร์ก็ยังคงดำเนินต่อไป

เปาโล เดล บร็อกโค (Paolo del Brocco) แห่ง RAI Cinema และ จามเปาโล เลตตา (Giampaolo Letta) แห่ง Medusa Film Unit ได้ยื่นข้อเรียกร้องผ่านหนังสือพิมพ์ให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ เมื่อสถานการณ์โรงหนังหลังโควิดยังห่างไกลจากคำว่ากระเตื้อง (อิตาลีเป็นตลาดหนังขนาดใหญ่แห่งเดียวในยุโรปที่ยอดผู้ชมปี 2021 ลดต่ำกว่าปี 2020 ต่างจากฝรั่งเศสหรือสเปนที่เริ่มกลับสู่สภาวะใกล้ปกติ)

ทั้งคู่เรียกร้องให้รัฐบาลขยาย theatrical window ของหนังที่เข้าฉายในอิตาลีจากเดิม 90 วันเป็น 180 วัน รวมถึงขอให้ลดอัตราคืนภาษีแก่ผู้ผลิต (tax rebate) จากร้อยละ 40 เป็น 30 สำหรับหนังที่ตั้งใจสร้างเพื่อฉายในสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเป็นหลัก แต่ให้คงอัตราเดิมไว้สำหรับหนังที่สร้างเพื่อฉายโรงภาพยนตร์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรับลูกข้อเรียกร้อง โดยรับปากว่าจะพิจารณาร่างระเบียบใหม่เรื่อง theatrical window แต่ยังไม่ระบุถึงจำนวนวันว่าจะได้เท่าข้อเรียกร้องหรือไม่

ไล่เลี่ยกับแถลงการณ์ของรัฐมนตรีวัฒนธรรมอิตาลี เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (Locarno Film Festival) ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนกฎหมาย Lex Netflix ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ยื่นขอแก้ไขกฎหมายภาพยนตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ (The Federal Act on Film Production and Film Culture) ซึ่งสาระสำคัญคือให้สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องเสียภาษีเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ

กล่าวคือ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านประชามติ (ซึ่งประชาชนจะลงคะแนนเสียงในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้) สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มทุกเจ้าต้องเสียภาษีร้อยละ 4 ของรายได้ในประเทศ อัตราเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์สวิสทุกช่องต้องนำส่งรัฐตามกฎหมายเดิม หรืออาจใช้วิธีร่วมลงทุนโดยตรงในโปรดักชั่นหรือการโปรโมตหนังและซีรี่ส์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และร้อยละ 30 ของคอนเทนต์ที่เผยแพร่ในแต่ละแพลตฟอร์ม ต้องเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นในทวีปยุโรป

ข้อเรียกร้องของวงการหนังอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ที่มีต่อสตรีมมิ่ง (โดยเฉพาะเน็ตฟลิกซ์) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนเดียวกันนี้ ยิ่งแสดงออกชัดเจนถึงความท้าทายที่มีต่อบรรดาแพลตฟอร์มในอนาคต – ต่อไปนี้ พวกเขาไม่อาจลอยตัวเก็บเกี่ยวความสำเร็จอยู่เหนืออุตสาหกรรมที่ตนเองได้เข้ามาพลิกโฉมหน้าปรับวิธีคิดไปแบบพลิกฝ่ามือ หากต้องร่วมสนับสนุน ปรับประสาน เพื่อให้ผู้เล่นทั้งในตลาดเก่าและตลาดใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here