เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติธรรมศาลา (Dharamsala International Film Festival – DIFF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดยสองคนทำหนังคู่ชีวิต ริตู ซาริน (Ritu Sarin) และ เทนซิง โซนัม (Tenzing Sonam) เพื่อเปิดโลกภาพยนตร์ทางเลือกให้ชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวทิเบตในเมือง และปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในฐานะเทศกาลหนังอิสระชั้นนำอีกแห่งของอินเดีย (คำขวัญเทศกาลคือ bringing independent cinema to the mountains)
หลังต้องปรับทิศทางแบบเร่งด่วนช่วงล็อกดาวน์โควิดเมื่อปี 2020 จนถึงตอนนี้ทางเทศกาลก็ยังคงแอ็กทีฟกับการฉายหนังออนไลน์อย่างต่อเนื่อง (ภายใต้แนวคิด streaming independent cinema from the mountains ที่ล้อกับคำขวัญเทศกาล) ผ่านแพลตฟอร์ม DIFF Virtual Viewing Room ที่จะมีโปรแกรมหนังหมุนเวียนไปตลอดทั้งปี ด้วยตัวเลือกที่แปลกแตกต่างและหาดูยากเมื่อเทียบกับบรรดาเทศกาลหนังชั้นนำไม่ว่าจะในยุโรปหรือเอเชียด้วยกัน
โปรแกรมออนไลน์ล่าสุดของเทศกาลฯ คือ A Small Atlas of Chinese Independent Documentaries ซึ่งรวมสารคดีจีนหาดูยากไว้ถึง 6 เรื่อง จากการคัดเลือกของ จูอื้อคุน (Zhu Rikun) คนทำหนังสารคดีและโปรดิวเซอร์ของสารคดีความยาวหกชั่วโมงเรื่องสำคัญอย่าง Karamay (2010) – หนังกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่หาดูยาก แต่อาจถึงขั้นไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนสำหรับคนดูหนังส่วนใหญ่ ซึ่งคิวเรเตอร์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเขาตั้งใจนำเสนอทางเลือก ก่อนทางเลือกเหล่านี้จะถูกลืม
สารคดีจีนทั้ง 6 เรื่อง ได้แก่
Chronicle of Longwang: A Year in the Life of a Chinese Village (หลี่อี้ฟาน – Li Yifan, 2007, 92 นาที) : ภาพเหตุการณ์ชีวิตประจำวันตลอดหนึ่งปีในหมู่บ้านหลงหวัง ชีวิตที่ไม่มีทุกข์ถาโถม ไม่มีสุขล้นเหลือ ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วสลายไปในสายลม เป็นภาพรวมไร้เส้นเรื่องของหมู่บ้านธรรมดาในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร
We Are the … of Communism (กุ้ยจื่อเอิน – Cui Zi’en, 2007, 94 นาที) : การดิ้นรนต่อสู้ของโรงเรียนสำหรับลูกแรงงานแห่งหนึ่งในปักกิ่ง หลังถูกทางการสั่งปิดอย่างไม่มีสาเหตุ ครูกับนักเรียนต้องย้ายที่เรียนไปเรื่อยๆ จากตึกเรียนเก่า ตึกโรงงานร้าง ตั้งโต๊ะริมถนน ไปจนถึงหอพักของครู และนั่งเรียนอัดกันในรถตู้คันเล็ก
Listening to Third Grandmother’s Stories (เหวินฮุ่ย – Wen Hui, 2011, 71 นาที) : ผู้กำกับหญิงบันทึกและตีความเรื่องราวทั้งชีวิตของเหล่าอี๊ที่เธอเพิ่งได้พบเป็นครั้งแรกในวัยกลางคน (ส่วนเหล่าอี๊อายุแปดสิบกว่าแล้ว) เรื่องราวที่ราวกับว่าเหล่าอี๊รอให้เธอมาบันทึกไว้ ชีวิตของผู้หญิงที่แปรเปลี่ยนพร้อมความเปลี่ยนแปลงของประเทศ
One Day in May (หม่าจ้านตง – Ma Zhandong, 2011, 145 นาที) : ภาพชีวิตของครอบครัวหนึ่งตลอดเวลากว่าปีครึ่ง หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 หนังส่องลงไปให้เห็นว่าความทุกข์ ความทรงจำ การต่อสู้ยืนหยัดของครอบครัวนี้ เป็นสิ่งเดียวกับที่รัฐบาลจีนมองเห็นและให้ค่ามากน้อยแค่ไหน
Ants Dynamics (สวีรั่วเถา และ หวังฉืออู่ – Xu Ruotao & Wang Chuyu, 2020, 120 นาที) : ศิลปินจากปักกิ่งกลับบ้านเกิด คิดการแสดงและร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิ์กับกลุ่มคนงานของบริษัท China Telecom แต่ประท้วงไปได้สักพัก ศิลปินจากเมืองหลวงก็เริ่มมองเห็นว่าความจริงเบื้องหลังมันซับซ้อนกว่าที่คาด
One Says No (จ้าวต้าหยง – Zhao Dayong, 2020, 97 นาที) : เมื่อรัฐบาลรื้อไล่ที่หมู่บ้านเก่าในกวางโจวเพื่อสร้างเมืองใหม่ อาจงตัดสินใจยืนหยัดสู้ทุกวิถีทาง แม้อาคารโดยรอบจะถูกทุบจนเหลือบ้านเขาแค่หลังเดียว ถูกรัฐตัดน้ำตัดไฟ จ้างนักเลงให้มาคุกคามทำร้าย ถึงขั้นต้องติดระเบิดไว้ทุกทางเข้าออกของบ้านเพื่อป้องกันภัย