Home Article FILM CLUB Year List 2020 (Part 8)

FILM CLUB Year List 2020 (Part 8)

0
FILM CLUB Year List 2020 (Part 8)

(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง) | (รายชื่อรอบสาม) | (รายชื่อรอบสี่)

(รายชื่อรอบห้า) | (รายชื่อรอบหก) | (รายชื่อรอบเจ็ด)

ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย 

ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง 

และนี่คือรายชื่อในรอบที่แปด รอบสุดท้าย


ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ : นักแสดง 

Love battles (2013, Jacques Doillon, France)

เกมมวยปล้ำระหว่างชายหญิง

การปะทะกันในบทสนทนาที่คลุมเครือ รุนแรง เดือดดาล ปั่นป่วนระหว่างร่างกาย เต็มไปด้วยแรงอารมณ์ที่กระชากกันไปมา ราวกับละครกายกรรมที่เหมือนสัตว์ที่หยั่งเชิง ยั่วล้อทางอารมณ์และศีลธรรม ความพยายามที่จะผลักตัวเองให้ข้ามเส้นที่มองไม่เห็นของแต่ละคน 

ถึงพอดูจนจบแล้วเราเองก็มีความรู้สึก อืมๆ เข้าใจแหละมั้ง เนื้อเรื่องมันจับต้นชนปลายยังไงกันนะ 

แต่เราจูนติดกับการแสดงมาก มันทำให้เราประทับใจว่านักแสดงต้องไว้ใจกันถึงขนาดไหน เพราะมันให้ความรู้สึกดิบทางการแสดงมาก จนเราดูแล้วเนื้อเต้น นึกถึงความรู้สึกตอนดูเรื่อง raw 

การเผชิญหน้ากันในบทสนทนาและร่างกายระหว่างสองนักแสดงที่สร้างความงุนงงแก่เราว่า มวลความรักแรงปรารถนาที่ดิบเถื่อนมันก่อตัวขึ้นอย่างไร แรงอารมณ์ที่ถาโถมใส่กันมันจะไปจบที่ไหน



ภูมิภัทร ถาวรศิริ : นักแสดง

Homo Sapiens (2016, Nikolaus Geyrhalter, Switzerland-Germany-Austria)

เหมือนการได้เฝ้ามองดูซากเศษของมนุษย์ ทีละน้อยค่อยๆ เริ่มเข้าสู่และอยู่กึ่งกลาง กระบวนการย่อยสลาย ปรากฏผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละคร คือธรรมชาติในหลากรูปทรง ทั้งแสงอาทิตย์ น้ำฝน เสียงของปีกแมลง ที่ทั้งเคลื่อนไหวและครองบทบาทแห่งชีวิต กับศพแห้งของอดีตอารยธรรมวานรหลังตั้งฉากกลุ่มหนึ่งที่นอนนิ่งสงัดปราศจากสัญญาณชีพอยู่ตรงนั้น

ชอบทุกเสียงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเสียงของลมที่สัมผัสเอาพื้นผิวต่างๆ รอบบริเวณ เมื่อได้ฟังจากหลากสถานที่เทียบกันก็ยิ่งรู้สึกชัดว่าสายลมเวลาไปสัมผัสเข้ากับหรือวัตถุที่เคยเป็นของมนุษย์ เช่นพวกกระดาษเก่าในสำนักงาน หรือเศษโลหะเสียงมันดู peak ฟังดูช่างกระด้างทารุณ ไม่เหมือนเวลาที่เกิดขึ้นของเสียงปีกนก เสียงคลื่นทะเล หรือเสียงใบไม้ร่วงจากต้น 

ได้สัมผัสกับจำลองแห่งวันสิ้นโลกจริงๆ ก็รู้สึกทั้งสะใจและเศร้าใจ สนุกแบบปลงๆ รู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ดูในโรง



วาสุเทพ เกตุเพ็ชร : ผกก. ซีรี่ส์ The Gifted: Graduation, เขียนบท มะลิลา

The Trial of The Chicago 7 (2020, Aaron Sorkin, USA/UK/India)

Aaron Sorkin อาจจะไม่ใช่ชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงเวลาถูกถามถึงผลงานที่ชอบ ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับหรือคนเขียนบท แต่ก็เป็นคนทำงานที่เราติดตามอยู่เสมอ และเอาจริงๆ คือลึกๆ เราอยากทำงานได้อย่างเขา

บทหนังซอร์กินมันจะแหลมคมด้วยประเด็นเสมอ และการให้ตัวละครพูดเยอะมันสะใจคนเขียนบทแบบเราดี ขณะที่หนังวู้ดดี้ อัลเลนมันพูดเยอะ แต่ก็ยังเป็นการบ่นลมบ่นฟ้า แต่หนังซอร์กินมันพูดกันแทบจะเป็นอภิปรายในสภา ตัวละครเหมือนทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดจุดยืนของบท ไม่มีพื้นที่อิสระให้ตัวละครแสดงเหลี่ยมมุมของความเป็นมนุษย์มากนัก บางครั้งเวลาบทของซอร์กินไปอยู่ในมือของผู้กำกับที่ไม่แข็งแรง หนังก็พังแบบไม่เป็นท่าไปเลย

The Trial of The Chicago 7 คือรวมทุกองค์ประกอบของความเป็นหนังซอร์กิน มาแบบไม่กั๊กว่าจะเอาประเด็นอะไร ตัวละครต้องทำหน้าที่อะไร บทพูดแหลมแบบจงใจเหลาเอาแบบชัด แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์เราคือตอนจบอะ ถ้าฉากแบบนี้มันอยู่ในหนังสปีลเบิร์กหรือโนแลนมันคงเฉยๆ แต่พอมันเป็นหนังซอร์กินมันเลยเป็นฉากจบที่ดีมากจนต้องให้เดอะเบสต์ของปีไปจริงๆ เป็นการส่วนตัว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here