(รายชื่อรอบแรก) | (รายชื่อรอบสอง)
ในที่สุดปี 2020 ก็ผ่านเราไปอย่างใจหายใจคว่ำ อย่างหืดขึ้นคอ ท่ามกลางสถานการณ์การปิดโรงหนังหนีโควิด การเฟื่องฟูของกิจการ Streaming ภาพยนตร์ และการที่เทศกาลหนังเกือบทั้งโลกย้ายมาอยู่ออนไลน์ เปิดประตูกว้างต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก และสำหรับในประเทศการมาถึงของการชุมนุมที่นอกจากจะขยายเพดานการสื่อสารอย่างสามารถสร้างเทรนด์บางอย่างของการดูหนังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วย
ในปีที่ยากลำบากนี้ FILM CLUB ขออนุญาตรวบรวมหนังแห่งปี 2020 ของหลากหลายผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ชม และทีมงานของ FILM CLUB เองไว้สำหรับเป็นตัวเลือกในมหกรรมวันหยุด ในปี 2021 ที่กำลังมาถึงนี้ โดยไม่จำกัดทั้งหนังโรง หนังสตรีมมิ่ง หนังเทศกาลหรือวิดีโออาร์ต ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์ตามช่องทางธรรมชาติ ไม่จำกัดปีที่หนังฉาย และรูปแบบการฉาย แต่ละท่านสามารถเลือกหนังได้อย่างเสรีตามประสบการณ์การดูหนังของแต่ละท่านเอง
และนี่คือรายชื่อรอบสาม
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต : ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
The Green Ray (1986, Eric Rohmer, France)
ดูใน mubi
เพิ่งเคยดูหนังของโรห์แมร์แบบตั้งอกตั้งใจ ชอบมาก ไม่มีเชย เรื่องของนางเอกที่เลิกกับแฟนตอนช่วงซัมเมอร์ซึ่งใครๆ ก็มีแผนไปเที่ยวกัน นางก็เลยเคว้ง แล้วก็เกิดเรื่องบ้าบอแบบเดาไม่ถูก ก็ยังงงว่าเชื่อมโยงกับจูลล์ เวิร์น ยังไง เดี๋ยวคงต้องไปหาหนังสืออ่านต่อ แต่ถึงจะไม่เข้าใจทุกอย่างก็ยังสนุก ดูจบก็อยากไปดูพระอาทิตย์ตกที่ทะเลมาก หนังเรื่องนี้อาจจะดูในเวลาที่เหมาะสมด้วย คือเป็นเวลาที่ประสาทกับโควิด ซึ่งความประสาท มันมีทั้งทั้งความเครียดและขำในเวลาเดียวกัน ทำให้เข้าใจตัวละครในเรื่องได้ดี ใครที่ชอบหนังฮงซังซู น่าจะชอบ
นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : ศิลปิน
Something Useful (İşe Yarar Bir Şey) (2017, Pelin Esmer, Turkey)
ผ่านมุมมองและความเคลื่อนไหวของภาพ ถ้อยคำและการแสดงเล็กน้อยของตัวละคร หนังสร้างประสบการณ์การรับรู้แบบเดียวกับการอ่านบทกวี ตัวหนังเองก็ใช้บทกวีเป็นทั้งเครื่องมือและวิธีการสำรวจ นี่เป็นหนังที่เลือกนึกถึงในปีที่หนักหน่วง เป็นหนังที่คนทำพยายามยืนยันว่า งานศิลปะ (บทกวี) มีความหมายและเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อไป
ก้อง ฤทธิ์ดี : รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์
I’m Thinking of Ending Things (2020, Charlie Kaufman, US)
หนังเรื่องนี้คงต้องดูคู่กับไปหนังสือ Antkind ของผู้กำกับชาร์ลี คอฟแมน (ตัวเอกเป็นหนักวิจารณ์หนังที่ค้นพบหนังที่ไม่มีใครเคยดู – นี่คือความฝันของนักวิจารณ์ในยุคเฟซบุ๊ก) ความหมกมุ่นกับตัวเองและกระบวนการความคิดของตัวเองนี่บางทีมันเป็นความน่ารำคาญแบบอเมริกัน พวก oversensitive กับทุกสิ่งและอยากจะถ่ายทอดความหมกมุ่นของตัวเองกับคนอื่น แต่กับคอฟแมน สิ่งนี้กลายเป็นความเรืองรองของภาพในสมองที่กลายเป็นภาพยนตร์ กลายเป็นความโศกเศร้าของการไม่เคยไปถึงสิ่งที่ตัวเองคิดว่าตัวเองควรจะเป็น หรือควรจะทำในชีวิต I’m Thinking of Ending Things เป็นปริศนาที่ไม่ต้องการคำตอบใดๆ แต่เป็นปริศนาที่ชวนให้อ่านหรือดูซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เห็นว่ามันมีปริศนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเคยเหมือนทุกครั้ง นี่คือหนังที่คอฟแมนจัดทริปเข้าไปในหัวตัวเอง ในกระแสสำนึกที่ทั้งฟุ้งซ่าน ปราดเปรื่อง และลุ่มหลงไปกับร้อยพันสิ่งที่ผ่านเข้ามา ถ้าเราจะออกทริปไปด้วยก็ต้องรับสภาพนี้ (รับครับ) เสียดายไม่ได้ดูจอใหญ่เพราะถ่ายภาพและตัดต่อดีเหลือเกิน
จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด (มิสเตอร์อเมริกัน) : เจ้าของเพจจิบชารับ มิสเตอร์อเมริกา และ บรรณาธิการ Palo Publishing
Zombie Land Saga (2018, Sakai Munehisa, Japan) (12 ตอนจบ) TV Series
จอร์จ เอ โรเมโร่ คงตกใจหรืออาจจะทึ่งที่ผลผลิตซอมบี้ของเขามาไกลได้ขนาดนี้ จากเดิมมันเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม เอดส์ ภัยก่อการร้าย ไปจนถึงบริโภคนิยม ทว่า อนิเมะที่ว่าด้วยการเอาบรรดาซอมบี้สาวๆ มาเป็นไอดอลเรื่องนี้กลับไปไกลกว่าทั้งที่พล็อตดูจะเป็นงานเกรดหนังเกรด Z ของญี่ปุ่น ทว่า นี่คือ แอนิเมชันม้ามืดเรื่องดังที่พูดถึงความฝัน ความพยายาม ความเป็นไอดอล และ ชีวิตกับความตายได้อย่างน่าตื่นตะลึง ในเรื่องให้เราได้ติดต่อตัวละครทั้งเจ็ดที่เคยเป็นมนุษย์แต่ตอนนี้ตายแล้วฟื้นมาเป็นซอมบี้ เราได้เรียนรู้ชีวิตของพวกเธอการเติบโต ก้าวผ่านความเจ็บปวดไปพร้อมๆ กัน ซีรีย์ให้เราเห็นว่า การเป็นซอมบี้ไม่ได้เลวร้ายเท่ากับการถูกหลงลืมไร้ค่าในสังคม ขณะเดียวกันก็บอกกับเราว่า ความเป็นมนุษย์นั้นคืออะไรกันแน่ ?
นี่คือ แอนิเมชันไอดอลที่ดีที่สุดเท่าที่มีการสร้างมา (มันเหนือกว่า Love Live หรือ Idolmaster) เพราะนี่คือ เรื่องราวของมนุษย์ที่แม้จะมีอุปสรรคเพียงใดก็ต้องก้าวต่อไปด้วยความเชื่อมั่นว่า ความหวังยังมีอยู่เสมอ
ขนาดซอมบี้ยังพยายามจะมีชีวิตอีกครั้ง แล้วมนุษย์เราก็ไม่ควรจะสิ้นหวังไม่ใช่หรือ ?
เหมือนดั่งเพลงที่ว่า “ลุกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถ้าเธอไม่ยอมแพ้จุดจบจะเป็นการเริ่มต้นใหม่
แม้ว่ามันจะโหดร้ายและไม่ยุติธรรม แต่อย่าให้มันมากระทบเธอ
เธอจึงยิ้มและบอกลาทุกความสงสัยได้
และมีความฝันใหม่
“จงลุกขึ้น !!” “
เพราะไอดอลนั้นคือ ความหวังและความฝันของผู้คนยังไงล่ะ
นนทวัฒน์ นำเบญจพล : ผู้กำกับภาพยนตร์
Stay Awake, Be Ready (2019, Pham Thien An, Vietnam) SHORTS
หนังสั้นจากเวียดนาม วันเทคลองชอต ที่บันดาลใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่กล้องเคลื่อน มันทั้งสร้างสรรค์ ตราตรึง และงดงาม
นคร โพธิ์ไพโรจน์ : กองบรรณาธิการ นักเขียนประจำ Film Club
Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba the Movie: Mugen Train (2020, Haruo Sotozaki, Japan)
ไม่ได้เป็นแฟนมังงะหรือซีรีส์อมิเมะอะไรทั้งสิ้น แต่หากต้องเลือกหนึ่งเรื่องของปีที่ผ่านมา มันกำลังบอกเราว่าการดูหนังในเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว และไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกด้วย การที่มันเอาชนะหนัง DC และดิสนีย์ได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศประเทศไทย คือสิ่งที่คนในวงการหนังต้องหันกลับมาทบทวนตลาดใหม่ทั้งหมด กลยุทธ์แบบเก่าอาจไม่ใช่คำตอบของ 2021 และหลังจากนี้อีกต่อไป
ภาณุ อารี : ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นักเขียนประจำ Film Club
Minari (2020, Lee Isaac Chung, US)
ได้ดูในรอบ distributor’s screening ที่เบอร์ลินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หนังนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวเกาหลีที่อพยพมาตั้งรกรากที่อเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 80 แต่แทนที่เลือกไปเริ่มต้นชีวิตที่แอลเอแบบคนเกาหลีทั่วๆ ไปทำกัน แต่ครอบครัวนี้เลือกไปมิดเวสต์ซึ่งไม่มีอะไรเลย ชอบที่หนังเล่าเรื่องแบบเชื่องช้า แต่แฝงด้วยอารมณ์ขันและความเศร้าซึมแบบพอดี หลายคนบอกว่าสตีเวน ยวนแสดงได้สุดยอด แต่โดยส่วนตัวขอบการแสดงของ เยริ ฮานผู้แสดงเป็นภรรยามากกว่า สายตาของเธอสื่อถึงความไม่เข้าใจในตัวสามีว่าทำไมถึงต้องมาเริ่มต้นจากติดลบ แทนที่จะเป็นศูนย์แบบคนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเป็นกำลังให้เขาสานฝันให้สำเร็จ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคนไทยน่าจะมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงไม่ช้าก็เร็ว
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย : ผู้กำกับสารคดี School Town King ผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill
See Heaven (1995, Naomi Kawase, Japan) short
ปีนี้เป็นปีที่หนักมาก ในเรื่องการพาให้บริษัทรอดจากโควิด เป็นปีที่ทำงานจนไม่ได้พัก และเมื่อวันรอบสื่อหนัง school town king ออกฉายโรง เป็นวันที่อาม่า ที่ป่วยมานานเสียชีวิต เป็นอาม่าที่เลี้ยงเราตอนเด็ก แต่ช่วงหลังที่เขาป่วยไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขาเลย รู้สึกผิดในใจ เพราะเราเป็นหลานชายคนโตที่เขารักเรามาก เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราสะท้อนใจ หนังเรื่องนี้เลยพอจะบอกความรู้สึกบางอย่างแทนปีนี้ ในขณะที่เราสนใจเรื่องภายนอก อยากให้กลับมามองหรือสนใจสิ่งใกล้ตัวด้วย อาจจะไม่ใช่เฉพาะคน แต่หมายถึงภายในจิตใจข้างใน
นภัทร มะลิกุล : นักวิจารณ์ นักเขียนประจำ Film Club
The Midnight Sky (2020, George Clooney, US)
The Midnight Sky (2020) หนังที่สะท้อนความเปลี่ยวดายของการอยู่คนเดียวในโลกที่กำลังจะเป็น apocalypse และส่งผ่านความรู้สึกคิดถึงใครบางคนข้างเดียว กับห้วงความทรงจำแสนหวานในอดีตที่ผุดพรายขึ้นมาเป็นเพื่อนยามเหงา แสดงนำโดยนักแสดงแถวหน้าอย่างจอร์จ คลูนีย์ และมีสกอร์เพลงน่าจดจำ
Inertiatic Groovfie Viaquez : cinephile คนหนึ่ง
All About “Chiaki Mayumura” (Provisional) (2019, Hajime Matsuura, Japan)
15 นาทีแรกคือ Fact ของ จิอากิ มายุมุระ สาวน้อยนักร้องมากความสามารถคนนี้
ที่เหลือหลังจากนั้นอีกชั่วโมงคือฟิกชันยำใหญ่ที่สุดแสนจะบันเทิง ว่าด้วยที่มาที่ไปของสาวน้อยนักร้องคนนี้ ผู้มาจากโลกใต้ดิน ที่เป็นโคลนนิ่ง ผ่านระบบการแข่งขันคัดกรองด้วยระบบไอดอลเป็นรอบๆ แล้วที่สำคัญ รอบล่าสุดที่จะถูกส่งขึ้นไปแสดงสดในคอนเสิร์ตใหญ่ของจิอากิ จะไม่ได้มีเพียงเหล่าโคลนนิ่งที่จะชิงชัยตั๋วการขึ้นสู่โลกเบื้องบน หนึ่งในนั้นจิอากิคือตัวจริงยีนแท้ที่จะร่วมพิสูจน์ตัวเองไปกับเขาด้วย
ความบันเทิงที่จะได้สัมผัส ก็สุดแสนจะป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นเหลือเกิน โลกใต้ดินที่เป้าหมายแฝงต่อโลกเบื้องบนผ่านแผนการไอดอล ความระเบิดระเบ้อเมืองพังตามสไตล์หนังสัตว์ประหลาดบุกเมือง และอื่นๆ ทำนองนี้อีกมากมาย ^^
ธนิศวร์ วสุ ยันตรโกวิท : ผู้กำกับหนังสั้น และ มิวสิควิดีโอ
One Summer Story (2020, Okita Shuichi, Japan)
ถ้าจะมีหนังเรื่องไหนที่เล่าเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่ได้เป็นโมเม้นต์พิเศษแต่เป็นจุดก้าวผ่านสำคัญบางอย่างขอยกให้เรื่องนี้ หนังเล่าเรื่องของเด็กสาวที่โดดค่ายชมรมว่ายน้ำฤดูร้อนไปหาพ่อที่ไม่เคยเจอมาก่อน ได้ใช้เวลาหมดไปกับวันธรรมดาๆ ได้เจอหนุ่มที่คลิกกัน แล้วเล่าโดยที่ไม่ต้องมีเหตุอะไรให้ใหญ่โต เหมือนกับส่องชีวิตคนคนนึงอยู่
บางทีในปี 2020 เราอาจจะต้องการอะไรแค่นี้ แค่การดูชีวิตของใครสักคนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคาดหวังให้มีอะไรพิเศษขึ้นมา แล้วออกจากโรงไปด้วยโมเมนต์ดีๆ ที่มีให้หนังเรื่องหนึ่ง
พิมพ์ชนก พุกสุข : นักเขียนประจำ Film Club
The Last Dance (2020, Jason Hehir, US) series
เราอาจจะมองมันเป็นสารคดีกีฬาที่คัดเลือกฟุตเตจและประเด็นอย่างแม่นยำเพื่อเล่าถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของทีม ชิคาโก้ บูลล์ส ช่วงปี 1997-1998 กับผู้เล่นที่กล่าวกันว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก ภายใต้การนำทัพของ ไมเคิล จอร์แดน ก็ได้ หรืออาจจะมองมันในฐานะซีรีส์ที่เผยให้เห็นด้านดำมืดของเทพเจ้าแห่งวงการบาสเก็ตบอลก็ได้อีกเหมือนกัน การกระเสือกกระสนอยากเอาชนะ แพ้ไม่เป็น กลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้เขากลายเป็น ‘หนึ่งเดียว’ ของลีก การต้องแลกที่จะไม่เป็นที่รักของใครในทีมเพื่อถ้วยรางวัล การที่เลือกแล้วว่าจะไม่แพ้และจะเป็นตำนาน ล้วนแล้วแต่มีราคาที่ต้องจ่ายซึ่งไม่ใช่แค่หยาดเหงื่อ แต่อาจหมายถึงหัวใจ หมายถึงการหักล้างและปฏิเสธจะยอมอ่อนโอนเพื่อคนอื่น เพียงเพื่อชัยชนะและเกียรติยศของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ จอร์แดนเลือกแล้ว แลกแล้ว และแม้ราคาที่ต้องจ่ายในฐานะชายที่จะพิชิตคนทั้งโลกจะสูงลิ่ว แต่มันก็แลกมาด้วยการที่ชิคาโก บูลส์ในวันเวลานั้นเป็นทีมเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อาจมีใครลบล้างหรือทดแทนได้อีกตลอดกาล