Home Film News จับตาดูอุตสาหกรรมหนังอเมริกัน เมื่อบริษัทผลิตหนังเป็นเจ้าของโรงหนังได้!

จับตาดูอุตสาหกรรมหนังอเมริกัน เมื่อบริษัทผลิตหนังเป็นเจ้าของโรงหนังได้!

0
จับตาดูอุตสาหกรรมหนังอเมริกัน เมื่อบริษัทผลิตหนังเป็นเจ้าของโรงหนังได้!

เมื่อกล่าวถึงจุดเด่นสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา หนึ่งในข้อที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญ คือการแบ่งแยกอย่างอิสระระหว่าง ภาคการผลิต และจัดจำหน่าย (production & distribution) กับภาคการเผยแพร่ (exhibition) กล่าวให้ชัดก็คือ ภายใต้กฎหมายป้องกันการผูกขาด (antitrust law) บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในอเมริกา ไม่สามารถเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้ เนื่องจากถือเป็นการผูกขาดธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม และปิดโอกาสไม่ให้เกิดการแข่งขันขึ้นในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสำคัญได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ศาลส่วนกลาง (Federal Court) ได้ประกาศ ยกเลิก “กฤษฎีกาพาราเมาท์” (Paramount Decree) ซึ่งประกาศใช้ในปี 1948 ส่งผลให้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในอเมริกา สามารถเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้https://deadline.com/2020/08/paramount-consent-decrees-justice-department-2-1203007221/

ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่า ผลกระทบจากการยกเลิกคำสั่งศาลที่มีอายุ 72 ปี จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอย่างไรบ้าง เราควรมาทำความรู้จักกับ “กฤษฎีกาพาราเมาท์” ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน (และโลก) อย่างไร


คดีความระหว่าง “รัฐบาลสหรัฐ กับ บริษัทพาราเมาท์ พิคเจอร์ส (United State V. Paramount Pictures, Inc.)

จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เริ่มต้นสมัยที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันกำลังก่อร่างสร้างตัวใหม่ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1900 ภายหลังจากภาพยนตร์กลายเป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ โดยลักษณะของการทำธุรกิจคือ เจ้าของภาพยนตร์ติดต่อโดยตรงกับโรงภาพยนตร์ หรือขายสิทธิ์ให้แก่พ่อค้าคนกลาง จากนั้นพ่อค้าคนกลางก็นำไปฉายตามโรงภาพยนตร์ต่อไป

อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เมื่อฮอลลีวูดถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1910 ในช่วงเวลานี้ รูปแบบของธุรกิจภาพยนตร์มีความเป็นระบบมากขึ้น บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่นอกจากผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์แล้ว ยังผูกขาดการจัดฉายภาพยนตร์ด้วย โดยบริษัทสตูดิโอเหล่านี้ หากไม่บีบให้เจ้าของโรงภาพยนตร์ต้องฉายภาพยนตร์ของตัวเองอย่างเดียว ก็จะสร้างโรงภาพยนตร์แข่งขันกับเจ้าของโรงที่มีอยู่ก่อนแล้ว ผลที่ตามมาคือ การหายไปของโรงภาพยนตร์อิสระ จนในที่สุดโรงภาพยนตร์เกือบทั้งหมดในอเมริกาตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน รัฐบาลสหรัฐโดยกระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) มองว่าการกระทำของบริษัทสตูดิโอในอเมริกานั้น ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการผูกขาด (antitrust) จึงได้ทำการฟ้องบริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่ของฮอลลีวูด นำโดยบริษัทพาราเมาท์ พิคเจอร์ส ร่วมด้วย บริษัทเอ็มจีเอ็ม ทเวนตี้ เซนจูรีฟ็อกซ์ ยูนิเวอร์แซล และโคลัมเบีย ในปี 1938 คดีความดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อ “สหรัฐกับพาราเมาท์ พิคเจอร์ส อิงค์” การต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมใช้เวลาถึงสิบปี ในที่สุด ปี 1948 ศาลสูง (supreme court) ตัดสินให้รัฐบาลสหรัฐเป็นฝ่ายชนะ ผลจากการตัดสินทำให้บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่มีโรงภาพยนตร์ของตัวเองอยู่แล้วต้องขายโรงภาพยนตร์ให้แก่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์อิสระ และไม่สามารถซื้อกิจการโรงภาพยนตร์มาบริหารได้อีก คำสั่งยกเลิกการผูกขาดกิจการโรงภาพยนตร์ของสตูดิโอ ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “กฤษฎีกาพาราเมาท์” (Paramount Decree)https://pmcdeadline2.files.wordpress.com/2020/08/paramount-wm.pdf

คูโรปการที่สำคัญของกฤษฎีกาพาราเมาท์ได้แก่ การถือกำเนิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ทางเลือกมากมายในอเมริกา โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์ นอกจากนี้ ทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์หลากหลายแนวที่ไม่จำกัดแค่ภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระยังสามารถนำภาพยนตร์เข้าฉายอย่างเสรีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหาที่ฉายไม่ได้อีกด้วยhttps://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2019/11/justice-department-movie-industry-paramount-ruling/602311/


ปี 2020 จุดสิ้นสุดของกฤษฎีกาพาราเมาท์ และจุดเริ่มต้นของการผูกขาดแบบใหม่

กฤษฎีกาพาราเมาท์ได้สร้างสมดุลให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ถึงปี 2018 รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มอบหมายให้ แผนกต่อต้านการผูกขาดธุรกิจ (antitrust division) ของกระทรวงยุติธรรมทำการทบทวนข้อกฎหมายการผูกขาดธุรกิจภาพยนตร์เนื่องจากมองว่าเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจ จนในที่สุดก็นำมาสู่ข้อเสนอยกเลิกและแก้ไขกฤษฏีกาพาราเมาท์ซึ่งถูกใช้มา 7 ทศวรรษ โดยระหว่างนั้น ทางกระทรวงยุติธรรม ได้ทำการสำรวจความเห็นของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และพบว่า มีกว่า 80 รายที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตราดังกล่าว

กระทรวงยุติธรรมจึงเสนอทางออกด้วยการกำหนดให้ กฤษฎีกาพาราเมาท์ ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 2 ปี แม้ว่าในทางกฎหมายจะถูกยกเลิกไปแล้ว เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างไม่มีปัญหา

2 ปีหลังจากที่กระทรวงยุติธรรมได้ส่งข้อเสนอให้ทางศาลส่วนกลางพิจารณา ในที่สุดวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 2020 ศาลส่วนกลาง ก็ได้มีคำสั่งยกเลิกกฤษฎีกาพาราเมาท์ ส่งผลให้ต่อจากนี้เป็นต้นไป บริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่ในอเมริกาสามารถดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ได้อย่างเสรีhttps://deadline.com/2020/08/paramount-consent-decrees-justice-department-2-1203007221/


ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

แม้ว่าผลกระทบที่เป็นรูปธรรมที่สุดจากการยกเลิก “กฤษฎีกาพาราเมาท์” คือการที่ค่ายสตูดิโอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิสนีย์ ยูไอพีจะสามารถดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์แข่งกับ ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ทั้งเครือใหญ่ อย่าง AMC หรือ Regal ได้อย่างเสรี หรือมากกว่านั้นคือ ค่ายสตูดิโอหรือแม้แต่ค่ายสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix หรือ Amazon อาจถือโอกาสที่โรงภาพยนตร์เครือใหญ่อ่อนแอจากการต้องปิดตัวจากวิกฤตการณ์โควิดจนส่งผลต่อสภาพการเงินซื้อกิจการโรงภาพยนตร์มาดำเนินการแทน

แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือโรงภาพยนตร์ที่มีขนาดเล็กกว่าที่ไม่ได้มีโรงภาพยนตร์ในเครือมากมาย และมีลักษณะเป็นโรงภาพยนตร์ทางเลือกที่ฉายภาพยนตร์อิสระ ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องทยอยปิดตัว เนื่องจากไม่สามารถต่อสู้กับโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ และโรงภาพยนตร์ของสตูดิโอได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ยอมตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องของสตูดิโอเมื่อภาพยนตร์ของพวกเขาออกฉาย เช่นการเทรอบให้อย่างไม่จำกัด

ผลกระทบที่ตามมายังรวมถึง โอกาสในการแสวงหาช่องทางการจัดจำหน่ายทางโรงภาพยนตร์ของผู้สร้างอิสระจะน้อยลงด้วย เนื่องจากพื้นที่ในการจัดฉายส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยบริษัทสตูดิโอ ดังนั้นทางเดียวของผู้สร้างภาพยนตร์อิสระคือ หากไม่ให้บริษัทสตูดิโอเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ (ซึ่งมีโอกาสน้อยมากเพราะสตูดิโอเองก็มีภาพยนตร์ของตัวเองอยู่แล้ว) ก็อาจต้องพึ่งพิงช่องทางสตรีมมิ่ง ซึ่งยังคงต้องการคอนเทนท์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องแทน แต่นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการปิดโอกาสในการฉายภาพยนตร์ในโรงซึ่งถือเป็นช่องทางที่ผู้สร้างภาพยนตร์มีความต้องการเผยแพร่เป็นลำดับแรก

ในส่วนของผลกระทบระดับมหภาค ฉากทัศน์ที่อาจเป็นไปได้ คือการที่บริษัทสตูดิโอขนาดใหญ่ในภาคเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ อาจแสวงหาโอกาสในการ “ร่วมมืออย่างใกล้ชิด” กับ ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเป็นพันธมิตรกันหรือการควบรวมกิจการ ซึ่งไม่ว่าจะลงเอยในรูปแบบใด ย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ลองคิดถึงวันที่หนังซูเปอร์บล็อคบัสเตอร์เข้าฉายในโรงที่ผู้สร้างเป็นเจ้าของ)

แม้ถึงตอนนี้จะยังบอกไม่ได้ว่าการยกเลิกคำสั่งการระงับการผูกขาดในกิจการภาพยนตร์ในอเมริกาจะส่งแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกาแค่ไหนเนื่องจากจะยังไม่มีผลจนกว่าอีกสองปีข้างหน้า แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันและภาพยนตร์โลกต้องยอมรับคือการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว โดยผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงมีอยู่สองทาง คือ หากไม่ดีขึ้นก็แย่ลง ในกรณีที่ผลลัพธ์ออกมาแย่ลง อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพากระบวนการยุติธรรม เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 จนนำมาสู่การเกิดขึ้นของกฤษฎีกาพาราเมาท์ในปี 1948 อีกครั้ง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here