เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา คนทำหนังสารคดีและผู้กำกับภาพชาวอิหร่านอย่างน้อย 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกค้นบ้านหรือที่พักอาศัย ยึดทรัพย์สินส่วนตัว และจับขังโดยไม่แจ้งข้อหา ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลอิหร่านกำลังพยายามกดปราบการชุมนุมประท้วงของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกคลื่นในหลายจังหวัดทางภาคตะวันตก
ทั้งสี่คนที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ ฟิรูเซห์ โคสราวนี (Firouzeh Khosravani) ซึ่งหนังเรื่อง Radiograph of a Family (2020) ชนะสารคดียอดเยี่ยมที่ IDFA, มินา เคชาร์วาร์ซ (Mina Keshavarz) กับคนทำหนังชาวเคิร์ด ชิลัน อัซซาดี (Shilan Assadi) ที่เคยพาสารคดีอิหร่านไปเบอร์ลินมาแล้วทั้งคู่ และตากล้องหญิง เรฮาเนห์ ทาราวตี (Reyhaneh Taravati) – โดยก่อนหน้านี้ โคสราวนีเคยถูกจับหลังร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ในปี 2009 ส่วนทาราวตีถูกศาลตัดสินจำคุกหนึ่งปีเพราะทำมิวสิกวิดีโอเพลง Happy ของ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) เวอร์ชันอิหร่าน
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film Directors Association) สมาคมคนทำหนังสารคดีแห่งอิหร่าน (The Iranian Documentary Filmmakers Association) และสมาคมวิชาชีพผู้อำนวยการสร้างสารคดี (The Documentary Producers Guild) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนทำหนังที่ถูกคุมตัวทันที และระบุเพิ่มเติมถึงความน่าเคลือบแคลงของสถานการณ์ เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ปิดเงียบเรื่องสาเหตุของการจับกุม กระบวนการตรวจค้น รวมถึงสถานที่ควบคุมตัว (มีเพียงโคสราวนีที่ได้โทรศัพท์ถึงครอบครัวและแจ้งสถานที่คุมขัง) นอกจากนี้ ยังมีคนทำหนังสารคดีอีกอย่างน้อย 10 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้าตรวจค้นบ้าน ที่พักอาศัย หรือสถานที่ทำงาน และยึดทรัพย์สินส่วนตัวหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ พาสปอร์ต หรือบัตรประชาชน ไปโดยไม่มีการแจ้งข้อหา
แถลงการณ์แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ที่อาจผลักให้คนทำหนังสารคดีต้องติดกับดักความเข้าใจผิดทางการเมือง และเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านหยุดสร้างบรรยากาศความกลัวต่อชีวิตและการทำงานของคนทำหนังสารคดีหรือสื่อมวลชน ในขณะที่ทางการยังปิดปากเงียบ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการกวาดจับครั้งนี้ เป็นไปเพื่อข่มขู่คุกคามหรือมุ่งตัดกำลังฝ่ายที่รัฐมองว่าอาจตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม หรือลงพื้นที่เพื่อบันทึกภาพการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้น โดยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏว่านักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่วิจารณ์รัฐบาลอิหร่านก็ถูกควบคุมตัว
ชนวนสำคัญของการประท้วงระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศขึ้นราคาขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวอิหร่าน ส่งผลให้ราคาขนมปังถีบตัวสูงขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่วันหลังจากนั้น ยังซ้ำเติมด้วยการขึ้นราคาเนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช – ความพยายามทุเลาสถานการณ์ด้วยเงินอัดฉีดแบบ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่เป็นผล เพราะราคาอาหารในอิหร่านแพงขึ้นเกือบหรือกว่าเท่าตัวอยู่แล้วตั้งแต่ปีก่อน เกิดสภาวะกักตุนอาหารจนขาดแคลนในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนในหลายจังหวัดภาคตะวันตกเริ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) และผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม
ขณะนี้รัฐบาลอิหร่านใช้วิธีล้อมปราบด้วยความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันตกดังกล่าว มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ สื่อของรัฐพยายามอธิบายการประท้วงว่าเป็นการ “จลาจล” มีความพยายาม “ชัตดาวน์” อินเทอร์เน็ต (บางช่วงประชาชนเข้าได้เฉพาะเว็บไซต์สัญชาติอิหร่าน) และคลิปบันทึกภาพการประท้วงจำนวนมากถูกเซ็นเซอร์โดยเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม (ซึ่งอาจเป็นผลทั้งจากการตรวจจับแบบเถรตรงของ A.I. ที่มองว่าเป็นภาพความรุนแรง หรือมนุษย์ที่ตรวจสอบคอนเทนต์ภาษาฟาร์ซีอาจเป็นฝ่ายเชียร์รัฐบาลอิหร่าน)
นักวิชาการด้านสังคมวิทยา ซาอีด มาซดานี (Saeed Masdani, ซึ่งขณะนี้ยังถูกคุมตัว) ให้ความเห็นว่า ถึงการประท้วงระลอกนี้จะเป็นผลต่อเนื่องของสภาวะทางการเมืองในรอบยี่สิบปีหลังของอิหร่าน แต่เมื่อเทียบกับการชุมนุมใหญ่ที่เคยเกิดขึ้น ครั้งนี้มีแนวโน้มประชาชนเข้าร่วมที่กระจายตัวกว้าง และมีข้อเรียกร้องที่ท้าทายพร้อมแตกหักกว่าที่เคยเป็นมา “ถ้าที่ผ่านมาเกิดประท้วงใหญ่เพื่อล้มรัฐบาล ครั้งนี้พวกเขาจะประท้วงเพื่อล้างไพ่การเมืองอิหร่านทั้งระบบ”