ไม่ว่าผลผู้ชนะรางวัลออสการ์ในภาพรวมของแต่ละปีจะเป็นที่พอใจ เซอร์ไพรส์ หรือตามโผจนชวนหลับ แต่สาขาที่ถูกวิจารณ์เสมอมาว่าก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงก็คือภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Best Animated Feature) ที่ผลรางวัลสะท้อนอาการแช่แข็งของรสนิยมกับทัศนคติ จนหลายเสียงเรียกชื่อเล่นว่ารางวัลดิสนีย์-พิกซาร์ เพราะนับจากปี 2010 ถึงตอนนี้ มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ผลงานนอกสังกัดดิสนีย์หรือพิกซาร์เป็นผู้ชนะ คือ Rango (2011) และ Spider-Man: Into the Spiderverse (2018)
การตีความรางวัลเชื่อมโยงกับทัศนคติของฮอลลีวูดก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ตอกย้ำให้ยิ่งชัดคือการที่สาขาแอนิเมชันสั้นยอดเยี่ยม (Best Animated Short Film) คือหนึ่งในแปดสาขาที่ถูกตัดออกจากการถ่ายทอดสด และสคริปต์แนะนำผู้เข้าชิงแอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีที่กล่าวโดยสาม “เจ้าหญิงดิสนีย์” เวอร์ชั่นคนแสดงคือ ลิลี่ เจมส์ (Lily James / Cinderella) เนโอมิ สก็อตต์ (Naomi Scott / Aladdin) และ ฮัลลี่ เบลีย์ (Halle Bailey / The Little Mermaid) ซึ่งเนื้อความเขียนว่าภาพยนตร์แอนิเมชันหลายเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ครั้งสำคัญในวัยเยาว์ โดยที่ “เด็กมากมายดูหนังเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก และซ้ำแล้วซ้ำอีก และซ้ำแล้วซ้ำอีก… ฉันว่าพ่อแม่ผู้ใหญ่ที่นั่งดูอยู่คงเข้าใจดีว่าเรากำลังพูดถึงอะไรอยู่”
ฟิล ลอร์ด และ คริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ ผู้กำกับแอนิเมชัน Cloudy with a Chance of Meatballs (2009) กับแฟรนไชส์ The LEGO Movie (2014-2019) และโปรดิวเซอร์ของ Into the Spider-Verse กับ The Mitchells vs the Machines (2021) ที่ทั้งชนะและเข้าชิงออสการ์สาขานี้ ได้เผยแพร่บทความตอบโต้ทัศนคติดังกล่าวใน Variety เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ลอร์ดได้ทวิตถึงมุขนี้ไปแล้วก่อนหน้าว่า “การบอกว่าแอนิเมชันเป็นหนังที่เด็กดูแต่ผู้ใหญ่ต้องฝืนทนนี่โคตรคูลสุดๆ ไปเลย”
“เราจะเมินเฉยการตีกรอบหนังแอนิเมชันผู้เข้าชิงทั้งห้าเรื่องว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนดูไปเฉยๆ เลยก็ได้ ถือเสียว่าสะเพร่าและขาดความยั้งคิด แต่สำหรับพวกเราที่อุทิศชีวิตให้การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน การต้องฟังคำพูดไม่ยั้งคิดแบบนี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว” ทั้งคู่เขียนในช่วงต้นของบทความ พร้อมขยายความเพิ่มเติม “หัวหน้าของสตูดิโอแอนิเมชันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งเคยพูดให้เหล่าแอนิเมเตอร์ฟังว่า ถ้าเราเล่นเกมเป็น สักวันก็จะได้เลื่อนขั้นไปทำหนังคนแสดง อีกหลายปีต่อมา ผู้บริหารอีกสตูดิโอพูดถึงหนังเรื่องหนึ่งของเราว่าสนุกมาก สนุกเสียจนทำให้เขานึกถึง ‘หนังจริงๆ’ เลย”
เช่นเดียวกับซีเนไฟล์ทางบ้านมากมายที่มีปัญหากับวิธีคิดที่ฮอลลีวูดมีต่อสาขานี้ ลอร์ดกับมิลเลอร์ยกตัวอย่างแบบเร็วๆ ง่ายๆ ว่าแอนิเมชันไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กอย่างไร “Encanto เชื่อมโยงกับคนดูผู้ใหญ่ได้ลึกซึ้งเมื่อเล่าเรื่องบาดแผลของครอบครัวที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น สารคดีแอนิเมชันที่เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันได้บีบหัวใจอย่าง Flee ก็ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับผู้เข้าชิงในอดีตทั้ง I Lost My Body, Waltz with Bashir, Persepolis และอีกมากมาย”
สำหรับทั้งคู่ การด้อยค่าภาพยนตร์แอนิเมชันเกิดขึ้นตลอดมา ทั้งที่บรรดาสตูดิโอใหญ่ในฮอลลีวูดต่างก็ลงมาชิงพื้นที่ในตลาดนี้เพราะมองเห็นตัวเลขรายได้ – 7 เรื่องใน 10 อันดับหนังยอดสตรีมสูงสุดประจำปี 2021 คือหนังแอนิเมชัน หนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาล 13 จาก 50 อันดับก็เป็นหนังแอนิเมชัน ซึ่งแสดงให้เห็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของผู้ชมแอนิเมชันกระแสหลักว่าคือผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบแอนิเมชันโดยตรง ไม่ได้เสียเงินซื้อตั๋วแค่เพราะลูกหลานที่บ้านอยากดูการ์ตูน – ในแง่เทคนิคหรือ “ความเป็นภาพยนตร์” ก็ยิ่งชัดเจนว่าแอนิเมชันได้พัฒนาอยู่ตลอด โดยเฉพาะงานด้านภาพ ดีไซน์ในแขนงต่างๆ การออกแบบเสียง และดนตรีประกอบ (ซึ่งต่อมาจำนวนมากก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้ “เลื่อนขั้น” ไปจับงานดังๆ หรือหนังรางวัล เพราะสร้างผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์กับหนังแอนิเมชัน)
“แน่นอนว่าไม่มีใครคิดด้อยค่าแอนิเมชันมาตั้งแต่ต้น แต่นี่คือจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่จะช่วยกันยกระดับสถานะของภาพยนตร์แอนิเมชัน” ข้อเสนอของลอร์ดกับมิลเลอร์ในบทความนั้นเล็กน้อยและง่ายดายมากทีเดียว – แค่เริ่มต้นด้วยการให้คนทำหนังซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ได้ขึ้นมากล่าวแนะนำแอนิเมชั่นในงานประกาศรางวัล
“กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ที่ทั้งโปรดิวซ์ กำกับ และชื่นชมภาพยนตร์แอนิเมชัน ช่วยย้ำเตือนกับผู้ชมได้ว่าแอนิเมชันเกิดขึ้นก่อนภาพยนตร์ หากไม่เกิดประดิษฐกรรมอย่าง zoetrope ก็ย่อมไม่มี American Zoetrope” พวกเขาหมายถึงสตูดิโอของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) และ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) “บองจุนโฮ (Bong Joon Ho) แนะนำผู้เข้าชิงพร้อมอธิบายได้ว่าทำไมเขาถึงเลือก Flee กับ The Mitchells vs the Machines ติดท็อปเท็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี”
และในขณะที่ออสการ์ปีนี้มีโมเมนต์ย้อนรำลึกและฉลองครบรอบให้ทั้ง White Men Can’t Jump (1992) Pulp Fiction (1994) และ The Godfather (1972) ที่จริงฮอลลีวูดก็อาจร่วมเฉลิมฉลองให้ Spirited Away (2001) หรือกระทั่ง Beauty and the Beast (1991) ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยม ได้ในระดับทัดเทียมกัน
ข้อเสนอท้ายบทความของลอร์ดกับมิลเลอร์อาจดูเล็กน้อยจนเหมือนล้อเล่น หากส่งสารได้ชัดเจนอยู่ในที ยิ่งในช่วงเวลาที่ ฤทธี ปาห์น (Rithy Panh) คนทำหนังระดับโลกชาวกัมพูชาที่เล่าเรื่องซีเรียสจริงจังอย่างโศกนาฏกรรมใต้ระบอบเขมรแดงมาทั้งชีวิต กำลังจะเป็นประธานกรรมการตัดสินหนังสั้น TikTok ให้เทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่ประเด็นสำคัญที่ทั้งคู่ได้เขียนถึงไว้เช่นกันก็คือการเรียกร้องของคนทำงานด้านแอนิเมชันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
เพราะแอนิเมชันไม่ได้มีคุณค่าทัดเทียม “หนังจริงๆ” ได้แค่เพราะผลงานกระแสหลักจำนวนมากเป็นหนังฮิตทำเงิน หรือช่วยพัฒนาภาษาหนังและเทคนิควิทยาการด้านภาพยนตร์ แต่ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันทั้งระบบต้องหยุดชะงักเพราะโควิด กองถ่าย “หนังคนแสดง” เดินหน้าต่อไม่ได้ เหล่าแอนิเมเตอร์คือคนกลุ่มแรกที่ต้อง work from home ทันที และมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบในตอนนั้น