ท่ามกลางเสียงอื้ออึงที่มาพร้อมมวลแห่งความสิ้นหวังว่า “ฮอลลีวูดตายแล้ว” หลังคืนประกาศผลรางวัลออสการ์ ทั้งด้วยความพยายามอันน่าสังเวชที่จะกอบกู้เรตติ้งการถ่ายทอดสดผ่านทีวี (ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า) และการหายสาบสูญไปจากบทสนทนาของหนังที่เป็นเสมือนภาพแทนความยิ่งใหญ่ของฮอลลีวูดอย่าง West Side Story (ซึ่งแต่ก่อนย่อมถูกพูดถึงมากกว่าแค่นักแสดงสมทบหญิง) แต่เลยพ้นไปจากฉาก “วิลล์ สมิธ” ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอีโก้แบบฮอลลีวูดที่กดปุ่มทำลายตัวเอง กับเสียงที่อื้ออึงมาตั้งแต่ก่อนโลกนี้มีโควิดและสตรีมมิ่งยังเพิ่งเริ่มแผลงฤทธิ์ว่า “ภาพยนตร์กำลังจะตาย” กลับดูเหมือนว่ามีประกายความหวังกำลังส่องแสงรำไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จบนเวทีของ Summer of Soul (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม) และ Drive My Car (ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม)
เพราะคู่ขนานไปกับความสำเร็จที่สะท้อนเป็นตัวเลขทางธุรกิจของ Apple TV Plus หลังทุ่มสรรพกำลังผลักดัน CODA ไปถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, การฟุบตัวของธุรกิจโรงหนังที่เปิดช่องให้ดีลหรือโมเดลใหม่ๆ ในโลกของการจัดจำหน่ายขายสิทธิ์หนัง และความต่อเนื่องของ Netflix ที่ยังเป็นบ้านให้หลายโปรเจกต์ใหญ่ลงทุนสูงของเหล่าคนทำหนังออเตอร์ ซึ่งสะท้อนในทางหนึ่งว่าหนังเหล่านี้ยังมีคนดู (แม้หลายคนจะแซะว่า Netflix แค่อยาก “ประดับยศ”) ประกายความหวังดังกล่าวกำลังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจภาพยนตร์ที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างคนดูหนังยุคใหม่ หนังอาร์ตเฮาส์ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม และสตูดิโอยักษ์ใหญ่
ชื่อที่มีบทบาทสำคัญในกรณีของ Summer of Soul คือ Onyx Collective หนึ่งในแผนกสตรีมมิ่งใต้ร่มของอาณาจักรดิสนีย์ที่ดูแลการจัดหาคอนเทนต์เพื่อป้อนแพลตฟอร์ม Hulu เป็นหลัก พร้อมจุดขายชัดเจนว่าแผนกนี้เกิดขึ้นเพื่อขับเน้นผลงานของครีเอเตอร์ผิวสี (people of color) และเสียงที่เคยถูกมองข้าม (underrepresented voice) โดยเฉพาะ
ถึงทีมผู้บริหารผิวสีซึ่งนำโดย ทาร่า ดันแคน (Tara Duncan) อดีตที่ปรึกษาของ Hulu ที่ปัจจุบันดูแลช่องเคเบิล Freeform ของดิสนีย์อยู่ด้วย จะบอกว่าโฟกัสหลักของ Onyx คืองานด้านโทรทัศน์ แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของดิสนีย์ ทำให้การผลักดันผลงานที่ถือสิทธิ์ให้เข้าสู่เส้นทางเทศกาลภาพยนตร์กับช่วงแคมเปญรางวัลมีความเป็นไปได้สูงขึ้น และเส้นทางของ Summer of Soul นับตั้งแต่เปิดตัวที่ซันแดนซ์เมื่อต้นปี 2020 (หรืออาจนับตั้งแต่ก่อนหน้านั้น เมื่อทีมผู้บริหารของ Onyx เล็งหนังไว้ตั้งแต่ยังใช้ชื่อเก่าว่า Black Woodstock) จนถึงรางวัลออสการ์ คือหนึ่งในบทพิสูจน์ของการบริหารศักยภาพและทรัพยากรจากมุมต่างๆ ของดิสนีย์ที่ประสบความสำเร็จ
Onyx ไม่เพียงกำลังเติบโตทางธุรกิจอย่างรวดเร็วจนผู้บริหารใหญ่ของดิสนีย์ต้องให้ความสำคัญ แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นโมเดลที่แผนกอื่นๆ ในดิสนีย์เองก็เห็นเป็นหมุดหมาย (กลุ่มพนักงาน LGBTQ ของดิสนีย์ที่รวมตัวเรียกร้องครั้งใหญ่เมื่อช่วงเดือนมีนาคม เขียนในจดหมายเปิดผนึกถึงซีอีโอดิสนีย์ว่า Onyx คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสตูดิโอจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนเสียงของคนชายขอบอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร) และยังรับหน้าที่ดูแลทุกโปรเจกต์ “นอกจักรวาลมาร์เวล” ของบรรดาผู้กำกับมาร์เวล เช่น ไรอัน คูเกลอร์ (Ryan Coogler) กับ เดสติน แดเนียล เครตตัน (Destin Daniel Cretton) (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเสมือน “กันชน” หรือพื้นที่ให้ผลงานสร้างสรรค์ของคนทำหนัง ไม่ให้พวกเขาต้องจมอยู่กับผลงานบล็อกบัสเตอร์ที่ถูกโปรดิวเซอร์ควบคุมความคิดสร้างสรรค์เข้มงวดเพียงทางเดียว)
เครดิตหลักของความสำเร็จเกินคาดในกรณี Drive My Car (ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับ Summer of Soul ที่เรียกความสนใจคับคั่งในซันแดนซ์ เพราะตัวหนังทำให้เหล่าผู้จัดจำหน่ายที่ไปคานส์รู้สึกว่า “ขายยาก”) ย่อมตกเป็นของโมเดลความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่าง Janus Films กับ Sideshow (ซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อผลักดัน Drive My Car ในอเมริกาโดยเฉพาะ) แต่อีกชื่อหนึ่งที่มีส่วนช่วยพลิกเกมให้หนังญี่ปุ่นความยาวสามชั่วโมงขายยากเรื่องนี้เข้าชิงทั้งหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์คือ WarnerMedia OneFifty –ชื่อที่แม้แต่คนในวงการหนังยังถามๆ กันเองว่ามันคืออะไร– ที่ปิดดีลให้หนังได้เข้าไปสตรีมในแพลตฟอร์ม HBO Max
อักเซล กาบาเยโร (Axel Caballero) หัวเรือใหญ่ของแผนก ซึ่งเคยเป็นประธานสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างอิสระเชื้อสายละตินอเมริกันแห่งชาติ บอกว่า Drive My Car คือผลลัพธ์ของการมองหาหนังที่จะเติมช่องว่างให้ผู้ชม HBO Max ที่ต้องการความแปลกใหม่ และช่วยสะท้อนตัวตนของ WarnerMedia OneFifty ให้เด่นชัดว่าพวกเขาต้องการมีส่วนช่วย “ปลุกปั้น” โปรเจกต์แบบไหน
Drive My Car ถือเป็นการลงทุนอีกด้านเพื่อสร้างแบรนด์ เพราะวัตถุประสงค์หลักของ OneFifty ไม่ใช่แค่การดีลสิทธิ์เพื่อจัดจำหน่ายลงแพลตฟอร์ม แต่คือการค้นหาผลงานที่น่าสนใจและหลากหลายเพื่อดึงดูดศิลปินเจ้าของผลงานเหล่านั้นมาร่วมงานด้วย ซึ่งทำให้ที่นี่ถือสิทธิ์เผยแพร่หนังสั้นไว้จำนวนมาก (รวมถึง The Dress และ Please Hold สองผู้เข้าชิงออสการ์หนังสั้นยอดเยี่ยมปีล่าสุด) – กาบาเยโรบอกว่ากว่า 90% ของโปรเจกต์ที่พวกเขาถือสิทธิ์ ศิลปินเจ้าของงานจะได้รับทุนเพื่อเริ่มโปรเจกต์ใหม่กับทาง WarnerMedia ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนทำหนังหน้าใหม่จำนวนมากได้เปิดกล้องหนังยาวเรื่องแรกของตัวเอง และ OneFifty ยังลงทุนในองค์กรศิลปะกว่า 300 แห่งและเป็นสปอนเซอร์ให้อีก 50 เทศกาลหนัง
นอกจากการอยู่ในอาณาจักรของ Warner ศักยภาพและทรัพยากรที่ OneFifty มีอยู่ คือผลของสายสัมพันธ์กับกลุ่มก้อนองค์กรอื่นในวงการภาพยนตร์ ตั้งแต่สตูดิโอใหญ่ แพลตฟอร์ม ทีวี ไปจนถึงอาร์ตเฮาส์อย่าง Criterion และมองหาคอนเนคชั่นกับศิลปินในภูมิภาคอื่นเช่นยุโรปกับละตินอเมริกา กาบาเยโรยืนยันว่ามีกลุ่มคนดูที่ต้องการมากกว่าแค่หนังฟอร์มยักษ์ขายความบันเทิง และเขาต้องการให้ OneFifty เป็นแหล่งพักพิงให้ผู้ผลิตคอนเทนต์หรือคนทำหนังที่ท้าทาย ในฐานะสตูดิโอที่อยู่ใต้ร่มของ WarnerMedia
กล่าวโดยสรุป Onyx และ OneFifty ทำหน้าที่คล้าย “แผนกพิเศษ” (specialty division) ซึ่งรับหน้าที่ดูแลผลงานที่หลากหลายท้าทาย คล้ายกับบรรดารายชื่อที่วงการภาพยนตร์เคยคุ้นในอดีตทั้ง Picturehouse, Warner Independent, Paramount Vantage (ปิดตัวไปแล้ว) Searchlight, Sony Pictures Classics หรือ Focus Features (ยังอยู่) แต่ด้วยโมเดลการบริหารในสภาพแวดล้อมของยุคปัจจุบัน ทั้งคู่จึงทำหน้าที่เป็น “ส่วนต่อขยาย” (extension) ของแผนกดังกล่าวอีกต่อหนึ่ง เพื่อมุ่งเป้าไปตลาดสตรีมมิ่งเป็นหลัก