Home Review Film Review ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)

ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)

ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)

“นี่จึงเป็นจุดของการเข้าเผชิญหน้าในแบบต่างๆ ของความพยายามในการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับเอเลี่ยนหรือสิ่งแปลกหน้า ด้วยการเผชิญกับสิ่งแปลกหน้า รูปร่างของสิ่งแปลกหน้าได้ถูกสร้างขึ้น หากมิใช่เพราะเราไม่อาจจดจำได้ แต่เป็นเพราะเราได้ทึกทักจดจำว่าเป็นสิ่งแปลกหน้าไปเสียแล้ว ในท่วงท่าของการจดจำสิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่แตกต่างจากเรา เราสร้างภาพของสิ่งที่พ้นไปจากตัวเราอย่างสมบูรณ์ทั้งใบหน้าและรูปร่างของมัน ดังนั้นเอเลี่ยนจึงมิใช่สิ่งที่ไปไกลกว่ามนุษย์ แต่เป็นกลไก (mechanism) ที่อนุญาตให้เราเผชิญหน้าสิ่งที่เราได้ให้ความหมายไว้แล้วว่าเป็น ‘สิ่งที่พ้นเกินมนุษย์’ ดังนั้นเราจึงต้องจินตนาการตอนนี้ ที่นี่ ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับเอเลี่ยน ซึ่งทำให้เราแลกเปลี่ยนจินตนาการซึ่งเป็นการปรากฎร่วม (co-presence) ของเรือนร่างของเอเลี่ยนและสิ่งแปลกหน้า เราจะต้องผ่านพ้นไปให้ได้”

Sara Ahmed (2000), Strange Encounters: Embodied Others in Post-Coloniality

มันอาจเริ่มจากเสียงปริศนาที่ก้องในหัวในเช้ามืด แรงสั่นสะเทือนไร้ที่มา โผล่ขึ้นอย่างไม่รู้ตัวและไม่อาจควบคุมได้ ราวกับ “ลูกบอลคอนกรีตขนาดใหญ่กระแทกอ่างโลหะที่ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล แล้วมันก็หดตัวเล็กลง” เหมือนกับวัตถุที่ตกลงน้ำสร้างคลื่นทั้งเล็กและใหญ่จำนวนมหาศาลแผ่ออกไปเป็นวงกลมอีกอนันต์ หรือเหมือนผืนแผ่นมาตุภูมิที่กำลังร้องกัมปนาท นับแต่นี้คือการเงี่ยฟัง รับแรงสั่นสะเทือนของข้อต่อและและการสั่นไหวของเยื่อแก้วหู รวมไปถึงการปรับสมดุลของน้ำในหูชั้นใน นี่เรื่องของการส่งต่อคลื่นสัญญาณประสาทจากภายนอกสู่ภายในและไปแปรผลที่สมอง มันคือการเดินทางไปยังใจกลางของสมองและโลก ข้ามพื้นที่และเวลาไปมาอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างดินแดนในเขตร้อนชื้นด้วยความถี่ของคลื่นที่ 60-100 เฮิร์ทซ์

ประวัติศาสตร์บาดแผล การถอยร่นของฝ่ายซ้าย การล่าอาณานิคมภายใน และยาเสพติด

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1889 หลังจากการปลดปล่อยโดยกองกำลังของซิมอน โบลิบาร์เพื่อเป็นอิสระจากอาณานิคมสเปน ก็นำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐแกรนด์โคลอมเบียซึ่งประกอบไปด้วย เอกวาดอร์ ปานามา เวเนซูเอล่า และโคลอมเบีย จนกระทั่งถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในโคลอมเบียที่ถูกเรียกว่า La Violencia (1948-1953) ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างขั้วความคิดทางการเมืองระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคเสรีนิยมรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ในช่วงปีนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน จนนำไปสู่การเกิดกลุ่มกองกำลังป้องกันตนเองในพื้นที่ชนบทในเวลาต่อมาอภิญญา ดิสสะมาน. (2557). กระบวนการสร้างสันติภาพ กรณีศึกษาประเทศโคลอมเบีย

กลุ่ม FARC (The Revolutionary Armed Forces of Colombia) ถือว่าเป็นกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดที่ต่อต้านรัฐบาล เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1964 หลังจากถูกโจมตีอย่างหนักโดยกองกำลังฝ่ายขวา กลุ่ม FARC ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดเพื่อหาเงินมาใช้ในการรณรงค์ต่อสู้ ปัจจุบันกลุ่ม FARC ได้เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่การแสวงหารายได้จากการค้ายาเสพติดและการเรียกค่าไถ่เป็นหลัก นี่ส่งผลให้ เมะเดยีน (Medellín) เมืองหลวงของจังหวัดแอนทิโอเกีย (Antioquia) ประเทศโคลอมเบีย ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในโลกเชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์. (2021). เมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย: เมืองหลวงของการฆาตกรรมของโลกในคริสต์ทศวรรษ 1980s และ 1990s.

กลุ่ม FARC ยึดครองพื้นที่กว่า 1 ในสามของประเทศโคลอมเบีย มีกองกำลังกว่า 10,000 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองกำลัง National Liberation Army (NLA) ที่ได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติในคิวบา กลุ่ม NLA หารายได้จากการค้ายาเสพติดเช่นเดียวกัน และมีเป้าหมายในการโจมตีสถานที่ราชการและบริษัทน้ำมันของเอกชนมากกว่าการปะทะกับกองกำลังรัฐบาล

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบียที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา1 โดยจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของสหรัฐฯ อาจย้อนกลับไปตั้งแต่หลังการปลดแอกจากอาณานิคมของประเทศโคลอมเบีย โดยหลังสิ้นสุด “สงครามหนึ่งพันวัน (1899-1903)” และสงครามกลางเมืองกว่าแปดครั้ง สหรัฐฯก็สนับสนุนให้ปานามาแยกตัวออกจากโคลอมเบีย ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างคลองปานามาขึ้น จนกระทั่งช่วงสงครามเย็น ในสมัยประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (1945-1953) นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลโคลอมเบียในการต่อสู้กลุ่มฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมGRACE LEE. (2017). Imperialism by Another Name: The US “War on Drugs” in Colombia

จนถึงทศวรรษที่ 1980 ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สนับสนุนกองกำลังทหารของรัฐบาลโคลอมเบียในการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายซ้ายผ่านโวหาร “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ถึงแม้จะผ่านช่วงสงครามเย็นมาแล้ว แต่ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ก็ยังเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรมให้สหรัฐฯ เข้าไปสนับสนุนกองกำลังทหารโคลอมเบีย เพราะการเข้าถึงแหล่งน้ำมันในอเมริกาใต้รวมถึงคลองปานามาก็ยังเป็นปัจจัยหลักของนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเข้าหารัฐบาลโคลอมเบียเพื่อต่อต้านกองกำลังฝ่ายซ้ายที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปทางสังคมอาจเป็นภัยต่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1991 แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ถอนกำลังหรือลดงบประมาณทางการทหารในโคลอมเบียเหมือนเช่นในเวียดนาม ในแผน Andean Initiative ของรัฐบาลจอร์จ บุช ก็มีการทุ่มงบทางการทหารกว่า 73 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ รวมไปถึงแผน Plan Colombia ก็ทุ่มงบกว่าร้อยละ 80 ให้กับกองทัพโคลอมเบีย “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ในโคลอมเบียจึงเป็นโวหารที่ใช้ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จวบจนถึงปัจจุบันที่ใช้ข้ออ้างเรื่องการต่อสู้กับการค้ายาเสพติด ข้ออ้างเหล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้จักรวรรดิอเมริกันในการเข้าควบคุมรัฐบาลโคลอมเบีย ซึ่งยังขยายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย

จนกระทั่งหลังการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Juan Manuel Santos ในปี ค.ศ. 2010 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพสหรัฐฯในโคลอมเบีย Santos เปลี่ยนเป็นการอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเข้าใช้ฐานทัพที่มีอยู่ของกองทัพโคลอมเบียได้แทนที่การให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพ ซึ่งเป็นท่าทีที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายระหว่าง Santos และสหรัฐฯ และเพื่อไม่ให้กระทบฐานเสียงของเขามากกว่าความต้องการยุติสงครามกับกองกำลังฝ่ายซ้าย แม้ว่านโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียยังคงมีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก แต่ก็มีความพยายามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างโคลอมเบียกับจีน แต่ก็เต็มไปด้วยเสียงต่อต้านเนื่องจากความหวาดกลัวต่อการตีตลาดของสินค้าจีน รวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่นับวันจะครอบงำภูมิภาคลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์. (2020). นโยบายการต่างประเทศของโคลอมเบียในคริสต์ศตวรรษที่ 21. https://www.the101.world/colombia-foreign-policy-in-21st-century/

โปสเตอร์ภาษาไทยของ Memoria ออกแบบโดย ปูนปั้น–กมลลักษณ์ สุขชัย อ่านการนำเอา กล้วยไม้ มาเป็นคีย์ในการออกแบบได้ที่เพจ Common Move

ความสัมพันธ์ของกล้วยไม้และแมลง ความรัก และการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ 

แต่ไม่ว่ารัฐบาลโคลอมเบียจะหันไปทางใด โคลอมเบียก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกกล้วยไม้มากที่สุดในโลกด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลล่าห์ต่อปี โดยสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ากล้วยไม้จากโคลอมเบียอันดับต้นๆ ในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลที่ถูกสนับสนุนโดยสหรัฐประกาศการลดการเก็บภาษีส่งออก โดยมีเป้าหมายควบคุมการปลูกต้นโคคาพร้อมกับการประกาศสงครามยาเสพติด รวมถึงเสนอให้ประชาชนหันมาปลูกกล้วยไม้และเพิ่มอัตราการจ้างงานBRENNA HARAGAN. (2015). Colombia’s Bloom Boom. แต่การส่งออกกล้วยไม้ก็เป็นเส้นทางที่ใช้ในการลักลอบขนส่งยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐจวบจนปัจจุบันMAXIMO ANDERSON. (2017). The lure of wild orchids persists in Colombia. https://news.mongabay.com/2017/11/the-lure-of-wild-orchids-persists-in-colombia/

กล้วยไม้ดูจะเป็นพืชที่เจสสิกาสนใจ เธอคือหญิงวัยห้าสิบจากประเทศสกอตแลนด์ ใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย (ที่อาจเป็นของสามี) ไม่มีใครรู้ว่าเธอมาอยู่ที่เมืองโบโกตานานเท่าใด เธอพูดภาษาสเปนไม่ได้คล่องแคล่ว เธอน่าจะเพิ่งสูญเสียสามี และมีปัญหาเรื่องเงิน เธอมีความสนใจในการทำฟาร์มกล้วยไม้ที่เมืองเมะเดยีน เธอสนใจเชื้อราที่กัดกินทำลายความสวยงามของดอกและใบของมัน Memoria (2021) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เริ่มด้วยการตื่นของเจสสิกาด้วยเสียงที่ก้องในหัวและปลุกเธอจากการนอน เธอตื่นขึ้นในบ้านที่ห่อด้วยแสงสีน้ำเงิน มีรูปปลาสามตัวแขวนบนผนัง เธอค่อยๆ ลุกจากเตียงเหมือนแฟรงเกนสไตน์ที่เพิ่งถูกปลุกจากความตายด้วยกระแสไฟฟ้า เธอก้าวอย่างช้าๆ เธอเห็นเงาของตนเองในกระจก ก่อนจะเดินชนอะไรสักอย่าง ในบ้านที่เหมือนไม่ใช่ที่ที่เธอคุ้นเคย เธอนั่งลงริมหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกรง ข้างๆ เธอมีกรงที่มีนกส่งเสียงจิกไม้ เธอนั่งลงและจ้องนกสองตัวในความมืด

ดอกกล้วยไม้พบได้ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ มาตั้งแต่ Mysterious Object at Noon (2000) หากถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราและกล้วยไม้คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่างครูดอกฟ้ากับเด็กชายพิการ ครูดอกฟ้าผู้เอารูปถ่ายจากโลกภายนอกมากให้เด็กชายคนนั้นดู หรืออาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหมอเตยกับหนุ่ม ชายเจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ ผู้ไปขอกล้วยไม้ที่หายากในโรงพยาบาลที่หมอเตยทำงาน หลังจากที่หมอเตยไปเจอหนุ่ม ผู้ไปออกร้านขายกล้วยไม้เรืองแสงที่ตลาดนัด ใน Syndromes and a Century (2006) หรืออาจจะเป็นสวนกล้วยไม้ริมบึงแก่นนคร ที่อิฐในร่างของร่างทรงเก่งพาป้าเจนเที่ยวชมพระราชวังในอีกมิติ “นี่ไง กล้วยไม้ต้นของป้า เห็นมั้ย ชื่อเก่าป้า เจนจิรา พงศ์พัส มันออกดอกไง ก็เลยเอาถุงมาคลุมไว้ กันแมลงมาตอมอ่ะ โห จะตายไม่ตายแหล่อยู่แล้ว ไม่เจอกันตั้งนาน ให้เธอเลยช่อนั้นอ่ะ” ป้าเจนบอกกับเก่ง “เปิดให้มันหายใจซะป้า” อิฐในร่างเก่งบอกกับป้าเจน ใน Cemetery of Splendor (2015)

ความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้กับรา ตัวต่อ ผึ้ง หรือแมลง อาจะพบได้ใน Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010) เมื่อป้าเจนเผลอเหยียบเหล่าแมลงที่เข้ามาในบ้านสวนของลุงบุญมี ก่อนที่โต้งจะถามว่าป้าเจนตั้งใจเหยียบพวกแมลง หรือพวกผีเสื้อเหล่านั้นหรือไม่ หรือมันอาจเป็นหนอนที่เจาะหน่วยมะขามในสวนของลุงบุญมี หรืออาจะเป็นผึ้งที่ลุงบุญมีเลี้ยงในสวนมะขาม ผึ้งที่สร้างน้ำผึ้งรสมะขามผสมรสข้าวโพด 

ความสัมพันธ์ทางผัสสารมณ์ระหว่างกล้วยไม้กับแมลงคือความรัก หากมิได้ถูกอธิบายแบบธรรมชาตินิยมว่าเป็นเรื่องของการอยู่รอดหรือการแข่งขัน Deleuze และ Guattari บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้กับแมลงไม่ได้เป็นเพียงว่ากล้วยไม้ผลิตน้ำหวานให้แมลง และแมลงก็แค่ช่วยในการสืบพันธ์ให้กับดอกไม้ หากแต่ว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่ยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ในระบบนั้นด้วยJudith Wambacq. Sjoerd van Tuinen. (2017). Interiority in Sloterdijk and Deleuze.

Photo Credit : Sandro Kopp ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

กล้วยไม้บางชนิดดึงดูดแมลงตัวผู้ด้วยการเลียนแบบอวัยวะสืบพันธ์ของแมลงเพศเมีย ส่วนของกล้วยไม้และแมลงจึงหลุดออกจากความหมายเดิมที่มนุษย์สร้างและเกิดเครือข่ายแบบใหม่ขึ้น แมลงเป็นชิ้นส่วนที่ปลดปล่อยระบบสืบพันธ์ของกล้วยไม้ และกล้วยไม้เองก็เป็นเครื่องอำนวยจุดสุดยอดให้กับแมลงและยังปลดปล่อยตัวมันเองจากการผลิตซ้ำความหมายเดิมตามวิวัฒนาการแบบดาร์วิน ความสัมพันธ์ทางผัสสารมณ์นี้เองที่รื้อทำลายขอบเขต ทำลายความเป็นธรรมชาตินิยมหรือการโหยหาความดั้งเดิมหรืออัตลักษณ์ ก่อกำเนิดความเป็นไปได้อื่นๆ แบบรวมหมู่ (collective becoming) จากอัตลักษณ์ที่แตกสลาย7

การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ มิใช่ความลงรอยกันระหว่างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่นในทฤษฎีของดาร์วิน และก็มิใช่ความเหมือน การลอกเลียน หรือการประกอบสร้างอัตลักษณ์ แต่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เกิดขึ้นในระดับลึกกว่าการรับรู้อัตลักษณ์ กล้วยไม้จะทำงานร่วมกับแมลงได้ กล้วยไม้จะต้องกลายเป็นผึ้ง เช่นเดียวกันกับแมลงที่ต้องกลายเป็นกล้วยไม้ แต่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ก็เป็นการกลายเป็นเพียงแค่บางส่วน มิใช่การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อย่างสมบูรณ์7 

Judith Wambacq (2017) อาจารย์ด้านปรัชญา Ghent University เสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้และแมลงมีเป้าหมายเป็นการสื่อสารกับภายนอก เพื่อทำลายความคิดที่ยึดโยงมนุษย์เป็นศูนย์กลางและอนุญาตให้ตนเองกลายเป็นสัตว์ซึ่งไปล้อเล่นกับภาพในกระจกของเรา นี่อาจเรียกว่าการกลายเป็นสัตว์ หรือการกลายเป็นโมเลกุล เราต้องออกจากเส้นทางที่ถูกกำหนดบนแผนที่และเริ่มเส้นทางที่ตะกุกตะกัก การต่อต้านปมอิดิปัสจึงเป็นการทำลายขอบเขตและทุกสิ่งที่มองหาการหยุดนิ่ง7 การกลายเป็นอื่นจึงเกิดขึ้นในระดับของผัสสารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไหลเวียนระหว่างกล้วยไม้กับแมลงBrent Adkins. (2015). Deleuze and Guattari’s A Thousand Plateaus: A Critical Introduction and Guide.

นี่จึงทำให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเจสสิกาและกล้วยไม้ เธอต้องการทำฟาร์มกล้วยไม้จึงตามหาตู้แช่ที่กรองเอาเชื้อราและเชื้อโรคออกไป กล้วยไม้จะต้องอยู่ในสภาพที่สวยที่สุดไร้มลทินถึงจะขายได้ เหมือนป้าเจนที่เอาถุงคลุมดอกกล้วยไม้ไว้ แต่การกีดกันระหว่างเชื้อราและแมลงกับกล้วยไม้ ก็เหมือนการขัดขวางความสัมพันธ์ ที่มนุษย์ดูจะเป็นผู้ควบคุมความสัมพันธ์สิ่งอื่นๆ ผ่านสาขาชีววิทยาหรือแม้แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่มนุษย์จะควบคุมได้มากเท่าใด เพราะเจสสิกาไม่มีเงินพอจะซื้อตู้เก็บอุณหภูมิ 

ความรักระหว่างเธอกับกล้วยไม้ ดูจะชวนให้นึกถึงความรักของเธอกับพอล สามีผู้ล่วงลับ ราวกับว่าเธอไม่อาจเปิดใจให้กับแอร์นัน นักวิศวกรเสียงหนุ่ม ผู้จีบเธอด้วยการเสนอจะออกเงินค่าซื้อตู้แช่กล้วยไม้ เหมือนกับหมอเตยที่ไม่อาจรับรักโต๋ นายตำรวจผู้ตามจีบหมอเตย ใน Syndromes and a Century (2006) โต๋เอาเนื้อหมูมาฝากเธอและแนะนำให้เธอเอาไป “แช่ในช่องฟรีซจะกรอบได้อยู่นานๆ” ความสัมพันธ์ระหว่างเจสสิกากับผู้หญิงและผู้ชายที่รายล้อมรอบเธอ เป็นความสัมพันธ์ที่ชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับดอกไม้ ที่แม้ผู้ชายจะอยู่ในตำแหน่งตำรวจหรือทหารก็ต้องศิโรราบให้กับผู้หญิง แต่หมอเตยก็ต้องอกหักเมื่อรู้ว่าหนุ่มไม่ได้ชอบเธอ เช่นเดียวกับเจสสิกาที่ไม่รับรักแอร์นัน แต่เธอเองก็ไม่อาจสลัดอดีตของความรักที่เธอมีกับสามีผู้ล่วงลับได้ บนความรักจึงมิใช่ความสัมพันธ์ที่ถูกจัดแจงอย่างเท่าเทียม หากแต่เป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบที่เป็นเรื่องสมดุลระหว่างการต่อรองทางอำนาจของสิ่งต่างๆ ด้วยการยึดติดและการแยกจากอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องของการสลายตัวเองบางส่วนและรับเอาสิ่งอื่นเข้ามา เป็นการถ่ายโอนชิ้นส่วนระหว่างภายนอกและภายใน เป็นเหมือนเจสสิกาที่อาจใส่เสื้อผ้าของสามี เป็นเหมือนกลอนกวีและบทเพลงรักที่คนสองคนช่วยกันแต่งที่อาจหล่นหายหรืออาจไปอยู่ในอัลบัมใหม่ ความรักระหว่างเจสสิกากับสิ่งอื่นๆ ระหว่างกล้วยไม้และแมลงจึงวูบไหว เหมือนจะมาเหมือนจะไป ไม่คงทนถาวร

©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

สภาวะหัวจะระเบิด ความไม่สมดุลในหูชั้นในและภายนอกร่างกาย 

แอร์นัน ชายหนุ่มวัยเกือบจะสามสิบ ผู้ที่ฆวน (สามีของคาเรน น้องสาวเจสสิกา) แนะนำให้เจสสิกาไปหา แอร์นันรู้จักกับเจสสิกาเพราะเขาช่วยเธอหาเสียงระเบิดในหัว เสียงที่ความที่ 60-100 เฮิร์ทซ์ เสียงที่ปลุกเธอตอนเช้ามืดก่อนที่จะตื่น อาการเดียวกันกับที่อภิชาติพงศ์พบเจอและดีขึ้นหลังจากเริ่มสร้าง Memoria อาการที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า Exploding head syndrome (EHS) ซึ่งเป็นความรู้สึกว่ามีเสียงระเบิดในหัวจนทำให้ตื่น อาจเกิดช่วงเปลี่ยนระหว่างการนอน/การตื่น หรือทำให้ตื่นกลางดึก คนไข้มักจะตื่นกลัว และจะต้องไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย คนไข้มักจะบรรยายประสบการณ์ว่า มีเสียงระเบิดในหัว เสียงฟ้าผ่า เสียงตะโกน เสียงโลหะกระแทก เสียงแผ่นดินไหว เสียงไฟฟ้าช๊อต เสียงคนกรีดร้อง เสียงวัตถุตกจากที่สูง หรือเสียงพลุ การได้ยินเสียงอาจเกิดร่วมกับการกระตุกของร่างกายหรือแขนขา ใจสั่น หายใจถี่ขึ้น มวนท้อง รู้สึกว่าหลุดออกจากร่าง รู้สึกร่างกายกำลังลอย หรืออาจรู้สึกว่าเห็นตนเองจากภายในราวกับกำลังถอดจิต บางคนที่ประสบกับ EHS อาจตามด้วยอาการผีอำ ช่วงอายุที่เป็น EHS มักเริ่มหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศหญิง สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัดAlex Iranzo. (2022). Other Parasomnias. Principles and Practice of Sleep Medicine แต่อาจสัมพันธ์กับการใช้กัญชาChristopher Missak. (2020). Mind Blown: Exploding Head Syndrome as a Side Effect of Marijuana

EHS เป็นหนึ่งในอาการ Sensory Sleep Paroxysms (SSP) หรืออาการประสาทสัมผัสในช่วงนอนที่ผิดแปลกไปซึ่งเกิดเป็นๆ หายๆ คำว่า Paroxysm นอกจากแปลว่า การกำเริบของอาการ แล้ว ยังอาจแปลว่าการระเบิดได้อีกด้วย คนที่มีอาการ SSP นอกจากประสบกับ EHS แล้ว ยังอาจรู้สึกว่าเห็นคล้ายแสงแฟลช หรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่มทั่วร่างกาย อาการประสาทสัมผัสนี้เกี่ยวข้องกับกลไกระหว่างประสาทการได้ยินหูชั้นในและประสาทการทรงตัว (labyrinthine-vestibular mechanism)Andrew Moyer. Kim J. Davis. (2019). Adams and Victor’s Principles of Neurology, Eleventh Edition

ระบบการทรงตัว (vestibular system) มีเส้นใยประสาทเชื่อมโยงกับสมองน้อย (cerebellum) ซึ่งสมองส่วนหลัง อันได้แก่ สมองน้อยและก้านสมองของมนุษย์ก็มีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติสมองปลาMark Pizzato. (2019). Mapping Global Theatre Histories. เส้นใยของระบบการทรงตัวมัดรวมกับเส้นใยของการได้ยินเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 เดินทางจากหูชั้นในสู่ก้านสมองบริเวณที่เรียกว่า cerebellopontine angle หรือองศาระหว่างสมองน้อยและก้านสมอง (pons) ที่ควบคุมการหายใจและการนอนหลับStanley Monkhouse. (2005). Cranial Nerves: Functional Anatomy

การนอนหลับของเจสสิกาถูกรบกวนด้วย EHS ซึ่งกันไม่ให้เธอเข้าสู่การหลับลึกในระดับ N3 การนอนหลับของเจสสิกาจึงมิใช่การพักผ่อน ราวกับเป็นการตื่นทั้งที่ยังหลับอยู่ โดยปกติการนอนของเราจะเป็นวงจรสลับไปมาระหว่างช่วงการนอนหลับแบบลูกตากลอกตัวไปมาช้าๆ (Non-rapid eye movement หรือ NREM Sleep) กับช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep related parasomnia) ซึ่งเป็นช่วงของการหลับที่เราจะฝันและลูกตาของเราจะขยับอย่างรวดเร็ว ส่วนช่วงที่เราหลับลึกที่สุดและรู้สึกตัวน้อยที่สุดเป็นช่วง N3 (deep sleep, slow wave sleep) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NREM Sleep คลื่นสมองในช่วง N3 จะมีระดับของคลื่นสูงและมีความถี่ต่ำSASIKARN POOMKONSARN. (2020). Sleep disorders.

ประสบการณ์ของการนอนหลับของเจสสิกาที่ไม่สมดุล และหลุดออกจากวงจรของการนอนหลับ เกิดขึ้นเมื่อเธอมาอยู่โคลอมเบีย หากแต่การแพทย์สมัยใหม่อาจสนใจเพียงแค่การอธิบายระบบประสาทกายวิภาคและพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในโครงข่ายของเส้นประสาทคู่ที่แปดที่อาจแปลผลผิดพลาดที่สมองส่วนกลาง การแพทย์สมัยใหม่จึงลุ่มหลงสนใจเพียงสภาวะภายใน แต่เจสสิกากลับเลือกที่จะตามหาเสียงนั้น ที่หากอธิบายด้วยการแพทย์ก็อาจเป็นเสียงที่มาจากความผิดปกติของสมดุลของกลไกระหว่างประสาทการได้ยินหูชั้นในและประสาทการทรงตัว เจสสิกาพยายามหาจุดเชื่อมโยงระหว่างภายในสมองและภายนอกผ่านการสั่นไหว (vibration)

การสั่นไหวการเป็นจุดร่วมของสรรพสิ่ง การสั่นไหวที่เราไม่อาจรับรู้ได้ทั้งหมด การสั่นไหวที่ถูกรับรู้ด้วยจิตไร้สำนึก (unconscious sensation) ผ่านเส้นประสาทไขสันหลังด้านหลัง เส้นประสาทที่รับส่งกระแสประสาทจากข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ระบบการรับรู้การสั่นไหวช่วยให้เราทรงตัวได้แม้ว่าเราหลับตาหรือไม่ต้องมองเห็น ระบบขึ้นกับตำแหน่งของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ระดับของแรงที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ความเร็วในการเคลื่อนที่ และการเร่งของการยืดขยายของกล้ามเนื้อPat Ogden. (2006). Trauma and the Body: A Sensorimotor Approach to Psychotherapy การรับรู้การสั่นไหว (kinaesthetic) ของข้อต่อทำงานร่วมกับการรักษาสมดุลของตำแหน่งของศีรษะผ่านระบบเครือข่ายเส้นใยสมองคู่ที่แปด 

การรับรู้การสั่นไหวของสรรพสิ่งรวมไปถึงคลื่นเสียงจึงเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้Michelle Royer. (2019). The Cinema of Marguerite Duras: Multisensoriality and Female Subjectivity การรับรู้การสั่นไหวกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ผ่านระบบลิมบิกที่อยู่บริเวณแก่นกลางของสมอง (core of the brain) ซึ่งมีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ 12 พลังงานของการสั่นสะเทือนปรากฎใน Memoria ผ่านเสียงระเบิดในหัว เสียงรถร้อง เสียงดนตรี เสียงยางรถบัสแตก เสียงร่ายบทกวี การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟ เสียงวิทยุ เสียงคลื่นที่กระทบเรือ เสียงเด็กถูกรุมกระทืบ เสียงยานอวกาศปล่อยควันเป็นวงกลมสีขาว เสียงลิงหอน เสียงเครื่องขุดเจาะ หรือเสียงฝนตกและฟ้าร้อง

การรับรู้การสั่นไหวของสรรพสิ่งรวมไปถึงคลื่นเสียงจึงเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้ การรับรู้การสั่นไหวกระตุ้นความทรงจำและอารมณ์ผ่านระบบลิมบิกที่อยู่บริเวณแก่นกลางของสมอง (core of the brain) ซึ่งมีสายสัมพันธ์แบบเครือญาติกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ พลังงานของการสั่นสะเทือนปรากฎใน Memoria ผ่านเสียงระเบิดในหัว เสียงรถร้อง เสียงดนตรี เสียงยางรถบัสแตก เสียงร่ายบทกวี การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟ เสียงวิทยุ เสียงคลื่นที่กระทบเรือ เสียงเด็กถูกรุมกระทืบ เสียงยานอวกาศปล่อยควันเป็นวงกลมสีขาว เสียงลิงหอน เสียงเครื่องขุดเจาะ หรือเสียงฝนตกและฟ้าร้อง 

การสั่นไหวคือการกลับไปกลับมา การเคลื่อนไหว การหดและการขยาย เสียงคือการสั่นไหวและมีศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์เชิงผัสสารมณ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์Joanna Łapińska. (2020). Vibrations of Worldly Matter. ASMR as Contemporary Musique Concrète การสั่นไหวใน Memoria ไปไกลกว่ามนุษย์และความเป็นเหตุเป็นผล หูและดวงตาสร้างความสัมพันธ์ของเรากับเสียง ในขณะเดียวกันก็กำลังถูกประกอบสร้างจากผัสสะของเราที่ดำรงอยู่ในโลกเช่นกัน หูและดวงตาจึงเป็นเครื่องช่วยให้เสียงเคลื่อนผ่านเข้าปะทะกับร่างกายในฐานะแกนกลางของโลก นี่แสดงให้เห็นว่าการสั่นสะเทือน (ของสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสเราอย่างเปิดเผยและปราศจากอคติ) ได้สร้างผลกระทบกับผู้ฟังด้วยผัสสารมณ์ซึ่งมีก่อนตัวบุคคล นำไปสู่การเคลื่อนผ่านของเรือนร่างจากสภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง เครือข่ายของการสื่อสารจึงเป็นเรื่องการเผชิญหน้าในแนวระนาบระหว่างสองเรือนร่างอันได้แก่ ร่างที่รู้สึกกับร่างผู้สร้างความรู้สึกDavid Trippett. (2018). Music and the Transhuman Ear: Ultrasonics, Material Bodies, and the Limits of Sensation

Memoria ทำให้เราสัมผัสถึงการสั่นไหวที่เป็นการเคลื่อนไหวทั้งพื้นพิภพของภาพยนตร์ การยักย้ายปรากฎเป็นการเปิดออกที่เชื่อมโยงไปถึงเวลาหรือชีวิต มากกว่าเนื้อหาและพื้นที่ที่หยุดนิ่ง การสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพยนตร์มีชีวิตเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ภาพกลายเป็นความทรงจำที่อยู่ร่วมกับปัจจุบัน และการดำรงอยู่ในความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนี้ Memoria ทำให้เราได้พิจารณาพื้นที่ภายนอกและภายในที่ถูกเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องของพื้นที่ภายในที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหาเฉพาะเจาะจง และเวลาก็ยึดกับสนามภายในซึ่งคลี่คลายในสภาวะการร่วมเวลาและความต่อเนื่องของอดีตและปัจจุบัน สนามภายในนี้เองที่เป็นพื้นที่ระหว่างอัตวิสัยและภววิสัย สนามภายในเป็นพื้นที่ที่ภาพในสถานะ “การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ” ก่อรูปก่อร่างSimon, Emőke. (2013). (Re)framing Movement in Stan Brakhage’s Visions in Meditation N°1

Memoria ทำให้เราสัมผัสถึงการสั่นไหวที่เป็นการเคลื่อนไหวทั้งพื้นพิภพของภาพยนตร์ การยักย้ายปรากฎเป็นการเปิดออกที่เชื่อมโยงไปถึงเวลาหรือชีวิต มากกว่าเนื้อหาและพื้นที่ที่หยุดนิ่ง การสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องทำให้ภาพยนตร์มีชีวิตเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ภาพกลายเป็นความทรงจำที่อยู่ร่วมกับปัจจุบัน และการดำรงอยู่ในความเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนี้ Memoria ทำให้เราได้พิจารณาพื้นที่ภายนอกและภายในที่ถูกเผยให้เห็นว่าเป็นเรื่องของพื้นที่ภายในที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหาเฉพาะเจาะจง และเวลาก็ยึดกับสนามภายในซึ่งคลี่คลายในสภาวะการร่วมเวลาและความต่อเนื่องของอดีตและปัจจุบัน สนามภายในนี้เองที่เป็นพื้นที่ระหว่างอัตวิสัยและภววิสัย สนามภายในเป็นพื้นที่ที่ภาพในสถานะ “การกลายเป็นสิ่งอื่นๆ” ก่อรูปก่อร่าง

การเคลื่อนไหวระหว่างภายในภายนอกพบได้ใน Memoria ที่นำเสนอสภาวะ “ระหว่าง” อย่างต่อเนื่อง ภายในและภายนอกเคลื่อนย้ายถ่ายเทผ่านวงกลม วงกลมที่เป็นการสั่นไหวพ่นจากยานอวกาศเกิดเป็นเสียงแบบเดียวกับที่เจสสิกาได้ยิน และชายหนุ่มที่วิ่งหนีเสียงยางระเบิด วงกลมหรือรูทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างความทรงจำส่วนตัวและความทรงจำร่วม ระหว่างปัจเจกและหมู่คณะ วงกลมเป็นแรงสั่นสะเทือนจากดินแดนระบบนิเวศทุ่งหญ้าสะวันนาบริเวณตีนเทือกเขาแอนดีส ด้วยอุณหภูมิที่คงที่ และมีแสงแดด 12 ชั่วโมงต่อวันทำให้โบโกตากลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ในอุดมคติJohn McQuaid. (2011). The Secrets Behind Your Flowers. เช่นเดียวประเทศไทยที่อยู่บนเส้นรุ้งหรือละติจูด 6-10 องศาเหนือเหมือนกัน เหมือนที่อภิชาติพงศ์กล่าวไว้ในงานชุด Fireworks (2014) ว่า “เพราะอีสานมีอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนฝัน และพยายามสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติApichatpong Weerasethakul (2014). Fireworks (Archives) http://www.kickthemachine.com/page80/page22/page33/index.htm

แรงสั่นสะเทือนในอีสานถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการ A Minor History (2021) ภาคแรก ซึ่งมี มนุพร เหลืองอร่าม เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการเล่าเรื่องการตื่นจากฝันของป้าเจนด้วยเสียงระเบิดในห้องที่มีผ้าม่านสีน้ำเงิน ฝันของป้าเจนที่อาจเป็นเรื่องของหญิงสาว ชื่อราตรีและชายหนุ่มชื่อ สุรชัย แต่นั่นอาจเป็นการเล่าเรื่องภายนอกมากกว่าภายในหากเทียบกับภาคสองของนิทรรศการ ที่มันอาจเป็นการนอนไม่หลับและติดอยู่ในช่วงหลับฝัน (REM sleep) ของอภิชาติพงศ์มากกว่าจะเป็นของป้าเจน 

กล้วยไม้และชีวาณูสงเคราะห์ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างมิติมายากลลวงตา

“หลานชายพี่หล้าอยากยา 

ถือปืนขึ้นบ้าน

ทำลายตู้เย็น ทีวี หม้อหุงข้าว 

แม่หาคนมาฆ่าลูกชายก่อนที่เขาจะยิงเธอ”

นิทรรศการภาคสองอาจเป็นการเล่าถึงความทรงจำของเขาขณะอาศัยอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ความทรงจำที่มาเป็นครั้งคราวและวูบไหล เขาพูดว่า “ทหารส่งยาบ้าต่อกันเป็นทอดทอดขึ้นดอยให้คนไท คนไทย ม้ง” เป็นที่ทราบกันดีว่าหลัง ค.ศ. 1957 พระตำหนักจิตรลดารโหฐานกลายเป็นสถานีทดลองส่วนพระองค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางการเกษตรไปยังพสกนิกรผู้ยากไร้ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาสถานีเกษตรบนพื้นสูง ด้วยมุมมองของรัฐต่อชนบนพื้นที่สูงเห็นว่าเป็นต้นเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าและเป็นภัยกับความมั่นคง ดังนั้นรัฐไทยจำเป็นต้องเข้าไปบริหารจัดการ/ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปกรณ์ คงสวัสดิ์. (2016). “ชีวาณูสงเคราะห์”: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพใต้ร่มพระบารมี ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

โครงการหลวงในยุคแรกเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนใหญ่นำองค์ความรู้จากโลกเสรีทั้งอเมริกาและไต้หวันเข้ามาใช้ บริบทตอนนั้นเป็นยุคสงครามเย็นที่รัฐต้องการปรับเปลี่ยนคนบางกลุ่มให้มาเป็นไทยในความหมายที่รัฐทางภาคกลางต้องการให้เป็นชลธร วงศ์รัศมี. (2017). กษัตริย์ศึกษา: ‘ดอยคำ’ วิทยาศาสตร์กับการสถาปนาอำนาจสถาบันกษัตริย์

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา ทหารและตำรวจจับกุมผู้ปลูกฝิ่นอย่างจริงจังจนทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องยอมรับกิจกรรมส่งเสริมจากโครงการ คือ การเพาะปลูกพืชเมืองหนาวมากขึ้น แม้ว่ากลุ่มลาหู่ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ยอมรับแนวทางปฏิบัติที่ฝ่ายส่งเสริมตั้งใจเอาไว้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้จากการขายผลผลิตของโครงการหลวงราคาขึ้นลงเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจทั่วไปจึงทำให้รายได้ไม่พอกับการยังชีพ ลาหู่จึงต้องรับพืชเศรษฐกิจอื่นเข้ามาเพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยง22

©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

ความทรงจำที่เมือง Pijao ผีที่ชายป่า โรงหนังร้าง และหญิงแกร่งผู้ขอดเกล็ดปลา 

เสียงจากกองกำลังชาตินิยมต่อต้านรัฐบาลพม่า จนถึงบ้านของอภิชาติพงศ์อำเภอแม่ริมที่ติดกับที่ตั้งกองกำลังทหาร จึงสะท้อนย้อนไปยังบ้านนาบัว และเมือง Pijao ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ถ่ายทำฉากเจสสิกาพบกับแอร์นันในวัยกลางคน เมือง Pijao เป็นเมืองทางทิศตะวันตกและเป็นหนึ่งในดินแดนที่ยากที่สุดสำหรับอาณานิคมสเปนในการยึดครอง ด้วยปราการทางภูมิศาสตร์จึงทำให้ชนพื้นเมืองเป็นอิสระจากสเปนจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 17Frank Safford. Marco Palacios. (2001). Colombia: Fragmented Land, Divided Society (Latin American Histories) นอกจากนี้เมือง Pijao ยังเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังฝั่งซ้ายในทศวรรษที่ 1940 มีแผ่นดินไหวในปี ค.ศ. 1999 และเกิดเหตุปล้นสะดมอาวุธในสถานีตำรวจและโรงพยาบาลโดยกองโจรในปี ค.ศ. 2001 จวบจนปัจจุบัน เมือง Pijao ก็ประสบกับภูเขาไฟที่กำลังปะทุApichatpong Weerasethakul. (2021). Memoria. Fireflies Press; 1st edition เมือง Pijao จึงเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราวหกพันคน เป็นเมืองที่ทั้งเงียบสงบและโกลาหลตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นเส้นตรง 

เรื่องเล่าของเมืองและผู้คนตัวเล็กตัวน้อยถูกถ่ายทอดผ่านแอร์นันผู้สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ มันอาจเป็นเรื่องของสารพิษในดินและแม่น้ำจากเหมืองในเมืองกว่า 20 แห่งHelena Durán. (2016). Pijao: the “slow” town that is endangered due to mining มันอาจเป็นไกลโฟเซตตกค้างจากโครงการฝนพิษด้วยการพ่นสารเคมีทางอากาศจากกองทัพเพื่อทำลายไร่โคคาของกองกำลังฝ่ายซ้ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-2015Kristina Lyons. (2018). Chemical warfare in Colombia, evidentiary ecologies and senti-actuando practices of justice. มันอาจเป็นความทรงจำของ Gustavo ชาวนาผู้เห็นผีโครงกระดูกในป่าแถวริมลำธารและผู้ได้เมียใหม่ในงานศพเมียของตนเอง มันอาจเป็นประวัติศาสตร์ของ Cinema Roman โรงหนังแห่งเดียวในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ที่ปิดกิจการในปี ค.ศ. 1999 Eduardo ผู้ได้มรดกเป็นคนสืบทอดโรงหนังแห่งนี้และมีน้องชายทำอาชีพนักสืบ หรือมันอาจเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดของ Martha Morales ผู้มาอยู่เมืองนี้เพื่อขายตัวและค้ายา ลูกชายของเธอถูกกองโจรฆ่าเพราะบอกที่ซ่องสุมกับตำรวจ เธอเล่าให้อภิชาติพงศ์ถึงเหตุการณ์คืนที่เธอต้องซ่อนตัวใต้เตียงกับลูกสาวตั้งแต่สองทุ่มถึงแปดโมงเช้าเพื่อหลบกองโจรที่ใช้อาวุธระเบิดควันและปืน ปัจจุบันเธอทำอาชีพขอดเกล็ดปลาและมีงานอดิเรกคือการเย็บปักถักร้อย25

ชายผู้อ่อนไหวกับทุกสิ่ง อาการหวาดกลัวความเจ็บปวดที่ Amygdala และจุดสีขาวที่ธาลามัส

แอร์นันในวัยกลางคนกลายเป็นผู้รับรู้ความทรงจำจากสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างล้นเกิน รายละเอียดของทุกโมงยามของอดีตแล่นผ่านการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เขาจึงหลีกเลี่ยงการเดินทางไปไหน อภิชาติพงศ์สนใจสภาวะดังกล่าวที่มีชื่อเรียกว่า Hyperthymesia (hyper- แปลว่าล้นเกิน และ thymesis แปลว่าการจำได้) หรือ highly superior autobiographical memory (HSAM) มีเพียง 60 คนบนโลกนี้เท่านั้นที่มีสภาวะนี้ เมื่อสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในคนที่มีภาวะ HSAM พบว่ามีการจัดเรียกตัวของเส้นประสาทในสมองส่วนลิมบิกเปลี่ยนแปลงไปเทียบจากคนทั่วไปSarah Daviddi. (2022). Altered Hippocampal Resting-state Functional Connectivity in Highly Superior Autobiographical Memory. พวกเขาสามารถจดจำรายละเอียดของอดีตได้ราวกับมันเกิดขึ้นในปัจจุบัน 

แอร์นันกลายเป็นเพศชายที่อ่อนไหวกับสรรพสิ่งรอบตัว เหมือนกับอิฐ นายทหารที่ล้มป่วยด้วยโรคปริศนาซึ่งทำให้เขาเข้าสู่นิทราได้ตลอดเวลา ใน Cemetery of Splendor (2015) แต่เมื่อเขาตื่นขึ้นและได้นั่งทานอาหารกับป้าเจนที่ตลาดโต้รุ่งรื่นรมย์ เขาบอกกับป้าเจนว่า “ผมได้กลิ่นชัดมากเลย กลิ่นซีอิ้วดำ น้ำตาล ผมได้กลิ่นอาหารทั้งตลาดนี้เลย แสงไฟผมยังรู้สึกถึงอุณหภูมิแสงด้วย ผมยังได้กลิ่นดอกไม้ตอนที่ผมฝันด้วย” ป้าเจนตอบว่า “นั่นเป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นทหาร” หรืออาจเป็นเด็กปริศนาใน Mysterious Object at Noon (2000) ที่มาจากวัตถุทรงกลมซึ่งหลุดออกจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้า เด็กที่มาจากดาวผู้บอกว่า “ผมไม่เป็นไร ผมอยู่เฉยๆ ผมรู้เหตุรู้ต้นรู้ปลาย ผมรู้ว่าใครคือพ่อแม่พี่น้องของผม แต่ผมอยู่กับพวกเขาไม่ได้ จึงมาอาศัยอยู่ในวัตถุทรงกลมนี้” ราวกับว่าเขาจดจำได้ทุกสิ่งหรือระลึกชาติได้ 

“อาจารย์อ้อยอารยา 

บอกว่า เพราะฉันกลัวความเจ็บปวด”

การรับรู้ความรู้สึกผ่านความทรงจำของสิ่งเล็กสิ่งน้อยดูจะเป็นด้านตรงข้ามกับชายชาติทหารหรืออำนาจองค์อธิปัตย์ที่ต้องเป็นสิ่งสูงส่งและหลุดลอยจากมนุษย์ สังคมที่อยู่ภายใต้รัฐจึงไม่อนุญาตให้เรารู้สึกแม้แต่ความเจ็บปวด Byung-Chul Han เสนอว่า เรากลายเป็นรู้สึกหวาดกลัวความเจ็บปวด (universal algophobia) เราไม่สามารถที่จะคิดทบทวนความเจ็บปวดได้ซึ่งปิดโอกาสในการวิพากษ์ชีวิตทางการเมือง การหวาดกลัวความเจ็บปวดทำให้เราแสวงหาวิธีการในการช่วยลดความเจ็บปวดในการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) ซึ่งเป็นการปิดบังความเจ็บปวดไว้ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าความจริงของปัญหา หากเราไม่อาจรู้สึกเจ็บปวดก็ไม่อาจมีการปฏิวัติได้ เราไม่สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองได้ จุดเริ่มต้นของการห่วงใย (care) จึงเป็นเรื่องของการสัมผัส (touching) ซึ่งเป็นวิธีการของการแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดระหว่างบุคคลและนำไปสู่การปฏิวัติ Han ย้ำว่าเราต้องการสังคมและการเชื่อมโยงนอกจากสังคมออนไลน์อย่างยิ่งClinton Williamson. (2022). The Limits of Understanding the Pandemic Philosophically.


จบตอน 1

อ่านต่อตอน 2 : ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (2)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here