เทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (Locarno Film Festival) ครั้งที่ 75 เริ่มปูพรมฉายหนังแล้วเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา
สำหรับปี 2022 นี้ ตัวแทนทีมชาติไทยเพียงหนึ่งเดียวที่มีลุ้นรางวัลคือ อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง หรือ Arnold Is a Model Student ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ สรยศ ประภาพันธ์ (อวสานซาวด์แมน, ผิดปกติใหม่) ผู้กำกับที่มีผลงานหนังสั้นตระเวนยุโรปต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง โดยเป็นผู้เข้าชิงรางวัลเสือดาวทองคำในสายรอง Golden Leopard-Filmmakers of the Present ร่วมกับผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่อีก 14 เรื่อง
ส่วนสายประกวดหลัก มีตัวแทนจากอาเซียนเพียงหนึ่งเดียวเช่นกันคือ Stone Turtle ของ อู๋หมิ่งจิน (Woo Ming Jin) ผู้กำกับชาวมาเลเซียที่สร้างชื่อมายาวนาน ซึ่งร่วมงานกับ ก้อง พาหุรักษ์ ผู้กำกับภาพที่มีเครดิตหลังกล้องต่อเนื่องทั้งหนังไทย หนังญี่ปุ่น หนังอาเซียน และคอมโพสเซอร์รุ่นใหม่ ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล (อนธการ, มะลิลา) – มีคู่แข่งตั้งแต่ดาวรุ่งอย่าง การ์ลอส กอนเซเซา (Carlos Conceição, อังโกลา) ซิลวี แวร์ไอด์ (Sylvie Verheyde, ฝรั่งเศส) ยูเลีย มูราต (Júlia Murat, บราซิล) ฮิลาล บัยดารอฟ (Hilal Baydarov, อาเซอร์ไบจัน) เฮเลนา วิตมานน์ (Helena Witmann, เยอรมนี) ไปจนถึงระดับออเตอร์อย่าง อับบาส ฟาห์เดล (Abbas Fahdel, อิรัก) นิโคเลาส์ ไกเยอร์ฮาลเตอร์ (Nikolaus Geyrhalter, ออสเตรีย) และ อเล็กซานเดอร์ โซคูรอฟ (Aleksandr Sokurov, รัสเซีย)
ก่อนพิธีส่งมอบเสือดาวทองคำในวันที่ 13 สิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้ ซีเนไฟล์ชาวไทยที่กำลังร่วมลุ้นทั้งรางวัลและเสียงตอบรับของหนังอาเซียนทั้งสองเรื่อง ก็สามารถมีส่วนร่วมกับเทศกาลได้แม้จะไม่ได้บินไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ ผ่านสองโปรแกรมหนังที่โลการ์โนเป็นผู้คัดสรร และ Film Club หยิบมาแนะนำต่อในคราวนี้
Open Doors Shorts
เป้าหมายที่โปรแกรม Open Doors วางไว้คือการฉายแสงไปยังคนทำหนังจากประเทศที่วงการหนังอิสระยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งโลการ์โนจะเปลี่ยนโฟกัสภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศทุกๆ สามปี (ช่วงปี 2019-2021 ที่หนังไทยได้ไปโลการ์โนมากเป็นพิเศษ เป็นเพราะเทศกาลเลือกโฟกัสภูมิภาคอาเซียนกับประเทศมองโกเลีย) และในรอบปี 2022-2024 คือผลงานจากคนทำหนังละตินอเมริกันและประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน – ถือเป็นโอกาสดีสำหรับคอหนังในอีกซีกโลกอย่างเมืองไทย ที่จะได้ดูหนังจากประเทศที่หลายคนอาจไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อมาก่อน
หนังสั้นทั้งสิบเรื่องในโปรแกรม Open Doors Shorts ประจำปี 2022 ได้แก่
Agwe (2021, เฮติ)
Black Doll (2018, เซนต์วินเซนต์แอนด์เดอะเกรนาดีนส์)
Black I Am (2018, ฮอนดูรัส)
Leaves of K. (2022, นิการากัว / คอสตาริกา)
Out of Many (2020, จาเมกา)
Scar of Our Mothers’ Dreams (2017, เกรนาดา)
Soul of the Sea (2019, กัวเตมาลา / นอร์เวย์)
Techos rotos (2014, โดมินิกัน)
Tundra (2021, คิวบา)
Umbra (2021, คิวบา)
สตรีมได้ฟรีที่ https://play.locarnofestival.ch (ต้องลงทะเบียนสมาชิกก่อน) หมดอายุการรับชมในวันที่ 14 สิงหาคมนี้
MUBI – Festival Focus: Locarno Film Festival
โปรแกรมคัดสรรที่ยืนหยัดต่อเนื่องมาหลายปีของอาร์ตเฮาส์สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มชื่อดัง (ซึ่งนอกจากโลการ์โนแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ Mubi ร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับคานส์, เบอร์ลิน และเวนิซด้วย) ที่คัดเลือกทั้งหนังรางวัลสดใหม่จากเทศกาลช่วงไม่กี่ปีหลัง หนังคลาสสิกหาดูยากที่หลายคนอาจลืมว่าเคยฉายที่นี่ ไปจนถึงภาพยนตร์สั้น
โดยหนังโลการ์โนโฟกัสที่ Mubi เลือกมาเดบิวต์ระหว่างวันที่ 3-9 สิงหาคมนี้ (และจะฉายในแพลตฟอร์มต่อไปอีกระยะหนึ่ง) มีทั้งหมด 5 เรื่องคือ
Our Eternal Summer (2021, เอมิลี่ ออสเซล) หนัง coming-of-age ชายหาดฤดูร้อนฝรั่งเศส ซึ่งชนะรางวัล Special Jury Prize ในสายประกวด Filmmakers of the Present (สายเดียวกับ อานนฯ) เมื่อปีที่แล้วมาหมาดๆ
Holy Amy (2021, อราเซลี เลมอส) ผู้ชนะ Special Mention: Best First Feature (รางวัลชมเชยสำหรับผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรก) เมื่อปีก่อน น่าสนใจด้วยพื้นหลังคือชุมชนคาทอลิกชาวฟิลิปปินส์ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เล่าผ่านความสัมพันธ์สองพี่น้องหลังจากแม่ถูกส่งตัวกลับฟิลิปปินส์ แต่มีทั้งความลึกลับเหนือธรรมชาติแบบอาเซียน และท่าทีสยองขวัญอย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก อยู่ในเรื่องเดียวกัน (!!)
Paris Belongs to Us (1961, ฌาคส์ รีแวตต์) หนังยาวเรื่องแรกของปรมาจารย์ชาวฝรั่งเศส ว่ากันว่าเป็นหนังสำคัญอีกเรื่องในช่วงก่อนเกิดขบวนการเฟรนช์นิวเวฟ จิตวิญญาณอิสระแบบรีแวตต์พานักศึกษาวรรณคดีไปเจอนักแสดงละครเวที แล้วแปลงร่างเป็นหนังทริลเลอร์สมคบคิดจิตวิทยา แถมรายชื่อนักแสดงนอกจากรีแวตต์จะเล่นเองแล้ว ก็มีตั้งแต่ ฌาคส์ เดอมี, โคลด ชาโบรล ไปจนถึง ฌอง-ลุค โกดาร์ด (แต่ออกคนละกี่นาทีไม่รู้นะ)
Public Toilet Africa (2021, โคฟี โอโฟซู-เยโบอาห์) หนังสัญชาติกาน่าที่พล็อตหลักคือการตามทวงหนี้ของนางเอก แต่ความน่าสนใจคือเจ้าหนี้ของเธอเป็นช่างภาพฝรั่งผิวขาวจากครอบครัวที่มีเงินเก็บสะสมศิลปะแอฟริกัน และตัวเธอเองคือหนึ่งใน “อาร์ตเวิร์ค” ที่พ่อแม่ยกให้ฝรั่งเอาไปเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก – ตัวหนังมีคุณสมบัติทั้งการเป็นบทสนทนากับหนังแอฟริกันคลาสสิก และอัดตรงประเด็นเรื่องการฉวยใช้ภาพลักษณ์ของชาวแอฟริกันในหนังอเมริกันหรือหนังยุโรป
และ Squish! (2021, ตุลพบ แสนเจริญ) หนังสั้นไทยจากสายประกวดโลการ์โนเมื่อปีที่แล้ว ผลงานของอีกหนึ่งคนทำหนังที่เดินสายเทศกาลชนิดชีพจรลงเท้า – คราวนี้ตุลพบใช้ฟอร์มของหนังอนิเมชั่น ผสานเข้ากับสุนทรียะอย่างหนังทดลองที่เป็นลายเซ็น รวมถึงประเด็นที่ตัวเขากำลังสนใจอย่างการขูดรีดแรงงานด้วยหลากหลายรูปแบบกลวิธีในโลกยุคสมัยใหม่ ผ่านการวิพากษ์พร้อมไหว้ครูผู้บุกเบิกภาพยนตร์อนิเมชั่นไทย เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน
สตรีมทั้ง 5 เรื่องได้ที่ https://mubi.com/specials/festival-focus-locarno (เสียค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี) ซึ่งยังมีหนังโลการ์โนโฟกัสอีกเกือบร้อยเรื่อง (เท่าที่สามารถรับชมได้ในไทย) ไล่ชื่อไม่หวาดไม่ไหวตั้งแต่ อานเญส วาร์ดา, ฌอง-ลุค โกดาร์ด, อแลง เรอเนส์, คริส มาร์เกอร์, โรแบรต์ เบรซง, นางิสะ โอชิมะ, คิชตอฟ เคียสลอฟสกี, ยูสเซฟ ชาฮีน, เอริค โรห์แมร์, อับบาส เคียรอสตามี, มิคาเอล ฮาเนเค่อ, แคลร์ เดอนีส์, ธีโอ อันเจโลปูลอส, เจี่ยจางเค่อ, เอ็ดเวิร์ด หยาง, คิดลัท ตาฮิมิค, เคลลี ไรคาร์ดท์, ลาฟ ดิอาซ ฯลฯ