เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา พันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อคนทำหนังในสภาวะเสี่ยงภัย หรือ International Coalition for Filmmakers at Risk (ICPR) ได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลอิหร่านปล่อยตัวผู้กำกับภาพยนตร์สามรายที่ถูกทางการเข้าจับกุมคือ มอสตาฟา อัล-เอ อาหมัด (Mostafa Al-e Ahmad), โมฮัมหมัด ราซูลอฟ (Mohammad Rasoulof) และ จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข – ต่อมา เทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำในยุโรปทั้งคานส์, เบอร์ลิน, เวนิซ, โลการ์โน และร็อตเตอร์ดาม ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้
ราซูลอฟกับอัล-เอ อาหมัด ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากทั้งคู่โพสต์ภาพแถลงการณ์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนทำหนังและบุคลากรในวงการภาพยนตร์อิหร่านอย่างน้อย 70 คนได้ร่วมลงชื่อสนับสนุน เรียกร้องให้ตำรวจวางอาวุธและหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในการประท้วงที่เมืองอบาดาน (Abadan) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน พร้อมแฮชแท็คภาษาฟาร์ซีที่แปลว่า #lay_down_your_weapons (วางอาวุธซะ) หรือ #put_your_gun_down (เก็บปืนซะ)
ปานาฮีเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว แต่เขาถูกควบคุมตัวในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อทราบข่าวการบุกจับราซูลอฟกับอัล-เอ อาหมัด โพสต์ข้อความแถลงการณ์ประณามการจับกุมครั้งนี้ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกิน 330 คน และเดินทางไปสอบถามรายละเอียดความคืบหน้าของคดีกับสำนักงานอัยการ โดยเจ้าหน้าที่อ้างโทษจำคุกในคดีเก่าที่ยังคงค้างอยู่เป็นเหตุในการจับกุม
ทีมโปรดิวเซอร์ของราซูลอฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราซูลอฟถูกขังเดี่ยวและสอบสวนอยู่ที่เรือนจำเอวิน (Evin prison) ซึ่งรัฐบาลอิหร่านมักใช้เพื่อกักขังนักโทษการเมือง -เช่นเดียวกับปานาฮี อ้างอิงตามที่ภรรยาของเขาได้แจ้งต่อสื่อมวลชนภายหลังทราบข่าว- โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างโทษจำคุกหนึ่งปีที่เขาถูกศาลตัดสิน และอีกสองคดีที่ยังไม่ถึงฎีกา หนึ่งคือข้อหาจากการโพสต์แถลงการณ์ครั้งนี้ และอีกหนึ่งจากสารคดีที่ยังถ่ายทำไม่แล้วเสร็จเรื่อง Intentional Crime
ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในกรณีของอัล-เอ อาหมัด แต่สื่อของรัฐบาลอิหร่านกล่าวหาราซูลอฟกับเขาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่อต้านที่สมคบคิดทำลายความมั่นคงของประเทศจากต่างแดน
อัล-เอ อาหมัด ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยของราซูลอฟ ผู้ชนะรางวัลสูงสุดและผู้กำกับยอดเยี่ยมในสาย Un Certain Regard จากคานส์ (Goodbye (2011), A Man of Integrity (2017)) รวมถึงรางวัลหมีทองคำจากเบอร์ลิน (There Is No Evil, 2020) ซึ่งถูกรัฐบาลอิหร่านเพ่งเล็งต่อเนื่องไม่ลดละตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรุ่นพี่อย่างปานาฮี เจ้าของรางวัลกล้องทองคำและบทยอดเยี่ยมเมืองคานส์ (The White Balloon (1995), 3 Faces (2018)) เสือดาวทองคำจากโลการ์โน (The Mirror, 1997) สิงโตทองคำจากเวนิซ (The Circle, 2000) กับรางวัลหมีเงินและหมีทองคำ (Offside (2006), Closed Curtain (2013), Taxi (2015)) ที่ถูกควบคุมตัวในสัปดาห์เดียวกัน
ก่อนหน้านี้ในปี 2011 ทั้งปานาฮีกับราซูลอฟถูกศาลอิหร่านตัดสินจำคุก 6 ปี (ก่อนราซูลอฟจะยื่นอุทธรณ์แล้วศาลลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งปี), ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (พาสปอร์ตของราซูลอฟถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2017) และห้ามผลิตภาพยนตร์เป็นเวลา 20 ปี ด้วยข้อหาถ่ายทำภาพยนตร์โดยไม่มีใบอนุญาต – แต่ถึงจะมีคำสั่งห้ามของศาล ทั้งคู่ก็ยังลอบทำหนังในอิหร่าน แล้วส่งผลงานไปยังเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศเช่นเดิม
คดีของราซูลอฟกับปานาฮีในปี 2011 ขึ้นศาลเพียงไม่นานหลังประท้วงใหญ่เมื่อปี 2010 – การไล่ล่ากวาดจับคนทำหนังของรัฐบาลอิหร่านในปี 2022 ก็เช่นกัน เกิดขึ้นในบรรยากาศการเมืองที่ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่รัฐบาล
การชุมนุมระลอกล่าสุดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การชุมนุมระลอกล่าสุดเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยชนวนเหตุสำคัญคือนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งอาหารหลักอย่างขนมปัง เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช – อาจนับเป็นผลสืบเนื่องของการประท้วงที่เริ่มกระจายตัวจากเมืองคูเซสถาน (Khuzestan) ตั้งแต่กลางปี 2021 เมื่อรัฐบาลล้มเหลวด้านสาธารณูปโภคทั้งน้ำประปาและไฟฟ้า ก่อนจะเริ่มขยายผลเป็นการขับไล่โค่นล้มชนชั้นปกครองในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อสองเดือนก่อน รัฐบาลอิหร่านได้กวาดจับคนทำหนังโดยไม่แจ้งข้อหามาแล้วครั้งหนึ่ง แทบไม่ต่างกับกรณีของอัล-เอ อาหมัด, ราซูลอฟ และปานาฮี (อิหร่านกวาดจับคนทำหนัง ระหว่างคลื่นประท้วงระลอกใหม่) ถึงสัปดาห์ถัดมาคนทำหนังทั้งหมดจะได้รับการประกันตัว แต่ก็ถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ทรัพย์สินส่วนตัวถูกทางการยึดไว้เป็นหลักฐาน ทั้งที่ยังไม่มีการแจ้งข้อหา
นอกจากคนทำหนัง ทางการอิหร่านยังกวาดจับทั้งนักกิจกรรม นักการเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือกระทั่งชาวต่างชาติที่พวกเขาเห็นว่ามีส่วนร่วมในการประท้วง – เหตุการณ์กวาดจับครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้น เมื่อสหภาพครูประกาศนัดหยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการครูทั่วประเทศ ก่อนวันที่ 16 มิถุนายนซึ่งเป็นวันนัดหมาย เจ้าหน้าที่บุกจับกุมครูกว่าร้อยคน หวังสกัดกั้นการประท้วงทุกวิถีทาง แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมเรือนหมื่นปรากฏตัวตามนัดเมื่อถึงวันประท้วงใน 46 เมือง
อิหร่านกำลังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลทั้งจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา และการฟื้นฟูที่ล่าช้าหลังวิกฤติโควิด ประเด็นที่กระตุ้นความโกรธแค้นของประชาชนรายวัน แตกแขนงไปไกลเกินปัญหาราคาสินค้าแล้ว -Human Rights Activists News Agency หรือ HRANA รายงานว่าเกิดการประท้วงย่อยๆ ทั่วประเทศอิหร่านไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง เฉพาะในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา- ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง กฎหมายภาษีฉบับใหม่ เรียกร้องให้เพิ่มเงินบำนาญตามอัตราเงินเฟ้อ ต่อต้านวันสวมฮิญาบและรักษาความบริสุทธิ์แห่งชาติ ไปจนถึงประท้วงสโมสรฟุตบอลที่ไม่ต่อสัญญากัปตันทีมเพราะพูดการเมือง หรือทวงเงินจากบริษัทเหรียญคริปโตที่ถูกแช่แข็งบัญชีธนาคาร
การประท้วงที่เมืองอบาดาน ชนวนเหตุของการปราบปรามรุนแรง และแถลงการณ์ที่รัฐบาลอ้างใช้เพื่อจับกุมทั้งสามผู้กำกับ ก็เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตึกถล่มเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 ศพ ประชาชนจึงออกมาชุมนุมต่อเนื่องด้วยความโกรธแค้น เรียกร้องให้ลงโทษข้าราชการคอรัปชั่นที่เซ็นใบอนุญาตให้สร้างตึกโครงสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน
ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน (Supreme Leader) อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ข่มขู่ผู้ประท้วงด้วยท่าทีแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ได้กล่าวโอวาทต่อข้าราชการศาลระดับสูงว่า ให้ฝ่ายต่อต้านเตรียมรับมือการปราบปรามขั้นรุนแรง “คล้ายสมัย 1981” ซึ่งในบริบทสงครามอ่าวเปอร์เซียตลอดทศวรรษ 1980 รัฐบาลอิหร่านจำคุกและประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามไปนับหมื่นชีวิต โดยจุดนองเลือดที่สุดของเหตุการณ์ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “การสังหารหมู่ปี 1988” (1988 massacre)