กลับมาอีกครั้งกับ Business Update นะครับ สำหรับอาทิตย์ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคโควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย เช่นเดียวกับกิจกรรมทางด้านธุรกิจภาพยนตร์ที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง พอจะสรุปความเคลื่อนไหวได้ดังนี้
โรงหนังในจีนได้ฤกษ์กลับมาให้บริการ
หลังจากถูกสั่งปิดมาตั้งแต่เดือนมกราคม และมีโอกาสเปิดให้บริการแบบสั้น ๆ ก่อนถูกสั่งปิดอีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเดือนเมษายน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่โรงหนังในประเทศจีนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเสียที โดยทางการจีนได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 พ.ค.) ว่าจะอนุญาตให้โรงเปิด หากปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด อันได้แก่
1. จำกัดจำนวนผู้ชม
2. ลดความแออัดของฝูงชนด้วยการจัดระบบนัดจอง
3. จัดให้มีระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ
4. กำหนดระยะห่างทางสังคม
แม้จนถึงขณะนี้รัฐยังไม่ได้กำหนดวันเปิดโรงหนังที่ขัดเจน แต่ประชาชนที่ได้ยินข่าวดีนี้กว่า 340 ล้านคนได้โพสต์ข้อความยินดี พร้อมกับติดแฮชแท็กว่า “โรงหนังจะกลับมาเปิดอีกครั้ง” (Cinemas Are Going to Reopen) เรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง จีนเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคโควิด 19 โดยเมื่อปีที่แล้ว รายได้รวมบ็อกซ์ออฟฟิศของจีนคือ 9.2 พันล้านเหรียญ แต่มาปีนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารายได้จะหดตัวลงกว่า 50% เหลือ 4.2 พันล้านเหรียญเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤต อุตสาหกรรมหนังจีนได้รับการคาดหมายว่าจะโตแซงอุตสาหกรรมหนังอเมริกันภายในไม่เกินปี 2022
อ้างอิง :
เมื่อโรงหนังตามขนบต้องปรับตัวตามกระแสออนไลน์
หลังจากเกิดวิกฤตโรคโควิดระบาดไปทั่วโลก โรงหนังหลายแห่งพบว่าศัตรูสำคัญ นอกจากเชื้อโรคที่บีบให้ผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงชั่วคราวแล้ว ก็คือ ระบบการฉายหนังแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแบบ pay per view ที่ผู้ชมต้องจ่ายค่าบริการก่อนชม หรือระบบ streaming แบบบอกรับสมาชิกที่ทำให้ผู้ชมเลือกดูหนังได้ตามที่ต้องการ
ผู้ประกอบการโรงหนังหลายแห่งเลือกแก้ปัญหาด้วยการบีบเจ้าของหนังให้เลิกคิดจะจัดจำหน่ายหนังทางออนไลน์ ด้วยการแบนไม่รับฉายหนังของค่ายเหล่านั้น (เช่น โรงเครือ AMC ประกาศจะไม่ฉายหนังของค่าย Universal หลังจากทางค่ายตัดสินใจฉายหนังแอนิเมชั่นเรื่อง Troll World Tour ผ่านช่องทาง premium VOD เมื่อเมษายนที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการโรงหนังอยู่รายหนึ่งคิดต่างออกไป โดยมองว่า แทนที่จะคิดว่าการจัดจำหน่ายออนไลน์เป็นภัยคุกคามของโรง ก็รับเอาแนวทางออนไลน์มาปรับใช้กับระบบการฉายไปซะเลยดีกว่า
ผู้ประกอบการที่ว่าคือ โรงหนังเครือ Alamo Drafthouse Cinema ซึ่งมีโรงในเครือจำนวน 41 โรงทั่วประเทศ
“แน่นอน เราต้องการเห็นผู้คนดูหนังในโรง แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีเวลามาดูหนังที่อยากดูได้ตลอดเวลา” ทิม ลีก ผู้ก่อตั้งโรงกล่าวไว้ ด้วยเหตุนี้ Alamo Drafthouse Cinema จึงสร้างแพล็ตฟอร์มการฉายหนังออนไลน์ขึ้นมาเรียกว่า “Alamo on Demand” เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกเช่าหรือซื้อหนังที่เคยผ่านการฉายในโรงไปแล้ว โดยหนังดัง ๆ ก็เช่น Knives Out, Parasite, Call Me By Your Name, RBG, Portrait of a Lady on Fire
สำหรับผู้ที่สนใจ (ต้องอาศัยอยู่ในอเมริกาเท่านั้น) เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ https://drafthouse.com
เมื่อผู้จัดเทศกาลหนังเมืองคานส์เปิดอกถึงความเป็นไปได้ที่ปีนี้อาจไม่มีคานส์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Screen Daily นิตยสารออนไลน์ที่รายงานความเคลื่อนไหวแวดวงธุรกิจภาพยนตร์ ได้สัมภาษณ์ เธียรี เฟรโมซ์ ในหลายประเด็น ตั้งแต่ความรู้สึกที่เทศกาลที่ตนเองรักต้องถูกยกเลิก, การประกาศรายชื่อหนังที่ได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลปีนี้, เสียงตำหนิว่าเทศกาลไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดงาน รวมถึงความคิดเห็นต่ออนาคตของภาพยนตร์
สำหรับความรู้สึกที่คานส์ปีนี้ต้องถูกงดจัด เฟรโมซ์เผยว่าเขาเศร้าใจมาก แม้เขาเคยกล่าวว่าจะหาทางเลือกอื่น แต่ดูเหมือนจากคำสัมภาษณ์ล่าสุด เเฟรโมซ์น่าจะทำใจแล้วว่าโอกาสจัดเทศกาลเมืองคานส์นปีนี้รางเลือนจนแทบมองไม่เห็น “เทศกาลเมืองคานส์ในฐานะที่เป็นสถาบันของโลก ก็เหมือนกับกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรอดพ้นการตกเป็นเหยื่อจากวิกฤตการณ์นี้ได้” เขาบอก
ส่วนคำถามที่ว่า เทศกาลยังคงคัดเลือกหนังเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการหรือไม่ เฟรโมซ์กล่าวว่ากระบวนการยังดำเนินอยู่ และจะประกาศรายชื่อหนังที่ได้รับการคัดเลือกช่วงต้นเดือนมิถุนายน แต่เขายังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะฉายอย่างไร เพียงยืนยันว่าหนังเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปฉายในเทศกาลปีหน้า (2021) แน่นอน (ยกเว้น สไปค์ ลี ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการในปีนี้ อาจถูกเชิญไปเป็นกรรมการในปีหน้าต่อ)
ส่วนคำตำหนิที่เฟรโมซ์และทีมงานได้รับจากการที่ไม่แสดงความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับเทศกาลช่วงโควิดระบาดในฝรั่งเศส เขาบอกว่าความจริงเขามีจุดยืนชัดเจนตลอดว่าเทศกาลต้องจัดเมื่อไหร่ แต่คำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามจัดกิจกรรมชุมนุมต่างหาก ที่ทำให้ต้องเลื่อนเทศกาลออกไป และปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่าเขามองอุตสาหกรรมหนังหลังจากวิกฤตคลี่คลายลงแล้วอย่างไร เฟรโมซ์ตอบอย่างเชื่อมันว่า มันต้องฟื้นตัวอีกครั้งอย่างแน่นอน โดยเขายกประโยคที่ ฌอง ปอล ซาร์ต เขียนในหนังสือ The Words ไว้ว่า “นับตั้งแต่ภาพยนตร์ถูกคิดค้นขึ้นมา ไม่มีใครสามารถอยู่ได้โดยปราศจากมัน”
อ่านบทสัมภาษณ์ เธียรี เฟรโมซ์ เพิ่มเติมได้ ที่นี่