Home Article ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Part 1 : Features)

ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Part 1 : Features)

0
ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Part 1 : Features)

อีกไม่กี่วัน เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021) ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว ปีนี้มีหนังยาวเก้าโปรแกรมและหนังสั้นสามโปรแกรม โดยในสิบเรื่องมีสารคดีเจ็ดโปรแกรม และหนังเล่าเรื่องสามเรื่อง นอกจากหนังสำคัญอย่าง Flowers of Shanghai โดยโหวเสี่ยวเฉียน หนังเปิดเทศกาลในเซคชั่นหนังคลาสสิคประจำปี และหนังเรื่อง Days ที่เป็นหนังล่าสุดของไฉ้หมิงเลี่ยง ผู้กำกับคนสำคัญของไต้หวันและของโลกแถมหนังยังถ่ายในเมืองไทยทั้งเรื่องอีกต่างหาก ก็ยังมีหนังเล็กๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน เราจึงขอแนะนำหนังในโปรแกรมฉายทั้งหมดให้มากกว่าเรื่องย่อเพื่อประกอบการตัดสินใจของทุกท่านครับ

The Bad Man (LEE Yong-chao)

ถ้าใครจำได้ สองปีก่อน หนังเรื่อง Blood Amber สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของเขาได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดเทศกาลของเรา สารคดีเรื่องนั้นติดตามบรรดากรรมกรเหมืองอำพันที่เช้าไปขุดกันในป่าลึก หนังติดตามชีวิตประจำวันแร้นแค้นของพวกเขาอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ปีนี้เขากลับมาอีกครั้งกับสารคดี ที่ว่าด้วยการตามสัมภาษณ์หนุ่มขาขาดในสถานบำบัดยาเสพติดของคะฉิ่น เด็กหนุ่มเป็นอดีตทหารเด็กที่โดนกองกำลังคะฉิ่นจับไปรบในสงคราม เด็กหนุ่มที่ยังหนุ่มอยู่มากบอกกับหลีหย่งเชา ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาฆ่าคนไปมากมายด้วยวิธีการต่างๆ และเขาเป็นหนึ่งในตัวอันตรายของโลกใบนี้ แต่ถึงที่สุดเขาก็เป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ผ่านนรกมาทั้งชีวิต แม้หนังจะมีแต่การสัมภาษณ์และการเฝ้าดูชีวิตประจำวัน แต่มันทั้งน่าสะพรึงและน่าเศร้าอย่างยิ่ง 


A Lean Soul (CHU Hsien-che)

สารคดีชีวิตนักเขียนชีเติ่งเซิง ที่ว่ากันว่าเป็นนักเขียนไต้หวันที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งและ controversial ที่สุดคนหนึ่งในเลเวลที่มีคนเขียนบทความด่าว่าถ้านักเขียนไต้หวันเขียนแต่เรื่องพรรค์อย่างนี้ประเทศชาติคงล่มจม

หนังสร้างขึ้นโดยเทคนิคสามสี่อย่าง ภาพฟิคชั่นขาวดำที่คัดเอาบทประพันธ์บางส่วนของเขามาใช้ (และกลายเป็นโมโนลอกอธิบายชีวิตเขาเอง) บทสัมภาษณ์คนรอบข้าง เพื่อนเก่า เพื่อนนักเขียน ลูกสาว ลูกชาย เมียเก่า และบทสนทนากับตัวเขาเอง ซึ่งช่วงหลังสุดไม่ใช่อะไรนอกจากการคุยไปเรื่อยๆ โดยไม่เล่าอะไร

มันเลยเป็นหนังที่ประกอบชีวิตของเขาจากงานของเขา และผู้คนที่รายรอบเขา ตัวตนที่โดดเดี่ยว เย็นชา เข้มข้น ภาพของคนต่อต้านสังคมที่อาจจะทำให้คนรอบข้างต้องทนทุกข์จากการอุทิศตนในการเขียนในสิ่งที่เชื่อของตนเอง 

มันเป็นสารคดีที่เข้มข้น เศร้าสร้อย และทรงพลัง ภาพยนตร์และวรรณกรรมส่งเสริมกันอย่างน่าตื่นเต้นในหนังเรื่องนี้ 


I’m Here (WU Yao-tung)

ถ้าใครจำได้ สองปีที่แล้ว เราเคยฉายหนังเรื่อง Swimming on The Highway กับ Goodnight and Goodbye หนังที่เป็นภาคต่อของการที่คนทำถือกล้องไปตามเพื่อนคนหนึ่งของเขาที่เป็นเกย์ ในช่วงเวลาที่การเป็นโฮโมเซกชวลยังไม่เป็นที่ยอมรับ กล้องแนบสนิทชิดใกล้ให้ความรู้สึกทั้งแนบชิดและกระอักกระอ่วน ระยะห่างกว้างนับอนันต์ของสเตรทกับเกย์ มันเป็นสารคดีที่หมิ่นเหม่และเจ็บปวด อีกสิบปีต่อมาเขาถือกล้องกับไปเยี่ยมเพื่อนที่แตกหักกันไปหลังสารคดีเรื่องนั้นดัง ไม่นึกเลยจะได้อยู่ในวาระสุดท้ายอันแสนเศร้าของเพื่อนเก่า

ปีนี้ อาตง ผู้กำกับหนังสองเรื่องนั้นกลับมาพร้อมกับหนังที่พาผู้ชมไปสำรวจนักการละครสองคน ที่ยืนหยัดกับละครโรงเล็กมาตลอดชีวิต หนังติดตามการดิ้นรนของคนสูงวัยสองคนในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแต่ทั้งคู่ยังยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

เลือกเรื่องนี้โดยมีความรู้สึกอยากขอบคุณคนทำละครโรงเล็กในประเทศไทย หนังเต็มไปด้วยความดื้อรั้นที่แข็งแกร่งในระดับใช้ทั้งชีวิตแลก อยากให้คนละครได้ดูและแลกเปลี่ยนกำลังใจแก่กัน

ถึงที่สุดเราหวังว่าการได้ดูหนังอย่าง A Lean Soul และ I’m Here คู่กันจะมอบบทสนทนาและพลังบางอย่างให้กับคนทำงานสร้างสรรค์ในบ้านเราด้วย 


Hard Good Life I & II (HSU Hui-ju)

สารคดีเรื่องนี้มีสองภาค ห่างกันห้าปี ภาคแรก เป็นการตามถ่ายพ่อของตัวเองที่บ้านตัดสลับกับถ่ายตัวเองทำหนังเรื่องพ่อ หนังแทบไม่มีบทสนทนา เป็นแค่การถ่ายชีวิตประจำวันของพ่อ ด้วยสายตาของลูกสาวที่รักพ่อมากๆ ถ่ายทอดความสัมพันธ์ด้วยสายตานุ่มนวลแบบที่มีแต่คนในที่ทำเรื่องตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถถ่ายทำออกมาได้ หนังงดงามมากๆ จนภาคต่อของหนังในอีกห้าปีถัดมาจะยิ่งทำให้ภาคแรกงดงามมากขึ้นเพราะภาคสองนั้นเศร้ามากๆ

ภาคสองนั้นเศร้ามากๆ เพราะเป็นการตามถ่ายพ่อตอนที่หมอบอกว่าพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ หนังจึงเป็นการถ่ายพ่อที่กำลังตายทีละน้อย แล้วระหว่างถ่ายเธอก็เจอเนื้องอกในตัวเองด้วยหนังจึงบันทึก ความรัก ความสูญเสีย ความตาย ทั้งของพ่อ และของตัวเธอเอง เป็นการเผชิญหน้ากับความตายแบบเปลือยเปล่า ไม่รู้เนื้อรู้ตัว มีทั้งการดิ้นรน การยอมแพ้ ความรักและการจากลา 


Mickey on The Road (Mian Mian-lu)

หนังว่าด้วยสองสาวเพื่อนซี้ คนนึงเป็นพริตตี้ โคโยตี้เต้นตามบาร์และหลังรถกระบะ อีกคนเป็นสาวหล่ออยู่กับแม่ที่ป้ำๆ เป๋อๆ เพราะพ่อทิ้งไปเมืองจีน ตัวเธออยากเล่นงิ้วในศาลเจ้าแต่เขาไม่ให้เล่นเพราะเป็นผู้หญิง วันหนึ่งเพื่อนสาวได้ one night stand กับหนุ่มจีน เลยคิดจะไปหาเขาที่จีน เลยชวนเพื่อนไปหาพ่อด้วย สองสาวเลยงัดตู้ตามสวนสนุกเก็บตังค์แล้วไปผจญภัยในเมืองจีน

หนังฉูดฉาดมาก พลอตก็อาจจะไม่มีอะไรใหม่แต่ถูกเล่าออกมาอย่างละเอียดลออ และรักตัวละครมากๆ ไต้หวันในเรื่องเป็นเมืองชนบทห่างไกลในขณะที่จีนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่หนุ่มสาวชนบทเฝ้าฝันหา

หนังอบอวลไปด้วยพลังของผู้หญิง อารมณ์ของความโฮโมอีโรติคที่โอบอุ้มตัวละครท่ามกลางแสงนีออนของเมืองใหญ่ตัดกับแสงสีทองของศาลเจ้าที่กดข่มผู้คน


The Lucky Woman (TSENG Wen-chen)

สารคดีแรงงานข้ามชาติอพยพในไต้หวันเป็นหนึ่งในแนวสารคดีที่มีฉายทุกปี แต่นี่คือสารคดีแรงงานอพยพที่รุ่มรวยและงดงาม หนังติดตามหญิงชาวเวียดนามที่มาเป็นแรงงานอพยพผิดกฏหมายในไต้หวัน เธออยู่มานาน และทำหน้าที่คล้าย NGO ที่คอยช่วยเหลือแรงงานอพยพผิดกฏหมาย ทั้งหางาน ดูแลยามเจ็บป่วย ไปจนถึงขั้นส่งเถ้ากระดูกกลับบ้าน เธอมีความทุกข์ของเธอ แต่ยังคงยืนยันจะอยู่ที่นี่ แรงงานแต่ละคนก็มีความทุกข์เศร้าเป็นของตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่มอบตัวกับตำรวจก็จะถูกส่งกลับและกลับเข้ามาไม่ได้อีก หนังติดตามเรื่องราวชีวิตเล็กๆ เหล่านั้น ทั้งการผูกพันกันเองและผูกพันกับนายจ้าง แรงงาน และนายจ้างในฐานะมนุษย์ไม่ใช่ภาพรวมหมู่ทางเศรษฐกิจหรือการปกครอง แม้ตัวงานจะดูเหมือนสารคดีแรงงานทั่วไป แต่ขอให้มั่นใจว่านี่คือสารคดีที่จะทำให้คุณน้ำตารื้น 


Taste of Wild Tomato (LAU Kek-huat)

สารคดีเรื่องล่าสุดจากเล่าเค็กฮวต ที่เป็นที่รู้จักจากสารคดีสำรวจชีวิตคอมมิวนิสต์มาลายาจากเรื่องของพ่อและปู่ใน Absent Without Leave และสารคดีที่พูดถึงการสังหารหมู่ชาวจีนในมาเลเซียอย่าง The Tree Remembers ที่เคยมาฉายในเทศกาลในปีที่ผ่านมา นำไปสู่การ Q&A ที่ยาวนานจนทะลักออกมานอกโรง

ในสารคดีเรื่องใหม่ของเขา เขาได้รับการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์เมืองเกาสงในการกลับไปรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยในอาณานิคมญี่ปุ่น ตามสัมภาษณ์ทหารไต้หวันที่ไปรบในสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะทหารญี่ปุ่น และความชั่วร้ายที่แต่ละคนต้องเผชิญในระดับที่แทบสูญสิ้นความเป็นคน ไล่ไปจนถึงหลังสงคราม และการเข้ามาของก๊กมินตั๋ง ไปจนถึงการสังหารหมู่ผู้คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของเพื่อนร่วมชาติที่โหดเหี้ยมกว่าเจ้าอาณานิคม หนังพาไปสำรวจถึงระดับรรดาของผู้คนที่ต่อต้านเจียงไคเชก การสำรวจความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านในยุคกฏอัยการศึก 

สารคดีอาจเต็มไปด้วยการสนทนาพูดคุยและเรื่องเล่า แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้แสนจะทรงพลัง โดยมีหลักฐานที่ยังหลงเหลือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ไม่ว่าจะไปสัมภาษณ์ผู้คนที่ไหนก็ตาม


โปรดติดตามการแนะนำหนังสั้นอีกสามโปรแกรมในตอนที่สอง

(อ่านรายละเอียดของเทศกาลได้ที่นี่)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here