หลังจากตลอดครึ่งปีแรกของปี 2020 โลกภาพยนตร์ต้องประสบกับภาวะซบเซาไร้ความหวังจากวิกฤตโควิด 19 ที่ดูเหมือนจะหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ข่าวการเลื่อนฉายของหนังฟอร์มใหญ่ฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเริ่มทำใจแล้วว่าบางทีปีนี้ อาจเป็นปีที่เงียบเหงาของธุรกิจภาพยนตร์โลกในรอบหลายทศวรรษเนื่องจากไม่มีหนังฟอร์มใหญ่เข้าฉายตลอดทั้งปี
แต่แล้วในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมต่อด้วยต้นสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้เกิดข่าวที่พอจะสร้างแสงสว่างให้แก่วงการภาพยนตร์โลกได้บ้าง เมื่องสองค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง วอร์เนอร์ และ ดิสนิย์ ได้ประกาศวันฉายหนังที่ถือเป็นความหวังของค่ายในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยวอร์เนอร์ได้ประกาศวันฉาย Tenet หนังต้นทุน 200 ล้านเหรียญ คริสโตเฟอร์ โนแลนในอเมริกาในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดแรงงาน โดยก่อนหน้านี้หนึ่งอาทิตย์หนังจะเปิดฉายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก่อน
กำหนดการฉายของหนังทั้งสองเรื่องสร้างความคึกคักให้กับเดือนสิงหาคมตลอดทั้งเดือน โดย Tenet ได้รับการคาดหมายจากผู้ประกอบการโรงหนังเล็กใหญ่ทั่วอเมริกาว่าจะปลุกกระแสการกลับมาดูหนังในโรงของชาวอเมริกันอีกครั้ง ขณะที่ Mulan แม้ว่าจะไม่ได้ฉายโรงในอเมริกา แต่ผู้สร้างต่างเชื่อว่าหนังน่าจะทำรายได้ดีในหลายประเทศในทวีปเอเซีย โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
แต่แล้วเมื่อถึงกำหนดฉายจริงๆ การณ์กลับไม่เป็นดังที่คาดไว้ แม้ว่า Tenet จะเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้ที่งดงาม ทำรายได้มากกว่า 207 ล้านเหรียญในช่วงเวลาสามอาทิตย์ แต่ในอเมริกาแล้ว หนังเปิดตัวได้อย่างน่าผิดหวัง ถึงขนาดที่บริษัทวอร์เนอร์ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีสตูดิโอแห่งใดเคยทำมาก่อนนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลรายได้แบบเป็นทางการเป็นต้นมา ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลตัวเลขบ็อกซ์ออฟฟิศรายวันแล้วสรุปรวบยอดทีเดียวในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณ 20 ล้านเหรียญ จนถึงตอนนี้ หนังทำรายได้ในอเมริการาว 41 ล้านเหรียญ เมื่อรวมกับรายได้จากทั่วโลกอีก 243 ล้านเหรียญ เท่ากับว่า หนังทำรายได้ทั้งหมด 284 ล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตกว่า 200 ล้านเหรียญ กับค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต หนังยังคงห่างไกลกับคำว่าคืนทุนหลายช่วงตัว
และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ค่ายวอร์เนอร์ตัดสินใจเลื่อนเปิดตัวหนังฟอร์มใหญ่หลายๆ เรื่องออกไปจากกำหนดเดิม ไม่ว่าจะเป็น Wonder Woman 1984 ที่เลื่อนไปฉายในช่วงคริสมาส ขณะที่ Dune หนังไซไฟมหากาพย์ที่กำหนดฉายในเดือนธันวาคมอาจต้องเลื่อนไปฉายปีหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ความล้มเหลวของ Tenet ยังทำให้ความมั่นใจในการนำหนังเข้าฉายในโรงของสตูดิโอยักษ์หลายๆ ค่ายเกิดการสั่นคลอน สะท้อนผ่านการเลื่อนกำหนดฉายอย่างไม่มีกำหนดของหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น หนังสยองขวัญเรื่อง Candyman ของยูนิเวอร์แซลที่เดิมมีกำหนดฉายในเดือนตุลาคม แต่ต้องเลื่อนไปฉายปีหน้าแทน
ไม่เพียงแต่ Tenet เท่านั้นที่ประสบความล้มเหลวจากการฉายในโรงภาพยนตร์ Mulan เองที่เปิดตัวในโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศก็มีสภาพไม่ต่างกัน สัญญาณที่ไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์เรื่องเนื้อหาของหนังที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพเหมารวมคนเอเชียในสายตาชาวตะวันตก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเปิดตัวในหลายประเทศด้วยรายได้แผ่วเบา โดยเฉพาะในประเทศจีน หนังเปิดตัว 3 วันแรกด้วยรายได้เพียง 23.2 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับหนังดิสนีย์ที่ดัดแปลงจากการ์ตูนอย่าง Beauty and the Beast และ The Jungle Book ที่ทำรายได้เปิดตัว 85.5 ล้านเหรียญ และ 55 ล้านเหรียญตามลำดับ จนถึงขณะนี้ Mulan ทำรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกเพียง 64 ล้านเหรียญเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Mulan จะประสบหายนะจากการฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ในแง่ของการฉายทางช่องทาง วิดีโอออนดีมานด์ แล้ว สถานการณ์เหมือนตรงกันข้าม ดิสนีย์ได้รายงานว่า ภายหลังจากประกาศว่าจะฉาย Mulan ทางช่องทางสตรีมมิ่งของตนเองชื่อ ดิสนีย์พลัส แบบพรีเมียม (ผู้ชมต้องชำระค่าชมก่อนในราคา 29.99 เหรียญซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับการซื้อตั๋วหนัง) ปรากฏว่ายอดดาวน์โหลดแอพของดิสนีย์พลัสมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 68% ถึงตรงนี้ ผู้เขียนต้องขออธิบายนิดนึงว่า สำหรับผู้ที่ต้องการชม Mulan สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดิสนีย์พลัสก่อน ซึ่งคิดค่าบริการรายเดือนเดือนละ 6 เหรียญ จากนั้นจึงสามารถจ่ายค่าชมราคา 29.99 เหรียญสำหรับสตรีมหนังเรื่อง Mulan ได้
ในแง่ของรายได้ของหนัง แม้ว่าดิสนีย์จะดำเนินนโยบายเดียวกับเจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่อย่าง Netflix คือไม่เปิดเผยยอดผู้ชมให้สาธารณะรับรู้ แต่จากการประเมินของ Samba TV ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลผู้ใช้สมาร์ตทีวี ของอเมริกา ประเมินว่า ใน 4 วันแรกที่ Mulan เปิดตัว (4-7 กันยายน) มีผู้ชมดูหนังเรื่องนี้ประมาณ 1.12 ล้านคน ซึ่งหากคิดตามจำนวนค่าบริการสตรีมมิ่ง 29.99 เหรียญเท่ากับว่า Mulan น่าจะทำรายได้เปิดตัวประมาณ 33.5 ล้านเหรียญ
เท่านั้นยังไม่พอ 7 Park Data ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชื่อดังในอเมริกา ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 -12 กันยายนที่ผ่านมา สมาชิกดิสนีย์พลัสในอเมริกาเกือบ 29% ได้ชำระค่าชมหนังเรื่อง Mulan ซึ่งหมายความว่า หากพิจาราณาจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 30 ล้านคนในอเมริกา (รวมทั่วโลก 60 ล้านคน) มีผู้จ่ายค่าดูหนังเรื่องนี้ถึง 9 ล้านคน และถ้าคิดจากค่าบริการ 29.99 เหรียญเท่ากับว่า ในช่วง 12 วันออกฉาย หนังทำเงินไปแล้วเกือบ 260 ล้านเหรียญ โดยที่ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับใคร
คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ หนังทั้งสองเรื่องที่ออกฉายในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อโลกภาพยนตร์ในช่วงเข้าไตรมาสสุดท้ายของปีบ้าง ผู้เขียนขอวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นไปได้ดังนี้
1. การกลับมาของโรงหนังยังคงมีความคลุมเครือ จากยอดรายได้เปิดตัวของ Tenet ในสัปดาห์แรกที่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก แสดงให้เห็นว่า ผู้ชมยังไม่พร้อมที่จะกลับมาดูหนังในโรงเท่าใดนัก นอกจากนี้ การที่รัฐที่ถือว่าเป็นฐานของคนดูหนังสำคัญอย่าง แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดส่งผลต่อยอดรายได้ที่ลดอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงเท่านั้น ไม่กี่วันหลังจากที่ Tenet ออกฉาย นายแพทย์ แอนโธนี เฟาซี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชื่อดังของอเมริกายังได้กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่ประกาศใช้วัคซีน โรงหนังก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อไป นั่นหมายความว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปีกว่าที่ผู้ชมจะสามารถดูหนังในโรงได้อย่างปลอดภัย
2. ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป จากความล้มเหลวของ Tenet และผลของการทดลองที่ออกไปในทางบวกของดิสนีย์ (อย่างน้อย Mulan ก็ไม่น่าจะขาดทุน) น่าจะส่งผลให้มโนทัศน์เดิมของการจัดจำหน่ายต้องเปลี่ยนไป กล่าวคือ จากเดิมที่โรงหนังคือช่องทางสำคัญของการสร้างรายได้ของหนังฟอร์มใหญ่ จนทำให้มีอำนาจต่อรองกับช่องทางการฉายอื่นๆ ผ่านข้อกำหนดหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาการฉายที่มากกว่าช่องทางอื่นๆ หรือโรงหนังจะต้องเป็นช่องทางแรกที่หนังต้องเปิดตัวเท่านั้น แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของการระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง หรือแม้แต่ความล้มเหลวในการฉายโรงของ Tenet อาจทำให้ภูมิทัศน์ของการจัดจำหน่ายเปลี่ยนไปก็ได้ เช่น ต่อไปหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องอาจเปิดตัวในโรงด้วยเวลาที่สั้นลง (เช่น 2-3 อาทิตย์ จากนั้นก็เผยแพร่ทางช่องทางสตรีมมิ่งเลย) หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ช่องทางสตรีมมิ่งอาจเป็นช่องทางแรกที่หนังฟอร์มใหญ่เลือกเปิดตัวก็ได้
3. ความสำเร็จของดิสนีย์ อาจทำให้ค่ายสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่มีหนังในคลังเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นหนังเก่าหรือหนังใหม่ก็ตาม เกิดความคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองบ้าง เพราะแม้ว่าจะต้องเสียเงินลงทุนสูง แต่ก็คุ้มค่ากว่ามาก เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากการให้บริการไม่ต้องแบ่งให้กับใคร ซึ่งต่างจากการนำหนังเข้าฉายโรง ที่นอกจากจะต้องจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมากแล้ว เมื่อหนังฉายในโรงก็ต้องแบ่งรายได้อย่างต่ำ 50% ให้กับโรงอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกหากผู้บริหารของสตูดิโอทั้งหลายจะเริ่มเกิดไอเดียที่จะต้องสร้างช่องทางการการใช้ของตัวเองไว้บ้างแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็น่าเป็นห่วงว่า โรงหนังจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร