เหตุใดยักษ์ใหญ่สตรีมมิ่งยังไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้

แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศจีนจะกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาพยนตร์ของฮอลลีวูด จนเรียกได้ว่าเป็นแหล่งทำเงินนอกบ้านของเหล่าบริษัทสตูดิโอต่างๆ แต่สำหรับผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix หรือ Amazon Prime จีนเป็นตลาดเดียวในโลก (ไม่นับ ซีเรีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน) ที่พวกเขายังไม่สามารถเจาะได้

ปัจจุบัน Netflix มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกกว่า 182 ล้านคน ขณะที่ Amazon Prime มีสมาชิกกว่า 150 ล้านคน ส่วนประเทศจีนมีพลเมืองทั้งหมด 1,483 ล้านคน ว่ากันว่า ถ้าพวกเขาสามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรจีนได้สัก 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 297 ล้านคน พวกเขาก็จะกลายเบอร์หนึ่งของธุรกิจ Video on Demand ในโลกนี้ในบัดดล

ว่าแต่อะไรคือสาเหตุที่ปิดกั้นโอกาสที่จะทำให้พวกเขากลายเป็นจ้าวโลกของธุรกิจสตรีมมิ่งโดยสมบูรณ์แบบ ผู้เขียนขอสรุปดังนี้

1. ความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้อต่อผู้ให้บริการคอนเทนต์ดิจิตอลต่างชาติ ตามกฎหมายของจีน ช่องโทรทัศน์และช่องทางสตรีมมิ่งต่างชาติโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหารายการในประเทศ ยกเว้นผู้ประกอบการไม่กี่ราย อย่างเช่น ช่องบีบีซี และช่องต่างชาติไม่กี่ช่อง ที่ได้รับอนุญาตให้แพร่ภาพได้ในโรงแรมเท่านั้น แต่พวกเขาต้องแลกด้วยการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐอย่างเข้มงวด จนทำให้บางครั้งเกิดภาวะจอดำขึ้นมา

ทางเลือกเดียวที่ผู้ประกอบการคอนเทนต์ดิจิตอลจะทำได้คือ ขายสิทธิ์คอนเทนต์ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นไปแพร่ภาพแทน เช่นกรณี Netflix ที่ขายซีรีส์ Black Mirror ให้ Youku สตรีมมิ่งชื่อดังของจีน ซึ่งเป็นของอาลีบาบา แต่ดูเหมือน Netflix จะไม่พอใจแค่นี้ เพราะรายได้ที่ได้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการหลักของพวกเขา นั่นคือ การเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลในประเทศจีน

Lost in Russia

2. และหากแม้ว่าพวกเขาจะสามารถสอดแทรกเข้าไปในตลาดคอนเทนต์ดิจิตอลในจีนได้ (ผ่านรูปแบบของการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น แบบที่บริษัทหนังหลายแห่งของฮอลลีวูดได้ทำมาแล้ว) แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าหลายขุม อาทิ Youku ที่มีผู้ใช้บริการรวมกัน 500 ล้านคนต่อเดือน แพลตฟอร์ม Iqiyi ของเสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่ ไป่ตู๋ (Baidu) มีผู้ใช้บริการต่อเดือนถึง 500 ล้านคนต่อเดือน เช่นกัน แพลตฟอร์ม Tencent Video ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ Tencent มีสมาชิกทั้งหมด 62.59 ล้านคน หรือล่าสุด แพลตฟอร์ม Bytedance เจ้าของแอพดัง TikTok ที่สร้างความฮือฮาในช่วงที่โรคโควิด 19 กำลังระบาดหนัก ลงทุนซื้อหนังจีนเรื่อง Lost in Russia ด้วยจำนวนเงินถึง 90.83 ล้านเหรียญ แล้วฉายแบบไม่เก็บค่าชมเพียงแต่ผู้ชมต้องโหลดแอพก่อน

จุดเด่นของผู้ประกอบการสตรีมมิ่งเหล่านี้คือ

1) คอนเทนต์ที่แข็งแรงทั้งหนังและซีรีส์ โดยภาพยนตร์หลายเรื่องที่ฉายในช่องทางนี้ มักไม่ผ่านโควตาหนังต่างประเทศที่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้

2) ส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าบริการสมาชิก หรือพูดง่ายๆ ก็ฉายให้ดูฟรีโดยผู้ชมจะต้องดาวน์โหลดแอพของบริษัทเหล่านี้ก่อนถึงจะดูได้ การเก็บค่าบริการถือเป็นการมอบทางเลือกให้ผู้ใช้บริการมากกว่า เพราะหากอยากชมคอนเทนต์แบบไม่ต้องมีโฆษณาคั่นก็เพียงแค่จ่ายค่าสมาชิกเท่านั้น แถมค่าบริการจัดอยู่อัตราที่ไม่แพง

3. ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ตามกฎหมายของจีน ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่จะฉายในช่องทางออนไลน์ได้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานภาพยนตร์ (Film Bureau) การฉายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการพิจารณาถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่า Netflix หรือ Amazon Prime จะให้บริการในประเทศจีนได้ แต่ก็ใช่ว่าคอนเทนต์ของพวกเขา ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงเนื้อหาที่ถูกนำเสนออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เซ็กซ์ ความรุนแรง หรือแม้แต่การเมือง จะสามารถฉายได้ เมื่อเป็นดังนี้ โอกาสที่จะสอดแทรกขึ้นเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ของธุรกิจสตรีมมิ่งในจีนก็แทบจะเป็นไปไม่ได้


4. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอน ปัจจัยนี้แม้ไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจน ในช่วงที่เกิดสงครามการค้า เพราะเมื่อปีที่แล้ว หนังอเมริกันหลายเรื่องยังทำรายได้อย่างน่าประทับใจ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์โควิด ที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันยกระดับการโจมตีจากเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมไปสู่การโจมตีว่าจีนอยู่เบื้องหลังการระบาดของโรค รวมถึงการให้ความเห็นที่สนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง อาจทำให้ความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมได้รับผลกระทบไปด้วย เท่ากับทำให้โอกาสที่ Netflix และ Amazon Prime จะรุกตลาดจีนเป็นไปได้ยากขึ้น ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันขยายพื้นของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายได้ใหญ่ อย่าง Netflix Amazon Prime Video หรือแม้แต่หน้าใหม่อย่าง Disney Plus เป็นไปอย่างเข้มข้น แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าจีนยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางธุรกิจประเทศเดียวที่พวกเขายังเจาะไม่ได้

Related NEWS

LATEST NEWS