Home Film News ทำความรู้จักหนัง ‘เหรียญทอง’ ออสการ์นักเรียน 2020

ทำความรู้จักหนัง ‘เหรียญทอง’ ออสการ์นักเรียน 2020

ทำความรู้จักหนัง ‘เหรียญทอง’ ออสการ์นักเรียน 2020

เป็นประจำทุกปีที่ สถาบันวิทยาการภาพยนตร์ -หรือผู้จัดรางวัลออสการ์- จะประกาศรางวัลออสการ์นักเรียน ที่ได้รับเลือกจากหนังนักเรียนทั่วโลก เพื่อมอบรางวัลแต่ละสาขารางวัล โดยแบ่งเป็นเหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง รวมทั้งสิ้น 18 เรื่อง ซึ่งความน่าสนใจคือในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลเป็นผู้หญิงมากถึง 15 เรื่องเลยทีเดียว และหลังจากนี้ทั้ง 18 เรื่องจะได้รับการพิจารณาในสายหนังสั้นออสการ์ปีหน้าโดยอัตโนมัติ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักหนังเจ้าของ ‘เหรียญทอง’ ของแต่ละสาขากันก่อน 

สาขาหนังทดลอง : Simulacra โดย เคอร์รี ซิคอง เทียน จาก ม.เซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย 

เคอร์รี ซิคอง เทียน คือคนจีนที่มาเรียนอเมริกา โดยความมุ่งหวังของเธอคือการใช้งานศิลปะทั้งหลายถมช่องว่างทางวัฒนธรรม ดังนั้นงานของเธอจึงเป็นการผสมผสานสื่อหลายแขนง อย่างใน Simulacra เธอใช้ทั้งไลฟ์แอ็กชั่น โมชั่นแคปเจอร์ และการเต้นบูโตของญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอวิถีพุทธผ่านหญิงสาวนางหนึ่ง ซึ่งหนังทดลองเรื่องนี้คือส่วนหนึ่งของงานศิลปะผสม Simulacra ของเธอเอง 

(ดูตัวอย่าง https://vimeo.com/412609758)  


สาขาแอนิเมชั่น (สถาบันการศึกษาในอเมริกา) : Ciervo โดย พิลาร์ การ์เซีย เฟอร์นันเดซเซซมา จาก วิทยาลัยการออกแบบโร้ดไอส์แลนด์ 

แอนิเมชั่นลายเส้นแสนน่ารักนี้ เล่าเรื่องของเด็กสาวที่เติบโตมากับความรุนแรงรอบตัว เธอพยายามประนีประนอมเพื่อหาทางอยู่กับมันให้ได้ จนในที่สุดเธอก็กลายเป็นปีศาจเสียเอง นี่เป็นงานของศิลปินนักวาดภาพประกอบ พิลาร์ การ์เซีย เฟอร์นันเดซเซซมา ผู้อพยพจากสเปนพร้อมครอบครัวของเธอ มาตั้งรกรากอยู่ที่นิวยอร์ค 

(ดูตัวอย่าง https://vimeo.com/411580602)


สาขาแอนิเมชั่น (สถาบันการศึกษานอกอเมริกา) : The Beauty โดย ปาสคาล เชลบี จาก Filmakademie Baden-Württemberg (เยอรมนี) 

นี่คือหนังที่สวยสดงดงาม จากแนวคิดที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากขยะพลาสติกในทะเลกลายเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ?” แอนิเมชั่นเรื่องนี้นอกจากออกแบบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกับขยะพลาสติกแล้ว ยังเนรมิตงานสร้างให้ออกมาอย่างอลังการด้วย โดย ปาสคาล เชลบี เล่าว่ามันเกิดจากที่เขาเกิดและเติบโตในชุมชนท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติที่สมบูรณ์ เขาจึงจมูกไวต่อมลภาวะอย่างมาก 

(ดูตัวอย่าง https://vimeo.com/386072639


สาขาสารคดี (สถาบันการศึกษาในอเมริกา) : Unfinished Lives โดย เจิ้นอู๋คง จาก ม.เซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย

เจิ้นอู๋คง (Yucong Chen) นักศึกษาจากชิงเต่าที่มาเรียนใน ม.เซาเธิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อสี่ปีที่แล้ว เกิดเหตุสุดสลดเมื่อเพื่อนชาวจีน Xinran Ji ถูกทำร้ายหลังเลิกเรียนจนเสียชีวิต เธอจึงถ่ายทำสารคดีการสู้คดีของทนายชาวจีน โรส ไจ่ ซึ่งจนปัจจุบันคดีก็ยังไม่สิ้นสุด 

(ดูตัวอย่าง https://www.youtube.com/watch?v=XzckIMbZB9Q


สาขาสารคดี (สถาบันการศึกษานอกอเมริกา) : Dear Father โดย มาเร็น คลาเค็กก์ จาก Westerdals Institute of Film and Media-Kristiania University College (นอร์เวย์)

มาเร็น คลาเค็กก์ ติดตาม บีต สาวน้อยที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็ก กับการพยายามลบอดีตอันเลวร้ายออกจากความทรงจำ เพื่อก้าวไปข้างหน้า แต่แล้วทุกอย่างกลับยิ่งหลอกหลอนเธอหนักกว่าเดิม เมื่อวันที่เธอมีลูก 


สาขาหนังเล่าเรื่อง (สถาบันการศึกษาในอเมริกา) : Umama โดย ทาเลีย สมิธ จาก ม.นิวยอร์ค 

ทาเลีย สมิธ เป็นนักทำหนังจากแอฟริกาใต้แต่มาเรียนที่นิวยอร์ค ดังนั้นงานของเธอจึงพาเราไปรู้จักกับชีวิตแสนลำบากของชาวแอฟริกาใต้ทุกเรื่อง รวมถึงหนังธีสิส Umama ซึ่งพาเราไปรู้จักกับพี่เลี้ยงเด็กชาวแอฟริกาใต้ ที่มอบความรักเต็มเปี่ยมให้กับลูกสาวของนายจ้างเธอ ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่แม่ที่ดีกับลูกชายตัวเองด้วย กระทั่งลูกชายเธอหายไปในวันสำคัญ แต่ก็ต้องเก็บความโศกเศร้านั้นไว้เพื่อมาทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับนายจ้างต่อไป 

(ดูหนังตัวอย่าง https://www.youtube.com/watch?v=v7yKlIGb-Ck


สาขาหนังเล่าเรื่อง (สถาบันการศึกษานอกอเมริกา) : My Dear Corpses โดย เจอร์มัน โกลับ จาก Baltic Film & Media School, Tallinn University (เอสโตเนีย) 

หนังแง่งามเกี่ยวกับความตายที่เล่าเรื่องของ เออร์กิ เด็กหนุ่มสู้ชีวิตคนหนึ่ง เขาโดนไล่ออกจากบ้าน และยังต้องดูแลแม่เพียงลำพังด้วย เขาเลยไปทำงานเป็นคนขนย้ายศพ …ผู้กำกับ เจอร์มัน โกลับ เล่าถึงที่มาของการทำหนังเรื่องนี้ว่า “อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า เราจะไม่สามารถสัมผัสความสุขได้เลย ถ้าไม่เคยผ่านความเศร้ามาก่อน หนังเรื่องนี้เลยทำขึ้นเพื่อย้ำเตือนว่า เราจะไม่สามารถมีชีวิตต่อไปได้หากไม่ระลึกถึงเสมอว่าความตายอยู่แค่เอื้อม” 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here