ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ช่วงวันที่ 15-16 ก.ค. ได้มีกองกำลังทหารไม่ทราบฝ่ายพยายามทำรัฐประหาร แต่ภาคประชาชนได้พร้อมใจกันออกมาคัดค้านและขัดขวางการกระทำดังกล่าว ทำให้ความพยายามรัฐประหารในครั้งนั้นล้มเหลวลงในที่สุด แต่ก็แลกมาด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากถึงกว่า 200 คน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จในการคัดง้างกับกองกำลังทหารในครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะการร่วมมือร่วมใจของประชาชน รวมถึงวงการหนังก็เช่นกัน เพราะในเวลาเพียงไม่นาน พวกเขาก็สามารถส่งสัญญาณการต่อสู้กับกองทัพจนได้รับชัยชนะในที่สุด
1. จุดยืนที่ชัดเจนของ สมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ
หลังเกิดการพยายามรัฐประหาร กองกำลังทหารได้บุกควบคุมสื่อเพื่อออกประกาศจาก “คณะรักษาความสงบ” แต่ในทางกลับกัน กลุ่มคนทำหนังที่นำโดย สมาพันธ์ภาพยนตร์ตุรกี (The Alliance of Collecting Societies in Audiovisual Field) ได้ออกแถลงการณ์โต้กลับทันที เพื่อยืนยันอุดมการณ์ของคนในอุตสาหกรรมหนัง โดยเนื้อหาของสาสน์นั้นคือ “เราทราบดีว่าการทำรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามหมายถึงการจำกัด หรือการยกเลิกเสรีภาพ เราต่อต้านการรัฐประหารและการเป็นศัตรูกับประชาธิปไตย รวมถึงความรุนแรงทุกรูปแบบ เราต่างตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพของงานศิลปะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายในสังคมจะตระหนักถึงคุณค่าเหล่านี้” ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนจากกลุ่มธุรกิจภาพยนตร์ตุรกี
2. เพราะเจ็บจึงจำ คนทำหนังรับลูกสมาพันธ์ฯ ทันที
ตุรกีเป็นประเทศหนึ่งที่ผ่านการรัฐประหารมาอย่างโชกโชน โดยในรอบ 60 ปีนี้ รัฐประหารสำเร็จไป 3 ครั้ง (1960, 1971, 1980) ซึ่งคนทำหนังยังคงหลอกหลอนกับการแทรกแซงและฟาดด้วยระบบเซ็นเซอร์อันโหดเหี้ยม ในช่วงเวลาเหล่านั้นได้อย่างดี เมื่อสมาพันธ์ฯ แสดงจุดยืนมาแล้ว เหล่าคนทำหนังและดาราชื่อดังจึงรับลูกในทันที โดยใช้โซเชียลมีเดียในมือในการแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับการคุกคามจากกองทัพในทุกกรณี
และหนึ่งในการขัดขืนอำนาจกองทัพคือการปลุกระดมให้คนทำหนังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป
เซมีห์ คาปลาโนกลู ผู้กำกับรางวัลหมีทองคำ เทศกาลหนังเบอร์ลินปี 2010 จากเรื่อง Honey คือคนหนึ่งที่แสดงการขัดขืนต่อการรัฐประหาร เขาเล่าว่า “ผมเป็นหนึ่งในความหลากหลายของประชาชน และประทับใจทุกความคิดเห็นและที่มาจากความหลากหลายตามท้องถนน น่าสนใจว่าแกนนำมักเป็นผู้หญิง ซึ่งต็มไปด้วยเรื่องราวและหลักฐานที่น่าทึ่งสำหรับคนทำหนังอย่างเรา
“ในทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลให้เงินอุดหนุนภาพยนตร์ สารคดี และหนังสั้นหลายร้อยเรื่องที่สะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตุรกี หนังเหล่านั้นได้รับรางวัลและได้รับการยกย่องในเทศกาลหนังนานาชาติ ในทำนองเดียวกันซีรีส์ทางโทรทัศน์ของเราหลายเรื่องก็ได้เผยแพร่ทั่วโลก
“ปฏิกิริยาของสังคมที่ไม่ยอมแพ้เปิดโอกาสให้เราได้เติบโตในระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าพวกเรานักทำหนังจะต่อต้านข้อจำกัดของสถานการณ์ฉุกเฉินและมุ่งทำงานตามความเชื่อต่อไป”
ขณะที่ เอลิฟ ดักเดวิเรน โปรดิวเซอร์หนังและผู้จัดเทศกาลหนัง Antalya IFF กล่าวว่า “หนังที่เริ่มต้นถ่ายทำไปแล้วส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไป ยกเว้นแค่บางกองที่ระส่ำจากเงินทุนเพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่ในระยะยาว หวังว่ามันจะออกดอกผลอย่างงดงาม”
3. พยายามปิดโรงหนัง แต่ไม่สำเร็จ
หนึ่งในยุทธวิธีการควบคุมสื่อของคณะรัฐประหารตุรกี 2016 นั้น นอกจากการปิดสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ยังมีอำนาจปิดโรงหนังด้วย แต่ผลคือนอกจากโรงหนังจะไม่ยอมปิดแล้ว ยอดผู้ชมยังมากจนเกือบจะเป็นปกติ
เดอนิซ ยาวุซ เจ้าของเว็บไซต์รายงานบ็อกซ์ออฟฟิศ Antraktsinema บอกว่า การพยายามรัฐประหารของทหารกองกำลังหนึ่ง ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญอะไรกับรายได้หนังเลย “การรัฐประหารเกิดขึ้นในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่หนังใหม่เข้าฉาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ระหว่าง 15-21 ก.ค. ตั๋วหนังขายได้ 556,264 ใบ ซึ่งในปีก่อนหน้านั้นขายได้ 647,406 ใบ ถึงยอดขายจะลดลง 13% แต่เพียงเท่านั้นมันไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นเพราะการพยายามปฏิวัติของทหาร มันเป็นปกติโดยทั่วไปของประเทศที่กำลังมีวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป”
4. ผลสืบเนื่อง
หลังเหตุการณ์พยายามรัฐประหารของกองกำลังทหารตุรกีกลุ่มหนึ่ง ส่งผลให้คะแนนของหนังระทึกขวัญการเมือง Code Name: K.O.Z. ของผกก. เซลัล ซิเมน โดนถล่มดิสไลค์จมดินใน IMDB จนคะแนนลบแซงขึ้นมาถึงอันดับ 6 ในทันที ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันอ้างอิงสถานการณ์จริง ว่าด้วยการตีแผ่ขบวนการทุจริตในรัฐบาลของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ในมุมของรัฐบาลว่าทั้งหมดทั้งปวงเกิดจากการขับเคลื่อนของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้ต้องหาหมายเลขหนึ่งจากเหตุการณ์พยายามรัฐประหาร 2016 นั่นเอง
Code Name: K.O.Z. ออกฉายตั้งแต่วาเลนไทน์ปี 2015 แล้ว ผลตอบรับก็กลางๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่มันกลับมาร้อนแรงหลังเหตุการณ์พยายามรัฐประหาร 2016 เพราะหลายฝ่ายมองว่าหนังเรื่องนี้โปรรัฐบาลอย่างชัดเจน จนผู้สนับสนุนกูเลนไม่พอใจ
(เสริม: ปธน.เอร์โดอันกับกูเลนเคยเป็นมิตรสหายกัน ซึ่งกูเลนคืออิหม่ามผู้ก่อตั้งกลุ่มฮิซเม็ตซึ่งมีผู้ติดตามนับล้านคนในตุรกี รวมถึงคนในกองทัพและรัฐบาลด้วย สร้างคุณประโยชน์นานัปการให้กับสังคม ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล จากความแข็งแรงนี้เอง ทำให้กลุ่มฮิซเม็ตถูกรัฐบาลเอร์โดอันวางสถานะให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย สร้างความแตกแยกและยั่วยุความรุนแรง กูเลนจึงต้องลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ยังความไม่พอใจให้กลุ่มฮิซเม็ตและสาวกกูเลน เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นในสังคมจนปัจจุบัน)
ในทางตรงกันข้าม หนัง The Announcement ของ มูห์มัต ฟาซิล คอสกุน ก็ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมที่เทศกาลหนังเวนิซ ปี 2018 หรือ 2 ปีหลังเหตุการณ์พยายามรัฐประหาร มันเป็นหนังตลกร้ายว่าด้วยกองกำลังทหารกลุ่มหนึ่งที่พยายามรัฐประหารในปี 1963 ผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติ แต่ไม่มีใครเล่นด้วย เลยล้มเหลวไปแบบเงียบๆ แน่นอนว่าผู้ชมต่างนำมันไปเปรียบกับเหตุการณ์นองเลือดที่ล้มเหลวครั้งหลังสุดในตุรกีนั่นเอง