TikTok ตอนนี้ไม่ได้มีแค่ เจน-นุ่น-โบว์ ช่วงที่หลายคนไม่ได้ออกจากบ้านมันเป็นพื้นที่ให้คนดังและคนธรรมดาได้ทำคลิปตลกๆ จนแอพนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก และเพราะมันเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนไว้เยอะนี่เอง TikTok เลยยกระดับจากที่แชร์แค่คลิปสั้นๆ ลองลงหนังให้ดูเต็มเรื่องบ้าง!
TikTok เป็นโซเชียลมีเดียที่คล้ายอินสตาแกรมแต่ตลกกว่า หลายคนเล่นลิปซิงก์ เต้นตลกๆ ใส่เอฟเฟ็กต์ฮาๆ พอคลายเครียดไปได้ มันเลยกลับมาเป็นที่นิยมในช่วงกักตัวโควิด-19 บริษัทแม่อย่าง ByteDance เห็นมีเดียของตัวเองเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในช่วงนี้ เลยขยายขอบเขตมาให้บริการสตรีมมิ่งกับเขาด้วย โดยเริ่มต้นในประเทศจีนบ้านเกิด ซึ่งที่นั่นจะรู้จัก TikTok ในนาม Douyin
ในจีน แค่เสิร์ชชื่อหนังใน Douyin ก็จะปรากฏหนังทั้งเรื่องเด้งขึ้นมาให้ชม มีตั้งแต่หนังออสการ์ The Last Emperor, หนังเมืองคานส์ Farewell My Concubine, หนังแอ็กชันจางอี้โหมว The Great Wall และ The Grandmaster ของ หว่องกาไว
จุดเริ่มต้นมันก็มาจากสถานการณ์โควิด-19 ในจีน ซึ่งดันมีช่วงพีคของการแพร่ระบาดตอนตรุษจีนพอดี โรงหนังที่เป็นความหวังของอุตสาหกรรมหนังจีนพากันปิดรับเทศกาลกันหมด ผู้คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อย่ากระนั้นเลย ByteDance เลยทุ่มทุนถึง 630 ล้านหยวน (ราว 90.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซื้อสิทธิหนัง Lost in Russia (หนังสานต่อความสำเร็จของ Lost in Thailand และ Lost in Hongkong) ซึ่งเป็นความหวังของสตูดิโอ Huanxi Media มาฉายใน Douyin (TikTok) และแพลตฟอร์มอื่นๆ ของ ByteDance ให้ชมฟรีเป็นที่แรก โดยยังได้หนังและรายการทีวีอื่นๆ ของ Huanxi Media พ่วงมาอีกเพียบ
เพราะเปิดตัวด้วยหนังที่น่าจะทำเงินเรื่องหนึ่งแบบนั้น แน่นอนว่ามันเปี้ยงปร้างจนทำให้ ByteDance ได้ใจ กว้านซื้อหนังจากนานาประเทศมาเพียบ อย่างที่เรายกตัวอย่างในข้างต้น
TikTok ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2016 ในตอนนั้นมันได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยเป็นหนึ่งในอาวุธของจีนในการที่จะตีตลาดเฟซบุ๊กกับอิสตาแกรมของอเมริกา จนมันนับเป็นอำนาจอ่อน (soft power) ชนิดหนึ่งของจีนที่ทรงอานุภาพที่สุด
ในปี 2019 ฐานผู้ใช้ TikTok ทั่วโลกเริ่มคงที่จนมองว่ามันคงจะดันไปได้อีกไม่ไกล กระทั่งเกิดโรคระบาดในต้นปี 2020 คนทั่วโลกกักตัวเองอยู่ในบ้าน และเหล่าคนดังหันมาเล่น TikTok กันมากขึ้น อย่าง เจนนิเฟอร์ โลเปซ, จัสติน บีเบอร์ ล่าสุดมาถึงคลาสออกกำลังกายของ เจน ฟอนด้า ซึ่งคลิปเหล่านั้นถูกดูดไปแชร์เป็นไวรัลต่อในแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ TikTok เลยกลับมาบุกโลกอีกครั้งถึงขนาดว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้มันเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล
Douyin จะแตกต่างจาก TikTok ตรงที่ Douyin ไม่ได้กำหนดความยาวของคลิป ซึ่งทำให้คอนเทนต์ใน Douyin จะครอบคลุมไปถึงหนัง, ซีรีส์, ไลฟ์สดปาร์ตี้โดยดีเจชื่อดัง และข่าว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบริการเสริมที่เพิ่งงอกเงยงดงามในช่วงที่ประชาชนอยู่กับบ้านนี้เอง จนมีความเป็นไปได้ว่าหลังพ้นโควิด-19 ไปแล้ว น่าจะเห็นก้าวต่อไปของ TikTok ในตลาดโลกอย่างแน่นอน
อ่านเรื่อง soft power เพิ่มเติมที่นี่