ระหว่างที่ช่วงเวลา 11 วันเต็มของ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซประจำปี 2022” ยังคงดำเนินอยู่ ดูเหมือนว่าหนังในสายประกวดหลักทั้ง 23 เรื่อง กลับไม่มีเรื่องไหนพุ่งทะยานขึ้นยืนหัวแถวเป็นตัวเก็ง (พร้อมกับการสวาปามพื้นที่สื่ออย่างตะกละตะกรามโดยชุดเปิดหลังสีแดงของ ทิโมเธ ชาลาเมต์ และข่าวแซ่บหลังกองถ่าย Don’t Worry Darling ที่ซึมมาถึงพรมแดง) ก่อนคณะกรรมการที่มี จูลีแอนน์ มัวร์ (Julianne Moore) เป็นประธานจะอ่านคำประกาศผลรางวัลซึ่งแทบถูกยึดครองเบ็ดเสร็จโดยหนังพูดภาษาอังกฤษ แม้ว่า “หนังสตรีมมิ่ง” และ “หนังขายดารา” ที่เป็นตัวเรียกกระแสช่วงก่อนเริ่มเทศกาลเกือบทุกเรื่องจะมือเปล่ากลับบ้านแล้วก็ตาม
อย่างเหนือความคาดหมาย รางวัลสิงโตทองคำปีนี้ตกเป็นของสารคดีเพียงหนึ่งเดียวในสายประกวด All the Beauty and the Bloodshed ของ ลอรา พอยทราส (Laura Poitras – ผู้กำกับ CitizenFour) หนังเล่าชีวิตของศิลปินภาพถ่าย แนน โกลดิน (Nan Goldin) โดยใช้ผลงานของเธอซึ่งบันทึกภาพและได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มเพื่อนเควียร์กับพี่สาวที่ฆ่าตัวตาย ถักทอเป็นทั้งภาพส่วนตัวระยะใกล้ของศิลปินหญิงคนสำคัญ และภาพการเมืองเมื่อเธอกลายเป็นแอ็กติวิสต์ผู้เรียกร้องต่อต้าน “การกุศลอาบยาพิษ” ของตระกูลแซ็คเลอร์ (Sackler) เจ้าของบริษัทยาซึ่งร่ำรวยด้วยยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด และบริจาคเงินมหาศาลเป็นผู้อุปถัมภ์สนับสนุนพิพิธภัณฑ์หรือองค์กรด้านศิลปะ
นี่เป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์เวนิซที่ภาพยนตร์สารคดีชนะรางวัลสูงสุด (เรื่องแรกคือ Sacro GRA ของ จานฟรังโก โรซี เมื่อปี 2013) และเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่คณะกรรมการมอบรางวัลสิงโตทองคำให้ผลงานของผู้กำกับหญิง (ถัดจาก Nomadland และ Happening)
เจ้าพ่อตลกร้ายจากไอร์แลนด์ มาร์ติน แม็คโดนาห์ (Martin McDonagh) กลับมาคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมเวนิซอีกรอบจาก The Banshees of Inisherin (ห้าปีหลัง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) ด้วยการแท็กทีมกับคู่หูที่ช่วยแจ้งเกิดเขาเมื่อครั้ง In Bruges (2008) แถมคราวนี้ยังพา โคลิน ฟาร์เรลล์ (Colin Farrell) ไปถึงรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม จากบทไอ้หนุ่มหัวทึบที่ไม่เลิกตามตื๊อหลังถูกเพื่อนรุ่นลุงบอกเลิก จนเรื่องมันเตลิดเปิดเปิงไปทุกสิ่ง ชัยชนะครั้งนี้ส่งผลให้เขากลายเป็นหนึ่งในตัวเต็งของรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมปีหน้าไปทันที
ในขณะที่เจ้าบ้านซึ่งคนอิตาเลียนรู้สึกว่าเป็นคนนอกอย่าง ลูกา กวาดัญญิโน (Luca Guadagnino) ก็ได้รางวัลจากเวนิซติดมือกับเขาเสียที หลังเข้าสายประกวดแล้วมือเปล่ามาสามครั้ง (I Am Love ในสายรอง, A Bigger Splash กับ Suspiria ในสายหลัก) โดยนอกจากรางวัลสิงโตเงินสาขาผู้กำกับแล้ว หนังเรื่อง Bones and All ที่โยนเจ้าน้องทิมมี่ลงไปเรียนรู้รักชายขอบคาวเลือดในบ้านนอกอเมริกายุคโรนัลด์ เรแกน ก็จุดประกายให้นักแสดงหญิงดาวรุ่ง เทย์เลอร์ รัสเซลล์ (Taylor Russell, คนไทยอาจคุ้นหน้าจากซีรี่ส์ Lost in Space, หนัง Escape Room สองภาค และ Waves ของ เทรย์ เอ็ดเวิร์ด ชูลทซ์) คว้ารางวัล Marcello Mastroianni Award ตามรอยรุ่นพี่ที่เป็นดาวไปแล้วอย่าง มุนโซรี, กาเอล การ์เซีย เบร์นัล, ดิเอโก ลูนา, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, มิลา คูนิส, ไท เชอริแดน, ฟุมิ นิไคโดะ, โชตะ โซเมทานิ และ เพาลา เบียร์
เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) ชนะรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม จาก Tár หนังยาวเรื่องแรกในรอบ 16 ปีของ ท็อดด์ ฟิลด์ (Todd Field) บทวาทยกรหญิงคนแรกที่ได้ถือไม้บาตองคุมวงออร์เคสตราใหญ่ในเยอรมนี ทำให้เธอเป็นนักแสดงหญิงคนที่ 4 ที่ได้ถือถ้วย Volpi Cup มากกว่าหนึ่งครั้ง (ถัดจาก เชอร์ลีย์ แม็กเคลน, อิซาแบลล์ อูแปต์ และ วาเลเรีย โกลิโน) – ดูเหมือนว่าถ้ามาเวนิซต้องเล่นหนังดนตรีให้ท็อดด์ เพราะบทที่คว้ารางวัลให้เธอเมื่อ 15 ปีก่อนก็คือ บ๊อบ ดีแลน จาก I’m Not There (2007, ท็อดด์ เฮย์นส์)
เท่ากับว่าเหลือพื้นที่เพียงสองรางวัลให้หนังที่พูดภาษาอื่น และหนังที่คณะกรรมการเลือก ต่างก็ใกล้เคียงความเป็นสารคดีทั้งคู่
รางวัลลำดับ 3 ของเทศกาล (Special Jury Prize) ตกเป็นของ No Bears ผลงานล่าสุดก่อนถูกรัฐบาลอิหร่านจับเข้าคุกอีกรอบของ จาฟาร์ ปานาฮี (Jafar Panahi) ที่แสดงเองในหนังซ้อนหนัง รับบทตัวเองที่ย้ายไปอยู่บ้านนอกเพื่อหลบสายตาทางการ ลอบกำกับสารคดีเรื่องคู่รักที่วางแผนหนีออกนอกประเทศด้วยพาสปอร์ตปลอมผ่านซูม แต่ระหว่างที่เน็ตไม่เสถียรก็ถูกลากไปพัวพันกับอีกคู่รักที่พยายามหนีวัฒนธรรมคลุมถุงชนในเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ (Grand Jury Prize) คือหนังฟิกชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของ อลิซ ดิออป (Alice Diop) ผู้กำกับสารคดีหญิงฝรั่งเศสเชื้อสายเซเนกัล ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามที่สุดเรื่องหนึ่งในเทศกาลปีนี้ นั่นคือ Saint-Omer ซึ่งเล่ามิติอันซับซ้อนของความเป็นหญิงและความเป็นแม่ที่ผูกโยงกับสตรีเชื้อสายแอฟริกันในสังคมฝรั่งเศส ผ่านการเฝ้าสังเกต รับฟัง คิดวิเคราะห์ตามการไต่สวนพิจารณาคดีแม่ฆ่าลูกในศาล ผ่านตัวละครนักเขียนที่เข้าฟังคำให้การของจำเลยหวังหยิบใช้เรื่องไปเขียนหนังสือ ซึ่งยืนพื้นจากตัวดิออปเองที่เคยเข้าไปฟังคดีจริงในศาล แล้วพบว่าจำเลยในคดีนี้ไม่อาจอธิบายให้ศาลหรือใครต่อใครฟังได้ว่าทำไมเธอจึงฆ่าลูกเล็กของตนเอง
ในสายตาสมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ (FIPRESCI) กลับฉีกไปอีกทาง เมื่อหนังสิงโตทองคำที่พวกเขาลงมติคือ Argentina, 1985 ผลงานล่าสุดของ ซันติอาโก มิเตร (Santiago Mitre) ซึ่งทำหนังการเมืองดูสนุกมาร่วมๆ สิบปี แต่อาจยังไม่ดังเท่าคนทำหนังอาร์เจนตินารุ่นใกล้ๆ กัน (La Cordillera (2017) เสียดสีประธานาธิบดีที่ต้องเคลียร์ชีวิตไปพร้อมๆ กับประชุมระดับทวีป) โดย Argentina, 1985 โฟกัสการเตรียมตัวก่อนขึ้นว่าความหน้าบัลลังก์เพื่อเอาผิดคณะรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาของทีมทนายความรุ่นใหม่ในยุค 1980
ฟากสายประกวดรอง (Orizzonti) ซึ่งมีผู้กำกับหญิงชาวสเปน อิซาเบล โกยเซต์ (Isabel Coixet) เป็นประธานกรรมการ มอบสองรางวัลใหญ่ให้หนังที่มีจุดร่วมคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง ทั้งที่ตัวละครหลักมีพื้นเพตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
คู่หูนักทำหนังชาวอิตาเลียน-ออสเตรีย ทิซซา โควี กับ ไรเนอร์ ฟริมเมล (Tizza Covi, Rainer Frimmel) ยังคงผสมผสานสารคดีกับฟิกชั่นด้วยการให้นักแสดงเล่นเป็นตัวเอง (ในระดับที่เคยพูดว่า “เมื่อถ่ายไปจนจบ เราก็ไม่รู้อีกต่อไปว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนเราสร้างขึ้นมา”) โดย Vera เล่าเรื่องของ เวร่า ลูกสาวดาราอิตาเลี่ยนชื่อดังที่เบื่อชีวิตชนชั้นสูงในกรุงโรม จนวันหนึ่งเกิดขับรถชนเด็กเข้าแถบชานเมือง เธอเลยเริ่มสานสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับครอบครัวของเด็ก ก่อนที่ความจริงจากโลกเก่าจะกลับมาตามตัวเข้าให้ – หนังชนะทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยมและนักแสดง(?)หญิงเจ้าของบทเวร่า
เจ้าของรางวัลหนังยอดเยี่ยมกับนักแสดงชาย คือหนังอิหร่าน World War III ของ ฮูมาน เซเยดี (Houman Seyyedi, ผู้ชนะรางวัล New Currents จากปูซานเมื่อปี 2014) ที่ตัวเอกเป็นคนไร้บ้าน หากินเป็นกรรมกรรับจ้างรายวัน จนวันหนึ่งถึงได้รู้ว่าตัวเองกำลังสร้างฉากค่ายกักกันนาซีเพื่อถ่ายหนัง แล้วเกิดจับพลัดจับผลูจะได้เป็นดารา ได้บ้าน ได้ชื่อเสียง ได้ชีวิตที่ดี ก่อนความจริงจากโลกข้างนอกคือแฟนสาวหูหนวกจะกลับมาตามตัวเข้าให้ แล้วทุกอย่างก็ทำท่าจะพังทลายไปต่อหน้าต่อตา
เวนิซปีนี้ไม่มีหนังไทย (ผิดคาดไม่น้อยเมื่อ Morrison ของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะสาย Orizzonti หลุดโผ) และนอกจากหนังอิหร่านก็ไม่มีหนังเอเชียชนะรางวัลหลักๆ ของเทศกาล แต่ตัวแทนจากฝั่งเอเชียตะวันออกก็ยังมีเครดิตติดตัวกลับบ้านอยู่บ้าง
โดยรางวัลหนังสั้นยอดเยี่ยมสาย Orizzonti คือ Snow in September หนังวัยรุ่นวุ่นเซ็กส์ของผู้กำกับน่าจับตาชาวมองโกเลีย ลัคกวาดุลัม ปูเรฟ-โอชีร์ (Lkhagvadulam Purev-Ochir), รางวัล Best Immersive Experience หรือหนังยอดเยี่ยมของสาย Venice Immersive (มอบให้กับหนัง VR) ตกเป็นของ The Man Who Couldn’t Leave (ซิงกิง เฉิน, ไต้หวัน) ซึ่งเล่าประสบการณ์และความทรงจำของนักโทษที่ต้องติดคุกภายใต้ระบบเผด็จการในยุค white terror ช่วงทศวรรษ 1950 ของไต้หวัน และ Autobiography (มัคบุล มูบารัค, อินโดนีเซีย, เข้าประกวดในสาย Orizzonti) ซึ่งเจาะลึกถึงความภักดีต่ออำนาจนิยมของคนเดินดินในประเทศที่กลิ่นเผด็จการยังไม่จางหาย ผ่านตัวละครพ่อบ้านวัยรุ่นประจำคฤหาสน์ของนายพลเกษียณที่ติดตามช่วยแคมเปญเลือกตั้งท้องถิ่นของเจ้านาย ก็ได้รับตำแหน่งหนังยอดเยี่ยมนอกสายประกวดสิงโตทองคำของ FIPRESCI
ผลรางวัลทั้งหมด
1) Main Competition (สายประกวดหลัก)
- สิงโตทองคำ : All the Beauty and the Bloodshed (ลอรา พอยทราส, สหรัฐอเมริกา)
- สิงโตเงิน (Grand Jury Prize) : Saint-Omer (อลิซ ดิออป, ฝรั่งเศส)
- สิงโตเงิน (ผู้กำกับ) : ลูกา กวาดัญญิโน จาก Bones and All (อิตาลี/สหรัฐอเมริกา)
- Special Jury Prize : No Bears (จาฟาร์ ปานาฮี, อิหร่าน)
- Golden Osella (บทภาพยนตร์) : The Banshees of Inisherin (มาร์ติน แม็คโดนาห์, ไอร์แลนด์/อังกฤษ/สหรัฐอเมริกา)
- Volpi Cup (นักแสดงหญิง) : เคต แบลนเชตต์ จาก Tár (ท็อดด์ ฟิลด์, สหรัฐอเมริกา/เยอรมนี)
- Volpi Cup (นักแสดงชาย) : โคลิน ฟาร์เรลล์ จาก The Banshees of Inisherin
- Marcello Mastroianni Award (นักแสดงรุ่นใหม่) : เทย์เลอร์ รัสเซลล์ จาก Bones and All
2) Orizzonti (สายประกวดรอง)
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : World War III (ฮูมาน เซเยดี, อิหร่าน)
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม : ทิซซา โควี และ ไรเนอร์ ฟริมเมล จาก Vera (ออสเตรีย)
- Special Jury Prize : Bread and Salt (ดาเมียน โคคูร์, โปแลนด์)
- นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม : เวรา เจ็มมา จาก Vera
- นักแสดงชายยอดเยี่ยม : โมห์เซ็น ทานาบานเดห์ จาก World War III
- บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม : Blanquita (เฟร์นันโด กุซโซนี, ชิลี/เม็กซิโก/ลักเซมเบิร์ก/ฝรั่งเศส/โปแลนด์)
- Lion of the Future (หนังยาวเรื่องแรกยอดเยี่ยม) : Saint-Omer
3) Venice Days (สายประกวดคู่ขนาน)
- Cinema of the Future Award : The Maiden (แกรห์ม ฟอย, แคนาดา)
- Director’s Award : Wolf & Dog (เกลาเดีย วาเรเชา, โปรตุเกส)
4) Critics’ Week
- Grand Prize : Eismayer (ดาวิด วากเนอร์, ออสเตรีย)
- Special Mention : Anhell69 (เธโอ มอนโตยา, โคลอมเบีย/โรมาเนีย/ฝรั่งเศส/เยอรมนี)
5) Venice Immersive
- Best Immersive Experience : The Man Who Couldn’t Leave (ซิงกิง เฉิน, ไต้หวัน)
- Grand Jury Prize : From the Main Square (เปโดร ฮาร์เรส, เยอรมนี)
- Special Jury Prize : Eggscape (เคร์มัน เฮลเลอร์ / ฆอร์เก เตเรโซ / เฟเดริโก เฮลเลอร์, อาร์เจนตินา)
6) FIPRESCI Award (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยสมาคมนักวิจารณ์นานาชาติ)
- สายประกวดหลัก : Argentina, 1985 (ซันติอาโก มิเตร, อาร์เจนตินา/สหรัฐอเมริกา)
- นอกสายประกวดหลัก : Autobiography (มัคบุล มูบารัค, อินโดนีเซีย/ฝรั่งเศส/เยอรมนี/โปแลนด์/สิงคโปร์/ฟิลิปปินส์/กาตาร์)