ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงขนาดย่อมขึ้นที่เมืองแบรดฟอร์ด โบลตัน เบอร์มิงแฮม และเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้มีการระงับฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ The Lady of Heaven และมีถึง 120,000 คนที่ลงชื่อเรียกร้องให้ถอดหนังออกจากโรงหนังทั่วประเทศ ผลคือหลายโรงหนังมัลติเพล็กซ์ทั้ง Cineworld, Showcase และ Vue ตอบรับข้อเรียกร้องและถอดหนังออกจากโปรแกรมฉายทุกสาขา
The Lady of Heaven กำกับโดย เอไล คิง (Eli King) และเขียนบทโดย ชีค อัล-ฮาบิบ (Sheikh al-Habib) เล่ามหากาพย์ชีวิต 1,400 ปีก่อนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ลูกสาวของศาสดามูฮัมมัด คล้องคลอไปกับเรื่องราวของเด็กกำพร้าจากโมซุลที่แม่ของเขาถูกทหาร ISIS สังหาร ทหารที่แบกแดดรับเลี้ยงเขาไว้ และแม่ของทหารผู้นั้นก็ปลอบประโลมเด็กชายด้วยเรื่องของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เพื่อให้เขามีพลังใจข้ามผ่านช่วงเวลาอันโหดร้าย หนังค่อนข้างเล่าเรื่องตามแบบแผน ไม่มีลูกเล่นอะไรมาก และเดอะการ์เดียนก็ให้คะแนนหนังแค่ 2 ดาว แต่แทนที่จะถูกเวลากลืนหายไปแบบตอนเข้าฉายที่อเมริกาเมื่อราวหนึ่งเดือนที่แล้ว หนังกลับสร้างข้อถกเถียงในสังคมอังกฤษและที่อื่นๆ โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำทางศาสนา
ทั้งคำครหาว่าหนังแสดงภาพศาสดามูฮัมมัดด้วยตัวแสดงที่เป็นคนเล่น แม้ผู้สร้างจะไม่ได้ให้เครดิตผู้แสดงและชี้แจงว่าได้ประกอบสร้างภาพดังกล่าวร่วมกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก การจัดแสง และเทคนิคต่างๆ รวมถึงความไม่พอใจที่ผู้สร้างให้นักแสดงผิวดำมาเล่นเป็นตัวร้าย และเรื่องความเชื่อที่ขัดแย้งกันของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์กับซุนนีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของท่านหญิงฟาติมะฮ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการนำเสนอภาพตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคต้นของนิกายซุนนี
เหล่านี้ทำให้โรชาน มูฮัมเม็ด ซาลีห์ (Roshan Muhammed Salih) บรรณาธิการของเว็บไซต์ข่าวอิสลาม 5Pillars รีวิวหนังด้วยเฮดไลน์สุดดุเดือดว่า “Lady of Heaven: ขยะโสโครกจากเนื้อในของลัทธินอกรีต” และเขียนว่าหนังเทียบเคียงสาวกที่ใกล้ชิดที่สุดสามคนของศาสดามูฮัมมัดกับกลุ่ม ISIS นอกจากนั้น Bolton Council of Mosques ยังบอกว่าหนัง “ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา” และองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร Muslim Council of Britain (MCB) บอกว่าหนัง “สร้างความแตกแยก” และ “เป้าหมายหลักของคนบางจำพวกคือการเติมเชื้อความเกลียดชัง ซึ่งนั่นรวมถึงคนจำนวนมากที่เชียร์หนังเรื่องนี้หรือข้องเกี่ยวกับลัทธินอกรีตด้วย”
แต่หลังจากมีการต่อต้านหนังอย่างรุนแรงและโรงหนังก็ตอบรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง อิหม่ามคารี อาซิม (Qari Asim) ก็ถูกทางการอังกฤษถอดออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเพราะไปสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น ‘ความพยายามอย่างชัดแจ้งที่จะจำกัดการแสดงออกทางศิลปะ’ ในขณะที่โมรอคโค ปากีสถาน อียิปต์ และอิหร่าน ได้ประกาศแบนหนังในประเทศตนเรียบร้อยแล้ว โดยทางการโมรอคโคที่แบนหนังบอกว่านี่คือ “การบิดเบือนข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์อิสลามชนิดไม่มียางอาย” ซึ่งก่อให้เกิด “ความแตกแยกที่น่ารังเกียจ” และกล่าวหาว่าคนทำหนังต้องการ “ชื่อเสียงกับข่าวฉาว”
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามที่ถูกถามขึ้นบ่อยครั้งในยุคของ cancel culture ว่าคนเราควรไปไกลแค่ไหนเพื่อรักษาเกียรติยศของความเชื่อตน เคแนน มาลิก (Kenan Malik) คอลัมนิสต์จากเดอะการ์เดียนเขียนโต้กลับบทความของ 5Pillars และไม่เห็นด้วยกับการถอดหนังออก โดยบอกว่านี่ไม่ใช่การถกเถียงเพื่อตัดสินว่าใครก้าวล่วงใคร แต่เป็นปัญหาของการ gatekeeping มันคือการถกเถียงว่า ใครกันแน่ที่มีสิทธิสั่งสอนคนอื่นและตัดสินว่าคนกลุ่มใดสามารถพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งได้หรือไม่ได้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า นี่เองจึงทำให้การทุ่มเถียงว่าใครละเมิดใครมักจะเกี่ยวข้องกับนักเขียนหรือศิลปินจากคนกลุ่มน้อยเสมอ
ในบทความของเขา มาลิกเขียนว่า “ทุกสังคมมี gatekeepers ของตัวเอง พวกเขามีบทบาทในการปกป้องบางสถาบัน รักษาสิทธิพิเศษของคนบางกลุ่ม และเป็นเกราะกำบังไม่ให้บางความเชื่อถูกท้าทาย พวกเขาไม่ได้ปกป้องคนชายขอบ แต่ปกป้องผู้มีอำนาจ ในชุมชนของคนกลุ่มน้อย gatekeepers มักจะเป็นคนที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ปกครองและมอบอำนาจให้ตัวเองขีดเส้นแบ่งว่าคำพูดและการกระทำใดเป็นที่ยอมรับได้ พวกเขาไม่อายที่จะอ้างว่าอีกฝ่าย ‘ลบหลู่ดูหมิ่น’ หรือ ‘ใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง’ เพื่อเซ็นเซอร์แนวคิดที่พวกเขาทนฟังไม่ได้”
นอกจากนี้ มาลิกยังวิพากษ์ซาลีห์ บรรณาธิการของ 5Pillars ว่าเป็นผู้สนับสนุนตัวเป้งของรัฐบาลอิหร่านและตาลีบันมาอย่างยาวนาน และตอนที่ตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถานหนึ่งปีหลังจากสหรัฐฯ ถอนทหาร ซาลีห์ทวีตว่า “ยิ่งตาลีบันชนะเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี” เพราะพวกเขา “จะนำพาความสงบมาให้อย่างแน่นอน” นอกจากนั้นซาลีห์ยังสนับสนุนการลงโทษแบบฮุดูดที่รวมไปถึงการตัดแขนและปาหินสำหรับอาชญากรรมที่มีโทษสถานหนักด้วย
“พวกคนสำคัญอย่างเช่นซาลีห์ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชนมุสลิมทั้งโลก” มาลิกเขียนปิดท้าย “การงดฉายหนังเรื่องหนึ่งตามคำกล่าว ของผู้ประท้วง [ว่าหนังเหยียดเชื้อชาติ เป็นอิสลามโมโฟเบีย และสร้างความเกลียดชัง] คือการยอมตามพวกคนที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในการถกเถียงนี้และหักหลังชาวมุสลิมที่ค่อนไปในทางก้าวหน้า ยิ่งสังคมออกใบอนุญาตให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองถูกก้าวล่วงได้มากเท่าไหร่ ยิ่งจะมีคนฉวยโอกาสบอกว่าตัวเองถูกก้าวล่วงได้มากขึ้นเท่านั้น และบ่อยครั้งก็ฉวยโอกาสกันถึงขั้นเอาชีวิต” เขาอ้างอิงถึงกรณีฆ่าตัดหัวครูชาวฝรั่งเศสที่นำการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมมัดของชาร์ลี เอบโดมาสอนในห้องเรียนเมื่อปี 2563 ตามหลังกรณีกราดยิงที่มีต้นเหตุจากการ์ตูนภาพเดียวกันนี้ในปี 2558