อ่านตอนที่ 1 : ท่วงท่าของความทรงจำ: การปรับและรับรู้สมดุลของแรงสั่นสะเทือนจากโคลอมเบียถึงไทยใน Memoria (1)
การกระตุ้นความทรงจำผ่านเสียง เรือกระทบคลื่น ผีดิบ การรัวกลองในพิธีกรรมและเสียงระเบิด ใน I Walked with a Zombie (1943)
การรับรู้ความรู้สึกและเชื่อมโยงกับความทรงจำกลายเป็นสิ่งสำคัญ เสียงใน Memoria กระตุ้นความทรงจำผ่านการสั่นไหวของกระดูกสามชิ้นในหูชั้นในและส่งกระแสประสาทควบคู่กับการรับรู้ความสมดุลของตำแหน่งของศีรษะผ่านเส้นประสาทคู่ที่ 8 ขึ้นไปที่สมองส่วนธาลามัสที่เป็นจุดทางผ่านของผัสสะ ก่อนจะวิ่งไปแปลผลที่สมองส่วนหน้าและด้านข้าง
นอกจากกระแสประสาทวิ่งไปที่สมองส่วนหน้าจะทำให้เกิดประสบการณ์ทางเสียงแล้ว กระแสประสาทยังวิ่งผ่านสมองส่วนลิมบิกอื่นๆ เช่น amygdala ที่ทำให้เราอ่อนไหวกับเสียงที่มีความหมาย เช่น เสียงร้องไห้ หรือคำพูด และยังเกี่ยวข้องกับการหลบหนีเมื่อเราได้ยินเสียงที่น่ากลัว เช่น ระเบิด ส่วนสมอง hippocampus ในลิมบิกก็ช่วยเพิ่มมิติการรับรู้เวลาของเสียงและตรวจสอบเสียงใหม่ๆ การฟังเสียงรบกวน (noise) ช่วยเพิ่มการเชื่อมโยงเส้นประสาทใน hippocampus ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้เสียงและความทรงจำ
แม้ว่าเสียงที่ดังขึ้นเมื่อเจสสิกาแตะตัวแอร์นันในวัยกลางคน จะสะทกสะท้อนกับฉากที่เจสสิกาแตะแขนแอร์นันในวัยหนุ่มเมื่อเธอค้นพบเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงระเบิดในหัว เสียงที่เธอบรรยายว่าคล้ายกับ “ลูกบอลคอนกรีตขนาดใหญ่กระแทกอ่างโลหะที่ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล แล้วมันก็หดตัวเล็กลง” เสียงระเบิดที่เธอค้นหาจนพบว่าเสียงเธอได้ยินในเวลาต่อมาเป็นเสียงอื่นๆ อีกมหาศาลเกินกว่าที่เธอและผู้ฟังจะรับรู้ได้อย่างสมบูรณ์ (ผู้ชมไม่น่าจะทราบแน่ๆ ว่า มีการใส่เสียงแรกของโลกที่ถูกบันทึกเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1860 โดย Edouard-Leon Scott de Martinville ซึ่งเขาบรรยายว่าเยื่อกั้นที่ใช้อัดเสียงคล้ายกับเยื่อแก้วหู)
นอกจากนี้ยังมีเสียงคลื่นในมหาสมุทรและเรือ ซึ่งนอกจากจะชวนให้นึกถึง Luminous People (2007) ยังชวนให้นึกถึงเสียงของเรือเดินสมุทรในตอนต้นของ I Walked with a Zombie (1943) โดย Jacques Tourneur ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่ท้าทายการนำเสนอภาพแทนของคนผิวสีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้อภิชาติพงศ์เปลี่ยนชื่อตัวแสดงหลังจากเอริกาเป็นเจสสิกา ฮอลแลนด์ในช่วงพัฒนาบทภาพยนตร์ Memoria
I Walked with a Zombie เป็นเรื่องราวของเบ็ตซี่ พยาบาลชาวแคนาดาที่ได้รับการติดต่อจาก พอล ฮอลแลนด์ เจ้าของไร่อ้อยบนเกาะ Saint Sebastian ในหมู่เกาะแคริเบียน เบ็ตซี่รับหน้าที่ในการดูแล เจสสิกา ฮอลแลนด์ ภรรยาของพอล ที่ล้มป่วยด้วยโรคปริศนา หมอแมกซ์เวลบอกว่าไขสันหลังของเธอถูกทำลายอย่างรุนแรงจนทำให้เธอไม่สามารถดูแลตัวเองได้
เบ็ตซี่ตกหลุมรักพอล ในระหว่างที่ดูแลภรรยาของเขา แต่การอยู่บนเกาะแห่งนี้ก็ทำให้เธอได้ยินเสียงกลองรัวแทบทุกคืน กลองรัวจากพิธีกรรมของอดีตทาสผิวสีที่มาชุมนุมกันตอนกลางคืนหลังจากทำงานในไร่อ้อย เธอค่อยๆ ค้นพบความรุนแรงที่ถูกปกปิดด้วยความเงียบสงบ เกลียวคืน แดดจ้า และต้นปาล์มของเกาะว่าชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจากเจ้าอาณานิคมผิวขาวและทาสที่ถูกขนมาทางเรือ
วันหนึ่งคนใช้ที่คฤหาสน์ของพอลบอกกับเบ็ตซี่ว่าเจสสิกาอาจจะถูกคำสาปมนต์ดำของทาสที่โกรธแค้น ในขณะที่แรนด์ แม่ของพอลผู้เป็นแพทย์ในชุมชนบอกว่าเจสสิกาเป็นผีดิบ แต่เรื่องก็คลี่คลายด้วยว่าแรนด์ ต่างหากที่เป็นคนทำของใส่เจสสิกา เพราะค้นพบความจริงว่าเวสลี่ ลูกชายต่างบิดากับพอล หลงรักเจสสิกาเช่นกันและต้องการพาเธอหนีไปจากเกาะ เธอจึงใช้วูดูสะกดวิญญาณเจสสิกาไว้ และชาวเผ่าต่างหากที่พยายามช่วยเจสสิกาอยู่ตลอด ในท้ายที่สุดเวสลี่ก็พาเจสสิกาหนีไปในทะเลและจมน้ำเสียชีวิตทั้งคู่ หลังจากนั้นพอลและเบ็ตซี่ก็รักกันอย่างมีความสุข นี่จึงเป็นเรื่องของการพบกับเมียใหม่ในงานศพของเมียคนเก่า
ฉากที่ตราตรึงใจคือฉากในตอนต้นเรื่อง เบ็ตซี่นั่งเรือข้ามเกาะมากับพอล เบ็ตซี่คิดในใจว่าดวงดาวบนเรือช่างงดงาม ยังรวมไปถึงลมอุ่นพัดเอื่อยๆ สัมผัสแก้มของเธอ เธอสูดหายใจลึกเต็มปอดและพูดกับตัวเองว่า “ช่างงดงามเหลือเกิน” ก่อนที่พอลจะพูดขึ้นว่า “มันไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอคิดหรอก” ราวกับว่าเขาอ่านใจเธอได้ “คนหน้าใหม่ที่มาเกาะนี้ก็คิดแบบนี้กันทั้งนั้น ปลาที่กำลังแหวกว่ายพวกนั้น ก็มีปลาใหญ่กว่าที่จ้องจะกินพวกมัน น้ำส่องสะท้อนเรืองรองที่คุณกำลังเห็น มันคือแสงวูบวาบของศพสิ่งเล็กสิ่งน้อยจำนวนมหาศาล นี่จึงเป็นแสงแวววาวของการเน่าเปื่อย ไม่มีสิ่งสวยงามที่นี่หรอก มีแต่ความตายและการย่อยสลาย สิ่งที่ดีล้มตายที่นี่ทั้งนั้น แม้แต่ดวงดาวบนท้องฟ้า”
I Walked with a Zombie ทำให้เราเห็นอีกโลกหนึ่งที่อุดมไปด้วยความไม่เป็นเหตุเป็นผล Tourneur สนใจว่าวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้ให้คำตอบทั้งหมด เขาจึงสร้างโลกที่ไม่มีใครเข้าใจได้ทั้งหมดผ่านภาพยนตร์ที่มีความกำกวมและเรื่องราวที่ไม่มีตอนจบสมบูรณ์ Gwenda Young อาจารย์ด้านภาพยนตร์ University College Dublin บอกว่า I Walked with a Zombie คล้ายกับการตรึกตรองหรือนั่งสมาธิขบคิดการต่อรองทางอำนาจระหว่างคนขาวและคนผิวสีในสังคมหลังอาณานิคมซึ่งสอดคล้องกับในช่วงทศวรรษ 1940 ที่เกิดการถกเถียงในประเด็นเชื้อชาติอย่างมากในอเมริกา I Walked with a Zombie อาจเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกๆ ที่เฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลายของคนผิวสี และนำเสนอภาพของความเชื่อชนเผ่าด้วยความเคารพ
แต่บทสนทนาระหว่างเบ็ตซี่และพอลก็อาจชวนให้นึกถึงบทสนทนาระหว่างราตรีและสุรชัย ราตรีเป็นหญิงสาวที่ตกหลุมรักสุรชัย และมองว่า การไปปิคนิคยามบ่ายทานแซนวิช ดื่มด่ำบรรยากาศริมโขง ท่องเที่ยวใน “เมืองที่มีเรื่องเร้นลับหลากหลายรอการค้นพบ” ดูจะเป็นชีวิตที่น่าอภิรมย์และสวยงาม แต่อากาศที่ร้อนระอุก็ทำให้เธอไม่สบายตัว จนทำให้เธอตื่นขึ้นมา อากาศร้อนอาจกลายเป็นเหมือนเสียงระเบิด เหมือนแผ่นดินกัมปนาทบนเมืองที่ฉาบด้วยความสวยงามและเงียบสงบ
บทสนทนาระหว่างเบ็ตซี่และพอลก็ชวนให้นึกถึงเจสสิกาผู้เดินเตรดเตร่ท่องเมืองโบโกตาและเมเดยิน นั่งเงียบสดับฟังเสียงในสวน หรือดูชายหนุ่มสองคนเต้นรำกันกลางถนน ในเมืองที่มีสีสันและไม่มีวันหลับไหล กลับซุกซ่อนบาดแผลความทรงจำที่ไม่เลือนหาย หากแต่ปะทุขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ ที่อาจมีเพียงเจสสิกาที่ได้ยิน Memoria จึงเป็นการตีความ I Walked with a Zombie อีกครั้ง บนเกาะที่สวยงาม แสงแดด และรอยยิ้มของผู้คน มีเพียงเบ็ตซี่ที่รับรู้ถึงการกดขี่ที่ยังดำรงอยู่บนหมู่เกาะในอเมริกาใต้ บนเกาะที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างชินชาและต่อสู้กันเท่าที่เรี่ยวแรงจะมี
มิติพิศวง ตะวันตก-ตะวันออก ภายนอก-ภายใน อำนาจแบบลำดับชั้น-การร้อยรัดในแนวระนาบ
หนึ่งในฉากที่น่าจดจำคือฉากที่เจสสิกาไปพบแพทย์คล้ายกับฉากป้าเจนใน Blissfully Yours (2002) พยายามทวงหมอว่าเธอต้องการมีลูก แต่ยาที่หมอให้ไปทำให้เธอเอาแต่นอนหลับและไม่ได้มีอะไรกับสามี เจสสิกาพยายามจะขอยานอนหลับจากหมอแต่กลับถูกเตือนว่าเธอมีแนวโน้มจะติดยานอนหลับ หมอจึงเสนอใบปลิวพระเยซูให้แทน นี่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อแบบเอกเทวนิยมผสมผสานได้เป็นอย่างดีกับการแพทย์สมัยใหม่และวิทยาศาสตร์
“ขรัวอินโข่ง ใช้เส้นขอบฟ้าและจุดสุดสายตา เติมเงา ความมืดตามลำต้นไม้ เป็นศิลปินเรียลลิสต์คนแรกที่ไม่แพ้ฝรั่ง” ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History อภิชาติพงศ์สนใจการวาดรูปของขรัวอินโข่ง ผู้ผสานการวาดรูปแบบจิตรกรรมตามประเพณีเข้ากับการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพ (perspective) ผลงานทำให้เกิดภาพแบบสามมิติ ทำให้มีระยะใกล้-ไกล
การปรับเปลี่ยนศิลปะในราชสำนักของรัชสมัยพระจอมเกล้ามีสาเหตุจากความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์ และถูกมิชชันนารีโจมตีคำสอนของพุทธ จนนำไปสู่การก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นโดยมีการนำความคิดจากโลกตะวันตกเข้ามาตีความพระไตรปิฏก ให้เป็นเหตุเป็นผล และไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์
ในทางหนึ่ง การผสมกันของเอเลี่ยนหรือสิ่งอื่นจากภายนอกเข้ากับภายในอาจถูกฉวยใช้เป็นตัวช่วยในการต่อรองทางอำนาจของอำนาจองค์อธิปัตย์ การถ่ายเทระหว่างภายนอกกับภายในที่อาจทำให้เรามองเห็นมิติที่ทับซ้อนแต่ก็ลวงตาเราได้พร้อมๆ กันเหมือน “มายากลของประวัติศาสตร์องคชาติไทยชูชัน.” และมันอาจเหมือนมายากลสีธงชาติไทยที่เจสสิกาเล่นให้ แอ็กเนส นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสดู
จุดลับตาหรือจุดรวมสายตากลายเป็นจุดที่ทั้งทำให้เราเห็นและไม่เห็น เหมือนเมืองที่ทั้งมีมนต์เสน่ห์และมีประวัติศาสตร์บาดแผลซ่อนอยู่ ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History จุดรวมสายตาของฉากลิเกหมอลำคณะ “ซี้น 2 ต่อน” ถูกปิดทับและโจมตีด้วยภาพ “การฉีกกรอบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ สู่ธรรมชาติอันแสนสุข” โดย ณฐนน แสนจิตต์ จุดรวมสายตาที่เคยเป็นบันลังก์ตั่งทอง เป็นจุดที่แสงเรืองรองขึ้นเมื่อมีเสียงวัตถุกระแทกในภาคแรก ตอนนี้ถูกปิดทับด้วยภาพของศิลปินรุ่นใหม่
นอกจากนี้ผลงานของขรัวอินโข่งที่โด่งดังคือภาพดอกบัวขนาดยักษ์ที่อยู่กลางบึง ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากกำลังชื่นชมอยู่ริมบึง สื่ออุปมาอุปไมย เปรียบเทียบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยให้พระพุทธเจ้าเปรียบเป็น “ดอกบัวยักษ์” พระธรรมเปรียบดั่งน้ำหวานหรือกลิ่นหอมของดอกบัว และพระสงฆ์เปรียบเป็นคนหรือแมลงที่มาชื่นชมดอกบัว อีกทั้งยังมีความหมายซ่อนไว้เป็นการพูดถึงยุคภูมิธรรมที่เกิดขึ้นในตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย
โดยภาพดอกบัวยักษ์ดังกล่าวนี้ น่าจะสื่อถึงดอกบัวขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษค้นพบจากทวีปอเมริกาใต้ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงในอังกฤษจนประสบผลสำเร็จ เป็นที่ตื่นเต้นให้แก่ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก และได้มีการตั้งชื่อดอกบัวชนิดนี้ว่า “Victoria” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นการสื่อว่า อำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิอังกฤษที่ยิ่งใหญ่เหนือชาติใดๆ ในเวลานั้น8
จากดอกบัวของขรัวอินโข่งที่เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพระหว่างอังกฤษและสยามผ่านสนธิสัญญาเบาริ่งซึ่งนำความมั่งคั่งอย่างมหาศาลสู่ราชวงศ์และเป็นการนำสยามเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกผ่านการล่าอาณานิคมภายใน ในนิทรรศการภาคสองของ A Minor History ยังมีผลงานชื่อ Thep Nelumbo Nucifera ของ Methagod ซึ่งพูดถึงบัวที่โผล่จากเหง้าใต้ดิน หลังจากแตกอยู่ในสภาวะพักตัวและสามารถให้กำเนิดต้นอ่อนใหม่ได้ งานชิ้นนี้ความอมตะและการฟื้นตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนของประเทศไทยในช่วง ค.ศ.2020-2021
วัตถุทรงกลม จุดสีขาว ผลไม้ปริศนา จากครูดอกฟ้าและเด็กชายพิการ ถึงกล้วยไม้ที่รากำลังกัดกิน
ความสัมพันธ์ระหว่างดอกบัวกับแมลงจึงมีมิติของเรื่องเล่าที่ถูกไม่ให้เล่าและเรื่องเล่าที่ถูกชวนเชื่อซึ่งซ้อนเหลื่อมให้เราเห็นบางมุม ความสัมพันธ์ระหว่างดอกบัวกับแมลงจึงเป็นเสมือนวงกลมหรือวัตถุทรงกลมที่อยู่ในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ นับตั้งแต่ Mysterious Object at Noon (2000) วัตถุทรงกลมที่ส่งทอดเรื่องเล่าของเด็กชายพิการและครูดอกฟ้า วัตถุทรงกลมประหลาดหลุดออกมาจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้า กลายเป็นเด็กอีกคนที่เอาศพครูดอกฟ้าไปซ่อนในตู้เสื้อผ้า
วัตถุทรงกลมปริศนาที่ส่งทอดเรื่องเล่าจากเหนือจรดใต้ไปยังเกาะปันหยี กลุ่มเด็กนักเรียนเล่าเรื่อง “มนุษย์ต่างดาวจะเก็บดอกไม้ เสือจะมาฆ่ามนุษย์ต่างดาว แต่ครูดอกฟ้ากลับถูกเสื้ออีกตัวฆ่าตายเพราะมาเก็บดอกไม้ แฟนครูดอกฟ้ากลายเป็นคนพิการ และต้องการแก้แค้น แต่สุดท้ายก็ถูกมนุษย์ต่างดาวฆ่า” วัตถุทรงกลมนี้เองที่เราเห็นในนิทรรศการตั้งแต่ดวงอาทิตย์ที่กลมแดงสุกสว่าง หรืออาจะเป็นเครื่องหมายมหัพภาค จุดสีขาวหลังข้อความบนพื้นผ้าสีขาวที่เล่าความทรงจำของอภิชาติพงศ์ และคนอื่นๆ
หรืออาจเป็นวงกลมที่อยู่คู่รูปเจสสิกานอนตะแคงข้าง หรือาจเป็นวงกลมรูปไข่ของรูฟอราเมน แมกนัม และรูบนกระโหลกที่ถูกทุบแตก รูปกระโหลกที่ตั้งคู่กับรูปแอร์นันนั่งหันหลัง แบบเดียวกับหญิงสาวที่นั่งในห้องรับสัญญาณวิทยุที่เล่าเรื่องแผ่นดินไหวจากภูเขาไฟระเบิด และเรื่องการขุดค้นพบกระดูกในโครงการรัฐบาลและสารพิษปนเปื้อนลงแม่น้ำ
รูฟอราเมน แมกนัมเป็นจุดแบ่งภายนอกภายในกระโหลก เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างก้านสมองส่วนปลายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจและเป็นระบบประสาทที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ กับเส้นประสาทไขสันหลัง รูและวงกลมยังพบในนิทรรศการภาคสอง ที่นอกจากจุดสีขาวคั่นข้อความ มันอาจเป็นน้ำอสุจิที่ถะถังหลั่งรินบนซากซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มันอาจเป็นจุดสีขาวตรงใจกลางสมองบนภาพวาดที่ไม่มีชื่อ จุดที่เป็นตำแหน่งของธาลามัสซึ่งเป็นจุดรับและส่งสัญญาณไปแปลผลที่สมองส่วนหน้าและส่วนอื่นๆ หรืออาจเป็นรูทวาร รูช่องคลอด ปาก และหู เป็นช่องของความปรารถนา การกำเนิด และความตาย
การเผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาวบนเกาะปันหยีจนถึงยานอวกาศดวงตาสีฟ้า
วงกลมสีขาวยังอาจพบในตอนท้ายเมื่อยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวพ่นคล้ายการถึงจุดสุดยอดก่อนจะทะยานหายไปในกลีบเมฆ ยาวอวกาศอาจหน้าตาคล้ายมะละกอ กริช หรือองคชาติ การปรากฎของยานอวกาศในตอนท้ายเสมือนการเผชิญหน้ากับเอเลี่ยนที่ถือเป็นทั้งภัยคุกคามและความหวังเหมือนในนิยายกึ่งวิทยาศาสตร์ การประจันหน้ากับเอเลี่ยนนี่เองที่เป็นทั้งการบุกรุกที่กำลังมาถึง การยึดครอง หรือควบคุม เป็นความหวังของการผจญภัย การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม หรือการแลกเปลี่ยน เช่น ภาพยนตร์ในทศวรรษ 1980 เรื่อง E.T. ของ Steven Spielberg ที่ทำให้เราครุ่นคิดว่าการเจอกับเอเลี่ยนเป็นสมดุลที่ไม่แน่นอนระหว่างความแปลกและความคุ้นเคย การเผชิญหน้ากับเอเลี่ยนเต็มไปด้วยความรู้สึกระแวง สงสัย ตื่นเต้น ตื่นกลัว และความสุขสันต์
การปรากฎของยานอวกาศยังชวนให้เราคิดถึงการนำเสนอเอเลี่ยนในวัฒนธรรมประชานิยมที่แยกไม่ขาดจากการวาดภาพตามหลักทัศนียภาพที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงความจริงซึ่งมีภววิทยาที่หลากหลายบนมิติทับซ้อน ตรงกับที่ Sara Ahmed (2000) นักวิชาการด้านเควียร์ศึกษา เสนอว่า “สิ่งที่พ้นเกินขีดจำกัด” มักจะกลายเป็นทาสของการสร้างภาพแทน สิ่งที่พ้นเกินภาพแทนก็มักจะถูกนำเสนออย่างล้นเกินในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอเลี่ยนและมนุษย์ เช่น เราจะแยกระหว่างมนุษย์กับเอเลี่ยนได้อย่างไร เอเลี่ยนจึงมิใช่แค่สิ่งที่เราไม่สามารถระบุได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่เราได้ระบุไปแล้วว่าเป็น “เอเลี่ยน” เอเลี่ยนเป็นรูปรวมของสิ่งที่พ้นเกินมนุษย์ เอเลี่ยนกลายเป็นสิ่งไสยศาสตร์หรือสิ่งที่เรามีอารมณ์ทางเพศด้วย มันกลายเป็นสิ่งนามธรรมจากความสัมพันธ์ที่อนุญาตให้มันปรากฎในปัจจุบัน และปรากฎอีกครั้งไม่ว่าเราจะมองไปที่ใดก็ตาม กล่าวคือเมื่อเราเห็นเอเลี่ยนแล้ว เราจะเห็นเอเลี่ยนไปในทุกที่
Ahmed (2000) ยังบอกอีกว่า การต้อนรับขับสู้ (hospitality) เอเลี่ยนอาจทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ และอาจทำให้เรากลายเป็นเอเลี่ยน เพื่อจะได้เข้าสู่โลกของเอเลี่ยนที่ไม่คุ้นเคยสำหรับมนุษย์ นี่อาจเป็นการทำความเข้าใจภาพยนตร์ Close Encounters of the Third Kind (1977) ซึ่งการแปลรหัสภาษาเอเลี่ยนอย่างเรียบง่ายด้วยทำนองของดนตรี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์และเอเลี่ยน ในรูปแบบของการค้าขายชิ้นส่วนของเรือนร่างมนุษย์ที่ถูกขโมยไปเพื่อที่จะได้เข้าสู่โลกของเอเลี่ยน ความเสี่ยงของความสัมพันธ์ที่รวนเรไม่แน่นอนเช่นนี้ คือไม่ว่าเอเลี่ยนจะถูกนำเสนอว่าเป็นสิ่งแย่หรือดี พ้นหรืออยู่ภายในมนุษย์ แต่ความสัมพันธ์มันสร้างหรือให้ความหมายของขอบเขตของสิ่งที่เราอยู่ในความใกล้เคียงอย่างมาก อยู่ในความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ระหว่างเมือกของเอเลี่ยนและผิวหนังมนุษย์10
Memoria จึงเป็นเรื่องของการสร้างความรู้สึกของการกลับบ้านผ่านการสร้างเขตแดนของพื้นที่ของการเป็นส่วนหนึ่งแบบใหม่ขึ้น ความสำคัญจึงมิใช่อยู่ที่ว่ามีเอเลี่ยนจริงหรือไม่ และหน้าตาเป็นอย่างในภาพยนตร์ และใครเป็นเอเลี่ยน ลิงหอนมีหน้าตาอย่างไร ใบหน้าของเจสสิกาตอนได้ยินเสียงระเบิดที่จำลองจากเสียง “วัตถุถูกห่อผ้าแล้วทุบ” เป็นอย่างไร ใบหน้าของนายทหารชั้นผู้น้อยผู้เฝ้ารอการมาของศัตรูที่ไม่มีจริงจะเป็นอย่างไร น้ำสมุนไพรที่แอร์นันผสมให้เจสสิกาดื่มจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ผลทรงกลมที่แอร์นันบอกว่า “นั่นเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ผมชอบที่สุด” นั้นเป็นผลของอะไร เป็นสิ่งที่เดียวกับที่หลุดออกมาจากกระเป๋ากระโปรงครูดอกฟ้าหรือไม่ สุนัขตัวนั้นเดินตามเจสสิกาหรือไม่ และทำไม มันคือวิญญาณสุนัขที่ตามล้างแค้นเธอแล้วน้องสาวหรือไม่ เลือดที่อยู่หน้าบ้านของเธอในวันที่ฝนตกเป็นเลือดของอะไร แอร์นันวัยหนุ่มคือใครและหายไปไหน เจสสิกาหายไปไหนในท้ายเรื่อง แล้วแอร์นันวัยกลางคนที่นั่งอย่างโดดเดี่ยวหน้าบ้าน ใบหน้าของเขากระตุกและดูจะได้ยินเสียงอะไรบางอย่างจากหูข้างซ้าย มันคือเสียงเดียวกันกับบทเพลงที่แอร์นันวัยหนุ่มไปมิกซ์มาให้เจสสิกาฟังหรือไม่ หรือใบหน้าของทหารชั้นผู้น้อยที่หันหลังให้กับกล้องเป็นอย่างไร
หากความสำคัญอยู่ที่ทวงท่าของความก้ำกึ่ง ไม่แน่นอน และไม่หยุดนิ่ง อย่างถึงที่สุดท่วงท่าของเอเลี่ยนคือการหลั่งไหลของอดีตที่ล้นทะลักสู่ปัจจุบันเหมือนระบบประสาทอัตโนมัติที่หลุดพ้นจากการควบคุมด้วยสมองส่วนหน้า อดีตที่จู่ๆ ก็โผล่มาแบบไม่ตั้งตัว อดีตที่บ้างมาเป็นเสียงและการสั่นไหวผ่านการสัมผัสผ่านผิวหนัง บ้างมาเป็นน้ำเมือกของการร่วมรัก วัตถุทรงกลมจึงเป็นเอเลี่ยน เอเลี่ยนจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง เรื่องเล่าและสารคดี ความเป็นและความตาย ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าหน้าตาเอเลี่ยนเป็นอย่างไรเพราะเราจะมีภาพจำของเอเลี่ยนอยู่ในหัวอยู่แล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะรู้หรือไม่ว่าเราได้มีภาพจำเอเลี่ยนแบบสำเร็จรูปไปเสียแล้ว คำถามคือว่า เราจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเอเลี่ยน เสียงปริศนา ความตาย ความรัก การสั่นสะเทือนของโลก น้ำตาของท้องฟ้า และความจริงแบบอื่นๆ อย่างไรต่างหาก
จุดและรู ตัวกลางระหว่างภายนอกและภายใน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความจริงแบบอื่นๆ
เสียงวิทยุทำหน้าที่คล้ายกับเสียงฝนตก หรือเสียงหึ่งจากปีกแมลงวัน แมลงวันที่ไปเกาะร่างของแอร์นัน หรือแมลงวันที่ตอมซากปลา ปลาที่อาจติดเชื้อจากสายน้ำที่เป็นพิษ ท่าทางของแมลงเมื่อไปเกาะแอร์นันก็ขนเอาสัญญาณของความตายหรือเนื่อเปื่อยของสิ่งที่ถูกเกาะไปด้วย นี่จึงเป็นเรื่องของคลื่นและการรับคลื่นหรือแปลความสัญญาณ การแปลที่แปลได้บางส่วน การแปลคือผลผลิตจากการเปิดผัสสะของผู้แปล วงกลมจึงเป็นรูรั่วของภาพความเป็นมนุษย์ที่งดงามและยิ่งใหญ่ เป็นจุดสีขาวบนภาพเฉลิมฉลองสมมติเทพ เป็นผ้าสีขาวที่คลุมอนุสาวรีย์สฤษฎิ์ วงกลมจึงเป็นเอเลี่ยน เป็นการเปลี่ยนผ่านไปเป็นสิ่งอื่นที่มากไปกว่าความจริงที่เรารับรู้
วงกลมของเม็ดยานอนหลับ มันอาจเป็นลอราซีแพมหรืออาจเป็นซาแนกซ์ มันอาจเป็นยาพาราที่ใครสักคนที่ “ทานยาพาราหมดขวด” เพื่อหวังจากโลกนี้ไป โลกที่ไม่น่าอยู่และอยุติธรรม หรือมันอาจเป็นยาบ้าที่ทหารค้าขายให้ในขณะเดียวกันก็ทำสงครามกับกองกำลังฝ่ายซ้าย จุดหรือวงกลม จุดที่ใน A Minor History, Part Two: Beautiful Things ล้อเล่นกับคำว่า จุติ ที่แปลว่ากำเนิด มันอาจเป็นการเกิดใหม่ชั่วนิรันดร์ของดอกบัวแห่งความหวังเพื่อต่อต้านดอกไม้ที่ถูกฟูมฟักโดมเจ้าอาณานิคม ราวกับเป็น “การเกิดใหม่ของลายสัก เครื่องหมายสวัสติกะให้กลายเป็นมังกรเหมือนพญานาคน้อย” หรือมันอาจเป็นการระลึกชาติ
การไม่หยุดนิ่งของวัตถุทรงกลมปริศนา แรงสั่นไหวที่ไม่อาจระบุพิกัด เอเลี่ยน ผีดิบ ธาลามัส ช่องสังวาส คนระลึกชาติ และคนที่จดจำรับสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างล้นเกิน จึงเป็นชุมชนของการกลับมาสนใจป่าและเรื่องเล่าในชนบท สนใจเสียงร้องจากรถยนต์ ไฟดับที่ไม่ใครสนใจ ไฟที่ดับในห้องสมุด และแกลเลอรีภาพวาดประวัติศาสตร์บาดแผลของอเมริกาใต้
วงกลมเป็นการเคลื่อนผ่านไปมาระหว่างที่มืดและสว่าง ราวกับไฟที่ดับลงในส่วนพิพิธภัณฑ์ขณะที่เจสสิกาเดินชม พิพิธภัณฑ์ที่มีภาพของชายหนุ่มและมัดกล้ามของเขากับป้ายคำว่า “สวนสาธารณะ” การดับของไฟในส่วนชายหนุ่ม เผยให้เห็นอีกภาพซึ่งเป็นแสงไฟที่ส่องลงจากท้องฟ้ามาที่คนข้างล่าง ราวกับการจ้องมองจากพระเจ้าที่กำลังพิพากษา เช่นเดียวกับแสงไฟที่ส่องขึ้นฉายท้องพระโรงที่ว่างเปล่าพร้อมกับเสียงวัตถุกระแทกใน A Minor History ภาคหนึ่ง ไฟดับเป็นการเผยให้เห็นความจริงอีกหลากหลาย ที่ถูกปิดบังด้วยความจริงที่แสร้งว่ายิ่งใหญ่กว่าความจริงอื่นๆ
ดังนั้นแล้ว เสียงระเบิดในหัวของเจสสิกาหายไป หรือแม้แต่ตัวเธอที่อาจหายไปกลายเป็นคลื่นและแรงสั่นไหว อาจเป็นเพราะเธอเดินทางไปในพื้นที่ชนบทและสัมผัสเรื่องเล่าพื้นถิ่น ราวกับว่าการรับรู้ความจริงแบบอื่นๆ มิอาจเพียงแค่ผ่านการท่องเที่ยวในเมืองใหญ่หรือพิพิธภัณฑ์ ดังข้อความ “ฉันชอบดูธรรมชาติมากกว่าการดูภาพใดใดในพิพิธภัณฑ์ ส่วนฉันชอบดูผู้ชายในชุดมอเตอร์ไซค์วิบาก” ซึ่งอภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจจากกฤษณมูรติ
การนอนหลับของแอร์นัน? และความตายในทัศนะของกฤษณมูรติ
ในฉากที่น่าสนใจคือเจสสิกาดูแอร์นันนอนหลับ การนอนหลับของแอร์นันที่ตายังเปิดอยู่ นี่ทำให้ความเป็น ความตายและการนอนหลับอยู่ในระนาบเดียวกัน การนอนหลับที่ตาไม่กระตุกของแอร์นันราวกับว่าเขาหลับลงไปถึงระยะ N3 หรือเป็นการหลับที่ไม่ฝัน ซึ่งผ่อนคลายอย่างถึงที่สุดและเป็นระยะที่ร่างกายจะซ่อมแซมตนเอง เมื่อเทียบกับเจสสิกาที่การหลับของเธอยังอาจไม่ลงไปถึง N3 ได้ หากการพักผ่อนที่เราต้องการคือการหลับแบบไม่ฝัน แต่การฝันก็เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา
ในทางหนึ่ง เจสสิกาจ้องมองการกึ่งนอนกึ่งตายของแอร์นันดูจะเป็นการต่อต้านอสุภกรรมฐานแบบพุทธเถรวาท และท้าทายการปิดกันเวลาแบบพุทธ อสุภกรรมฐานเป็นการสั่งสอนให้ลดความปรารถนาและการยึดติดโดยมักใช้เรือนร่างของเพศหญิงเป็นตัวอย่างของความไม่จีรังของมนุษย์
อภิชาติพงศ์ยังสนใจการมองความตายของกฤษณมูรติ ที่ไม่เสนอสูตรสำเร็จในการทำความเข้าใจความตาย และปฏิเสธความคิดกระแสหลักที่มองความตายอย่างคับแคบ เช่น วิทยาศาสตร์สสารนิยมซึ่งมองความตายว่าเป็นการสิ้นสุดของกระบวนการทางธรรมชาติ ส่วนจิตนิยมซึ่งเป็นพวกสารัตถะนิยมที่เชื่อว่ามนุษย์มีจิตเป็นแก่นสาร และมองว่าความตายเป็นการเปลี่ยนผ่านของจิต และมองว่าจิตเป็นสิ่งที่แยกจากร่างกาย รวมไปถึงพุทธเถรวาทที่มองว่าความตายเป็นเรื่องของบุญกรรมและวัฏสังสารที่เราต้องยอมจำนน
กฤษณมูรติชี้ให้เห็นว่าความตายเป็น “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowns)” ต่อให้เราจะนิยามความหมายตายตัว แต่ความตายก็ยังเป็นสิ่งใหม่ ในแง่ของการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะ ปัจจุบันคือความใหม่ตลอดเวลา ไร้ความสืบเนื่อง และการสิ้นสุดของความปรารถนาที่หมกมุ่นอยู่กับตัวตน ความตายจึงอยู่ในฐานะของการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ความตายเป็นความหมายเดียวกับการใช้ชีวิต13
กฤษณมูรติชี้ให้เห็นว่าความตายเป็น “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowns)” ต่อให้เราจะนิยามความหมายตายตัว แต่ความตายก็ยังเป็นสิ่งใหม่ ในแง่ของการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะ ปัจจุบันคือความใหม่ตลอดเวลา ไร้ความสืบเนื่อง และการสิ้นสุดของความปรารถนาที่หมกมุ่นอยู่กับตัวตน ความตายจึงอยู่ในฐานะของการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ความตายเป็นความหมายเดียวกับการใช้ชีวิต
การรับรู้ความตายจะผ่านประสบการณ์โดยตรง ไม่มีความคิดมาครอบงำ การเข้าใจความตายคือการเข้าถึงความจริง ด้วยการใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยม รับรู้อย่างทันทีทันใด และตระหนักรู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการเลือก การรับรู้ความตายคล้ายกับการทำสมาธิ การจะเข้าถึงความตายต้องเป็นอิสระจากความคิดที่มีอิทธิพลทำให้เรามีท่าทีต่อความตาย เมื่อไม่ถูกครอบงำด้วยความคิดจะก่อให้เกิดการรับรู้ความจริงและความรัก เพราะสำหรับ กฤษณมูรติมองว่า ความรัก ความตาย และความจริงเป็นเอกภาพเดียวกันที่ปรากฏทุกขณะของชีวิต ซึ่งทำให้เกิดสภาวะใหม่อยู่ตลอดเวลา (transformation) และเป็นการตายจากความสืบเนื่องที่เป็นตัวตนทุกรูปแบบและมีผลต่อปรากฏการณ์ทางสังคม13
นอกจากนี้ กฤษณมูรติ ยังเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ความจริง โดยมองว่ามนุษย์สร้างโลกขึ้นมาโดยมีตัวตนและการรับรู้สิ่งต่างๆ จากประสาทสัมผัสที่ถูกปิดบัง
มนุษย์สร้างโลกขึ้นมาโดยมีตัวตนและการรับรู้สิ่งต่างๆ จากประสาทสัมผัสที่ถูกปิดบัง ซึ่งชวนให้นึกถึงมายากลของการเขียนภาพแบบตะวันตกตามหลักทัศนียภาพ (perspective) ซึ่งทำให้เห็นความจริงที่หลากหลายและลวงตาไปพร้อมๆ กัน การเข้าถึงความจริงของกฤษณมูรติจึงคล้ายกับการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้และแมลง เหมือนเอเลี่ยน ผีดิบและมนุษย์ที่สื่อสารกันด้วยเมือกและผิวหนัง เหมือนฟ้าและผืนป่าที่สื่อสารกันด้วยฝนและสายฟ้า เหมือนผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างใช้กางเกงยีนส์ เหมือนแมลงวันที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและความตาย เหมือนดนตรีและศิลปะที่เป็นจุดเชื่อมต่อของวัฒนธรรมตะวันตกกับประเทศหลังอาณานิคม การสื่อสารจึงเป็นเรื่องของการหาสมดุลของสารเคมีในระบบการทรงตัว
สมดุลระหว่างสรรพสิ่ง จักรวาล โลก และสมอง
“เป็นจุดที่นักขี่รถวิบากชอบเพราะมันท้าทายการทรงตัวถ้าหมุนล้อผิดองศาแรงเหวี่ยงจะกระชากให้ล้มได้”
Memoria เสนอให้เราเห็นถึงสมดุลระหว่างความเป็นความตายที่บ่อนเซาะความสถาพรของร่างกษัตริย์และอำนาจองค์อธิปัตย์ การโอบรับความตายและเงี่ยฟังสุ้มเสียงที่หล่นหาย สัมผัสจุดสมดุลของการเคลื่อนที่ศีรษะในแนวตั้งและแนวราบ ระหว่างระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ระหว่างสมองส่วนหน้า ลิมบิก และสมองส่วนอื่นๆ ระหว่างการตื่นและการนอน ระหว่างฟ้ากับผืนดินและก้อนหิน ระหว่างผึ้งกับแมลง และระหว่างการหลับลึกและหลับฝัน
จุดสมดุลจึงเป็นการถ่ายเทของภายนอกภายใน ซึ่งตั้งคำถามกับการลุ่มหลงในตนเอง จุดนี้เองยังเป็นจุดแห่งศักยภาพของการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ราวกับเป็นจุดที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นเป็นอนันต์ (Singularity) ก่อนจะเกิดการขยายตัว หรือ การระเบิดออกอย่างรวดเร็วและรุนแรง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเอกภพ สสาร และพลังงาน รวมถึงที่ว่างและกาลเวลา ส่งสสารและพลังงานไปในห้วงอวกาศ ให้กำเนิดดวงดาวและกาแล็กซี จนเป็นจักรวาล
หลังจากเจสสิกาสัมผัสแอร์นัน รับเสียงสุดท้ายจนเพียงพอ เธอนั่งเงียบงัน ก่อนจะเดินไปเปิดหน้าต่างที่คล้ายกับหน้าต่างในห้องที่เธอจ้องมองในความมืดที่เป็นเหมือนกรงขังเธอไว้ในบ้านของแคเรน น้องสาวของเธอ เธอเปิดมันออกเพื่อฟังเสียงด้วยหูข้างขวา เสียงภายนอกและสายลม ภาพต่อมาคือป่าดงดิบและยานอวกาศที่อาจคล้ายยานอวกาศที่นาบัวในโครงการ Primitive (2009) ซึ่งเหมือนนกฮูกผู้มองเห็นในความมืดมิด ยานอวกาศเคลื่อนไปมาระหว่างฟ้าและผืนดิน ยานอวกาศที่ให้ความรู้สึกต่างจากการมาของเอเลี่ยนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ราวกับการมาของพระเจ้าเพื่อพิพากษา ยานอวกาศใน Memoria กลับไม่ต่างจากคลื่นวิทยุ ฝน หรือแมลงวันที่เคลื่อนไปมาระหว่างฟ้าและผืนดิน ระหว่างความเป็นและความตาย ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่นอกเหนือจากมนุษย์ เช่นเดียวกับกิจกรรมความรักระหว่างแมลงและกล้วยไม้
ภาพยนตร์จบลงด้วยภาพสารคดีของเมืองเล็กๆ ที่ไม่อาจทราบได้ว่าช่วงเช้าหรือตอนเย็น ภูมิทัศน์ของเทือกเขาลำเนาไพรคล้ายกับกลีบสมอง เมฆฝนกำลังก่อตัว ภาพสุดท้ายปรากฎเป็นหมู่มวลก้อนเมฆหนาตัวทางด้านซ้ายเหนือภูเขา ด้านขวาของภาพเป็นบ้านเรือนไม่กี่หลังคาเรือน และตรงกลางเป็นต้นไม้ที่ยอดมันหักอาจถูกฟ้าผ่าหรือเพราะแรงลม ภาพจบลงตรงนั้น ความมืดปกคลุม ผู้ชมได้ยินเพียงเสียงของฝนที่ค่อยๆ หลั่งไหลและฟ้าคะนองนานอยู่สักพัก ฝนค่อยซาลง เสียงมอเตอร์ไซค์ของใครสักคนขับ และจบที่เสียงใครสักคนกดปิดการอัดเสียง ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับมือของอภิชาติพงศ์ปัดแมลงบนเตียงนอนของเขาหลังจากที่พวกมันมาชุมนุมกันใน Night Colonies (2021)
ภาพสุดท้ายจึงชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ของผืนป่าและท้องฟ้า ระหว่างสารคดีและเรื่องแต่ง ระหว่างฝันกับตื่น ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ เป็นภาพของสมดุลของสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวและสร้างแรงสั่นสะเทือนของตนเอง ราวกับว่า Memoria เป็นวงกลมของการพาเราข้ามมิติไปสู่พื้นที่ของการกลายเป็นสิ่งอื่นๆ สลายเส้นขอบเขตและสร้างขอบเขตแบบใหม่อย่างไหลหลั่งตลอดเวลา เป็นวงกลมหรือหลุมดำในจักรวาล เป็นปลายเปิดของความจริงอีกอนันต์ที่พร้อมจะดูดเราเข้าไปอยู่เสมอ ปลายเปิดที่อาจดึงเราเข้าไปสู่ความทรงจำมหาศาลของสรรพสิ่งที่ทั้งเจ็บปวด สยดสยอง รักโรแมนติก หรือน่าตลกขบขัน ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบ สะทกสะท้อนเลือนลั่นสั่นสะเทือนหากัน ราวกับเป็นโรคระบาดในเขตร้อนชื้น หรือเป็นเชื้อราที่กันกินกล้วยไม้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ริม นาบัว หรือ Pijao และที่อื่นๆ Memoria จึงเป็นเวลาและพื้นที่ที่เราได้เข้าไปปรับจูนเสียง (attune) เข้ากับโลกและจักรวาลที่เราช่างเป็นสิ่งเล็กน้อยเสียเหลือเกิน
ขอขอบคุณ นพ.กฤตนัย ธีรธรรมธาดา แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโสตประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับโสตประสาทวิทยาในบทความนี้