1) เทศกาลและองค์กรนานาชาติกว่า 100 แห่งลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงยูเครนและเพื่อนร่วมวงการหนัง โดยใจความสำคัญคือ ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่าเป็น “การทำสงครามที่เลวร้าย”, เรียกร้องให้ประชาคมโลกตอบโต้ต่อการรุกรานนี้อย่างจริงจัง, ยืนยันสนับสนุนนักข่าว คนทำหนัง ศิลปินชาวยูเครน และประกาศว่าขอยืนเคียงข้างชาวรัสเซียจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองของปูติน(ดูรายชื่อองค์กรที่ร่วมลงนามได้ที่นี่)
2) เทศกาลหนังสตอกโฮล์ม (Stockholm Film Festival) ประกาศแบนหนังทุกเรื่องที่สร้างด้วยทุนจากรัฐบาลรัสเซีย ไม่ให้เข้าฉายในเทศกาลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9-20 พ.ย. ปีนี้ ด้วยเหตุผลว่า “เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของรัสเซียเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” ขณะเดียวกัน เทศกาลปีนี้ก็จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อวงการหนังยูเครน รวมทั้งจะเชิญ Oleg Sentsov ผู้กำกับชาวยูเครนไปร่วมงานด้วย (บังเอิญว่าเขาชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีที่แล้วจากหนังเรื่อง Rhino พอดี แต่ตอนนั้นไม่ได้ไปงานเพราะสถานการณ์โควิด-19) โดย Sentsov ซึ่งกำลังร่วมรบอยู่ในแนวหน้า ได้ตอบรับแล้วว่าจะไปแน่นอนหากประเทศของเขาได้รับชัยชนะ
3) เทศกาลหนังกลาสโกว์ (Glasgow Film Festival) ซึ่งจะมีช่วงวันที่ 2-13 มี.ค. นี้ ประกาศถอนชื่อหนังรัสเซียออกจากโปรแกรม 2 เรื่องคือ No Look Back ของ Kirill Sokolov และ The Execution ของ Lado Kvataniya
4) งาน Series Mania (เทศกาลอุตสาหกรรมรายการโทรทัศน์) ของฝรั่งเศสซึ่งจะมีช่วงวันที่ 18-25 มี.ค.นี้ ก็ประกาศตัดสิทธิ์ไม่ให้ Roskino (หน่วยงานส่งเสริมหนังและโทรทัศน์ของรัสเซีย) เข้าร่วมงาน โดยไดเร็กเตอร์ของงานบอกว่า “เราไม่สามารถต้อนรับหน่วยงานทางการของรัสเซียได้ในขณะนี้”
5) ค่ายหนังในฮอลลีวู้ดร่วมงดการฉายหนังในรัสเซียเริ่มจากดิสนีย์ที่แถลงว่าจะหยุดการนำหนังใหม่ของทางค่ายไปเปิดตัวในรัสเซีย (หนึ่งในนั้นคือ Turning Red หนังใหม่ของพิกซาร์) รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่เหล่าผู้ลี้ภัยจากยูเครน, ตามด้วยค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สที่ตอนแรกไม่มีแผนจะถอด Batman ออกจากโปรแกรม 3 มี.ค.ในรัสเซีย ก็ตัดสินใจประกาศงดฉายไปแล้ว และล่าสุดคือค่ายโซนี่ที่แถลงว่าจะงดการนำหนังของค่าย (เช่น Morbius) เข้าฉายที่นั่นเช่นกันขณะที่นักแสดงชื่อดังระดับตำนานอย่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร ก็ออกมาประณามสงครามครั้งนี้โดยกล่าวว่า การรุกรานนี้เป็นเรื่องที่ผิด และคนเราต้องกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นบอกว่ามันเป็นสิ่งผิดนอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า Netflix ปฏิเสธไม่ยอมเพิ่มโปรแกรมรายการชวนเชื่อในรัสเซียด้วย โดยตามกฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่ในรัสเซียกำหนดว่าตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ Netflix จะต้องนำเนื้อหาจากช่องทีวีรัสเซียคือ ช่อง One, เครือข่าย NTV และช่อง Russian Orthodox Church ไปอยู่ในโปรแกรม แต่หลังเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน Netflix ก็แสดงอาการขัดขืนเล็กๆ ด้วยการประกาศว่าจะไม่ยอมเผยแพร่รายการชวนเชื่อท้องถิ่นเหล่านั้น
6) คนทำหนังรัสเซียลงนามเรียกร้องให้ยุติการรุกรานยูเครนผู้กำกับ นักแสดง และนักวิจารณ์หนังร่วมกันลงนามประณามปฏิบัติการของปูตินว่า “เป็นการกระทำที่น่าละอาย”, “เราไม่ต้องการให้ลูกหลานของเราอาศัยอยู่ในประเทศที่รุกรานรัฐอิสระใกล้เคียง เราขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวรัสเซียปฏิเสธสงครามนี้” และ “เราไม่เชื่อคำกล่าวของวลาดิมีร์ ปูตินที่ว่า ประชาชนยูเครนอยู่ภายใต้การปกครองของ ‘นาซี’ และจำเป็นต้องถูกพวกเราเข้าไป ‘ปลดปล่อย'”ตัวอย่างของคนวงการหนังรัสเซียที่ลงนาม มีอาทิ Vitaly Mansky, Vladimir Mirzoev, Ilya Khrzhanovskiy, Chulpan Khamatova, Ksenija Rappoport, Ivan Vyrypaev, Tofig Shahverdiev, Andrey Smirnov, Anton Dolin
7) ปิดท้ายด้วยข่าวของ Sergey Loznitsa หนึ่งในคนทำหนังที่ได้รับการยกย่องบนเวทีโลกมากที่สุดของยูเครน (เขาคว้ารางวัลกำกับยอดเยี่ยมสาย Un Certain Regard ในคานส์จาก Donbass หนังปี 2018 ว่าด้วยพื้นที่ในยูเครนตะวันออกที่ถูกรัสเซียยึดครอง และรางวัล Golden Eye – Special Mention จากคานส์เช่นกัน ด้วยงานเรื่อง Babi Yar. Context สารคดีปี 2021 ซึ่งตรวจสอบการสังหารหมู่ชาวยิว 30,000 คนของนาซีในช่วงเวลาสามวันในยูเครนเมื่อเดือนกันยายน 1941)โดย Loznitsa ประกาศลาออกจาก European Film Academy (EFA) เพื่อประท้วงที่ทางสถาบันแสดงท่าทีหน่อมแน้มต่อสงครามครั้งนี้ “พวกคุณเขียนแถลงการณ์ด้วยคำอย่าง ‘เรากังวลใจมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้น’ ทั้งที่สงครามเกิดมาแล้วสี่วัน บ้านเมืองและชาวยูเครนถูกรัสเซียทำลายล้าง แต่เป็นไปได้อย่างไรที่องค์กรซึ่งอ้างว่าตัวเองสนับสนุนสิทธิมนุษยชน พิทักษ์เสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างคุณ กลับไม่กล้าเรียกมันว่าสงครามอันป่าเถื่อน และกลัวเสียจนไม่ยอมเปล่งเสียงต่อต้านมัน?”