1) The Power of the Dog สร้างสถิติเข้าชิงออสการ์ปีนี้สูงสุดคือ 12 สาขา ตามมาติดๆ ด้วย Dune ชิง 10 สาขา และ West Side Story กับ Belfast เข้าชิงเรื่องละ 7 สาขา โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ติดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งหมด
2) เจน แคมเปียน (ผู้กำกับ The Power of the Dog) สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมากกว่า 1 ครั้ง (เรื่องแรกของเธอคือ The Piano ปี 1993) นอกจากนั้นปีนี้เธอยังได้ชิงสาขาเขียนบทดัดแปลงด้วย
3) เคนเนธ บรานาห์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่ได้ชิงออสการ์รวมทั้งหมด 7 รางวัล…ใน 7 สาขาไม่ซ้ำกันเลย!!! โดยเขาเคยชิงสาขานักแสดงนำและผู้กำกับจาก Henry V, ชิงสาขาหนังสั้นจาก Swan Song, สาขานักแสดงสมทบจาก My Week With Marilyn, สาขาเขียนบทดัดแปลงจาก Hamlet และปีนี้เขาชิงทั้งสาขากำกับ โปรดิวซ์ เขียนบทออริจินัล จาก Belfast
4) สตีเวน สปีลเบิร์ก เข้าชิงสาขาผู้กำกับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เป็นจำนวนเท่ากับที่ บิลลี ไวล์เดอร์ เคยทำไว้ โดยยังเป็นรองแค่ 2 คนคือ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเคยได้ชิงรวม 9 ครั้ง และ วิลเลียม วายเลอร์ ผู้เป็นเจ้าของสถิติเข้าชิงสาขานี้ทั้งหมด 12 ครั้ง
5) ไม่เท่านั้น สปีลเบิร์กยังสร้างสถิติใหม่เอี่ยมด้วย ความที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ของ West Side Story และหนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้เขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีหนังเข้าชิงสาขานี้มาแล้วทั้งหมดถึง 11 เรื่อง อันนับเป็นสถิติสูงสุดของรางวัลออสการ์
6) และที่เราต้องร้องแสดงความยินดีให้ดัง ๆ ก็คือ ริวสุเกะ ฮามากุชิ ที่พา Drive My Car มาสร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กับยังได้ชิงอีก 3 สาขาใหญ่คือภาพยนตร์ต่างประเทศ, เขียนบทดัดแปลง และผู้กำกับยอดเยี่ยม ขณะที่ตัวฮามากุชินับเป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นคนที่ 3 ที่ได้ชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (ถัดจาก ฮิโรชิ ทาชิกะฮาระ จาก Woman in the Dunes ปี 1964 และ อากิระ คุโรซาวะ จาก Ran ปี 1985)
7) นอกจากนั้น Drive My Car ยังนับเป็นหนังเรื่องที่ 6 เท่านั้นที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์สำนักใหญ่ ๆ อย่างสมาคมนักวิจารณ์แอลเอ, นักวิจารณ์นิวยอร์ก และ National Society of Film Critics ก่อนจะมาเข้าชิงออสการ์ปิดท้าย (โดย 5 เรื่องก่อนหน้านี้ที่ทำได้แบบนี้ก็คือ Goodfellas, Schindler’s List, L.A. Confidential, The Hurt Locker และ The Social Network)
8 ) อีกสถิติใหม่ที่น่าฮือฮาก็คือ Flee หนังจากเดนมาร์ก ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, สารคดียอดเยี่ยม และแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมพร้อมกัน
9) มาดูฝั่งนักแสดงบ้าง : ทรอย คอตเซอร์ เป็นนักแสดงผู้พิการทางหูคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิงจากบทตัวละครที่พิการทางหูเช่นกัน โดยคนแรกก็คือ มาร์ลี แมตลิน จาก Children of a Lesser God (ซึ่งชนะออสการ์ไปด้วย)
10) อาเรียนา เดอโบส ผู้รับบทแอนิตาใน West Side Story ฉบับสปีลเบิร์กได้เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบ ต้องถือว่าแอนิตาเป็นบทที่ขลังจริง ๆ เพราะย้อนไปในหนังเวอร์ชั่นปี 1961 นักแสดงที่รับบทนี้คือ ริตา โมเรโน ก็เคยชนะออสการ์มาแล้ว (โดยเป็นนักแสดงละตินคนแรกที่ได้ออสการ์) ดังนั้นหากเดอโบสชนะ เธอกับโมเรโนก็จะกลายเป็น “คู่ดาราที่คว้าออสการ์จากบทเดียวกัน” ถัดจากคู่ มาร์ลอน แบรนโด – โรเบิร์ต เดอ นีโร (บทวีโต คอร์เลโอเน ใน The Godfather และ The Godfather Part II), และ ฮีธ เล็ดเจอร์ – วาคีน ฟินิกซ์ (บทโจ๊กเกอร์ ใน The Dark Knight และ Joker) โดยเดอโบสกับโมเรโนก็จะเป็นคู่ดาราหญิงคู่แรกด้วยที่ทำได้แบบนี้
11) บ้านที่ได้เฮดังกว่าใครคงหนีไม่พ้นบ้าน คาเวียร์ บาร์เดม กับ เพเนโลเป ครูซ คู่สามีภรรยาที่ได้เข้าชิงปีนี้พร้อมกันทั้งคู่ (ฝ่ายชายจาก Being the Ricardo’s ฝ่ายหญิงจาก Parallel Mother’s) โดยเขาและเธอนับเป็นคู่แต่งงานคู่ที่ 6 ที่ทำได้ (5 คู่ก่อนหน้านี้ได้แก่ ลินน์ ฟอนเทน กับ อัลเฟร็ด ลันต์, แฟรงค์ ซินาตรา กับ เอวา การ์ดเนอร์, เอลซา แลนเชสเตอร์ กับ ชาร์ลส์ ลอห์ตัน, เร็กซ์ แฮร์ริสัน กับ ราเชล โรเบิร์ตส์ และ ริชาร์ด เบอร์ตัน กับ อลิซาเบธ เทย์เลอร์)
12) ไม่เท่านั้น คู่รักในชีวิตจริงอย่าง เคอร์สเทน ดันสต์ กับ เจสซี เพลมอนส์ ก็ควงแขนเข้าชิงออสการ์พร้อมกันเช่นกัน และจากหนังเรื่องเดียวกันคือ The Power of the Dog
13) ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ปีนี้มีศิลปินดังที่เพิ่งได้ชิงออสการ์เป็นครั้งแรก 2 คน คือ บิลลี ไอลิช จากเพลง No Time to Die (เรื่อง No Time to Die) และ บียอนเซ่ จากเพลง Be Alive (เรื่อง King Richard ซึ่งตัวหนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย)
14) ในบรรดาสาขาทั้งหมด ผู้กำกับภาพยอดเยี่ยมเป็นสาขาเดียวที่ไม่เคยมีผู้หญิงชนะมาก่อนเลย ปีนี้เราจึงอยากลุ้นให้ เอรี เวกเนอร์ จาก The Power of the Dog สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้สำเร็จ
15) มีคนสมหวังก็มีคนผิดหวัง ขอแสดงความเสียใจกับผู้พลาดการเข้าชิง ทั้ง เดนิส วีลเนิฟ ที่แม้ Dune จะได้ชิงสาขาสำคัญมากมาย แต่เขากลับไม่มีชื่อติดในสาขาผู้กำกับปีนี้, เลดี้ กาก้า ที่แม้จะกวาดคำชมมามากมายจาก House of Gucci แต่ไม่มีชื่อในสาขานักแสดงนำ เช่นเดียวกับ ไคทริโอนา เบลฟ์ ที่บทแม่ชนชั้นแรงงานใน Belfast ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย