Home Article ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (PART 2 : SHORTS)

ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (PART 2 : SHORTS)

0
ดูอะไรในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (PART 2 : SHORTS)

อ่านตอนแรกที่พูดถึงภาพยนตร์ขนาดยาวได้ที่นี่

ในส่วนของสารคดีสั้นในเทศกาลสารคดีไต้หวันครั้งที่ 4 (Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021) นี้ประกอบด้วยโปรแกรมสารคดีสั้นสามโปรแกรม ที่เราภูมิใจเสนอมากๆ สารคดีสั้นเอาจริงๆ อาจจะหาโอกาสดูได้ยากกว่าสารคดีขนาดยาว เพราะนอกจากพื้นที่ในเทศกาลหนังต่างๆ (ที่มักถูกจัดโปรแกรมแบบอาภัพลับแล) สารคดีสั้นเหล่านี้ก็แทบไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนัง หากโชคดีก็อาจจะได้ฉายในโปรแกรมลับแลทางโทรทัศน์ในตอนดึกๆ เราจึงอยากให้โปรแกรมสารคดีสั้นตั้งใจเลือกนี้ เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ชมในเทศกาล


โปรแกรม 1

In Their Teens (LIN Yu-en)

สารคดีสั้นที่สั่นสะเทือนมากๆ หนังติดตามบรรดา ‘วัยรุ่น’ ชนชั้นแรงงานในไต้หวัน ที่ไม่ใช่ไทเป พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ ทำงานรับจ้างขนกระดาษเงินกระดาษทอง ฉีดยาฆ่าแมลง ขนสับปะรด หนึ่งในนั้นมีเมียกับลูกเล็ก แล้วทุกคนก็ยังเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยากเที่ยวผับ เล่นมือถือ ใช้จ่าย แต่ชีวิตอนุญาตให้น้อยมากๆ สถานะทางการเงินบีบคั้น งานที่ใช้แรงและได้เงินน้อย บีบบังคับให้ฝันแบบวัยรุ่นน้อยลงไปด้วย

หนังตามถ่ายแบบชิดใกล้ ให้ผู้ชมเห็นทั้งความหวังและความสิ้นหวังของเด็กๆ จากฉากเปิดสุดปะทะเมื่อซับเจ็กต์หันมาถามคนทำว่าจะมาถ่ายผมทำไม ชีวิตผมไม่มีอะไรสักอย่าง พอหนังจบลงทำให้ประโยคเปิดหนังเรื่องนี้รุนแรงขึ้นหลายเท่า ดูเรื่องนี้ร่วมกันกับ Mickey On The Road จะได้ภาพชีวิตวัยรุ่นไต้หวันที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม

The Old Men’s Party (LIN Tse-yu)

สารคดีตามถ่ายชีวิตบูมเมอร์เหงาๆ ชาวไต้หวันที่เกษียณแล้ว ยากจนและไม่มีอะไรไรทำ วันๆ เลยได้แต่จับกลุ่มริมถนน ดื่มชา กินเหล้า กินข้าวฟู้ดคอร์ต พูดคุยไปเรื่อยเปื่อย แต่พอเราเพ่งมองก็พบว่าพวกเขาดูเหมือนจะเป็นฝั่งโปรจีน (หรือไม่ก็โปร KMT) แล้วในคืนที่ไช่อิงเหวินชนะเลือกตั้งพวกเขาก็ฟูมฟายเสียใจเรียกเผด็จการประชาธิปไตย บอกว่าไต้หวันจะล่มสลาย

นี่คือหนังที่พาเราเข้าไปสำรวจจิตใจของบูมเมอร์จำนวนมาก คนแบบที่เราอาจจะต่อต้าน แต่การต่อต้านอาจไม่เพียงพอหากเราไม่ได้เข้าใจหัวจิตหัวใจของเขาด้วย นี่คือห้วงยามเล็กๆ ที่พาเราไปสำรวจความกลัว ความสิ้นหวัง ความทุกข์ของพวกเขา

Temporary (HSU Hui-ju)

นอกจาก Hard Goof Life สารคดีสองภาคที่จับใจผู้คนอย่างรุนแรง เรายังฉายหนังสั้นของสวี่ฮุ่ยหรูเรื่องนี้ที่ว่าด้วย หนังว่าด้วยการจ้างแรงงานรายวันสามคน หญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง วัยรุ่นหนึ่ง เข้าไปเก็บกวาดโรงงานร้างแห่งหนึ่งแล้วทำให้มันเหมือนเป็นบ้านขึ้นมา ต่อตู้ ต่อโต๊ะ ทาสี แต่ละคนมีประวัติชีวิตปวดเจ็บของตัวเอง มีความใฝ่ฝันของตัวเอง 

หนังตามถ่ายบทสนทนาระหว่างการทำงานของทั้งสามคน แล้วพอทำเสร็จก็ถ่ายรูปรวมกันเหมือนเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกเอามาแขวน โกดังร้างก็กลายเป็นบ้าน เป็นครอบครัวปลอมๆ ที่ถูกสร้างขึ้น

แต่มันซ้อนอีกทีตรงที่พอตกกลางคืนก็มีคนจรจัดมาแชร์สเปซ พอมาทำงานตอนเช้าก็เจอคนมาต่อเตียงง่ายๆ ล้มตู้มาทำผนังแล้วติดโปสเตอร์รูปโป๊ บ้านปลอมๆ เลยเป็นสเปซที่ถูกแชร์ระหว่างแรงงานชายขอบที่ไม่มีครอบครัว และคนที่ไม่มีงานไม่มีบ้าน เรื่องของบ้าน เรื่องของครอบครัวเลยเรืองความชั่วคราวของมันออกมา 

หนังง่ายๆ เหมือนจะทื่อๆ แต่แหลมคมและซับซ้อน นิยามของบ้าน ของครอบครัวที่ปลอมขึ้นมาและเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว และบ้านที่ไม่ได้ยืนอยู่ด้วยนิวเคลียร์แฟมิลี่ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมกับสิ่งที่อยู่ข้างนอกด้วย


โปรแกรม 2

Liberty Square (Wood Lin)

ภาพชีวิตรอบๆ อนุสรณ์สถานเจียงไคเชคในหนึ่งวันที่มีทั้งนักท่องเที่ยวดูทหารยืนยามเปลี่ยนเวร คนตัดต้นไม้รอบสวน นักกีฬามาซ้อมวิ่งบนบันได คนเดินเล่นพักผ่อน นักดนตรีมาซ้อมดนตรี นักท่องเที่ยวเดินดูมิวเซียม โดยมีศูนย์กลางเป็นรูปปั้นเจียงไคเชก 

หากพอดูด้วยสายตาของสังคมที่กำลังชำระประวัติศาสตร์ และตั้งคำถามกับอดีต รื้อสร้างภาพลักษณ์วีรบุรุษก่อนเก่า หนังก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น หนังใช้เสียงจาก archive วันตายของเจียงไคเชก การพร่ำพรรณาถึงเจียงไคเชก และสปีชชาตินิยมตอนเปิดอนุสรณ์สถาน พอมันตัดข้ามกับความเพิกเฉยไม่ไยไพของบรรดาผู้คนรายรอบที่ใช้สถานที่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ รูปปั้นเจียงไคเชกยิ้มแฉ่งถูกเปลี่ยนความหมาย ถูกท้าทายให้เป็นเพียง tourist attraction และชาติที่เปลี่ยนความหมายไปสู่ประชาชน 

การดูหนังเรื่องนี้ในประเทศที่ปิดสนามหลวง และกั้นรั้วสเปซหลายๆ แห่งมันเลยทรงพลังกว่าเดิมมากๆ การดูหนังเรื่องนี้คู่กับ Taste of Wild Tomatoes จะยิ่งทำให้เห็นภาพของความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน การกลับไปชำระอดีตชัดเจนมาขึ้น

62 Years and 6,500 Miles Between (Anita Chang)

หนังว่าด้วยตัวคนทำเองที่พ่อกับแม่ย้ายมาอเมริกา แต่แม่จะพากลับบ้านไปเยี่ยมอาม่า อากู๋ และญาติพี่น้องอยู่เนืองๆ แม้จะพูดจีนไม่ได้แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่นั่นมากกว่าคนอเมริกัน 

อาม่า เคยได้รับสมญาว่าอาม่าประชาธิปไตย ไปเลือกตั้งไม่เคยขาด และไม่ยอมจำนนตลอดช่วงเวลา White Terror แม้จะไม่ได้เป็นนักสู้ เป็นแค่ภรรยาคนธรรมดาเลี้ยงลูก แต่ก็มีอุดมการณ์อะไรแบบนั้น

ตอนที่เธอลงมือถ่ายจริง อาม่าเป็นสโตรคไปสามรอบแล้วจนพูดไม่ได้ ฟุตที่เธอมีเลยเป็นฟุตที่ถ่ายอาม่าเล่นๆ อาม่าชอบด่าว่าเธอแต่งตัวไม่สวยจะหาผัวไม่ได้ คนเราจะมีชีวิตจะยืนยาวเป็นร้อยปี (อาม่าอยู่จนร้อยปี) ต้องแต่งตัวสวยไว้ก่อน เธอเลยต้องไปสัมภาษณ์ อาโป๋น้องสาวอาม่า ที่เป็นช่างตัวเสื้อ อาโป๋ก็เล่าเรื่องแบบ น้องไม่สบาย อาม่าไม่มีเงินต้องไปขอให้หมอมารักษาน้องแล้วให้จับนมเป็นค่ารักษา ไปคุยกับอาอี๊ลูกสาวอาม่าที่เขียนเรื่องของอาม่า และเล่าถึงชีวิตของอาม่าที่อยากเรียนหมอ แต่แต่งงานก่อนกับอากงที่แต่งไม่ใช่เพราะรัก แต่เพราะอากงบอกจะให้เงินไปเรียนหมอ แต่อาม่าท้องเสียก่อน แล้วก็เล่าเรื่องอาม่าตั้งแต่ยุคญี่ปุ่นยึด จนยุคก๊กมินตั๋ง ช่วง White Terror ชีวิตหญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ทรงพลัง กระดูกเหล็กอายุยืนและถ่ายทอดอุดมการณ์เงียบๆ ของเธอผ่านให้ลูกหลาน หนังสัมภาษณ์อากิ๋ม ที่เป็นสะใภ้และดูแลอาม่ามาสี่สิบปี และไม่ได้เล่าอะรไมากไปกว่าชีวิตประจำวันของอาม่าแต่น่าจะเป็นส่วนที่งดงามที่สุดของหนัง

และสุดท้ายสัมภาษณ์อาม่าโดยให้แม่ถามแล้วอาม่าจะเขียนเป็นตัวหนังสือ แล้วเราก็เห็นว่าอาม่ายังทรงพลังทางความคิดขนาดไหน

ดูร่วมกับ Taste of Wil Tomatoes (อีกแล้ว) จะเห็นภาพประวัติศาสตร์ไต้หวันจากยุคญี่ปุ่นจนถึงก๊กมินตั๋ง ดูควบกับ Hard Good Life ให้เห็นการทำหนังจากเรื่องส่วนตัวความสัมพันธ์กับครอบครัวจาก footage home video จะยิ่งอร่อย 

Before The Dawn (HUANG Pang-chuan, LIN Chunni)

ถ้าจำกันได้หวงปางเฉวียน คือคำหนังสั้นแสนงดงามอย่าง Return ที่เริ่มต้นจากภาพเพียงภาพเดียวของปู่ แล้วเขาก็นั่งรถไฟกลับบ้านจากยุโรป ย้อนทางกลับไปหาทางที่ปู่เคยเดิน หนังประกอบขึ้นจากภาพถ่าย หมดจดงดงาม และพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น อีกเรื่องของเขาคือ Last Year When The Train Passed By ที่เขาถ่ายภาพขณะนั่งรถไฟผ่านหมู่บ้าน แล้วปีถัดมา เขากลับไปที่หมู่บ้านนั้น เอาภาพที่ถ่ายจากรถไฟ ไปให้เจ้าของบ้านดูแล้วนั่งลงคุยกัน วิธีการทำหนังของเขางดงามพิสดารและได้รางวัลมากมาย

ในหนังเรื่องนี้ เขาและหลินจวินนี่ ออกเดินทางตามหานักเขียนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งที่เคยมาเรียนที่ญี่ปุ่น พยายามสิบจากภาพ ข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อประกอบชีวิตของนักเขียนจากยุคต้นศตวรรษขึ้นมาใหม่ 

แน่นอนว่าควรดูคู่กับ A Lean Soul หนังชีวิตนักเขียนสุดเข้มข้น 



โปรแกรม 3

Ning (CHEN Wei-chieh)

นี่คือหนึ่งในสารคดีสั้นที่เข้าชิงรางวัลม้าทองคำในปีนี้ มาร์กไว้เลย นี่คือเรื่องของอาหนิง คนหนุ่มวัยเฉียดสี่สิบ ที่เป็น Down Syndrome หนังติดตามหนิง ไปสมัครงาน ขึ้นรถไฟ อยู่บ้านกับครอบครัว เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่การขึ้นรถไฟใต้ดินไปกลับบ้าน และการรักษาความสะอาดของร่างกายยังเป็นเรื่องยากของเขา หนังตามดูเขาพูดคุยกับหมอที่ดูแล ไปสมัครงาน ไปใช้ชีวิต ที่แม้จะยากก็ต้องใช้ไป ด้วยสายตาอ่อนโยนไม่ก้าวล่วง เราได้ดูพลังชีวิตของเขา ความทุกข์ยากของเขา และครอบครัวของเขา ถือเป็นสารคดีสาย observe ที่ทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งที่ได้ดูในปีนี้ 

Today, You Are You (CHEN Kuan-chun)

สารคดีว่าด้วยทรานส์แมนคนหนึ่ง เด็กหนุ่มที่เคยเป็นเด็กสาว เขามุ่งมันจะผ่าตัดแปลงเพศ เฉือนหน้าอก กินฮอร์โมน แต่นี่ไม่ใช่ชีวิตทุกข์ระทมของคนข้ามเพศ ครอบครัวของเขายอมรับและสนับสนุน เขามีคนรักเป็นหญิงสาวที่ไม่เคยนิยามตัวเองเป็น LGBT เธอรักคนนี้ ก็คือคนนี้เท่านั้น เขาทำงานเป็นนักเต้น มีชีวิตที่ดีตามสมควร เชื่อมั่น กล้าหาญ แต่ทุกความกล้าหาญก็มีความกังวล ความกลัวอยู่ทั้งสิ้น หนังพูดคุยกับคนรอบตัว ติดตามเขาและคนรักไปหาหมอ แลกเปลี่ยนความหวัง ความไฝ่ฝันกัน ปีนี้ไม่ได้เลือกหนังในประเด็น LGBT มากนัก หวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นถึงความงดงามในคนทุกเพศ


Ms. Lin – The Retouching Lady (LIN Shih-chun)

สารคดีที่คนทำตามถ่ายแม่ตัวเองที่ปีนี้หกสิบห้าแล้ว ยังกระฉับกระเฉง ไปเป็นจิตอาสาที่กู้กง และทำงานเสมียนที่คลินิค แต่ความลับที่ไม่ลับของแม่คือที่จริงแม่คือนักแต่งภาพเนกาทีฟระดับมือต้นของไต้หวัน

แม่เกิดในร้านถ่ายรูปของอากง มีพี่น้องหลายคน อากงก็บังคับทำทุกอย่าง คนนึงล้างคนนึงอัด พอดีแม่ได้เป็นฝ่ายรีทัชรูปด้วยดินสอลงบนฟิล์มจริงๆ ทำตั้งแต่สาวจนแต่งงานจนออกมาเปิดสตูของตัวเอง เลิกไปตอนมันเปลี่ยนยุคเป็นดิจิตัล 

หนังสัมภาษณ์แม่ที่อวดรูปถ่ายตัวเองประมาณห้าร้อยรูป แม่คือนักเซลฟี่ในตำนานตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะแม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง บางทีเอาฟิล์มเหลือของคนล้างรูปมาใช้จนแก่ก็ยังชอบ ตอนนี้คนถ่ายรูปแม่คือหลานๆ นั่นเอง หนังไปสัมภาษณ์ช่างภาพอีกหลายคนที่เคยส่งงานให้แม่ ทุกคนชมว่าแม่คือมือหนึ่ง แต่ตอนนี้งานมันตกสมัยไปแล้ว แม่เล่าเรื่องพ่อเป็นคนขี่มอไซค์ไปรับฟิล์มเอามาให้แม่ แล้วแม่ทำส่วนพ่อเอาไปส่งคืน มีการโชว์จดหมายรักด้วย 

หนังเล่าเง่ายๆ แต่จับใจมากๆ ฉากหนึ่งลูกสาวที่เรียนหนังพาแม่เข้าห้องล้างฟิล์มแล้วแม่สอนให้จับเวลาด้วยตาไม่ใช่นาฬิกา หรือสอนการดูกระดาษล้างอัดรูป เราค่อยๆ เห็นว่าคุณป้าสุด alert คนนี้คือจอมยุทธ์หญิงที่จริงแท้ 

หนังตระกูลตามถ่ายพ่อแม่ควรดูด้วยกัน ทั้ง Hard Good Life และ 62 Years and 6,500 Miles Between

Sung’s Family (SUNG Yan-fei)

อีกหนึ่งสารคดีลูกถ่ายแม่เหมือนกัน แต่อันนี้ถิอว่าเดือดดาลกว่าทุกเรื่อง เพราะแม่คือเจ้าสาวไปรษณีย์จากเวียดนามที่พ่อได้มา ตอนนี้พ่อแม่หย่ากันแล้ว แต่ยังร่วมบ้าน แม่นอนข้างบน พ่อนอนข้างล่าง ทรัพย์สมบัติที่แชร์กันมีแค่หมากับลูกสาวสองคน พ่อเป็นตาลุงแก่ปากหมาอารมณ์ร้าย หนังถ่ายการด่าทอกันในครอบครัวอย่างเป็นปกติเพราะคนในถ่ายเองแฉเอง แม่ตอนนี้มีกิ๊กด้วย ทำงานเก็บเห็ด ส่วนพ่อ อยู่บ้านไปวันๆ

หนังฉายภาพเหมือนภาพสามสิบปีต่อมาของยุคเจ้าสาวไปรษณีย์ แม่ที่สู้สุดใจเพื่อชีวิตที่ดี ลูกๆ ที่ยืนงงในความสับสนของครอบครัวที่แตกแล้วแต่ก็ยังโอเคกันอยู่ หนังไม่ฟูมฟายความครอบครัวแตกสลาย หรือเข้าไปอธิบายความลำบากของแม่ หนังบอกว่า พวกเราก็อยู่กันไปอย่างนี้แหละ ตัวคนทำซึ่งยังเด็กอยู่มากเป็นลูกผสมของไต้หวันเวียดนาม เป็นรุ่นสองของคนเวียดอพยพซึ่งก็น่าสนใจดี

หนังเข้าใกล้ทุกคนในเรื่องมากๆ และไม่มีใครบันยบันยังหน้ากล้องทั้งสิ้น พ่อชูนิ้วกลางให้ลูกสาวหน้ากล้อง ลูกสาวก็แซะไม่หยุด แต่ไม่ได้มีใครเกลียดกันขนาดนั้นจนแล้วจนรอด

หนังอาจจะดูกับลิสต์ฉันถ่ายพ่อแม่ฉันด้านบนก็ได้ แต่สิ่งที่เข้าคู่กันมากที่สุดย่อมคือสารคดีแรงงานเวียดนามอพยพอย่าง The Lucky Woman


(อ่านรายละเอียดของเทศกาลได้ที่นี่)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here