หลายคนได้ยินมาบ้างว่าหนังเรื่องนี้รีเมกจาก Forrest Gump (1994) อเมริกานั้นเป็นดุจทารกในด้านประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับประเทศที่มักถูกอ้างว่าเป็นดินแดนอู่อารยธรรมของโลก ดังนั้นการล้อพล็อตเดิมก็จะย่นย่อมาเพียงหลังแยกประเทศกับปากีสถานแล้ว
ก้อนใหญ่ๆ ของเนื้อหาคือ ด้านจิตวิญญาณ และแบ็คกราวน์ประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ที่เป็นฉากหลังการเติบโตของตัวละคร คำสอนของแม่บอกให้ “ลาล” (ผู้แม้จะมีปัญหาทางด้านสติปัญญา) เชื่อมั่นในตัวเอง ชีวิตเขาเขากำหนดได้ ซึ่งอยู่บนฐานของการเติบโตของปัจเจก ท่ามกลางคำสบประมาทและกลั่นแกล้งรอบตัวที่ราวกับว่า มันคือโครงสร้างที่กดทับเขา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อินเดียตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงจากความขัดแย้งหลายระลอก ตั้งแต่กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ กับดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่อิทธิพลของอิสลามคุมอยู่ สุดท้ายก็ต้องแยกประเทศออกมาเป็นปากีสถาน แต่จุดเริ่มของเรื่องสัมพันธ์กับความขัดแย้งในรัฐปัญจาบตอนเหนือของประเทศ การปราบปรามที่วิหารทองคำอมฤตสระของชาวซิกข์ ความรุนแรงใกล้ตัวของลาล แม่ของเขาพยายามอธิบายว่านั่นคือ “การระบาดของไข้มาลาเรีย” ตั้งแต่ครั้งนั้น รหัสมาลาเรียของแม่จะถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ลาลต้องไปเสี่ยงอันตราย
จากการปราบปรามนำไปสู่การสังหารนายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี ในปี 1984 เพื่อแก้แค้น เพลิงแค้นยิ่งต่อแค้นไปอีกทำให้ชาวซิกข์ในเดลีถูกไล่ล่าและสังหารจนกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันแสนเศร้าของชาวซิกข์ ครั้งนั้นลาลกับแม่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อเอาตัวรอด แม่ของเขาจำต้องใช้เศษกระจกตัดผมลาลเพื่อทำลายอัตลักษณ์ความเป็นซิกข์ ในอีกด้านมันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ว่า เขาปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้าที่อยู่ภายนอกตัวไปด้วย
อันที่จริงแล้ว ยังมี “รูปา” เพื่อนหญิงคนสนิทอีกคนที่เป็นดั่งแม่ของเขา เธอเข้ามามีอิทธิพลตั้งแต่เขาออกสู่โลกภายนอกในพื้นที่ของโรงเรียน เธอเป็นทั้งผู้ปกป้องและให้กำลังใจเขา การออกวิ่งของเขาแต่ละครั้งรูปาจะต้องเป็นสั่งคนบอก แต่รูปาก็มีวันพลัดพรากจากเขาไป เมื่อต้องแยกกันเติบโตก็จะมาบรรจบกันอีกครั้ง ทั้งสองมีชีวิตอยู่เพื่อพบและพลัดพรากกันอยู่หลายช่วง
ทั้งคู่ถูกส่งไปเรียนมหาลัยที่เดลี ปี 1990 ช่วงนั้นมีการประท้วงรัฐบาลที่ออกกฎหมายกีดกันตำแหน่งราชการให้กับคนบางวรรณะ แม่ของเขาโทรมาจากบ้านว่าห้ามออกจากห้องไปไหน เพราะไข้มาลาเรียกำลังระบาด
ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการบุกทำลายมัสยิดที่อโยธยาในปี 1992 ความขัดแย้งของฮินดูและมุสลิมบานปลายจนเกิดการประท้วงกันที่บอมเบย์และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และโค้ดไข้มาลาเรียก็ทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง
หนังวางให้ลาลไปเป็นทหารและเข้ารบในบริเวณชายแดนเพื่อนบ้านที่ไม่ออกชื่อในปี 1999 ซึ่งเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูกันก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ นั่นคือ เพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในกองทัพเขาได้เพื่อนใหม่ชื่อ “บาลา” ผู้มีประวัติครอบครัวยืนยาวในฐานะช่างตัดเย็บ ขณะที่ตระกูลของลาลคือ ทหารซิกข์ผู้เลื่องชื่อว่าแกร่งกล้า ทุกคนที่ผ่านมาตายในสนามรบอย่างน่าภาคภูมิใจ การสืบย้อนไปถึงคนรุ่นก่อนได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความมีสกุลรุนชาติของทั้งสองที่ล้วนมีประวัติรับใช้ผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย
ในศึกครั้งนี้แม้ว่า เขาจะต้องเสียบาลาที่เคยหวังว่าจะสร้างธุรกิจตัดชุดชั้นในชายขายด้วยกัน แต่เขากลับช่วยชีวิตศัตรูที่เป็นมุสลิมมาอย่างไม่ตั้งใจ ชื่อของชายคนนั้นคือ “โมฮัมหมัด” ซึ่งส่วนนี้ถือว่าผู้เขียนบทได้ตีความต่างจากต้นฉบับด้วยความจงใจ เพราะได้เปลี่ยนผู้หมวดปากร้ายในกองรบเดียวกัน ให้เป็นศัตรูที่จะกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในชีวิต
โมฮัมหมัดได้เพิ่มมิติความซับซ้อนของเรื่อง ทำให้อินเดียเด่นชัดขึ้นมาผ่านการเล่าเรื่องแบบคู่ตรงข้าม (ที่ไม่ระบุชื่อประเทศ) นั่นคือ อินเดียผู้รักสงบ กับประเทศอิสลามผู้บุกรุก อินเดียดินแดนแห่งเสรีภาพ กับประเทศเพื่อนบ้านผู้ไร้เสรีภาพ อินเดียในฐานะประเทศแห่งการให้โอกาสในชีวิตได้มั่งคั่ง กับประเทศเพื่อนบ้านที่เรียกร้องให้คุณเสียสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์
หนังชี้นำว่า โมฮัมหมัดถูกเปลี่ยนความคิดด้วยการกระทำของลาล และเอ่ยปากเองว่าที่ผ่านมาตนนั้นถูก “ล้างสมอง” ด้วยประเทศของเขา บทสนทนานี้ราวกับเป็นการพูดออกจากซีรีส์เกาหลีของประชากรเกาหลีเหนือต่อเกาหลีใต้อย่างไรชอบกล กระทั่งกับศาสนาและพระเจ้าที่เขานับถือคนละองค์กับลาล เขาก็เริ่มมีคำถามกับตัวเอง เมื่อเห็นลาลกล่าวว่าพระเจ้าอยู่ข้างในตัวของเรา และลาลก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความดีงามที่สะท้อนออกมาจากตัวเขาเองนั้นช่างต่างกันลิบลับกับพระเจ้าในรูปแบบอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การเชื่อในพระเจ้าของโมฮัมหมัดจะส่งอิทธิพลกลับมาที่ลาลในภายหลัง โมฮัมหมัดกลายเป็นเพื่อนคู่ใจที่ช่วยสร้างและขยายธุรกิจของเขาให้ใหญ่โตในนาม “รูปา คอร์เปอเรชั่น” สานต่อจากความฝันของบาลา
แม้ว่าลาลจะไม่ได้แสดงตัวว่ายึดติดอะไรกับพระเจ้า แต่สิ่งยึดเหนี่ยวของเขากลับเป็นเพื่อนคนแรก และต่อมาได้กลายเป็นคู่ชีวิตของเขาในที่สุดนั่นก็คือ รูปา ใช่แล้ว รูปาเดียวกับชื่อกิจการชุดชั้นในชายของเขานั่นแหละ
รูปาเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างเขา ปกป้องและให้กำลังใจตั้งแต่เล็ก ๆ ลาลเอ่ยปากขอแต่งงานทั้ง ๆ ที่เขาไม่รู้ประสีประสากับชีวิตครอบครัวอะไร ซึ่งรูปาก็ทำเฉยมาโดยตลอด แต่พระเจ้าองค์น้อย ๆ ของลาลอย่างรูปากลับไม่ได้มีชีวิตที่ดี รูปามีปมที่บ้านแตกสาแหรกขาดและยากจน อยู่ในครอบครัวที่พ่อใช้ความรุนแรงกับแม่ รูปาเป็นภาพสะท้อนของคนอินเดียที่ทุกข์ยาก แม้จะไม่ถึงกับแร้นแค้น แต่พื้นเพเช่นนี้ทำให้เธอใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า แน่นอนว่าเป็นอนาคตที่ไม่ได้มีลาลอยู่ในนั้น มีอยู่วันหนึ่งพ่อซ้อมแม่เพื่อไถเงิน จนแม่ตาย เธอจึงย้ายมาอยู่กับยายของเธอซึ่งให้บังเอิญว่าเป็นคนงานในบ้านของลาล ทำให้ทั้งคู่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ลาลกับรูปาถูกส่งไปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน ยิ่งรูปาเป็นสาวเธอก็ยิ่งห่างลาลออกไป เธอใช้ความเป็นผู้หญิง ดวงหน้าและเรือนร่างเป็นบันไดเพื่อไต่ระดับทางสังคมผ่านการมีแฟนเป็นคนมีเงิน การประกวดนางงาม ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เธอหวังจะเป็นดาราในประเทศที่วงการบันเทิงเป็นหนทางที่ดีที่สุดหนทางหนึ่ง
เมื่อสงครามจบ ลาลได้เหรียญกล้าหาญและปลดประจำการ เขาไปเจอรูปาอย่างบังเอิญ เขาพบเธออยู่กับคนร่ำรวยในวงการบันเทิง แต่อันที่จริงรูปาเป็นได้เพียงแค่เป็นกึ่งเมียกึ่งคนรับใช้ของผู้มีอิทธิพลในวงการบันเทิงเท่านั้น เส้นทางของทั้งสองไม่น่าจะบรรจบกันได้ง่าย ๆ แต่นั่นแหละรูปาเป็นเหมือนรูปปั้นพระเจ้าที่สลักอยู่ในใจของเขา การตั้งชื่อแบรนด์สินค้าเขาเลือกใช้ชื่อ “รูปา”
หลังจากแม่ของลาลตายลง รูปาแวะมาหาเขาที่บ้าน ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข แต่แล้วเช้าวันหนึ่งเธอก็หายไปพร้อมกับการคุมตัวของตำรวจที่เรามารู้ภายหลังว่าเธอเกี่ยวพันกับคดีผู้มีอิทธิพลที่เธอเคยใช้ชีวิตร่วมด้วย การพลัดพรากกับรูปาอีกครั้งทำให้ลาลตัดสินใจออกวิ่งไปเป็นเวลากว่า 4 ปี ระหว่างนั้นเขาเกิดความคิดและคำถามว่าจะเอาอย่างไรดีกับการเชื่อในตัวเองแบบที่แม่เขาพร่ำสอน กับเชื่อในการกำหนดของพระเจ้า ซึ่งเป็นคำสอนที่ออกมาจากปากโมฮัมหมัด
การตัดสินใจกลับมาโพกหัวแบบชาวซิกข์อีกครั้งของเขา สัมพันธ์กับ 2 มิตินั่นคือ การกลับไปหาพระเจ้าและการย้อนไปสู่รากเหง้า เมื่อเขาจ้องไปที่รูปบรรพบุรุษและเห็นเงาของเขาซ้อนทับกับใบหน้าผู้วายชนม์ เขาตกลงใจว่าจะเปลี่ยนไปสู่รูปลักษณ์ใหม่
หนังเริ่มจากบทสนทนากับผู้โดยสารบนรถไฟ พาหนะเดินทางแห่งชาติของคนอินเดีย ผู้รับฟังบางคนหาว่าเขาโม้ว่าได้ไปสัมพันธ์กับเหตุการณ์และผ้คนสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ บางคนน้ำตาซึมไปกับเรื่องของเขา ลาลลงที่สถานีจัณฑิการ์เพื่อไปพบกับรูปา และที่นั่นเขาพบว่า เธออยู่กับลูกซึ่งเป็นผลผลิตของเขา การโพกหัว การเดินทาง การค้นพบลูก และการแต่งงาน ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในชีวิต น่าเสียดายที่รูปาอายุไม่ยืน
หากหนังต้นแบบอย่าง Forrest Gump จะถือเป็นจุดพีกจุดหนึ่งของหนังฮอลลีวู้ด หนังเรื่องนี้นอกจากจะทำรายได้แซง ‘คังคุไบ’ ในตลาดนานาชาติแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการประกาศความเป็นอินเดียอย่างที่พวกเขามั่นใจ ในวันที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และการเมืองค่อย ๆ กลับมามีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น ไม่ใช่ยักษ์ป่วยแบบที่เคยเป็น บนความมั่นใจเช่นนี้ทำให้ลักษณะชาตินิยมในหนังได้วางตัวอย่างกระอักอ่วนบนความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังกับเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานที่ปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย ต่างจากต้นฉบับที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเวียดนามได้ผ่อนคลายลงมากแล้ว หนังเรื่องนี้จึงมิใช่ความป๊อปแบบอินเดียที่งอกเงยมาจากความบันเทิงแบบฮอลลีวู้ดอย่างเดียว แต่อาจตอกลิ่มความตึงเครียดชนิดใหม่บนชายแดนขึ้นมาอย่างที่พวกเขาอาจไม่ได้ตั้งใจก็เป็นได้