อ่านตอนแรก Forget Me Not ข้างหลัง-ของ-ข้างหลัง-ภาพ
สมมติว่า Forget Me Not มีความยาวเท่ากับ 100 Times Reproduction of Democracy พอดีๆ (คือ 114 นาที) แล้วเปิดฉายสองเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน จะพบความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งขึ้นมาอย่างคือสองเรื่องนี้จะทับกันสนิท เพียงเพราะต่างก็ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการที่ใกล้เคียงกันมาก จนมิอาจแยกออกจากกันเป็นหนังสองเรื่อง หากแต่ต้องประคองคู่เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะโดยกระบวนการคิด, จุดมุ่งหมาย, วิธีนำเสนอ, การ presentation ในแง่ของภาพยนตร์
อันดับแรก ทั้ง Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy มิได้เกิดมาเองตามลำพัง ทว่ามีการเกริ่นนำด้วยผลงานอื่น Forget Me Not มีบทประพันธ์ ‘ข้างหลังภาพ’ คอยเป็นตัวนำร่องให้ทั้งดัดแปลง, ตีความใหม่ (รวมทั้งยั่วล้อ) ซึ่งจุฬญาณนนท์ก็ได้พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า ด้วยโครงเรื่องเดียวกันก็สามารถสรุปจบได้ด้วยเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงกว่าๆ (เริ่มจากจดหมายฝากฝังจากท่านเจ้าคุณอธิการฯจนถึงความตายของคุณหญิง) ขณะที่ 100 Times Reproduction of Democracy เอง ก็ยังต้องอาศัยผลงานอื่นมาเป็นตัวนำร่องแบบเดียวกัน ทว่าเป็นผลงานก่อนหน้าของจุฬญาณนนท์เองก็คือหนังสั้นสารคดี ’ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ (2013)
ก็เท่ากับว่าเมื่อใครดู Forget Me Not ก็จะได้รู้เรื่องราวใน ‘ข้างหลังภาพ’ เท่าๆ กับที่ต่อให้ใครที่ยังไม่ได้ดู ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ หนัง (100 Times Reproduction of Democracy) ก็จะถูกนำมาเล่าซ้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วคนดูก็จะค่อยๆ ซึมซับความ beyond ที่เกิดขึ้น ในแง่ของชะตากรรมที่บานปลายตัวของมันเองออก ซึ่งก็มิใช่ออกนอกเรื่องนอกราวที่ไหน แต่ทว่าเป็นการนำคนดูออกไปนอกกรอบและพื้นที่จำกัดแห่งมณฑลทางภาพยนตร์ (ในสภาพที่ควรจะเป็น โดยที่คนดูเองก็หวังที่อยากจะเห็นซึ่งน่าจะเป็นทิศทางของการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ในวันข้างหน้า)
หาก ‘ข้างหลังภาพ’ เกิดขึ้นมาได้ก็โดยศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) แต่ง หลังจากนั้นถึงค่อยถูกนำมาใช้แทนแบบพิมพ์เขียว จนกระทั่งได้ทั้งหนังและนิทรรศการ (ไม่ต่ำกว่าสองครั้ง) ซึ่งเป็นการขานรับกับเนื้อหาที่ได้ผ่านการวางรากฐานไว้ก่อนแล้ว ขณะที่ ‘ไก่จิกเด็กจายบนปากโอ่ง’ เป็นผลงานที่ถือกำเนิดโดยตัวจุฬญาณนนท์เอง โดยคนดูได้ถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วมไปกับการต่อสู้ซึ่งมิใช่เพื่อเอาชนะข้อพิพาท (จากหน่วยงานรัฐซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานหนังสั้น) ทว่าเป็นการต่อสู้บนบริบทของความจริง-ความถูกต้อง-ของแท้-ไม่แท้ซึ่งยิ่งตอกย้ำความคล้ายคลึงและจุดร่วมที่ทำให้ 100 Times Reproduction of Democracy ออกมาดูไม่ต่างไปจาก Forget Me Not
จุฬญาณนนท์มิเพียงแค่ดึงความเป็น ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ ขยายออก (แบบเดียวกับที่เขาปฏิบัติกับ ‘ข้างหลังภาพ’ ใน Forget Me Not) หากแต่จับงานของตัวเองออกมา parody และ satire มันในแง่ของความเป็นสื่อซึ่งก็ยังยืดขยายออกได้พอๆ กับที่ดึงเอาจักรวาลใน ‘ข้างหลังภาพ’ ออกมาปะปนในโลกความเป็นจริงภายนอกได้สำเร็จ (นิทรรศการกึ่งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวธีมกีรติที่จัดขึ้นถึงสองครั้งเฉพาะในกทม.) จะต่างกันนิดเดียวก็ตรงที่ ‘ข้างหลังภาพ’ เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป แต่สำหรับ ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ นั่น ยังมีคนไม่มากที่เคยดูหรือรู้จักมาก่อน แต่ไม่เป็นไรครับ ถ้าท่านยังไม่เคยดู เรา (ในที่นี้คือจุฬญาณนนท์และทีมงาน) จะเล่นให้ท่านดูอีกครั้งหนึ่ง (เอาแบบเต็มๆ ด้วย)
ชัยชนะอันสวยงาม (บนข้อพิพาทที่ว่าใครคือผู้ถือลิขสิทธิ์นั่น) นั่นคือจุฬญาณนนท์สามารถนำมาเล่าซ้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งใครที่ยังไม่เคยดู ก็จะได้ดูกันก็คราวนี้ แต่ที่มันไปไกลกว่า (‘ข้างหลังภาพ’ ใน) Forget Me Not ก็คงเป็นเรื่องที่ว่าภายใต้ content เดิม หากสามารถนำมาเล่าใหม่ได้ โดยที่ตัว context มีการเปลี่ยนแปลงและต่อขยายตลอดเวลา กลายเป็นว่าทั้ง Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy นี่กลายเป็นคำตอบของหนังซึ่งหลายคนหวั่นเกรงกันว่าเมื่อถึงวันหนึ่งรูปแบบของ narrative ในหนังจะพบภาวะตีบตัน และในเวลาเดียวกันภายในตัวของ ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ เองก็ยังคงมีความหลากหลายในตัวไม่แพ้กัน นั่นคือที่พอมีการนำมากล่าวซ้ำบ่อยขึ้น ตัวมันเองก็พลันกลายเป็นงานที่อยู่รองลงมา (subordinate) คอยรับใช้จุดมุ่งหมายที่ห่างไกลจากเนื้อหาหลักใน documentary มากขึ้นไปเรื่อยๆ
หลากหลายแรก: ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ กลายเป็นหนังที่ทะลุทั้งคำนิยามและคำจำกัดความใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดประเภทว่าควรอยู่กลุ่มของหนังสารคดี (ว่าด้วยความรู้ทั่วไปและการรักษาตัวของผู้มีอาการข้อเข่าเสื่อม) หรืองาน fiction (ใช้นักแสดง, มีการ set-up, มีการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องอย่างด้วยลีลา rhetoric)
หลากหลายสอง: ซึ่งก็ตรงกับลักษณะร่วมที่พบเห็นจากงานของจุฬญาณนนท์เรื่องอื่น โดยเฉพาะในเรื่องของการย้อนรอยตามหาจุดกำเนิด ซึ่งสุดท้ายก็พบว่า แม้แต่ในหนังสั้นตัวตั้งต้น, ‘ไก่จิกเด็กตายฯ’ เองก็ยังมิวายพบจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องอื่นย้อนขึ้นไปอีกอยู่ดี (โดยเฉพาะ Syndromes and a Century, ‘แสงศตวรรษ’, 2006/2549, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เมื่อ ‘คุณป้า’ บทนำของเรื่องรำลึกได้ว่าที่ตนเองมีอาการปวดข้อเข่า น่าจะมาจากผลกรรมที่เคยกระทำกับ ‘ไก่’
ในแง่ของการเป็นสารคดีต้องนับว่า ‘ไก่จิกเด็กฯ’ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในการให้ความรู้ทางการแพทย์ในระดับที่เข้าใจได้ทั่วไป (ซึ่งตรงตามจุดมุ่งหมายของทางเจ้าของโครงการซึ่งเป็นผลให้ตัวหนังเฉพาะส่วนที่เป็นหนังสั้นได้รับการเผยแพร่และง่ายต่อการเข้าถึง) ขณะที่ในส่วนของความเป็นหนัง จุฬญาณนนท์ยังคง ‘เล่น’ กับลีลาการเล่าเรื่องซึ่งแบ่งได้เป็นสองช่วง โดยอาศัยฉากหลังในห้องตรวจเพียงอย่างเดียว
สมมติว่าถ้ามีการแบ่งหนังออกเป็นสองส่วนหลักๆ (ไม่นับในส่วนของการ ‘ให้ความรู้’ และการรักษา) จะเห็นได้ว่าครึ่งแรกเป็นการเข้ารีบการรักษาของคุณป้าในฐานะคนไข้ แต่พอเข้าช่วงครึ่งหลัง ‘คุณป้า’ จะเป็นฝ่ายย้อนกลับมา ‘ให้’ การรักษาคุณหมอไปแทน โดยจุฬญาณนนท์อาศัย ‘เรื่องเล่า’ ในส่วนของการไปเที่ยวดอยสุเทพแล้วนำ ‘น้ำมนต์’ มาแบ่งปันให้คุณหมอ (อาจจะเพื่อใช้ ‘แก้กรรม’ ให้คุณหมอบ้าง) ซึ่งคราวนี้คุณป้าได้เขยิบตัวเองโดยนำเอาน้ำมนต์มาใช้เยี่ยง ‘โอสถทางจิตวิญญาณ’ และคนซึ่งปลูกถ่ายและผลักดันให้คุณป้าเกิดการเปรียบเทียบ ก็มาจาก ‘เรื่องเล่า’ จากคนอื่นอีกทีเช่นกันคือ ‘แม่หมอยิปซี’ ในซีนเข้าเยี่ยมหลังการผ่าตัดสวมข้อเข่าเทียมที่ยกเอาเรื่องกำลังวังชาที่สามารถในการเดินขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ(ในคนปกติ)มาเป็นตัวกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้คุณป้าเกิดแรงฮึด (ยอมผ่าตัด) จนกระทั่งอาการหายดีเป็นปกติ คุณป้าก็นำ ‘พาว’ ที่ได้ มาใช้กับคุณหมออีกทอด
ในเมื่อเส้นเรื่องได้วางตัวละคร ‘แม่หมอยิปซี’ มาเป็นตัวเชื่อมต่อ (พอๆ กับประโยชน์และหน้าที่ของ ‘ข้อเข่าเทียม’ ในแง่ของการเชื่อมต่อในส่วนของ docu.) คือผลักดันให้คุณป้าหายไวๆ –> (เพื่อจะได้มีแรงขึ้นบันไดพระธาตุ) —> กลับมาแล้วก็นำน้ำมนต์มาให้หมอ (เพื่อจะได้ให้การรักษาเป็นการตอบแทน) โดยจุฬญาณนนท์ไม่ลืมที่จะนำหลักของการเล่าเรื่อง (และเขียนบท) ที่สมบูรณ์ของการที่เมื่อเริ่มต้นด้วยอะไร ก็ให้จบลงด้วยสิ่งๆ เดียวกัน เหมือนกับที่ขึ้นต้นด้วยข่าวในพระราชสำนัก (ราวคัทที่สามหรือสี่ซึ่งมาเป็นเสียงจากโทรทัศน์) เสร็จแล้วก็จบด้วยภาพข่าว ‘กลุ่มและคณะบุคคลเข้าถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หายจากอาการประชวร’, ข่าวช่วงปี 2556) ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครทันเห็น ‘คุณป้า’ ขณะออกทีวีซึ่งทั้งย้อนแย้งและ irony หากย้อนกลับไปดูองค์รวมของตัวเนื้อหาซึ่งกล่าวถึงการบำบัดอาการป่วย แม้จะด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม
‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา โดยมอบกันเป็นใบประกาศนียบัตรรับรองซึ่งต่อมาหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของโครงการออกมาแสดงตนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งกลายเป็น content หลักให้กับสารคดี The 100 Times Reproduction of Democracy โดย
1.) ใบประกาศได้ถูกใช้เป็นพร็อพที่แม้จะเป็นตัวสำเนา ทว่าผ่านกระบวนการให้ดูเป็น ‘ของแท้’ โดยมีลายเซ็นรับรองจากจุฬญาณนนท์กำกับทุกใบ และได้นำออกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลจำนวนหนึ่งร้อยคน โดยที่ผู้รับจะมีการบันทึกวิดีโอไว้ครบคน (ซึ่งคาดกันเล่นๆ ว่า หากใครได้รับใบประกาศรับรอง, ที่แม้จะมาจากพรินเตอร์รุ่นนี้ น่าจะมีมูลค่าหลักพันเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนผานเข้า) และ
2.) ตัวสารคดี ‘ไก่จิกเด็กฯ’ เองก็ผ่านการทำสำเนา (โดยเครื่องไรท์) กระจายตัวออกด้วยจำนวนหนึ่งร้อยเท่ากัน และผ่านการเผยแพร่ออกสู่คน (กึ่งๆ) สาธารณะ และจุฬญาณนนท์ก็ได้ปฏิบัติอย่างเดิมคือลงลายเซ็น endorse กำกับไว้ทุกแผ่นแสดงการเป็น ‘ของแท้’ อีกเช่นกัน
ประเด็นมีอยู่ว่า(หนังสั้น) ‘ไก่จิกเด็กฯ’ คราวนี้ เมื่อมองจากภายนอกได้ผ่านการทำซ้ำจนอยู่ในรูปของแผ่นดีวีดีไรท์ซึ่งสามารถนำมามำซ้ำมากแค่ไหนก็ได้ ต่อให้สัญญาณจะดร็อปลงกี่รุ่น, กี่เจ็นฯ ลองมีลายเซ็นรองรับจากเจ้าของงาน ก็มักเป็นที่ยอมรับว่า นี่(ก็)เป็นของแท้ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องสามัญและยังอาจนำไปใช้อุปมาอุปไมยกับสิ่งที่ผ่านการทำซ้ำ + ก็อปต่อๆๆ กันไม่รู้ต่อกี่รุ่น แค่มีลายเซ็นรับรองก็ผ่านฉลุย โดยไม่นำพาว่าเนื้อในจะบอบช้ำ, ผุพัง, ใช้การไม่ได้ (แม้กระทั่งในเคสที่เลวร้ายหนักกว่านั้นอีกอย่าง เป็นที่ยอมรับโดยอุปทานว่าเป็นของแท้ จนเกิดภาวะ ’emperor’ s new cloth’ คือต่อให้มีข้อบกพร่องแค่ไหน ก็ยังมีคนพร้อมที่จะมองข้ามข้อบกพร่องตรงนั้น แล้วยอมรับว่ามันยังคงใช้การได้อย่างมีคุณค่า) อย่างประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการถูกละเมิด – ทำซ้ำ – เขียนขึ้นใหม่ๆๆๆ – โดยอาศัยสาระสำคัญและเนื้อหาที่มีอย่างเดิม – ทว่ามีการลงนามรับรอง(ความถูกต้องชอบธรรม)
เมื่อถึงที่สุดแล้ว ตัวหนังทั้งเรื่องของ 100 Times Reproduction of Democracy คงไม่ต่างกับการนำ ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ มารีเมคตัวของมันเอง ทว่ามิใช่เรื่องของการนำมาเล่าใหม่ในแง่ของพล็อต ทว่าเป็นเรื่องของการทะลุทะลวงไปสู่บริบทอื่นทั้งในแง่ของมีเดีย (ความล้มเหลวของสัญญาณภาพ) แล้วตัวความล้มเหลวแบบเดียวกันก็ถูกนำไปทาบทับกับความพังของสิ่งอื่นที่มีรูปทรงแบบเดียวกันคือทรงกลม และเมื่อนำมาเทียบเคียงกัน แผ่นดีวีดี princo ที่เห็นกันแพร่หลายก็คงไม่ต่างจากหมุดคณะราษฎร (แล้วหนังก็พาในส่วนของประเด็นเนื้อหาไต่ระดับต่อได้อีกเรื่อยๆ)
ถึงได้เข้าใจว่า ‘เครื่องหมายการค้าประจำตัว’ ซึ่งมีให้พบเห็นในหนังของจุฬญาณนนท์แทบจะทุกเรื่อง ที่เป็นหลอดไฟต่อกันเป็นรูปทรงพีระมิด (ซึ่งใน Forget Me Not ก็มีให้เห็นกันในส่วนต่อขยายจากเรื่องเดิม โดยจุฬญาณนนท์เชื่อว่าถ้าเรื่องยังไม่ควรจะจบ ก็น่าที่จะไปต่อได้เรื่อยๆ จนกระทั่งล่วงเข้าโซน ‘ประชาธิปไตย’ = หลังความตายของคุณหญิง) จนกระทั่งมาพบคำเฉลยที่พอจะเป็นไปได้ใน 100 Times Reproduction of Democracy ส่วนรอบฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ล้อมรอบด้วยปีกสี่ปีก แต่ทันทีที่ลองหุบปีกทั้งสี่เข้าหากัน สิ่งที่ได้ก็น่าจะเป็นสามเหลี่ยมสี่ด้าน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นมองจากมุมสูง พื้นที่รอบฐานอนุสาวรีย์ฯ จริงๆ แล้วเป็นวงกลม
หมุด(ที่หายไป)ของคณะราษฎร, ‘เมื่อเวลาย่ำรุ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ….’ ที่หายไป แล้วถูกแทนที่โดยหมุด ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ เมื่อมีของอีกอย่างถูกทำให้เชื่อว่าเป็น ‘ของแท้’ จนกระทั่งกลายเป็นมีมแห่งชาติ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าตัวต้นตำรับหายไปไหน, ถูกทำลาย, เปลี่ยนสภาพ หรือไม่ก็ถูกนำไปหลอมเป็นเศษ สุดท้ายค่าวัดความเป็น ‘ของแท้’ กับ ‘ของปลอม’ อยู่ที่ตรงไหน (ต้องมาจากทางการก่อน แล้วค่อยยอมรับว่าเป็น ‘ของจริง’ หรือ ทำขึ้นมาใหม่ แล้วผ่านการเซ็นรับรอง จึงจะมีค่าเป็นของแท้ โดยไม่สนใจว่าข้างในจะผุจะพัง, ใช้การไม่ได้ และพร้อมจะถูกทำลายทิ้งเมื่อไม่เป็นที่ต้องการ)
เหลือวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนของ(ที่ว่า)แท้ให้ดูเป็นของเก๊ได้ คงต้องเริ่มที่ตัวของมันเองว่าผ่านการก็อป, ทำซ้ำ, เพิ่มจำนวน จนกระทั่งตัวสำเนากลายเป็นของจริง หลังจากนั้นก็คงต้องปล่อยให้ตัวสำเนาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงของแท้ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันหนึ่งตัวสำเนา replica ก็ย่อมเผลอหลุดข้อบกพร่องออกมา นำไปสู่การตรวจสอบย้อนกลับขึ้นไปหาต้นทาง จนกระทั่งถึงจุดที่ของ(ที่ว่า)แท้ชิ้นนั้นก็ใช้การไม่ได้ ตัว original ก็ย่อมที่จะถึงกาลปลดระวาง, ยุติการใช้งานและหมดอายุตัวของมันในที่สุด
สำนวน ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ เองก็มีความเป็นสมบัติสาธารณะ (เท่าๆ กับที่ตัวของถ้อยคำเองก็มิได้ concieved ด้วยการเป็นหนังสั้น) เมื่อถึงวันหนึ่ง แม้แต่ภาพนิ่งรูปตัวละครคุณป้าเกาะโอ่งก็ได้ถูกใช้เป็นภาพประกอบปริศนาเกมโชว์ ในเวลาเดียวกันตัวหนังสั้น (และใบประกาศฯ) เองก็ผ่านการทำซ้ำจนหมดความเป็น original หมุดคณะราษฎร(และรัฐธรรมนูญ)ก็คงไม่ต่างกัน ในเมื่อแทบทุกฉบับผ่านการก็อปต่อๆ กันมา จะต่างกันก็แค่คำประกาศใช้ โดยยกเลิกฉบับเดิมทิ้ง(นับตั้งแต่วันนี้ๆๆๆ เป็นต้นไป) ทว่าเนื้อหา, สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม
‘คุณป้า’ อาจผันมาเป็นผู้ให้การรักษาบ้าง ในทันทีที่เธอได้รับน้ำมนต์ปลุกเสก (หลังเข้ารับการผ่าตัด เมื่อกำลังวังชาเริ่มเข้าที่เป็นปกติ), ตอนนี้คุณเป็นผู้เข้าเยี่ยม วัน(เอ๊ย ‘ซีน’)ถัดๆ มาถึงได้รู้ว่าคุณเป็นหมอ(ดูไพ่ยิปซี) แล้วก็ให้การรักษาหมดทั้งคุณป้า(ในทางขวัญและพลังใจ) แล้วคุณป้าได้นำทุกอย่างที่ว่ามาย้อนกลับไปรักษาคุณหมออีกต่อ พอ ‘ไก่จิกเด็กฯ’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 100 Times Reproduction of Democracy บ้าง ‘แม่หมอยิปซี’ ก็ข้ามเรื่องซึ่งสนธิจักรวาลเข้าไว้ด้วยกันเป็นที่เรียบร้อย หันมา ‘ให้การรักษา’ จุฬญาณนนท์ ด้วยคำแนะนำแก้กรรมตามวิธีเดียวกับคุณป้าคือไก่สะเดาะเคราะห์จำนวนร้อยตัว พร้อมสั่งกำชับห้ามทำหนังซึ่งมีเนื้อหาการเมือง พร้อมกับให้ย้อนกลับไปหาธรรมชาติ + ศิลปะ อย่าง ‘ภาพวาด’
กลายเป็นว่า inception ของจริง (ที่มิใช่หนังโนแลน) กลายเป็น ‘คำแนะนำของแม่หมอยิปซี’ ที่สุดท้ายก็พาทุกอย่างย้อนกลับไปตั้งต้นที่ลำธารมิตาเกะ(ธรรมชาติ) – ‘ข้างหลังภาพ’ (รูปวาด) – Forget Me Not ซึ่งทำให้หนังสองเรื่องจึงเป็นทั้งเงา, รอยคู่ขนานและสองหน้าบนเหรียญเดียวกัน หรือไม่ก็สองด้านซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน:หมุดคณะราษฎร/หมุดไพร่ฟ้าหน้าใส, ด้าน emulsion/ด้านข้อมูลบนแผ่นดีวีดี (ที่ไม่สำคัญว่าเป็นแผ่นแท้หรือแผ่นไรท์ princo)
หรือแม้กระทั่ง แผ่นดิสค์ดีวีดีไรท์ ‘ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง’ -> หมุดคณะราษฎร -> ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เป็นรูปทรงเป็นวงกลมเหมือนกัน -> ตัวของประชาธิปไตยเองที่วนเป็นลูป เดี๋ยวตามเดี๋ยวทวนเข็มนาฬิกา