Home Film News ปัญหาซ่อนเร้นของหนังไทย 1 รอบทั้งประเทศ

ปัญหาซ่อนเร้นของหนังไทย 1 รอบทั้งประเทศ

ปัญหาซ่อนเร้นของหนังไทย 1 รอบทั้งประเทศ

สารคดีไทย School Town King ‘แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ผลงานของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เข้าฉายโรงเมื่อ 17 ธ.ค. 63 ด้วยการฉายแบบ exclusive กับโรงหนังเครือ เอสเอฟ แต่เมื่อประกาศรอบออกมา พบว่ามันฉายแค่รอบเดียวคือ 18.00 น. ที่ เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนจะเพิ่มให้อีกรอบที่สาขาเดิม ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเท่ากับว่าหนังเรื่องนี้เข้าฉายเพียง 1-2 รอบต่อวัน จากทั้งประเทศ นำมาสู่ข้อถกเถียงว่าจำนวนรอบเพียงเท่านี้คงไม่สามารถพาหนังไปถึงคนดูได้มากเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าหนังสามารถเข้าถึงการฉายกับ 1 ใน 2 เครือหลักที่มีโรงหนังกระจายไปทั้งประเทศแล้ว

สถานะ 1-2 รอบทั้งประเทศนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มันเป็นปัญหาหมักหมมของหนังไทยอิสระที่ไม่ได้มีกำลังมากพอจะผลักดันหนังให้กระจายสู่คนดูวงกว้างได้ ณัฐวร สุริยสาร หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Filmocracy ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการหนังเพื่อนำไปสู่ความหลากหลายของผู้ผลิตและการอยู่รอดในวิชาชีพ โดยกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ ได้ให้ความเห็นในสถานการณ์นี้ว่า “ผมไม่แน่ใจว่าคนดูจะสนใจการมีอยู่ของหนังกลุ่มนี้รึเปล่า เพราะผมก็เพิ่งเห็นคนแสดงความเห็นว่าเอสเอฟก็ใจดีนะที่ให้รอบฉายหนังเรื่องนี้ด้วย แต่ผมมองว่ามันต้องถึงขนาด 1 รอบทั้งประเทศเลยหรือ

“ผมเคยคิดว่าสิ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จคือการประชาสัมพันธ์ สำหรับ School Town King เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าเขาไม่ได้มีศักยภาพการประชาสัมพันธ์ได้เท่าหนังจากค่ายใหญ่ๆ แน่นอน ซึ่งหนังแบบนี้ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้มีโอกาสที่จะทำเงินได้ในระดับหนังสตูดิโอแน่ๆ การที่เขาเลือก Exclusive นั่นหมายความว่าเขาก็คาดหวังจะได้รับการผลักดันอีกแรงจากโรงภาพยนตร์”

การได้รับการปฏิบัติเช่นนี้จากโรง อาจมองได้ว่าหนังที่ไม่ได้มีกำลังทั้งเรี่ยวแรงและเม็ดเงินเพื่ออัดฉีดการประชาสัมพันธ์สู่วงกว้าง คงไม่แคล้วจะสร้างกลุ่มคนดูไม่มากไปกว่าพื้นที่ที่หนังได้รับจากโรงหนังนัก แต่ขณะเดียวกันพื้นที่อันจำกัดก็ปิดกั้นการเข้าถึงของกลุ่มคนดูด้วยเช่นกัน ณัฐวรจึงมองว่าปัญหาเหล่านี้แก้ที่ผู้สร้างและโรงหนังคงไม่พอ “รัฐควรทำอะไรสักอย่างเพื่อสนับสนุนหนังประเทศตัวเองมากกว่านี้ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือคนทำหนังอิสระไทยสามารถอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ในนามคนทำหนังศักดิ์ศรีเรามีอยู่แล้ว คนข้างนอกก็อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อหนังอิสระใหม่หมดเลย หากอยากทำให้หนังไทยเดินหน้าไปได้จริง การผลักดันระดับนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถึงจะมีการเปลี่ยนความคิดต่อหนังไทยได้ทั้งหมด หนังอิสระกับหนังสตูดิโอจึงจะมีศักดิ์ศรีเท่ากันในฐานะคนทำหนังไทยเหมือนกัน”

ระดับนโยบายที่ณัฐวรกล่าวถึงควรจะเป็นอย่างไร อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เผยว่าขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อหาทางสนับสนุนการจัดจำหน่ายหนังไทยอิสระ เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยล่าสุดได้หารือกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และความร่วมมือจากบุคลากรในวงการหนัง ผู้เชี่ยวชาญการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ทั้งในระบบสตูดิโอและอิสระ เพื่อให้หนังไทยอิสระสามารถสร้างรายได้ในทุกมิติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกหนังด้วยพิจารณาจากคุณค่าทางศิลปะและโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้าง ‘สภาภาพยนตร์’ อันเป็นแผนระยะยาวของสมาคมฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและวงการหนังอย่างยั่งยืน

อนุชาเผยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับ School Town King มันสะท้อนให้เห็นปัญหาการผูกขาดของระบบโรงหนังที่อยู่แค่ 2 เครือหลัก เราขาดแคลนโรงหนังที่สนับสนุนการฉายหนังเล็กๆ แบบนี้จริง สะท้อนความลำบากของหนังอิสระในประเทศ จนยากที่จะเกิดคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาในอนาคต

“สิ่งที่ดิฉันอยากจะพูดคือเรื่องการสร้างคน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ รวมถึงหนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ส่วนใหญ่มันก็เกิดจากคนทำหนังที่ผ่านประสบการณ์การดิ้นรนในหนังอิสระมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ทำ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ หรือแม้แต่ดิฉันเองก็ตาม กระทั่งหนังหรือซีรีส์วายที่สร้างตลาดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็มาจากคนที่เคยทำหนังอิสระมาก่อน และไม่ใช่แค่ผู้กำกับ หนังอิสระยังสร้างคนอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบทหรือแม้แต่นักแสดง ที่ก็ได้โอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ในหนังอิสระ”

ดูเหมือนหนังไทยที่อยู่รอดได้ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแค่ในระบบสตูดิโอที่มีกลไกการจัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน หนังอิสระก็เหมือนเป็นบันไดก้าวแรกของนักทำหนังอีกมากมาย จนปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังอิสระเองก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกันในการขับเคลื่อนวงการหนังไทย

“ความเป็นหนังอิสระสำหรับดิฉัน ไม่อยากจำกัดความแค่ต้นทางการผลิตจากแหล่งเงินทุนอิสระ แต่อยากให้มองถึงความแตกต่างและสร้างความท้าทายในการรับชม หนังที่สร้างการถกเถียง ซึ่งมันไม่ได้มีพื้นที่นี้ในหนังสตูดิโอมากเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ที่ค่ายใหญ่สร้าง ‘รักแห่งสยาม’ ออกมา และทุกวันนี้มันจะเกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีพื้นที่อิสระ ซึ่งมันก็สะท้อนความล่มสลายของวงการหนังในภาพรวมได้เช่นกัน”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here