Business Update : ศึกสตรีมมิ่งในอินเดีย & มาตรการอุ้มหนังในจีน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด เริ่มเข้าสู่ภาวะคลี่คลายในหลายประเทศ ความเคลื่อนไหวของธุรกิจภาพยนตร์โลกเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมาดังนี้

อินเดีย อีกหนึ่งสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่ง

สำหรับผู้ประกอบการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ อย่าง Netflix หรือ Amazon Prime สองตลาดสำคัญที่ยังเจาะไม่ได้คือ ประเทศจีน และอินเดีย สำหรับประเทศจีน เหตุผลสำคัญคือที่นั่นมีผู้เล่นหลักอยู่แล้ว อย่าง Iqiyi หรือ Tencent อยู่แล้ว ซึ่งแค่ผู้ประกอบการสองรายหลักก็มีสมาชิกรวมกันกว่า 170 ล้านคนแล้ว (ขณะที่ Netflix มีจำนวนสมาชิกในอเมริกา 60.6 ล้านคน และอีก 97.8 ล้านคนทั่วโลก รวมเป็น 158.4 ล้านคนเท่านั้น) ส่วนอินเดีย ด้วยความที่คนยังผูกพันกับการชมภาพยนตร์ในโรง ประกอบกับ ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่เสถียร เลยทำให้ธุรกิจสตรีมิ่งยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เปรียบเทียบง่ายๆ จากรายได้ โดยรายได้จากขายบัตรชมภาพยนตร์ในอินเดียเมื่อปี 2019 สูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ ขณะที่รายได้ของธุรกิจสตรีมมิ่งในอินเดีย 267 ล้านเหรียญเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับธุรกิจสตรีมมิ่งในอินเดียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อ Disney Plus Hotstar ซึ่งเกิดจากการควบรวบของบริษัท Hoststar ซึ่งเป็นสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ของอินเดียนำเสนอคอนเทนต์ทั้งหนังซีรีส์ และกีฬา กับ Disney Plus ซึ่งเป็นกิจการสตรีมมิ่งของบริษัท Disney ได้วางแผนที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลายและแข็งแรง (แน่นอนว่าในจำนวนนี้ต้องรวมถึงหนังของดิสนีย์หลากหลายแนวด้วย) มีการคาดหมายกันว่า ภายในปี 2020 น่าจะมีรายได้จากค่าสมาชิกและค่าโฆษณารวมกัน 174 ล้านเหรียญ และจะเพิ่มเป็น 900 ล้านเหรียญในปี 2025 เท่ากับว่า Disney Plus Hotstar จะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจสตรีมมิ่งในอินเดีย เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Amazon Prime และ Netflix เสียอีก

แม้ว่าการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่งในอินเดียเป็นไปอย่างเข้มข้น จริงจัง แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการโรงหนังในอินเดียอยู่ไม่น้อย เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ ทั้ง Disney Plus Hotstar Amazon Prime และ Netflix ต่างแย่งกันซื้อสิทธิ์หนังอินเดียมาครอบครอง ทำให้หนังเหล่านี้จะไม่มีโอกาสฉายในโรงภาพยนตร์ ร้อนไปถึงสมาคมโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ต้องออกแถลงการณ์ดักคอ “เราขอกระตุ้นเตือนต่อ บริษัทสร้างภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ ศิลปินดารา และผู้สร้างคอนเทนต์ ให้เคารพต่อ ช่องทางการฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติกันมานานหลายทศวรรษไม่เพียงเฉพาะแค่ในอินเดีย แต่รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก” เชื้อไฟแห่งความขัดแย้งเริ่มต้นจากบริษัท Amazon Prime ได้ซื้อสิทธิ์หนังอินเดียชื่อหนัง Gulabo Sitabo จนทำให้หนังไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์เป็นอย่างมากจนนำมาสู่แถลงการณ์จากสมาคมโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์

ผู้เขียนเชื่อว่า การเติบโตของธุรกิจสตรีมมิ่ง และความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการสตรีมมิ่งกับโรงภาพยนตร์ จะต้องบานปลายเข้าไปในหลายประเทศแน่นอน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new norm) ที่อาจทำให้เราให้โครงสร้างการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในเวลาไม่ช้า

อ้างอิง :


รัฐบาลจีนอุ้มธุรกิจภาพยนตร์หลังจากเสียหายหนักเพราะพิษโควิด 19

รัฐบาลจีนได้ออก 2 มาตรการสำคัญ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนที่ต้องประสบปัญหาจากวิกฤตโรคโควิด 19 ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ทุกประเภทในปีนี้ ถ้าผู้ประกอบการชำระไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ หรือไม่ก็เก็บไว้เพื่อหักภาษีที่จะถูกจัดเก็บในปีถัดไป โรงภาพยนตร์ในจีนอย่างน้อย 2,300 โรงทั่วประเทศต้องหยุดกิจการนับตั้งแต่โรคโควิด 19 ระบาด และมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ รายได้ของบ็อกซ์ออฟฟิศในประเทศจีนจะหายไปกว่า 4.2 พันล้านเหรียญ

อีกมาตรการที่รัฐบาลได้ออกเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์คือการอนุญาตให้บริษัทสร้างภาพยนตร์ในประเทศจีนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบรายเดือนเข้ากองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ โดยรัฐจะงดจัดเก็บตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม ยกเว้นบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด 19 ทางรัฐบาลจะงดจัดเก็บเงินสมทบตลอดทั้งปี

อ้างอิง :

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES