Home Film News ถึงคราวอวสาน หนังสือหนังออเตอร์?

ถึงคราวอวสาน หนังสือหนังออเตอร์?

ถึงคราวอวสาน หนังสือหนังออเตอร์?

ลำพังสถานการณ์ปกติเราก็พอเห็นทิศทางที่ไม่น่าวางใจนักของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารหนัง ที่หลายหัวยังพยายามประคับประคองเพื่อความอยู่รอดอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด-19 เสมือนเป็นการเหยียบคันเร่งให้จุดจบมาถึงเร็วขึ้น และที่สะเทือนวงการคือจุดเปลี่ยนของนิตยสารหนังออเตอร์ หรือหนังสือหนังสายแข็งที่เต็มไปด้วยบทวิเคราะห์เชิงลึกอย่าง Film Comment ของอเมริกา และ Cahiers du Cinéma ของฝรั่งเศส

Film Comment เป็นนิตยสารรายสองเดือน จะวางแผงฉบับเดือนพ.ค.-มิ.ย. นี้เป็นฉบับสุดท้าย ส่วน Cahiers du Cinéma ได้นายทุนใหม่มาโอบอุ้ม แต่จำเป็นต้องรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมด …เพราะเช่นนี้เองที่ทำให้เหล่านักวิจารณ์หนังร่วมอาชีพคาดเดาว่า “จุดจบของนิตยสารหนังออเตอร์มาถึงแล้ว”

Film Comment ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1962 โดย Film at Lincoln Center ซึ่งเป็นสโมสรเพื่อหนังอิสระและหนังต่างประเทศ แต่พอเจอโรคระบาดเลยต้องเลิกจ้างพนักงานไปครึ่งหนึ่ง และโละพนักงานพาร์ตไทม์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลไม่ต่างกันนักกับ ‘พระนครฟิลม์’ และ ‘ธนาซีเนเล็กซ์’ ที่เพิ่งหยุดกิจการไปก่อนหน้า นั่นคือในภาวะที่ยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายเมื่อไหร่ และฟื้นฟูได้สมบูรณ์ตอนไหน ทางออกที่ดีที่สุดคือการตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งหมด อย่างน้อยก็ยังจะพอประคับประคององค์กรไปได้ เลสลี เคลนเบิร์ก ผู้อำนวยการ Film at Lincoln Center กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องลำบากใจก็จริง แต่การตัดสินใจเช่นนี้ เราก็น่าจะยังอยู่รอดงดงามได้ในวันที่ฟ้าเปิด”

ขณะที่ Cahiers du Cinéma ของฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น มันเกิดขึ้นเมื่อปี 1951 จากกลุ่มคนรักหนังและนักวิจารณ์จนกระทั่งมันเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของเหล่านักเขียน ทั้ง เอริก โรห์แมร์, โคล้ด ชาร์โบ, ฌ็อง ลุก โกดาด์ และ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ที่ต่อมาพวกเขาไปขับเคลื่อน French New Wave ด้วยสื่อในมือชิ้นนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นนักทำหนังสุดยิ่งใหญ่ทั้งคณะ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำหนังอีกมากมายผ่านบทความต่างๆ จะกล่าวว่า Cahiers du Cinéma เป็นนิตยสารที่สร้างวงการหนังฝรั่งเศสก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้นเมื่อมันกำลังจะไปไม่รอด เหล่านักลงทุนในวงการหนังฝรั่งเศสทั้งโปรดิวเซอร์และสตูดิโอจึงช่วยกันโอบอุ้มมันไว้ อย่างน้อยก็สามารถใช้มันเป็นสื่อน้ำดีให้กับวงการได้ และหนึ่งในแผนดังกล่าวคือจับมันแปลงโฉมให้ไฉไลขึ้น

มีแนวโน้มว่าคนทำหนังฝรั่งเศสจะเวียนกันมาเขียนบทความในเล่ม และเต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์ เพื่อสนับสนุนหนังที่กำลังจะฉาย ซึ่งนี่คือสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักต่อตัวตนของ Cahiers du Cinéma … ริชาร์ด บรอดี้ จาก The New Yorker บอกว่าปรับให้ตายยังไงก็ไม่ “ชิค” อย่างที่ทีมบริหารใหม่ต้องการแน่นอน เพราะตัวตนของ Cahiers du Cinéma คือความเข้มข้นจริงจัง ส่วน ชาร์ลส บราเมสโก แห่ง Little White Lies ก็บอกว่าจะเปลี่ยนก็ได้แต่นั่นหมายความว่า “Cahiers du Cinéma คนเก่าได้ตายไปแล้ว”

นักเขียนเก่าของ Cahiers du Cinéma ลงนามไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของทีมบริหารใหม่ โดยเฉพาะการทำลายจุดยืนของมันอย่างการวิจารณ์ที่อยู่เหนือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งนั่นเองมิใช่หรือที่ทำให้ Cahiers du Cinéma มีบารมีมาเกือบ 70 ปี

สเตฟาน เดอลอร์เม บรรณาธิการบริหาร Cahiers du Cinéma ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ความเห็นว่า “หลายคนในตอนนี้เห็นว่าการวิจารณ์จะเป็นไพ่ใบสุดท้ายของแผนประชาสัมพันธ์ เรายังยืนยันที่จะสนับสนุน ‘หนังออเตอร์’ และแน่นอนว่ามันจะไม่เฉพาะแค่หนังที่เข้าโรงในขณะนั้นอยู่แล้ว เหล่าผู้กำกับและโปรดิวเซอร์มักมองว่าสื่อมวลชนจะช่วยพวกเขา การให้พื้นที่กับคนทำหนังได้เล่าหรืออธิบายหนังตัวเองเพื่อแก้ต่างหรืออะไรก็ตาม มันเป็นการทำลายวัฒนธรรมการวิจารณ์ …การวิจารณ์ที่ดีมันไม่ควรคาดเดาได้หรือควบคุมได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ใครหน้าไหนจะกำกับมันได้ทั้งนั้น”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here