ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉิดฉายในระดับโลกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และหนังของเขา ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ที่ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 ก่อนที่ต่อมาหนังเรื่องนี้จะนำรางวัลปาล์มทองกลับมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ
หลังจากการกลับมาพร้อมปาล์มทองของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ มันก็เข้าฉายหนึ่งโรง และทำรายได้ไปถึง 1 ล้านบาท นับเป็นความน่าตื่นเต้นของวงการหนังอิสระไทยเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดความหวังว่าความสำเร็จนั้นจะสามารถสร้างที่ทางใหม่ๆ ให้กับหนังอิสระไทยได้เสียที ในฐานะที่หนังสามารถเป็นที่ยอมรับของทั้งภาครัฐและประชาชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบปี อภิชาติพงศ์มองว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เย้ายวนสำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว
“จากการที่เราไปวุ่นอยู่กับงานศิลปะและย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ความรู้สึกเรามันไม่น่าตื่นเต้นแล้ว เหมือนที่ผ่านมาคนทำหนังอิสระอย่าง พิมพกา (โตวิระ) หรือ อโนชา (สุวิชากรพงศ์) ก็ยังต้องดิ้นรนหาโรงฉาย จากมุมมองของเรากลับรู้สึกว่าความตื่นตัวในวงการละครมันน่าตื่นเต้นกว่า ส่วนวงการหนังสำหรับเรามัน settle แล้วว่ามันไม่ใช่ความหวังสำหรับหนังอิสระจริงๆ
เราไม่อยากวัดแค่จากโรงหนังเท่านั้น เราอยากวัดว่าหนังมันน่าตื่นเต้นแค่ไหน ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องการค้าเลย มันมีหนังที่น่าตื่นเต้นสำหรับเรารึเปล่า ไม่ใช่แค่หนังไทยด้วยนะ มันเป็นกันทั้งโลกเลย มันมีความเฉื่อยชาอยู่”
สำหรับอภิชาติพงศ์ นั่นหมายความว่ารางวัลปาล์มทองแรกของไทยไม่ได้ส่งผลในแง่ใดทั้งสิ้นต่อวงการหนังอิสระไทย เพราะสุดท้ายแล้วหนังอิสระก็ยังต้องดิ้นรนคงเดิม สถานะของมันที่มีต่อผู้ชม โรงหนัง และภาครัฐ ก็ไม่ต่างไปจากก่อนปาล์มทอง แต่เขามองว่ามันเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความตื่นตัวของสังคมไทยที่มีต่อการเมือง ทว่ามันยังไม่ออกดอกผลมาในหนังไทยเท่าไหร่นัก “เห็นว่ามีความพยายามหาจุดเชื่อมโยงระหว่างหนังกับความตื่นตัวทางการเมืองในสังคมไทยอยู่ แต่มันยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะช่วงโควิดยิ่งชี้ให้เห็นชัดถึงความล้มเหลวของรัฐบาลทหาร แต่เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ถ้าเรายังนำเสนอไม่ได้ ถ้ายังมีปัจจัยที่มีกำหนดให้เราไม่สามารถพูดได้ มันก็ยังไม่มีความน่าตื่นเต้นเกิดขึ้น มันเลยเหมือนอยู่ในช่วงการปรับตัวในการนำเสนอ เป็นการฝึกวิทยายุทธผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านทวิตเตอร์ รอให้เราเรียนรู้และเรียบเรียงมันยังไงให้น่าสนใจ”