รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 1 : ฟิลิปปินส์)

(ภาพเปิด : Lav Diaz ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์ ขณะมาร่วมงานฉายหนัง From What Is Before (2014) ในวันที่ 6 ธันวาคม 2015 ที่โรงภาพยนตร์ House RCA ภาพถ่ายโดย Theeraphat Ngathong)

หากกล่าวถึงความโดดเด่นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศต่างๆ ในช่วงระยะ 5 – 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเทศที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุด เห็นจะได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้พิจารณาได้จาก การหลั่งไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมของผู้สร้างสรรค์เลือดใหม่ การตอบรับจากผู้ชมภายในประเทศตนเอง และการยอมรับในต่างประเทศ

โดยเฉพาะการยอมรับจากต่างประเทศ ภาพยนตร์หลายเรื่องจากทั้งสามประเทศไม่เพียงได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมงานในเทศกาลสำคัญของโลกเหล่านั้น แต่ยังได้รับรางวัลกลับมาอีกด้วย เช่น ภาพยนตร์ 3 เรื่องจากฟิลิปปินส์ที่สร้างปรากฏการณ์คว้ารางวัลจากเทศกาลสำคัญของโลกในปี 2016 ถึง 3 รางวัล ได้แก่ Ma Rosa ของผู้กำกับบริลันเต แมนโดซาที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ภาพยนตร์เรื่อง A Lullaby to A Sorrowful Mystery และภาพยนตร์เรื่อง The Woman Who Left ของผู้กำกับลาฟ ดิอาซ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชนะเลิศ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินและเวนิซ ตามลำดับ หรือภาพยนตร์จากสิงคโปร์เรื่อง Pop Aye (คริสเทน ทัน) ที่ได้รับรางวัล Jury Price เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ในปี 2017 และภาพยนตร์เรื่อง A Land Imagined (เยียวซิวฮวา) ซึ่งได้รับสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โนในปี 2018 รวมถึงภาพยนตร์จากอินโดนีเซีย เรื่อง Vengeance Is Mine. All Others Pay Cash ของผู้กำกับเอ็ดวินที่เพิ่งได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โนของปีนี้เป็นต้น

หากมาลองพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีความก้าวหน้าถึงเพียงนี้ แน่นอนว่า บุคลากรที่เต็มด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์และเปี่ยมด้วยความสามารถ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมมีความแข็งแรงและมั่นคง แต่ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในกลางขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เคลื่อนที่อย่างเป็นระบบ นั่นก็คือหน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ของรัฐ

ด้วยเหตุนี้ในบทความชุดนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ผ่านหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบกิจการภาพยนตร์โดยเฉพาะ โดยมุ่งนำเสนอถึงที่มาของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ในส่วนของการสนับสนุน การส่งเสริม และการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน


ประเทศฟิลิปปินส์

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจัง โดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ได้ตั้งหน่วยงานชื่อ ภาพยนตร์ทดลองแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Experimental Cinema of the Philippines) ขึ้นในปี 1982 มีหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ที่กำลังเติบโต ด้วยการสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการของหน่วยงาน การจัดเทศกาลภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมให้ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้รับการเผยแพร่ รวมถึงการตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ภาพยนตร์ในฐานะมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ1https://en.wikipedia.org/wiki/Cinema_of_the_Philippines

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ผ่านหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง โดยชื่อของหน่วยงานได้ถูกเปลี่ยนจากภาพยนตร์ทดลองแห่งประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1982 มาเป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาภาพยนตร์แห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Film Development Foundation of the Philippines) ในปี 1985 ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็น สภาการพัฒนาภาพยนตร์แห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Film Development Council of the Philippines) ในปี 2002 จนถึงปัจจุบัน2https://en.wikipedia.org/wiki/Cinema_of_the_Philippines

ในแง่ของการบริหารจัดการ สภาการพัฒนาภาพยนตร์แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ดำเนินการบริหารโดยกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดยตรง โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ปัจจุบันประธานของสภาการพัฒนาภาพยนตร์แห่งฟิลิปปินส์ คือ ลิซ่า ดิโน อดีตนางงามและนักแสดงที่มีชื่อเสียง เธอได้รับเลือกจากประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต ให้ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 20163https://www.fdcp.ph/sites/default/files/LIST-OF-OFFICIALS.pdf


บทบาทและหน้าที่

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ สภาการภาพยนตร์พัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย บทบาทการสนับสนุน บทบาทการส่งเสริม และบทบาทของการเป็นศูนย์กลางเชื่อมทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม

https://www.fdcp.ph/createphfilms – access on August 26, 2021

1. บทบาทการสนับสนุนภาพยนตร์

แบ่งเป็นการสนับสนุนในรูปของการให้เงินทุนสนับสนุน และในรูปแบบของสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (Tax Incentive) สำหรับการสนับสนุนทางด้านการเงิน สภาการพัฒนาภาพยนตร์แห่งประเทศฟิลิปปินส์ได้ตั้งโครงการที่ชื่อ CREATEPHFILMS4https://www.fdcp.ph/createphfilms เปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์และผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ขอการสนับสนุนทางด้านเงินทุนในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ โดยรูปแบบของทุนสนับสนุนแบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้แก่

1) ทุนเขียนบท โปรเจกต์ละ 100,000 เปโซ หรือประมาณ 67,000 บาท
2) ทุนพัฒนาโปรเจกต์ โปรเจกต์ละ 200,000 เปโซ หรือประมาณ 134,000 บาท
3) ทุนผลิตภาพยนตร์ แบ่งเป็นทุนสำหรับภาพยนตร์ทุนต่ำ (ทุนสนับสนุนโปรเจกต์ละ 1ล้านเปโซ หรือประมาณ 670,000 บาท) และทุนสนับสนุนภาพยนตร์ทุนสูง (อยู่ระหว่าง 3 ล้านเปโซ ถึง 5 ล้านเปโซ หรือ ประมาณ 2 ล้านบาทถึง 3.35 ล้านบาท)
4) ทุนสำหรับกระบวนการหลังการถ่ายทำ (ทุนสนับสนุนโปรเจกต์ละ 3 แสนเปโซ หรือประมาณ 2 แสนบาท)
5) ทุนสนับสนุนการจัดจำหน่ายที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายได้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ขอรับการสนับสนุน โดยทุนนี้มีเงินสนับสนุนให้ทุนละ 3 แสนเปโซ หรือ 2 แสนบาท

สำหรับเงื่อนไขการขอการสนับสนุนนั้น ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องลงทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลของสภาการสนับสนุนภาพยนตร์ (จะขอกล่าวถึงต่อไป) เสียก่อน จากนั้นจึงทำการสมัครขอทุนสาขาต่างๆ และส่งรายละเอียดตามเงื่อนไขที่กำหนด โปรเจกต์ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการจะได้รับทุนสนับสนุนในลำดับถัดไป

อนึ่งนอกจากทุนสนับสนุนสำหรับภาพยนตร์ทั่วไปแล้ว สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนภาพยนตร์สารคดีผ่านโครงการชื่อ SineSaysay Documentary Film Lab and Showcase5https://fdcp.ph/sinesaysay/ ที่เปิดโอกาสให้นักทำหนังสารคดี และนักศึกษาภาพยนตร์ ที่มีผลงานภาพยนตร์สารคดีไม่เกินสองเรื่องได้ขอรับการสนับสนุน โดยทุนที่ให้การสนับสนุนแบ่งเป็นทุนสำหรับการพัฒนาโปรเจกต์ ซึ่งโปรเจกต์ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนเงินจำนวน 1 แสนเปโซ (67,000 บาท) และทุนผลิตภาพยนตร์ ที่โปรเจกต์ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนเรื่องละไม่เกิน 7 แสนเปโซ (470,000 บาท)

สำหรับการสนับสนุนในรูปแบบสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (tax incentive) นั้น สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีชื่อว่า คณะกรรมการประเมินคุณภาพภาพยนตร์ Cinema Evaluation Board มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณาภาพยนตร์สำหรับมอบสิทธิพิเศษทางด้านภาษีในรูปแบบของการขอลดหย่อนภาษี (tax rebate) โดยเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็นสองประเภท โดยภาพยนตร์ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้เกรด A ซึ่งหมายถึงความโดดเด่นทั้งในแง่ศิลปะและเทคนิคการนำเสนอ จะได้รับการคืนภาษีมหรสพซึ่งรัฐเก็บจากค่าตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ที่ได้รับการพิจารณา ในอัตรา 100% ขณะที่ภาพยนตร์ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้เกรด B จะได้รับการคืนในอัตรา 65% ส่วน 35% ที่เหลือจะถูกนำส่งเข้ากองทุนของสภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ต่อไป โดยจุดประสงค์ของโครงการนี้คือการกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง6https://www.fdcp.ph/programs/cinema-evaluation-board

2. บทบาทของการส่งเสริม

สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์วางแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ไว้สองแนวทาง คือการส่งเสริมให้ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้รับการเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรทางด้านภาพยนตร์เพื่อที่จะได้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ที่มีคุณภาพต่อไป โดยในปี 2002 สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ได้ตั้งภาพยนตร์สถาน (Cinematheque) ใน 6 เมืองสำคัญรวมถึงในกรุงมะนิลา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพยนตร์ ตลอดจนผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ ได้จัดกิจกรรมเผยทางด้านภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ เช่นเทศกาลภาพยนตร์ สัปดาห์ภาพยนตร์ รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์7https://www.fdcp.ph/programs/cinematheque

นอกจากภาพยนตร์สถานแล้ว ในปี 2017 สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้ร่วมกับโรงภาพยนตร์เครือ SM Cinemas จัดโปรแกรมการฉายภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่มีความหลากหลายตั้งแต่ ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลในต่างประเทศ ภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์จากภูมิภาคต่างๆ ในประเทศ ไปจนถึงภาพยนตร์คลาสสิกของผู้กำกับระดับตำนาน8https://en.wikipedia.org/wiki/Film_Development_Council_of_the_Philippines ไม่เท่านั้น สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ยังได้จัดเทศกาลภาพยนตร์ชื่อ Pista ng Pelikulang Pilipino9https://en.wikipedia.org/wiki/Pista_ng_Pelikulang_Pilipino หรือเทศกาลภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่เน้นฉายภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ขนาดยาวและสั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงภาพยนตร์ฟิลิปปินส์มากขึ้น

Pista ng Pelikulang Pilipino
Image source: Pista ng Pelikulang Pilipino’s Facebook page (https://www.facebook.com/fdcpppp)

บทบาทการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สำคัญอีกบทบาทหนึ่งของสภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ได้แก่การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้ตั้งหน่วยงานชื่อ Film Philippines Office ขึ้นมาบริหารจัดการโดยเฉพาะ10http://filmphilippines.com

หน้าที่ของหน่วยงานนี้นอกจากประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้กองถ่ายต่างประเทศได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยการเสนอสิทธิประโยชน์มากมายตั้งแต่การอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางเข้ามาถ่ายทำ ไปจนถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentive) แล้ว ยังได้ทำการจัดสรรทุนสนับสนุนให้กับโปรเจกต์ภาพยนตร์ที่ร่วมผลิตระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์ฟิลิปปินส์กับผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศด้วย โดยทุนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) ทุนร่วมผลิตระหว่างประเทศ (International Co Production Fund)11http://filmphilippines.com/international-co-production-fund เปิดโอกาสให้ผู้สร้างภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ และผู้สร้างภาพยนตร์ประเทศใดก็ได้สามารถขอรับการสนับสนุน โดยเงื่อนไขของการให้ทุนไม่จำกัดว่าต้องเป็นภาพยนตร์ต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับฟิลิปปินส์ แต่ต้องอย่างน้อยที่สุดต้องก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศฟิลิปปินส์ และผู้สร้างภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ต้องมีบทบาทในการสร้างสรรค์ไม่น้อยจนเกินไป โดยเงินสนับสนุนของทุนนี้มีจำนวนไม่เกิน 10 ล้านเปโซ หรือ 6.7 ล้านบาท

2) ทุนร่วมผลิตกับกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Co Production Fund)12http://filmphilippines.com/asean-co-production-fund-acof ทุนนี้เปิดโอกาสผู้สร้างภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ และผู้สร้างภาพยนตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน (รวมถึงประเทศไทย) ขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงิน ในจำนวนไม่เกิน 150,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 4.65 ล้านบาท เพื่อผลิตภาพยนตร์ที่ไม่จำกัดเนื้อหาว่าต้องเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ หรือต้องถ่ายทำในประเทศฟิลิปปินส์ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศฟิลิปปินส์เช่นการทำโพสต์โปรดักชันเป็นต้น และที่สำคัญผู้สร้างฟิลิปปินส์ต้องมีบทบาททางด้านการสร้างสรรค์ไม่น้อยจนเกินไป

ตัวอย่างของภาพยนตร์ในอาเซียนที่ได้รับทุนนี้ ได้แก่ This City is a Battlefield ของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอินโดนีเซีย มูลีย์ เซอร์ยา (Marlina the Murderer in Four Acts) ซึ่งได้ทำ pre-production และ post production ในประเทศฟิลิปปินส์13http://filmphilippines.com/projects-supported

THE FDCP DEAR PROGRAM Image source: https://www.fdcp.ph/dear-program

3. บทบาทของการเชื่อมทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม

สภาการพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ได้ดำเนินโครงการที่มีชื่อว่า National Registry14https://www.fdcp.ph/fdcp-member-benefits มีจุดประสงค์เพื่อสร้างฐานข้อมูลของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทุกภาคส่วน ตั้งแต่บุคลากรในทุกกระบวนการผลิต บริษัทสร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ เทศกาลภาพยนตร์ องค์กรเกี่ยวกับภาพยนตร์ ไปจนถึงสื่อมวลชนบันเทิงทั่วประเทศ โดยบุคลากรและนิติบุคคลเหล่านี้จะต้องลงทะเบียนกับเว็บไซต์ National Registry เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์จากสภาพการพัฒนาภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเข้ารับการสนับสนุนและส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้เขียนได้อ้างอิงข้างต้น ตลอดจนถึงสวัสดิการต่างๆ ตัวอย่างของสวัสดิการที่น่าสนใจได้แก่ โครงการ DEAR ซึ่งย่อมาจาก Disaster (ภัยพิบัติ) Emergency (ฉุกเฉิน) Assistance (การช่วยเหลือ) Relief (การบรรเทา) ที่ให้การช่วยเหลือบุคลากรทางด้านภาพยนตร์ที่ลงทะเบียนกับ National Registry ไว้เมื่อประสบกับภัยในรูปแบบต่างๆ ในรูปของตัวเงิน ล่าสุดโครงการ DEAR กำลังให้ความช่วยเหลือกับบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่กำลังประสบภาวะวิกฤติโควิด 19 ในขณะนี้

กล่าวโดยสรุป ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศแรกที่รัฐให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจังด้วยการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับภาครัฐอย่างเป็นระบบ


ตอนต่อไป : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 2 : อินโดนีเซีย)
ตอนสุดท้าย : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 3 : สิงคโปร์)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES