ตอนแรก : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 1 : ฟิลิปปินส์)
ตอนที่สอง : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 2 : อินโดนีเซีย)
(ภาพเปิด : ภาพจากหนัง A Land Imagined (2018) ของหยางซิวฮวา)
ประเทศสิงคโปร์
ถ้าจะกล่าวถึงยุคทอง (golden age) ของวงการภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่มีความโดดเด่นเท่ากับทศวรรษที่ 1950 เมื่อวงการภาพยนตร์มาลายามีความเฟื่องฟูในแง่ของการผลิตภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานและได้รับความนิยมไปทั่วภูมิภาค โดยมีสิงคโปร์ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้แยกประเทศออกมาเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ ลักษณะรูปแบบของการบริหารงานของบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ดำเนินตามแบบสตูดิโอฮอลลีวูด โดยมีสองยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทชอว์บราเธอร์ส และคาร์เธย์ เกอริส เป็นผู้เล่นสำคัญ ในส่วนของระบบดารา ยุคทองของภาพยนตร์มาลายา ได้สร้างดาราผู้เป็นตำนานอย่าง พี รามลี ผู้มีความอัจฉริยะทั้งด้านการแสดงและการดนตรี เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ที่ไม่จำกัดแค่ในมาลายาเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ฮ่องกง และญี่ปุ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของยุคทองภาพยนตร์มาลายา เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เมื่อผู้ชมเริ่มให้ความสนใจกับภาพยนตร์ท้องถิ่นน้อยลงและหันไปนิยมภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากขึ้น ขณะที่ตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญคือ การแยกตัวออกจากสหพันธ์รัฐมาเลเซียของสิงคโปร์ในปี 1965 ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานสร้างสรรค์จากสิงคโปร์กลับไปยังมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็มี พี รามลี นักแสดงผู้เป็นแม่เหล็กก็ได้ย้ายกลับมาทำหนังในประเทศบ้านเกิดด้วย สัญญาณของการมอดลงของความเรืองรองเกิดขึ้นในปี 1967 เมื่อบริษัทชอว์บราเธอร์สปิดบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่สิงคโปร์ และตามมาด้วยบริษัทคาเธย์ เกอริส ยุติธุรกิจภาพยนตร์และคงไว้เฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 1972 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคทองภาพยนตร์มาลายาที่เรืองรองอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา วงการภาพยนตร์สิงคโปร์เข้าสู่ยุคตกต่ำ ไม่เพียงเฉพาะจำนวนภาพยนตร์ที่ลดลง แต่ยังรวมถึงคุณภาพที่ย่ำแย่จนทำให้ผู้ชมเบือนหน้าหนี จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปลายทศวรรษที่ 1990 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์สิงคโปร์ก็เกิดขึ้น เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่หลายคนได้สร้างผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศ อาทิ เอริค คูห์ กับภาพยนตร์เรื่อง Mee Pok Man ที่ออกฉายในปี 1995 และ 12 Stories ซึ่งได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 1997 หรือ เกลน เกย ซึ่งกำกับภาพยนตร์เรื่อง Forever Fever (1997) ที่ไม่เพียงทำรายได้ดีในประเทศสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังถูกบริษัทมิราแมกซ์ บริษัทจัดจำหน่ายชื่อดังของอเมริกาซื้อสิทธิ์ไปจัดจำหน่ายในประเทศอเมริกาอีกด้วย
จากความคึกคักที่เกิดขึ้น ทำให้ในปี 1998 รัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจภาพยนตร์ และมองว่าจะมีความสำคัญในอนาคต จึงได้ตั้งหน่วยงานที่ดูแลกิจการภาพยนตร์โดยเฉพาะมีชื่อว่า สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ (Singapore Film Commission) สังกัดองค์การพัฒนาและควบคุมสื่อสารสนเทศ (Info Communication Media Development Authority / IMDA) มีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในทุกมิติ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ผู้สร้างภาพยนตร์ไปจนถึงผู้ชม
บทบาทและหน้าที่
ก่อนที่จะตั้งสภาการภาพยนตร์ขึ้น องค์การพัฒนาและควบคุมสื่อสารสนเทศได้มอบหมายให้ เอริค คูห์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ร่วมด้วย เจมส์ โต ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ และ ลูเซลลา เตียว ศิลปิน ออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานนี้ พร้อมกับระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และสถาบันการศึกษา เพื่อนำมาประมวลสำหรับการสรุปบทบาทและหน้าที่ของ สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์หลังจากที่ตั้งขึ้นมาแล้ว
1. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Talent development)
ดำเนินการในรูปของการให้ทุนสนับสนุนกับผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีศักยภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และทุนผลิตภาพยนตร์สำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีผลงานไม่เกินสองเรื่อง นอกจากนี้ เพื่อทำให้การพัฒนาศักยภาพบุคลกรเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ สภาการภาพยนตร์ได้จัดเวิร์กชอปที่เชิญผู้เชี่ยวชาญภาพยนตร์สาขาต่างๆ มาให้ความรู้หรือให้คำแนะนำแก่ผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ นอกจากนี้ เพื่อทำให้ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีศักยภาพได้มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงาน ทางสภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ได้ผลักดันให้ผลงานเหล่านี้ได้ออกเผยแพร่ ผ่านการประสานงานกับช่องทางเผยแพร่ผลงานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเทศกาลภาพยนตร์ ตลาดภาพยนตร์ หรือแม้แต่สื่อใหม่อย่างช่องทางสตรีมมิ่ง ตัวอย่างของผู้กำกับภาพยนตร์สิงคโปร์ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากสภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ ได้แก่ เคอร์สเตน ทัน ก่อนที่เธอจะสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก เรื่อง Pop Aye (2017) เธอเคยฝึกฝนฝีมือด้วยการผลิตภาพยนตร์สั้นหลายเรื่องและผลงานส่วนใหญ่ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาการภาพยนตร์
2. การยกระดับให้เป็นสากล (Internationalization)
บทบาทนี้เกิดจาการที่สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์สิงคโปร์ให้กลายเป็นฮับภาพยนตร์ของภูมิภาค ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ภาพยนตร์สิงคโปร์ต้องยกระดับตัวเองให้มีความเป็นสากล ขยายฐานผู้ชมจากแค่ผู้ชมท้องถิ่นไปสู่ผู้ชมของโลก ในการดำเนินนโยบายเพื่อผลักดันให้ภาพยนตร์สิงคโปร์มีความเป็นสากล สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ได้พยายามกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการผลิตภาพยนตร์ขึ้นระหว่างผู้สร้างสิงคโปร์กับผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนอกภูมิภาค ด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้สร้างทั้งสองฝ่ายให้มีโอกาสได้เจรจาร่วมทุนกัน
นอกจากนี้ สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ยังได้จัดกองทุนที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอรับการสนับสนุน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิงคโปร์ เพียงแต่ว่า ผู้ผลิตจะต้องมีผู้ร่วมผลิตเป็นชาวสิงคโปร์หรือบริษัทสิงคโปร์เท่านั้น นอกจากนี้จะต้องมีบุคลากรในด้านต่างๆ ที่เป็นชาวสิงคโปร์ไม่น้อยกว่า 20%
3. การสร้างความตระหนักต่อภาพยนตร์สิงคโปร์ในหมู่ผู้ชม (Audience cultivation)
แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะมีองค์กรเอกชนทั้งที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ให้ผู้ชมได้เสพผลงานภาพยนตร์จากในประเทศและต่างประเทศอยู่มากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ สมาคมภาพยนตร์สิงคโปร์ (Singapore Film Society) หรือ Objective Center for Photography and Films จนทำให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ของชาวสิงคโปร์มีความแข็งแรงชาติหนึ่งของโลก พิสูจน์ได้จากรายงานของ TDRI ในปี 2 014 ที่ระบุว่า คนสิงคโปร์ดูภาพยนตร์ในโรงเฉลี่ย 4.3 เรื่องต่อคนต่อปีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ขณะที่คนไทยดูภาพยนตร์ในโรงเพียงแค่ 0.5 เรื่องต่อคนต่อปีเท่านั้น)
ไม่เพียงเท่านั้น สภาการภาพยนตร์ยังร่วมมือกับช่องทางการเผยแพร่อื่นๆ ทั้งช่องทางเผยแพร่ตามขนบอย่างสถานีโทรทัศน์ Mediacorp และช่องทางการเผยแพร่แบบอินเตอร์อย่างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง vidsee.com นำเสนอผลงานภาพยนตร์ของผู้สร้างสิงคโปร์ให้ผู้ชมทั่วไปได้ชมกัน โดยเฉพาะกับสถานีโทรทัศน์ Mediacorp สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ได้ร่วมจัดทำรายการที่มีชื่อว่า “Light, Camera, Singapore” เผยแพร่ภาพยนตร์สิงคโปร์ทั้งขนาดสั้นและยาวทั้งช่องทางปกติ และเว็บไซต์ของทางสถานี
นับตั้งแต่ปี 1998 (ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้ง) จนถึงปัจจุบัน สภาการภาพยนตร์สิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผลงานภาพยนตร์ขนาดสั้น ขนาดยาว รวมถึงบทภาพยนตร์มากกว่า 800 โปรเจกต์ มีส่วนร่วมในการผลักดันผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์ระดับโลกหลายคนไม่ว่าจะเป็น รอยสัน ทัน (15) แอนโธนี เฉิน (Ilo Ilo) เคอร์สเตน ทัน (Pop Aye) และ โบจุนเฟิง (Apprentice) นอกจากนี้ สภาการภาพยนตร์ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สิงคโปร์กลายเป็นฮับการผลิตภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์จากทั้งภายในภูมิภาคและทั่วโลก อีกทั้งยังมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์สิงคโปร์ ผ่านการสร้างพื้นที่การเสพภาพยนตร์ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่โรงภาพยนตร์ไปจนถึงช่องทางออนไลน์ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน
สรุป
จากการศึกษาโครงสร้างของหน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสามประเทศ ผู้เขียนพบว่า แม้จะความแตกต่างในด้านรายละเอียดในส่วนของที่มาของหน่วยงาน แต่สิ่งที่หน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ของทั้ง 3 ประเทศมีความคล้ายคลึงกันก็คือ ความพยายามสร้างระบบนิเวศที่ดีที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการให้การสนับสนุนทางการเงินต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศ และการแก้ปัญหาเรื่องการยอมรับของภาพยนตร์ในประเทศด้วยการส่งเสริมให้ภาพยนตร์ได้รับการเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ
อย่างไรก็ตามการจะบรรลุเป้าประสงค์ที่จะสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้นั้น จำต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ ประกอบด้วย
1. วิสัยทัศน์ของรัฐบาล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาอะไรสักอย่างในประเทศ หากพิจารณาจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินโดนีเซีย จะพบว่ารัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือขับเคลื่อนวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานด้านภาพยนตร์ของทั้งสามประเทศ ล้วนแต่ถือกำเนิดขึ้นจากการมองถึงความสำคัญในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ออกคำสั่งพิเศษให้จัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเฉพาะ เพราะต้องการยกระดับภาพยนตร์ให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมประเภทอื่น หรือกรณีของอินโดนีเซีย ที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด จัดให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ควรจะสนับสนุน จึงได้มีคำสั่งตั้งหน่วยงานที่ดูแลภาพยนตร์ขึ้นมา แล้วจัดการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย และกรณีของประเทศสิงคโปร์ ที่ความสำเร็จของภาพยนตร์ไม่กี่เรื่อง ทำให้รัฐตัดสินใจสานต่อความสำเร็จ ด้วยการตั้งหน่วยงานสนับสนุนภาพยนตร์โดยเฉพาะ ทั้งที่ก่อนหน้านี้วงการภาพยนตร์สิงคโปร์อยู่ในภาวะซบเซามาเกือบ 20 ปี
2. ความจริงใจ
แม้ว่ารัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลจะมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ดีแค่ไหน แต่หากขาดความจริงใจ ที่อาจมีสาเหตุมาจากความคาดหวังในความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจนส่งผลให้นโยบายเปลี่ยนตาม โอกาสที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมแบบยั่งยืนก็เป็นไปได้ยาก ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมทั้ง 3 ประเทศ จะพบว่า ความจริงใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในแต่ละประเทศ สะท้อนผ่านการกำหนดให้แผนการพัฒนาภาพยนตร์ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนมือจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง แต่นโยบายยังคงอยู่ เช่นกรณีประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับภาพยนตร์ในรัฐธรรมนูญว่า “รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในฐานะสื่อหรือค่านิยมทางสุนทรียศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม หรือเครื่องมือสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงอัตลักษณ์ความเป็นฟิลิปปินส์”
3. การวางตำแหน่งคนที่เหมาะสมกับงาน
เช่นเดียวกับหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส หรือสหราชอาณาจักร บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ให้เข้ามาบริหารจัดการหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศตัวเองล้วนแต่เป็นคนที่มีประสบการณ์ในด้านธุรกิจภาพยนตร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงมีความเข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น แมรี ลิซา ดิโน