รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 2 : อินโดนีเซีย)

ตอนก่อนหน้า : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 1 : ฟิลิปปินส์)

(ภาพเปิด : ภาพจากหนัง Satan’s Slave (2017) ภาพยนตร์สยองขวัญของโจโก อันวาร์)

ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าจะมีประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ยาวนานเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980 เคยได้รับความนิยมสูงสุด ถึงขนาดว่าในปีหนึ่งๆ มีภาพยนตร์ถูกผลิตออกฉายมากกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง แต่รัฐบาลแทบไม่มีบทบาทสนับสนุนหรือส่งเสริมอย่างจริงจัง ความเกี่ยวข้องหลักของรัฐบาลกับอุตสาหกรรมเป็นไปในลักษณะควบคุมผ่านการใช้กฎหมายเซนเซอร์

จนกระทั่งในปี 2009 “ภาพยนตร์” ได้ถูกบัญญัติลงในกฎหมายสูงสุดของประเทศ ภายใต้มาตรา 67 ของกฎหมายเลขที่ 33/2009 ที่ระบุใจความสำคัญว่า “ประชาคมสามารถมีส่วนร่วมในองค์กรเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้”​ (The community can participate in the cinema organization)1www.bpi.or.id/english/tentang.html ด้วยเหตุนี้ ในปี 2014 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการทางด้านภาพยนตร์หน่วยงานแรกจึงถูกตั้งขึ้นในชื่อ คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งประเทศอินโดนีเซีย (Badan Perfilman Indonesia หรือ Indonesian Film Board ในภาษาอังกฤษ) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทุกรูปแบบ

จุดเด่นของหน่วยงานนี้อยู่ที่เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกับรัฐบาล เนื่องจากในกฎหมายภาพยนตร์ระบุว่า คณะกรรมการภาพยนตร์อินโดนีเซียต้องเป็นหน่วยงานอิสระปราศจากการควบคุมของรัฐ ดังนั้นโดยโครงสร้างของหน่วยงานนี้จึงประกอบด้วยองค์กรเกี่ยวกับภาพยนตร์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่สถาบันสอนภาพยนตร์ ไปจนถึงบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมถึงองค์กรทางด้านวิชาชีพภาพยนตร์ โดยค่าใช้จ่ายดำเนินการ มาจากสมาชิกของหน่วยงานและการสนับสนุนจากรัฐบาล2https://en.unesco.org/creativity/policy-monitoring-platform/policies-measures-supporting-0 และด้วยความที่คณะกรรมการภาพยนตร์อินโดนีเซียบริหารจัดการโดยองค์กรทางด้านภาพยนตร์โดยตรง จึงทำให้เข้าใจถึงสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของบทบาทรัฐต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในปี 2015 โดยหนึ่งในนโยบายหลักของเขาคือการผลักดันให้อินโดนีเซียกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) หลักของโลกให้ได้ภายในปี 2030 โดยเขาและคณะได้แบ่งประเภทของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของประเทศออกเป็น 16 ประเภท แล้วให้การสนับสนุนทุกทางเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เองก็เป็นหนึ่งใน 16 ภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลวิโดโดให้การสนับสนุน โดยวิโดโดได้ตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า หน่วยงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (BEKRAF) ขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ3https://en.unesco.org/creativity/policy-monitoring-platform/establishment-creative-economy

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2016 รัฐบาลของประธานาธิบดี วิโดโด ยังได้ตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่ง มีชื่อว่า ศูนย์กลางการพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Pusbang Film) สังกัดกรมการศึกษาและวัฒนธรรม มีหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ คือการสร้างระบบนิเวศทางด้านภาพยนตร์ที่เหมาะสมแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซีย จะแตกต่างก็เพียงแค่เป้าประสงค์ของศูนย์กลางการพัฒนาภาพยนตร์พัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซียจะมุ่งเน้นในด้านวัฒนธรรมและการศึกษาเป็นสำคัญ4https://www.bpi.or.id/english/doc/88483ONSITE-Indonesian%20Film%20Industry.pdf

วิดีโอแนะนำ Pusbang Film

บทบาทและหน้าที่

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานทางด้านภาพยนตร์ทั้ง 3 หน่วยงาน แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ บทบาทในด้านการกำหนดนโนบาย และทำลายอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรม และบทบาทการส่งเสริมและการสนับสนุน

ตัวอย่างภาพยนตร์ Forever Holiday in Bali (2018) ของผู้กำกับโอดี้ ฮาราฮัป

1. บทบาทการกำหนดนโนบายและทำลายอุปสรรคต่างๆ

ในส่วนของบทบาทการกำหนดนโยบายนั้น หน้าที่หลักเป็นของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ BEKRAF ซึ่งรับสนองนโนบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมถึงอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ อีก 15 ประเภท ให้กลายเป็นผู้นำหลักของโลกภายในปี 2030 โดยในส่วนของภาพยนตร์ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2021 อินโดนีเซียจะมีจำนวนโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศระหว่าง 3 พัน ถึง 5 พันโรง และจะมียอดจำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน5https://www.bpi.or.id/english/doc/81585Indonesian%20Film%20Industry_Unlocked.pdf อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ (และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ประเภทอื่น) ต้องเผชิญคือการขาดแหล่งทุน ดังนั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีวิโดโดจึงแก้ปัญหาด้วยการออกคำสั่งประธานาธิบดีเลขที่ 44/2016 ว่าด้วยการ ทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI)6http://www.thaibizindonesia.com/th/raw/investment_law.php โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนในสัดส่วนตั้งแต่ 50% ไปจนถึง 100% ซึ่งแต่เดิมอุตสาหกรรมบางประเภทไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนได้เลยด้วยซ้ำ

สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รัฐบาลเปิดโอกาสให้ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนถึง 100% จึงทำให้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุด ได้แก่ การเข้ามาลุงทุนตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ในของบริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้อย่าง CJ ENM , Lotte Entertainment และ Showbox อย่างเต็มตัว (แทนการร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น แล้วทำหน้าที่จัดจำหน่ายภาพยนตร์เกาหลีอย่างเดียว) แล้วมุ่งเน้นผลิตภาพยนตร์อินโดนีเซีย เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย และในเกาหลีใต้ รวมถึงทั่วโลกผ่านการขายสิทธิ์ให้แก่ประเทศต่างๆ ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่โดดเด่น ได้แก่ ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง Satan’s Slave (2017) ของผู้กำกับโจโก้ อันวาร์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากมายในอินโดนีเซีย และถูกขายสิทธิ์ไปยังหลายประเทศโดย CJ ENM หรือ ภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่อง Forever Holiday in Bali (2018) ของผู้กำกับโอดี้ ฮาราฮัป ซึ่งร่วมผลิตโดยบริษัท Show Box ว่าด้วยเรื่องราวความรักกุ๊กกิ๊กของสาวอินโดกับไอดอลวงเคป๊อบ เป็นต้น7http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_entertainment/820703.html

นอกจากแก้ไขอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังกระตุ้นการผลิตภาพยนตร์ในอินโดนีเซีย โดยให้การสนับสนุนคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งอินโดนีเซีย (Indonesia Film Board) สร้างพื้นที่พบปะระหว่างผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วประเทศกับแหล่งทุนสำคัญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในชื่องาน AKATARA ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2017 โดยรูปแบบของงานคือการเปิดโอกาสให้นักสร้างภาพยนตร์ หรือบริษัทภาพยนตร์ที่โปรเจกต์ที่ผ่านการคัดเลือกได้มีโอกาสพบปะกับแหล่งทุนที่มีศักยภาพในลักษณะของการพิทชิ่ง ผลงานที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก็จะได้รับการสนับสนุนให้สร้างต่อไป8https://nowjakarta.co.id/updates/news/akatara-2019-indonesia-s-most-prominent-film-industry-event-expands-platform-to-develop-film-market-and-funding ตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ผ่านเวทีนี้ได้แก่ 27 Steps of May (2018) ของผู้กำกับราวี บาวานี ภาพยนตร์เรื่อง Stealing Raden Saleh (2021) ซึ่งกำกับโดย ซาบรินา รอชเชล เป็นต้น9https://www.bpi.or.id/english/doc/88483ONSITE-Indonesian%20Film%20Industry.pdf น.25

ตัวอย่างหนังเรื่อง Satan’s Slave (2017) ภาพยนตร์สยองขวัญของโจโก อันวาร์ที่เคยเข้าฉายในไทย

2. บทบาทการสนับสนุนและส่งเสริม

แม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะกำหนดนโนบายที่ยังประโยชน์แก่อุตสาหกรรมเพียงใด แต่หากขาดการลงมือโดยหน่วยงานที่เข้าใจในธรรมชาติของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว โอกาสที่นโยบายที่วางไว้จะบรรลุผลก็เป็นศูนย์ ดังนั้นในการบรรลุเป้าหมายที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Indonesian Film Board) และศูนย์กลางการพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Pusbang Film) ที่จะต้องสร้างระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซียให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้

สำหรับคณะกรรมการภาพยนตร์อินโดนีเซีย บทบาทสำคัญของหน่วยงานนี้ คือการส่งเสริมให้ภาพยนตร์อินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่ในประเทศผ่านการจัดเทศกาลภาพยนตร์ การเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศเพื่อแนะนำภาพยนตร์อินโดนีเซียเป็นที่รู้จัก รวมถึงการการจัดสัปดาห์ภาพยนตร์อินโดนีเซียในประเทศต่างๆ นอกจากนี้หน้าที่หลักที่สำคัญคือการส่งเสริมให้มีการถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศอินโดนีเซีย มีจุดประสงค์เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในภาคการผลิตภายในอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการภาพยนตร์ได้ตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคสำคัญ 5 แห่งได้แก่ เมืองบันดุง เมืองโบโจเนโกโร เมืองซิอัค เมืองบันยูวางิ และยอกยาการ์ตา เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทำอย่างครบวงจร ตั้งแต่การขออนุญาตถ่ายทำ ไปจนถึงการจัดหารอุปกรณ์และสถานที่ถ่ายทำ นอกจากนี้บทบาทสำคัญของคณะกรรมการภาพยนตร์ยังรวมถึงการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรม และการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างเอกชนกับรัฐบาลในการเสนอปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงต่อไป10https://en.unesco.org/creativity/policy-monitoring-platform/policies-measures-supporting-0

กิจกรรมเวิร์กชอปการถ่ายหนังเบื้องต้นของ Pusbang Film

ในส่วนศูนย์กลางพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซีย (Pusbang Film) ซึ่งเป็นหน่วยงานการกำกับของกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม มีบทบาทหลักในการสนับสนุนทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนการผลิต จัดจำหน่าย การเผยแพร่ และการสร้างบุคลากรทางด้านภาพยนตร์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อไป โดยรูปแบบของการสนับสนุน เป็นในลักษณะของการให้การสนับสนุนในด้านเงินทุนเพื่อการผลิตและเผยแพร่ผ่านโครงการต่างๆ ที่ศูนย์กลางพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซียประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อทำการคัดเลือกโปรเจกต์ที่จะได้รับการสนับสนุนต่อไป ในส่วนของการสร้างบุคลากรทางด้านภาพยนตร์ ศูนย์กลางพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซีย ได้จัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์ทั่วประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาโรงเรียนสอนฝึกอาชีพที่เน้นการฝึกบุคลากรทางด้านภาพยนตร์โดยเฉพาะ11https://www.bpi.or.id/english/doc/88483ONSITE-Indonesian%20Film%20Industry.pdf

กล่าวโดยสรุป หน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซีย มีอยู่ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์กลางการพัฒนาภาพยนตร์อินโดนีเซีย ทั้งสามหน่วยงานร่วมประสานการทำงานอย่างสอดคล้อง โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างระบบนิเวศที่ดีแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อต่อยอดไปสู่การผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซียเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash กำกับโดย เอ็ดวิน ได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลโลการ์โนปีล่าสุด

บทพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่เกิดจากความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่า นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แต่ละปีมีจำนวนเฉลี่ย 130 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2018 มีจำนวนถึง 150 เรื่อง ขณะที่ยอดจำนวนผู้ชมตั้งแต่ปี 2016 เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 100% โดยเฉพาะในปี 2016 และ 2017 มีผู้ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์จำนวน 34 ล้านใบ และ 39 ล้านใบตามลำดับ12https://www.bpi.or.id/english/doc/81585Indonesian%20Film%20Industry_Unlocked.pdf ในส่วนของการยอมรับในต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2016 มีภาพยนตร์อินโดนีเซีย หลายเรื่องที่ได้รับการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์สยองขวัญของโจโก อันวาร์ เรื่อง Satan’s Slave (2017) และ Impetigore (2019) ไม่นับรวมภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เข้าฉายในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix ในเวลานี้ ขณะที่ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องก็ได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก อาทิ Marlina the Murderer in Four Acts (มูลีย์ เซอร์ยา) ที่ได้รับเลือกไปฉายสาย Directors’ Fortnight เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2017 และล่าสุดภาพยนตร์เรื่อง Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash ซึ่งกำกับโดย เอ็ดวิน ก็เพิ่งได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลโลการ์โน ในปีนี้

แม้ว่าในปัจจุบัน อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซียกำลังประสบภาวะชะงักงันจากการระบาดของโรคโควิด 19 แต่ด้วยรากฐานที่มั่นคง ก็ทำให้เชื่อได้ว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินโดนีเซียน่าจะเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประเทศแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้


ตอนต่อไป : รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเขาสนับสนุนหนังกันยังไง (ตอน 3 : สิงคโปร์)

ภาณุ อารี
ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์ เนชั่นแนล นอกจากนี้ ยังเป็นนักทำหนังสารคดี เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาธุรกิจภาพยนตร์และวิชาผลิตภาพยนตร์สารคดี และเป็นนักเขียนในบางวาระ

RELATED ARTICLES