เธอกลายเป็นข่าวดังในประเทศไทยไม่กี่วันก่อน หลังออกแถลงการณ์ในนามมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice) วิจารณ์รัฐบาลไทยเรื่องการใช้ม.112 กับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม หลายคนรู้จักเธอในฐานะภรรยาสาวคนงามของนักแสดงหนุ่มใหญ่จอร์จ คลูนีย์ แต่แท้จริงแล้วเธอผู้นี้เป็นอะไรมากกว่านั้น
อามัล คลูนีย์ หรือนามสกุลเดิม อลามูดดิน เป็นนักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษเชื้อสายเลบานอนที่มีบทบาทร่วมในคดีและกรณีสำคัญหลายต่อหลายครั้ง เมื่อปี 2019 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ถึงกับก่อตั้งรางวัล “Amal Clooney Award” เพื่อมอบให้แก่เหล่าสตรีที่น่าทึ่ง, ปีนี้เธอกับจอร์จได้รางวัลด้านมนุษยธรรมจาก Simon Wiesenthal Center และเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง เธอเพิ่งได้รางวัล Gwen Ifill Press Freedom Award ซึ่งมอบแก่บุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชน
ต่อไปนี้คือผลงานด้านกฎหมายบางส่วนของเธอ
รณรงค์ยุติความรุนแรงทางเพศในเขตสงคราม
ปี 2014 วิลเลียม เฮก อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ขอให้อามัลเข้าร่วมกลุ่มที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ (ซึ่งถูกใช้เป็นวิธีทำลายฝ่ายตรงข้ามในเขตพื้นที่สงคราม) และเธอยังเข้าร่วมกับ แองเจลินา โจลี ในการประชุมที่ลอนดอนเพื่อรณรงค์ประเด็นนี้ด้วย
คดีคุมขังอดีตปธน.มัลดีฟส์
ปี 2015 โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตประธานาธิบดีที่ได้รับการแต่งตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของมัลดีฟส์ ถูกจำคุก 13 ปีในข้อหาก่อการร้าย อามัลเข้าร่วมทีมกฎหมายเรียกร้องให้ประชาคมโลกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อมัลดีฟส์ เพื่อกดดันให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกกล่าวหาหลายร้อยคน และเธอยังสนับสนุนให้ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในมัลดีฟส์ รวมทั้งผลักดันให้องค์การสหประชาชาติประกาศไม่ยอมรับการคุมขังดังกล่าว เพราะ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และ “มีแรงจูงใจทางการเมือง”
คดีคุมขังอดีตปธน.ฟิลิปปินส์
ปี 2015 อามัลยื่นฟ้องรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) กรณีการควบคุมตัวอดีตปธน. กลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย และคณะทำงานฯ ได้ออกความเห็นในเวลาต่อมาว่า การควบคุมตัวนี้ “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”
คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์มีเนีย
มกราคม 2015 อามัลและสำนักงานกฎหมาย Doughty Street Chambers เป็นตัวแทนของอาร์มีเนียในการต่อสู้ให้ประชาคมโลกให้การรับรองว่า เหตุการณ์สังหารชาวอาร์มีเนียโดยจักรวรรดิออตโตมันเติร์กสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตุรกีปฏิเสธมาตลอด) และเธอยังประณามพฤติกรรมของรัฐบาลตุรกีที่คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต่อประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
คดี “ปฏิบัติการดีมีทริอุส”
ปี 2015 อามัลกับ ชาร์ลส์ ฟลานาแกน รมต.ต่างประเทศไอร์แลนด์ รื้อคดี “ชายสวมฮู้ด” ขึ้นฟ้องรัฐบาลอังกฤษต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เนื้อคดีกล่าวถึงนโยบายปราบไอร์แลนด์ในยุคนายกฯ เอ็ดเวิร์ด ฮีธ (1970-74) ที่มีการใช้ “ปฏิบัติการดีมีทริอุส” จับกุมชาวไอร์แลนด์จำนวนมากและสอบสวน-ลงโทษอย่างผิดกฎหมายด้วย 5 วิธีการ (หนึ่งในนั้นคือการบังคับสวมฮู้ดแล้วซ้อมทรมาน หรือผลักตกลงจากเฮลิคอปเตอร์)
คดีไอซิสก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ปี 2017 อามัลจับมือกับ นาเดีย มูราด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (เธอรอดชีวิตจากการถูกลักพาตัว ถูกจับเป็นทาส และถูกสมาชิกกลุ่มไอซิสข่มขืน หลังจากพวกเขาบุกเข้าไปในหมู่บ้านทางตอนเหนือของอิรัก) เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยทั้งคู่แถลงต่อองค์การสหประชาชาติ จนสภาสหประชาชาติมีมติให้สอบสวนไอซิสและรวบรวมหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คดีนักข่าวรอยเตอร์ในเมียนมา
ปี 2018 วะลง กับ จ่อโซอู สองนักข่าวเมียนมาซึ่งรายงานข่าวให้รอยเตอร์ ถูกจับขณะรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา อามัลเข้าร่วมทีมทนายซึ่งสู้คดีจนทั้งสองได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังอยู่กว่า 500 วัน (และในปี 2020 นี้ อามัลยังเป็นตัวแทนของมัลดีฟส์ในการเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับชาวโรฮิงญาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติด้วย)
คดีนักข่าวฟิลิปปินส์ถูกคุกคาม
ปี 2019 อามัลเป็นที่ปรึกษาร่วมและผู้นำทีมกฎหมายระหว่างประเทศให้กับ มาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์เจ้าของเว็บไซต์ Rappler ที่ถูกรัฐบาลของปธน. โรดริโก ดูแตร์เต ตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเรสซาบอกว่าเป็นความพยายามที่จะ “ปิดปากสื่อ” โดยอามัลกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เรสซาเป็นนักข่าวผู้กล้าหาญที่ถูกข่มเหงเนื่องจากรายงานข่าวและยืนหยัดต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจะดำเนินการทุกขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์สิทธิของเธอ และปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์”
วิจารณ์พฤติกรรมคุกคามสื่อของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์
ในฐานะผู้แทนพิเศษด้านเสรีภาพสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ (Foreign and Commonwealth Office) แห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร อามัลกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมโลกเพื่อเสรีภาพสื่อเมื่อปี 2019 โดยวิจารณ์ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “ประเทศของ เจมส์ เมดิสัน (อดีตปธน. และบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ) มีผู้นำในปัจจุบันที่คอยให้ร้ายทำลายสื่อ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จะส่งผลให้นักข่าวผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาทั่วโลกต้องเสี่ยงต่อการถูกคุกคามมากขึ้น”
และในสุนทรพจน์เดียวกันนี้ เธอยังวิจารณ์เหล่าผู้นำโลกที่ไม่เคยแสดงจุดยืนอย่างกล้าหาญเปิดเผยต่อกรณี จามาล คาชอกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดด้วย
คดีจูเลียน อัสซานจ์
อามัลเป็นผู้แนะนำให้ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Wikileaks ผู้นี้ขอลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ตั้งแต่ปี 2012 หลังจากถูกรัฐบาลอังกฤษและอเมริกาสอบสวน (ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมใน 7 ปีต่อมา) และในงานประชุมเสรีภาพสื่อที่ลอนดอนปี 2019 อามัลขึ้นกล่าวบนเวทีว่า “นักข่าวที่เปิดโปงการล่วงละเมิดต้องถูกจับกุม ขณะที่คนล่วงละเมิดกลับลอยนวล ปัญหานี้เกิดขึ้นเสมอทั่วโลก …การฟ้องร้องจูเลียน อัสซานจ์เป็นสิ่งที่ทำให้นักข่าวทั่วโลกต้องตื่นตระหนก”
การกล่าวครั้งนี้ของเธอถือเป็นการฉีกหน้า เจเรมี ฮันท์ รมต.ต่างประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคนจัดงานประชุมวันนั้น (และก็เป็นหัวหน้าตรงของเธอในงานผู้แทนพิเศษด้านเสรีภาพสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพนี่แหละ) อย่างแรง เพราะฮันท์เป็นคนที่ให้ความร่วมมือกับทางเอกวาดอร์ในการปล่อยตัวอัสซานจ์ออกมาจนเขาโดนจับกุมในที่สุด