มีผลงานหนังของ Sir Richard Attenborough อยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ผูกติดกับตัวละครคนหนึ่งคนใด แต่ใช้ตัวเหตุการณ์มาทำหน้าที่เล่าเรื่อง อย่าง Oh!, What a Lovely War (1969, สงครามหฤหรรษ์) ก็เป็นบรรยากาศกว้างๆ ที่นู่นบ้าง, ที่นี่บ้างแบบตลกหกฉาก และยิ่งพอมาถึง A Bridge Too Far (1977, สะพานนรก) คราวนี้คนดูส่วนหนึ่งจะเหวออ พอๆ กับตอนดูTenet รอบแรกๆ ก็ท่านเซอร์เล่นได้ดาราแม่เหล็กของยุคนั้นมาเรียกคนดู คือพอเห็น Sean Connery, เห็น Michael Caine ก็รอว่าเมื่อไหร่จะออกอีก ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง ก็เฝ้าคอยกันว่าเมื่อไหร่ Robert Redford จะมา (โน่นเลยครับ ราวๆ ขึ้นชั่วโมงที่สองไปแล้ว จากความยาวเกือบสามชั่วโมง) อย่าง Oh!, What .. น่ะได้อยู่แล้วเพราะเป็นการเข้าไป depiction กันทีละจุดๆ แต่ในรายของ’สะพานนรก’ นั่น ตัวแสดงนำคือแผนการ Market Garden ของฝ่ายสัมพันธมิตรครับ ที่พอทัพเคลื่อนไปที่ใคร คนนั้นก็จะมารับช่วงถือคบเพลิงไปเรื่อยๆ จนเข้าไปใกล้ที่หมาย (คือสะพานใน Arnheim, ประเทศ Netherland)
พอมาถึงโครงการมหากาพย์ในฝันอย่าง Gandhi บ้าง ความถนัดจำเพาะพวกนี้ของท่านเซอร์ก็มิได้หายไปไหน หากแต่สลับกับงานในสเกลเอพิคทั้งสองเรื่องที่ว่ามา เมื่อมาทำหนัง biopics แบบเต็มรูปกันซะที คือมีแกนกลางเป็นตัวบุคคลจริงๆ (แทน ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’ อย่างช่วงเวลาหรือแผนการณ์ แต่มีความเป็นประวัติศาสตร์เหมือนกัน) ขณะเดียวกันดารารับเชิญก็พร้อมจะแวะเวียนเข้ามารับบท ไล่เรียงไปเรื่อยๆ ในแค่ละช่วงเวลา
เซอร์ ริชาร์ด ทำ Gandhi เอาในช่วงที่คนทำหนังอังกฤษส่วนหนึ่งใจตรงกันอย่างน่าประหลาดคือกรูกันไปจับเอาเหตุการณ์ในยุคอาณานิคม (British Raj) อย่างคราวที่หนัง Gandhi ออกฉาย Sir David Lean ก็อยู่ระหว่างถ่าย A Passage to India ซึ่งออกฉายในอีกสองปีถัดมา (1984), หรืออย่างช่วงไล่เลี่ยกับ Gandhi ทาง James Ivory + Ruth Prawer Jhabwala ก็ทำ Heat and Dust (แถมยังเล่นเปิดฉายแบบหายใจรดต้นคอคือ 1 มกรา 1983) มีดาราดังของอินเดีย, Shashi Kapoor แสดงนำ, ทางมินิซีรีส์ก็มี The Jewels in the Crown ซึ่งชื่อเรื่องมีความหมายอุปมาอุปไมยถึงอินเดียทั้งประเทศ หนนี้ Mahatma ลดบทบาทลงเหลือเป็นแค่เพียงบทสมทบ
หันกลับมามองทางนี้บ้าง การได้ดู Gandhi ซ้ำในช่วงอุณหภูมิทางการเมืองนอกจอในบ้านเราเริ่มจะเข้าไปใกล้หนังมากขึ้นเรื่อยๆ คืออารมณ์ของการต่อสู้เรียกร้อง + ขับไล่เผด็จการแบบเดียวกัน ความรู้สึกที่ได้มักแปรเปลี่ยนไปตามภาวะทางจิตวิทยามวลชน ยิ่งพอมารู้อีกว่าตอนหนุ่มๆ Mohandas ‘Mahatma’ Gandhi เคยเป็นทนาย เมื่อดูแล้ว ก็ยิ่งชวนให้นึกไปถึงใครแถวนี้ เช่นเดียวกับที่ยิ่งถ้าการเมืองแรงถึงขั้นร้อนระอุ โอกาสที่หนังเรื่องนี้ถูกแทรกแซงถึงขั้นสั่งห้ามฉาย ก็ย่อมมีความเป็นไปได้สูง
เป็นที่รู้กันว่าข้อเรียกร้องสูงสุดของคานธีมีจุดมุ่งหมายที่จะให้จักรวรรดินิยมอังกฤษคืนเอกราชให้อินเดีย เพราะทนตกอยู่ภายใต้การกดขี่เอารัดเอาเปรียบไม่ได้ ซึ่งพวกเจ้าอาณานิคมหัวอนุรักษ์คงไม่ยอม เกิดการกระทบกระทั่ง, มีใช้กำลังเข้าปราบ จนกระทั่งลุกลามไปเป็นการสังหารหมู่ คานธีเองเดี๋ยวก็ถูกจับแล้วก็ปล่อยอยู่หลายรอบจนชิน พอออกมาข้างนอก เดี๋ยวก็ปราศรัยโจมตีขับไล่รัฐบาล (อังกฤษ) ต่อ ขนาดมีส่งทหารไปดักขอถามหัวข้อที่จะขึ้นเสวนา คานธีก็ตอบ ‘วิธีรีดนมแพะ (อะไรว่าไปเรื่อย)’ “แต่มันก็อดไม่ได้นะที่จะต้องพูดเรื่องการเมือง” ซึ่งพอมาดูตอนนี้จะรู้สึกว่าไม่ใช่ scenario ที่ไกลตัวเอาเลย
ทำให้รู้ว่าคน เมื่อ ‘ข้างใน’ เป็นยังไง จับให้ไปอยู่ที่ไหน ‘อะไรที่อยู่ในนั้น’ ก็มักถูกขับออกมาจนได้ ขณะที่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเทรดมาร์กประจำตัวคานธีไปแล้วอย่างการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษด้วยวิธีอหิงสา (non-violence) การโต้ตอบด้วยสันติวิธี มันดีตรงไหน ถึงได้พบว่าเป็นกลอุบายล่อหลอกให้ฝ่ายอำนาจสำแดงความชั่วออกมาให้สาแก่ใจ เมื่อฝ่ายที่ถูกกระทำการรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ ถึงขั้นล้มตาย อันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่แคว้นอมฤตสระ (พักครึ่งเวลาพอดี)
ฝ่ายเผด็จการเจ้าอาณานิคมก็ใช้วิธีโต้ตอบ โดยงัดเอาหลักอหิงสามาบิด คือแทนที่จะใช้อาวุธเข้าปราบ ก็หันมาตอบโต้โดยหลักจิตวิทยามวลชนบ้าง คือแทนที่จะจับคานธี ก็เปลี่ยนมาเป็นจับคนฟัง + ผู้เข้าร่วมชุมนุมให้หมด เหลือคานธีคนเดียวเป็นข้อยกเว้น ความน่าหวาดหวั่นจึงไม่มีอะไรเท่า ถ้าวันหนึ่งพวกเผ็ดกลางแถวนี้จะงัดเอามาใช้บ้าง เหมือนหลอกใช้มวลชนตั้งข้อสงสัยแกนนำ + คนขึ้นเสวนาไปแทน
ในเรื่องมีการอ้างวาทกรรมที่ว่าใครแรงมาก็ให้แรงไป สุดท้ายก็พังกันไปเองทั้งสองฝ่าย คานธีก็เลยเสนอสูตรการโต้ตอบด้วยวิธีนิ่งเฉย และที่น่าขันตลกขื่นกว่าก็คือ ถึงอินเดียได้อธิปไตยปกครองตนเองได้แล้ว เชื่อว่าทางอังกฤษเองก็แอบเชื่อในหลักอหิงสากับเขาเหมือนกัน ทว่าเป็นการปรับใช้โดยหวังจะให้ตัวเองลอยตัวเหนือเงื่อนไขภายในอินเดียเอง
โดยเริ่มจาก ‘เลิก’ ใช้กำลังเข้าปราบ แล้วคืนเอกราชให้ปกครองตนเองตามข้อเรียกร้อง
ประมาณว่า เอ้า!อยากเป็นอิสระมากใช่มั้ย “ก็ได้ เดี๋ยวก็รู้” ว่าแล้วอังกฤษก็นำหลักอหิงสามาโต้ตอบ เพราะรู้ว่าสงบได้ไม่นาน ประเดี๋ยวก็ต้องมีความขัดแย้งระลอกใหม่
ตอนหนังออกฉาย ก็เคยมีคนถาม (ก็คุณแม่ผมเองแหละ) ว่าทำไมฝรั่งอังกฤษยอมทำหนังด่าตัวเอง -สามสิบเจ็ดปีผ่านไป-ถึงค่อยพบคำตอบว่า ความสูญเสียครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์อินเดียคือกรณีลอบสังหารมหาตมะ คานธี โดยนาย Naturam Godse ชาวฮินดูหัวรุนแรงที่ไม่เห็นด้วยกับการสลายตัวของรัฐ Hindustan (ซึ่งเป็นคำเรียกแทนตัวเองของประเทศอินเดีย) ออกเป็นปากีสถาน และต่อมาก็มีการแยกเป็นบังคลาเทศอีกต่อในปี 1971 ซึ่งคนที่กำลังนั่งหัวเราะก็คงมิใช่ใครอื่นนอกจากรัฐบาลอังกฤษที่ยอมเลิกการใช้ความรุนแรง ด้วยการมอบในสิ่งที่คานธีและชาวอินเดียเรียกร้องกันมาก และที่ย้อนแย้งซะยิ่งกว่าก็คงเป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในที่ไม่มีสิ้นสุด
เซอร์ ริชาร์ด ก็ยังคงเป็นอังกฤษ (เผลอๆ จะค่อนไปทางหัวอนุรักษ์ฯ ด้วยแหละไม่ว่า) ถึงได้ทำทั้งหนัง Gandhi เพื่อสร้างราคาให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมชาติถึงความใจกว้างและกล้า ยอมรับมหาบุรุษของอินเดีย แต่ที่อินเดียต้องมาเสียทรัพยาการบุคคลอย่างมหาตมะ ซึ่งจบชีวิตด้วยกระสุนของเพื่อนร่วมชาติ (มิหนำซ้ำยังนับถือศาสนาเดียวกับมหาตมะเองอีกต่างหาก) แล้วตัวหลักการอหิงสากลายเป็นหลักการและวาทกรรมซึ่งใช้การไม่ได้แถมยังพังไม่มีดีในบ้านตัวเอง แต่ทว่ากลับไปเจริญงอกงามในอังกฤษแทน เริ่มตั้งแต่คนอังกฤษเลิกการปราบปรามขบวนการชาตินิยมด้วยกำลังทางทหาร และการมีหนังอย่าง Gandhi เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากการสานต่อเจตนารมณ์ของหลักอหิงสาโดยมหาตมะ
ทุกวันนี้ตัวหนัง Gandhi ยังคงทำหน้าที่เป็นแค่ข้อมูลชั้นต้นอย่างเดียว คือเป็นแค่ thesis ทีนี้ระยะถัดไปก็จะเป็นช่วงของการขุดคุ้ยล่ะ ทีนี้แง่มุมด้านมืด, ด้านดาร์กอะไรที่เกี่ยวกับคานธีก็มีคนเตรียมสาวไส้ออกมา โดยเริ่มจากมีคนจับผิดหนังก่อน (ถึงขนาดเขียนออกมาเป็นเล่มๆ ค่อนข้างบางหน่อย พอๆ กับหนังสือสวดมนต์) ก่อนจะถึงจุดที่ทัวร์ลง ซึ่งก็คงอีกไม่นาน เช่นเดียวกัน biopics เรื่องหนึ่งก็ไม่ต่างอันใดกับบุคคลตัวเป็นๆ ที่เริ่มจากความมีแง่มุมที่ glorified การต่อสู้และผลพลอยได้จากการต่อสู้ แต่ทว่าพอดูไปนานๆ เอ๊ะกลับพบแง่มุมด้านที่มีการซุกอยู่ใต้พรมเป็นเวลานาน
เชื่อว่าแง่มุมตรงนี้เซอร์ริชาร์ดไม่หลุดครับ คือมีแอบๆ พอให้บริหารสายตากัน เบื้องแรกคงเกี่ยวกับ ‘ตัวละครลับ’ ที่ในหนังไม่มีการบอกกล่าวถึงที่มาที่ไป แต่พออยู่ในหนังกลาายเป็นจุดสะดุดสายตา เอาที่ชัดมากๆ ก่อนเป็นสาวแหม่มในเรื่องชื่อ Mirabhen, ชื่อเดิม Madeleine Slade (แสดงโดยGeraldine James) ซึ่งใบหน้าเก๋มากคล้าย Meryl Streep (คหสต.) ซึ่งเป็นกันได้สำหรับคนเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณ ซึ่งตามข้อมูลมีการอ้างถึง Mirabehn (หรือMirabai, ในบางโอกาส) ว่าคอยติดตามคล้ายเป็นเลขาส่วนตัวของมหาตมะ
ทีนี้ก็เหลือน้องผญ.น่ารักสองคนที่คอยประคองให้มหาตมะ จวบจนถึงวาระท้ายสุดของลมหายใจซึ่งตอนนั้นภรรยา Kasturbai Gandhi ได้จากไปก่อนสามีเพียงสี่ปี (1944, ในหนังมีอ้างถึง) และถ้าย้อนกลับไปช่วงวัยหนุ่มสมัยเป็นทนายอยู่ Johanesberg, แอฟริกาใต้ คานธีมีบุตรสามสี่คน, ชายล้วน ซึ่งถ้าเทียบวัยตามลำดับเวลา ก็น่าจะสี่ซ้าห้าสิบ (คานธีเสียชีวิตด้วยวัยแปดสิบ) แต่ตลอดช่วงชีวิตของคานธีแทบไม่เคยอยู่ตามลำพัง
หมายเหตุ
ภาพยนตร์ Gandhi จะจัดฉายในโปรแกรมทึ่งหนังโลก ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ที่หอภาพยนตร์ รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่