ในโลกของภาพยนตร์ญี่ปุ่น ‘แตงโม’ ถือเป็นผลไม้ยอดนิยมที่มักถูกนำมาใช้ ‘แทนค่า’ กับความสดใสหรือความชื่นอกชื่นใจระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวหรือกลุ่มมิตรสหาย ที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าท่ามกลางบรรยากาศของฤดูร้อนอุ่นอ้าวที่ส่องสว่างเจิดจ้า
ทว่าแตงโมใน A Story of Yonosuke (2013, ชูอิจิ โอคิตะ) -หนังความยาว 160 นาทีอันว่าด้วยภาพชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เขาเคยพบพาน- กลับถูกแทนค่าความหมายที่คล้ายคลึงกันนี้ภายใต้ ‘บริบท’ ที่น่าสนใจกว่านั้น
เพราะผลไม้รสหวานฉ่ำน้ำชนิดดังกล่าวถูกเปรียบได้กับ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างเพื่อนชายสองคนในสวนสาธารณะยามค่ำคืนที่ถือเป็น ‘พื้นที่ทางเพศอันเร้นลับหม่นมืด’ ของสังคม …พื้นที่ซึ่งหากไม่เพ่งพินิจให้ถ้วนถี่ดีพอ เราก็อาจไม่มีวัน ‘มองเห็น’ หรือ ‘ทำความเข้าใจ’ มันได้เลย
ไม่ต่างจากสถานะการเป็น ‘เควียร์’ (Queer) หรือ ‘ผู้มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย’ ของหนึ่งในสองตัวละครนี้ ที่บีบบังคับให้เขาต้องมีชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ – ซึ่งประเด็นทั้งหมดปรากฏชัดอยู่ในซีเควนซ์หนึ่งของหนังซึ่งแม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็ช่างน่าประทับใจ
1
โยโนสุเกะ (รับบทโดย เคนโกะ โคระ) คือเด็กหนุ่มหัวฟูวัย 18 จากเมืองเล็กๆ ริมทะเลที่ต้องเดินทางเข้ามาเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียวปี 1987 ซึ่งด้วยรอยยิ้มเริงร่ากับทัศนคติต่อชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานด้านบวกของเขานี่เอง ก็ทำให้เจ้าตัวเริ่มมี ‘เพื่อน’ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากในและนอกรั้วสถานศึกษา
หนึ่งในนั้นคือ คาโตะ (โก อายาโนะ) นักศึกษาหนุ่มร่วมรุ่นมาดเท่ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นเพื่อนกับโยโนสุเกะ เมื่อฝ่ายหลังดันเข้าใจผิดคิดว่าฝ่ายแรกเป็นคนรู้จักและเดินเข้ามาทักทายด้วยความสนิทสนม ก่อนที่ทั้งคู่จะสานสัมพันธ์ต่ออย่างงุนงง ผ่านการชักชวนกันไปกินข้าวในเที่ยงวันนั้นเอง รวมถึงการพากันไปเรียนขับรถและการออกเดตคู่กับเด็กสาวอีกสองคนที่ร้านแฮมเบอร์เกอร์ในวันถัดๆ มา
วันหนึ่งที่ห้องพักของคาโตะในฤดูร้อนอันแสนอบอ้าว หนุ่มเจ้าของห้องหอบหิ้วแตงโมลูกโตมาผ่าแบ่งให้เพื่อนหัวฟูได้กิน พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ-ที่ห้องพักของอีกฝ่ายไม่มี-เพื่อต้อนรับ โยโนสุเกะนั่งกดรีโมตดูวิดีโอเทปบันทึกภาพพาเหรดของชมรมแซมบา (Samba) -ที่ตนในชุดนักเต้นสีแดงเพลิงกำลังเป็นลมล้มพับอยู่กลางทาง แต่ก็ยังตะโกนบอกเพื่อนๆ ให้ “ไม่ต้องสนใจฉัน ล่วงหน้ากันไปก่อนเลย”- ด้วยแววตาตื่นเต้นภูมิใจกับสิ่งที่ตนทำ คล้ายกับ ‘เด็กน้อย’ ที่มองเห็นทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องน่าตื่นตาไปเสียหมด
“หลังกินเสร็จ ฉันจะออกไปข้างนอกนะ …ไปเดินเล่น” เจ้าของห้องเปรย
“ฉันจะไปกับนายด้วย” เพื่อนหัวฟูพูดขณะกัดเนื้อผลไม้สีแดงเข้าปากกร้วมๆ ก่อนที่คำยืนกรานซ้ำอีกหนจะทำให้คาโตะต้องยอมจำนน
คืนนั้น, โยโนสุเกะถือแตงโมซีกใหญ่ติดมือออกมาด้วย
2
ในประเทศญี่ปุ่น แตงโมมีศักดิ์เป็นถึง ‘ราชาผลไม้แห่งฤดูร้อน’ เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลแตงชนิดนี้มีส่วนประกอบของ ‘น้ำ’ (ตรงตัวตามคำว่า Watermelon ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดี รวมถึงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ช่วยบำรุงร่างกาย — ชาวญี่ปุ่นภูมิใจกับผลไม้ชนิดนี้มากเสียจนมีคนออกมากล่าวว่า “อย่าบอกว่าคุณรักแตงโม จนกว่าจะได้ลิ้มรสแตงโมจากญี่ปุ่น” กันเลยทีเดียว
นั่นก็เพราะ ‘แตงโมญี่ปุ่น’ ที่มีจุดเด่นคือเปลือกบาง เนื้อเยอะ และรสชาติหวานอร่อยนี้ เปรียบเสมือนกับเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ที่เหล่าชาวสวนตั้งใจปลูกขึ้นมาด้วยความรักใคร่ทะนุถนอมภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่ดีที่สุด ซึ่งนอกจากรูปทรงกลมตามธรรมชาติแล้ว แตงโมญี่ปุ่นยังถูก ‘ปรับปรุง’ ให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ทรงพีระมิด หรือแม้แต่ทรงหัวใจ อีกทั้งยังสามารถรับประทานได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งการกินไล่ตามระดับความหวานที่ถูกคัดแยกไว้เป็นเลขลำดับ การกินโดยโรย ‘เกลือ’ เล็กน้อยตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นเพื่อที่ประสาทสัมผัสบนลิ้นจะสามารถแยกแยะรสหวานออกมาได้เด่นชัดขึ้น หรือการกินโดยนำไปพลิกแพลงเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเมนูอาหารคาว-หวานต่างๆ
นอกจากนี้ แตงโมญี่ปุ่นยังถูกนำมาใช้เป็น ‘ตัวช่วย’ ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย ผ่านการละเล่นกลางแจ้งที่เรียกว่า สุอิคะวาริ (Suikawari) หรือเกม ‘ปิดตาตีแตงโม’ ที่ผู้เล่นต้องผูกผ้าปิดตาไว้ หมุนตัวหลายๆ รอบ แล้วค่อยใช้ไม้สุ่มตีลูกแตงโมที่วางอยู่บนกระดาษลัง/ผ้าปูรองให้แตก ตามคำตะโกนบอกของคนรอบข้างภายในเวลาที่กำหนด โดยคนแรกที่สามารถทำได้จะถือเป็นผู้ชนะ และหลังจากการแข่งขันจบลง แตงโมลูกนั้นก็จะถูกแจกจ่ายให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม — ซึ่งเกมนี้ถือเป็นกุศโลบายต้านวิกฤตเศรษฐกิจหลังยุคฟองสบู่ของกลุ่มเกษตรกรชาวญี่ปุ่นในปี 1991 ที่พยายามหาหนทางเพิ่มปริมาณการบริโภคแตงโมในท้องตลาดจนกลายเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่ว มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือการ์ตูนหลายเรื่องของญี่ปุ่นจะหยิบเอาผลไม้ขึ้นชื่อดังกล่าวมานำเสนอถึงช่วงเวลาแห่งความสุขหรือมิตรภาพอันชื่นมื่นของผู้คน
ด้วยคุณสมบัติและเรื่องเล่าเฉพาะตัวเหล่านี้เองทำให้แตงโมญี่ปุ่นมัก ‘มีราคาสูง’ จนเหมาะแก่การซื้อหาให้กันในโอกาสสำคัญหรือส่งมอบให้แก่คนพิเศษจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น การที่คาโตะซื้อแตงโมมาแบ่งปันให้โยโนสุเกะได้กินในวันที่อากาศร้อนจัด จึงอาจหมายถึงการที่เขาให้ความสำคัญอย่างมากกับเพื่อนคนนี้ – เพื่อนคนที่เขาตัดสินใจแบ่งปันบาง ‘ความลับ’ ในหลืบเร้นของ ‘สวนสาธารณะ’ กลางกรุงที่พวกเขาร่วมออกเดินไปด้วยกันในคืนนั้นเอง
3
“ฉันได้ยินมาว่าสวนสาธารณะตอนกลางคืนมันมีทั้งโจรทั้งเรื่องเสี่ยงอันตรายเลยนะ” โยโนสุเกะมองไปรอบข้างอย่างลุกลี้ลุกลน ขณะเดินถือแตงโมซีกใหญ่อยู่ในมือ
“จำได้ไหมที่ฉันเคยบอกว่าไม่ค่อยสนใจ ‘ผู้หญิง’ น่ะ” คาโตะตัดสินใจปริปากอย่างเสียไม่ได้ เมื่อไล่เท่าไหร่เพื่อนตัวดีก็ไม่ยอมกลับไปรอที่ห้องเสียที “…มันเป็นเพราะฉันชอบ ‘ผู้ชาย’ ไงล่ะ”
หนุ่มหัวฟูชะงักงัน หันมองเงาตะคุ่มของผู้ชายสองสามคนที่กำลังนั่ง ‘พลอดรัก’ กันอยู่ใต้เงาไม้ แล้วจึงมองหน้าเพื่อนหนุ่มโดยที่แตงโมยังคงเต็มปาก “นายกำลังจะบอกว่า …นายชอบฉันงั้นเหรอ?”
จริงอยู่ที่ยุค 70-80 เป็นห้วงยามที่ภาคเศรษฐกิจ-โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์-ของญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะ ‘ก้าวหน้า’ ตามภาพลักษณ์อันแสนอู้ฟู่หรูหราของประเทศไปด้วย เพราะชาว ‘เควียร์’ (ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมักใช้กล่าวรวบยอดถึง ‘ผู้มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย’ อย่างเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ และคนเพศแปลกต่างอื่นๆ) ในสังคมนี้ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบ ‘ล่องหน’ อยู่ดี
คนที่มีเพศวิถีแบบเควียร์ไม่สามารถ ‘เปิดตัว’ ต่อสาธารณชนได้ แม้ตัวตนของเควียร์จะปรากฏให้เห็นผ่านสื่อศิลปะต่างๆ มาอย่างยาวนาน (โดยเฉพาะในแนวทางอันโด่งดังอย่าง Yaoi หรือ ‘เรื่องรักชาย-ชาย’ ที่ยังคงนำเสนอออกมาถูกบ้างผิดบ้าง) และสถานะของเควียร์จะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1880 โน่นแล้ว (ซึ่งในปัจจุบันก็ยังทำได้เพียงร้องขอ ‘ใบรับรองทะเบียนคู่ชีวิต’ จากบริษัทภาคเอกชนที่ตนสังกัดอยู่เพื่อรับสิทธิประโยชน์บางอย่างเท่านั้น) คนเหล่านี้ต้องแอบซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอาไว้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะไม่อยากทำตัว ‘แตกต่าง’ ไปจากวิถีทางของคนส่วนใหญ่ และเลือกที่จะปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นนี้ใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ แทน ทั้งในผับเกย์ที่ค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นมาราวกับดอกเห็ดนับจากยุค 50 หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะยามค่ำคืนที่เกย์-อย่างตัวละครคาโตะ-ต้องออกไป ‘หาเพื่อน’ ที่มีรสนิยมทางเพศสอดคล้องต้องกัน
ช่างภาพอย่าง โคเฮ โยชิยูกิ เคยบันทึกภาพ ‘คู่ขา/คู่รัก’ ตัวจริงทั้งชาย-ชายและชาย-หญิงที่มา ‘ประกอบกิจกรรมทางเพศกลางสวนสาธารณะในเวลากลางคืนของกรุงโตเกียว’ เอาไว้ด้วยฟิล์มอินฟราเรดตลอดทศวรรษที่ 70 โดยนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Park (1980) และลักลอบจัดจำหน่ายจนหมดเกลี้ยงเป็นจำนวนหนึ่งแสนเล่มภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้นิยมงานศิลป์ใต้ดินและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา (ในญี่ปุ่นยุคนั้น เซ็กซ์กลางแจ้ง ‘เคย’ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย-เช่นเดียวกับการบันทึกภาพกิจกรรมดังกล่าว) ซึ่งเคยมีคนให้คำอธิบายถึงบริบททางสังคมที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวเอาไว้ว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มบุคคลนิรนามในภาพชุดสุดอื้อฉาวเหล่านี้ ก็คือคนหนุ่มสาวในยุคสมัยที่ ‘บ้าน’ สักหลังเริ่มกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูงลิบจนเกินเอื้อมคว้า หลายคนยังคงต้องอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับพ่อแม่จนทำให้ไม่สามารถพาใครคนอื่นมาหลับนอนด้วยได้ง่ายๆ พวกเขาจึงต้องออกไปมองหา ‘พื้นที่เฉพาะ’ นอกบ้านเพื่อปลดปล่อยแรงปรารถนาที่คุกรุ่นอยู่ภายในกาย
ฉะนั้น จึงไม่ใช่แค่คนเพศเควียร์เท่านั้นที่ต้องลักลอบใช้ ‘ชีวิตอีกด้าน’ ด้วยวิถีทางเช่นนี้ แต่ชาย-หญิงที่มีเพศวิถีตามเพศกำเนิดผู้ไม่มีทุนรอนมากพอสำหรับการแต่งงานหรือการครอบครองบ้านสักหลัง ก็ยังเลือกเอา ‘หลืบเร้นของพื้นที่สาธารณะ’ มาใช้เป็นสถานที่แสวงหาความสุขชั่วคราวเพื่อหลบลี้จากสภาวะตึงเครียดกดดันของชีวิตไม่ต่างกัน จนต้องถูก ‘ผู้คนนอกสวน’ ตัดสินโบยตีว่า ‘วิปริตผิดเพี้ยน’ โดยเฉพาะในสังคมที่ทุกคนต้องพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับบรรทัดฐานที่ถูกตีกรอบไว้ให้ได้ และต้องไม่เปิดเผยด้านที่แตกต่างออกมาให้เห็น
มันจึงถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราทุกคน-ไม่ว่าจะมีเพศวิถีแบบใด-ที่ต้องสยบยอมอยู่ภายใต้กรอบคิดอันคับแคบตื้นเขินของสังคมกระแสหลักนี้ ล้วนมีโอกาสถูกยัดเยียดสถานะความเป็น ‘เควียร์’ (Queer – ที่แปลว่า ‘แปลกต่าง’ ตามความหมายตั้งต้นของตัวศัพท์) ได้เสมอ
“นายกำลังจะบอกว่า …นายชอบฉันงั้นเหรอ?”
“ไม่ใช่โว้ย! นายไม่ใช่ผู้ชายแบบที่ฉันชอบ!” คาโตะโวยวายใส่เจ้าของคำถามแทบจะในทันที
โยโนสุเกะนิ่งค้าง แล้วก้มหน้ากินแตงโมต่อไปอย่างเพลิดเพลิน โดยที่ถึงผู้ชมจะมองไม่เห็นสีหน้าของเขา ทว่าด้วยภาษากายจากด้านหลังที่ดูผ่อนคลายก็ทำให้รู้ว่า เจ้าตัวไม่ได้ ‘จริงจัง’ กับคำถาม-คำตอบเหล่านั้นสักเท่าไหร่
“แต่ถ้ามันทำให้นายไม่สบายใจ นายไม่ต้องมาเจอฉันแล้วก็ได้นะ” คาโตะแสดงความกังวล
“อ้าว ฉันมานอนค้างด้วยไม่ได้แล้วเหรอ!?” คราวนี้โยโนสุเกะส่งเสียงดังโวยวายเหมือนเด็ก
“ไม่ได้พูดแบบนั้นสักหน่อย! …ว่าแต่ทำไมนายดูไม่ตกใจเลยล่ะ?”
ใช่, หนุ่มหัวฟูไม่ได้แสดงอาการตกใจ เมื่อรู้ว่าเพื่อนหนุ่มคนนี้ ‘ชอบผู้ชาย’ และมาเดินเล่นที่สวนสาธารณะเพื่อ ‘หาเพื่อน’ คนอื่นๆ ที่มีรสนิยมแบบเดียวกัน แต่กลับดูจะสบายใจเสียด้วยซ้ำที่เขายังสามารถไปนอนตากอากาศเย็นสบายที่ห้องของเพื่อนได้เหมือนเดิม แถมยังยืนยันว่าจะนั่งรอเพื่อนโดยไม่เข้าไปก้าวก่าย พร้อมกับแบ่งแตงโมออกเป็นสองซีกด้วยมือเปล่าให้เพื่อนได้กินในสวนแห่งนั้นด้วย
ทั้งคู่ส่งมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่กัน เมื่อแตงโมสองซีกที่ถูกแบ่งครึ่งนั้นย้อยหล่นจนเลอะเทอะเปรอะมือไปหมด – คล้ายกับพวกเขาเป็นเพียงเด็กชายตัวเล็กๆ สองคนที่กำลังมีช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกัน
4
“การได้รู้จัก ‘เขา’ ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเอง ‘โชคดี’ กว่านายยังไงก็ไม่รู้แฮะ”
คาโตะกล่าวถึง ‘การได้รู้จักโยโนสุเกะ’ กับเพื่อนชายคนสนิทตรงริมระเบียงห้องพักบนตึกสูงในค่ำคืนหนึ่งของช่วงชีวิตถัดมา-อันเป็นวัยวันที่เขาเกือบหลงลืมเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยคนนี้ไปแล้ว ก่อนที่การได้เห็น ‘ชายหนุ่มเหงื่อท่วม’ คนหนึ่งในปัจจุบัน-ซึ่งไม่ต่างจากภาพของโยโนสุเกะในอดีต-จะทำให้ความทรงจำของเขาค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้น
ในยามนั้น เขาเคยหยิบยื่นมิตรภาพให้คนที่ดู ‘แปลกต่าง’ อย่างโยโนสุเกะ โดยยอมให้เพื่อนคนนี้ตามติดไปไหนมาไหนด้วยเสมอทั้งที่ตนเป็นคนรักสันโดษ ยอมให้เพื่อนคนนี้เอาเนื้อตัวเปียกเหงื่อ-ที่เขาเคยบอกว่าไม่ชอบ-มาสัมผัสเขาได้ และยอมให้เพื่อนคนนี้มานั่งๆ นอนๆ ในห้องพักติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำของเขา — ยิ่งไปกว่านั้น, เขายังชักพาให้โยโนสุเกะได้รู้จักกับ โชโกะ (ยูริโกะ โยชิทากะ) ลูกคุณหนูผู้เริงร่าไร้เดียงสาจากการออกเดตคู่ก่อนหน้า ที่ต่อมาได้กลายเป็น ‘ความรักอันแสนล้ำค่าที่น่าจดจำ’ ในชีวิตของเพื่อนหนุ่มหัวฟูอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ทัศนคติที่ไม่เหมือนใครของโยโนสุเกะก็เคยทำให้คาโตะได้มีช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ในมหาวิทยาลัย มันทำให้เขาได้รู้สึกเต็มตื้นขึ้นมาว่า อย่างน้อยๆ ในชีวิตนี้ ก็เคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่แม้จะได้เห็น ‘ชีวิตอีกด้าน’ ในหลืบเร้นหม่นมืดของเขา แต่ก็ไม่ได้ติดใจสงสัยหรือตัดสินเขาเหมือนใครคนอื่น แถมยังส่งมอบมิตรภาพกลับมาให้เหมือนเคยโดยปราศจากท่าทีรังเกียจรังงอน – ทำให้เห็นว่าแม้จะ ‘แปลกต่าง’ แต่เราก็ยังเป็น ‘เพื่อน’ กันได้
เราอาจเป็นคนที่มีเพศสภาวะ ‘แปลกต่าง’ แบบคาโตะ เราอาจเป็นคนที่มีทัศนคติ ‘แปลกต่าง’ แบบโยโนสุเกะ — เราอาจเป็นคนเหล่านี้ที่สังคมกระแสหลักมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ หลงลืมไป หรือถึงขั้นลงโทษโบยตีเพราะความ ‘แปลกต่าง’ ที่ขัดหูขัดตานั้น
แต่ในท่ามกลางสายตาช่างตัดสินของสังคมที่มองเหยียดลงมา สิ่งสำคัญที่สุดที่อาจช่วยกอบกู้ฟื้นฟูให้เราสามารถมีเรี่ยวแรงขับเคลื่อนชีวิตต่อไปได้ ก็คือรสชาติของ ‘มิตรภาพ’ ที่เราส่งมอบให้แก่คนรอบข้างในคืนวันที่รุ่มร้อนหรือมืดมิด-แบบเดียวกับที่คาโตะกับโยโนสุเกะแบ่งปันสุขทุกข์ร่วมกันผ่านแตงโมลูกนั้น-ต่างหาก
และมิตรภาพจะ ‘หอมหวานฉ่ำชื่น’ ขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะ ‘มองเห็น’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ พื้นที่หลืบเร้นหม่นมืดที่เราอาจไม่เคยแยแสในชีวิตของใครคนอื่นเสียบ้าง
เหมือนกับที่เราเองก็คงอยากให้คนอื่น ‘มองเห็น’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ พื้นที่เหล่านั้นของเราด้วยเช่นกัน
ชม The Story of Yonosuke ได้ที่ HBO GO