Home Film News คริสเตน สจวร์ต – เจ้าหญิงไดอาน่า ในหนัง ปาโบล ลาร์เรน และเหตุผลว่าทำไมใครๆ ก็ทำหนังเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษได้เสมอ

คริสเตน สจวร์ต – เจ้าหญิงไดอาน่า ในหนัง ปาโบล ลาร์เรน และเหตุผลว่าทำไมใครๆ ก็ทำหนังเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษได้เสมอ

คริสเตน สจวร์ต – เจ้าหญิงไดอาน่า ในหนัง ปาโบล ลาร์เรน และเหตุผลว่าทำไมใครๆ ก็ทำหนังเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษได้เสมอ

โปรเจกต์หนึ่งที่น่าตื่นเต้นในเวลานี้ คือ Spencer หนังเรื่องล่าสุดของ ปาโบล ลาร์เรน ซึ่งเล่าเรื่องราวในสามวันสำคัญช่วงคริสต์มาสสุดท้ายของ เจ้าหญิงไดอาน่า เมื่อเธอทบทวนแล้วว่าชีวิตสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสคงไปต่อไม่ได้อีกแล้ว จึงนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่อาจทำให้เธอหมดโอกาสขึ้นเป็นราชินีคนต่อไป

หากใครเคยดู Jackie ผลงานปี 2016 ของลาร์เรน คงพอนึกออกว่าหนังจะน่าสนใจอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่การทำการบ้านกับประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น เขายังสำรวจความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่โลกไม่ลืมได้ลึกซึ้งด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือก คริสเตน สจวร์ต มารับบทสำคัญนี้ ยิ่งทำให้โปรเจกต์ได้รับการจับตามหาศาล จนเป็นหนึ่งในหนังราคาสูงของตลาดหนังในตอนนี้ ลาร์เรนเล่าว่า “การจะทำหนังเรื่องนี้ให้ดี สิ่งสำคัญคือการทำให้ตัวละครนี้ดูน่าค้นหา เธอดูลึกลับ มีความเปราะบางและเข้มแข็งพอกัน นี่คือสิ่งที่เราต้องการ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้นึกถึงสจวร์ต ซึ่งวิธีที่เธอเขาถึงตัวละครก็ช่างงดงาม ผมว่าเธอจะทำออกมาได้น่าสนใจเพราะมันเป็นพลังจากธรรมชาติของเธอเอง”

การตีความตัวละครเจ้าหญิงไดอาน่าของลาเรนแตกต่างสิ้นเชิงกับเวอร์ชันของ โอลิเวอร์ เฮิร์ชบิเกล ใน Diana (2013) ที่ นาโอมิ วัตตส์ เป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมท่ามกลางความกระหายข่าวของสื่อมวลชน แน่นอนว่าหนังทั้งสองเรื่องย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงตัวละครในราชวงศ์ที่ยังมีชีวิตอยู่

ในราชวงศ์อังกฤษยังมีสมาชิกอีกมากมายจนพอจะทำเป็นซีรีส์ The Crown ได้ถึง 5 ซีซัน (ถ่ายทำถึงซีซัน 4 แล้ว) และเมื่อคนทำหนังเลือกสำรวจความลึกลับในราชวงศ์ ก็ย่อมสะเทือนมาถึงการบริหารงานของรัฐบาล เกิดเป็นผลงานที่ล้วนพูดถึงความขัดแย้งในพระราชวัง สภาผู้แทนราษฎร และประชาชน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ถ้ามองตามกรอบของบ้านเราแล้ว ก็แสนจะหมิ่นเหม่เปราะบาง แต่ทำไมคนทำหนังถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ระบบเจ้าขุนมูลนายอังกฤษผ่านหนังได้เสมอมา

เฮเลน มิเรน คือนักแสดงที่รับบท สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้ว 2 ครั้ง คือ The Queen หนังปี 2006 ของ สตีเฟน เฟรียส์ ที่ส่งให้เธอคว้าออสการ์ และละครเวที The Audience ปี 2013 ที่ส่งให้เธอคว้ารางวัลโทนี่ จนแม้แต่เราเองยังคิดว่ามิเรนคงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีมามากพอ จนสามารถสวมบทบาทเป็นพระองค์ได้อย่างแนบเนียน แต่ความเป็นจริงแล้วเธอเคยเข้าเฝ้าแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แถมยังอยู่แค่รอบนอกด้วย

มิเรนบอกว่า “พระราชินีและราชวงศ์มีความเปิดกว้าง เพราะเราเป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกอยู่แล้ว ดังนั้นเลยมีหนังหลายเรื่องที่แสดงภาพของราชวงศ์ที่หลากหลาย บ้างแสดงความเป็นนาซี และกล่าวร้ายต่างๆ นานา แต่พระองค์ไม่เคยแสดงความเห็นอะไรออกมา ได้แต่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไปไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความชอบธรรมให้ตัวเอง เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ที่ราชวงศ์จะต้องมาตอบโต้ต่อโลกแห่งการวิพากษ์วิจารณ์”

ขณะที่ สตีเฟน เฟรียส์ ผกก. The Queen บอกว่า “ราชวงศ์มีอำนาจล้นฟ้าและมีความอิ่มตัวในสถานะอยู่แล้ว ไม่มีเหตุอันใดที่พวกเขาจะต้องลดตัวลงมาต่อสู้กับคนทำหนังธรรมดาๆ อย่างพวกเรา พวกเขาจะทำไปทำไม? ชนะแล้วได้อะไร? ไม่ต่างจากสิ่งที่อยู่ใน The Queen พวกเขาต้องรักษาระยะห่างกับราษฎรเอาไว้”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดในราชวงศ์อังกฤษแสดงท่าทีต่อต้านหรือแม้แต่สนับสนุนหนังที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันเลยแม้แต่ครั้งเดียว และหนึ่งในคนทำหนังที่ได้ชื่อว่าสำรวจราชวงศ์อังกฤษมาแล้วปรุโปร่งคือ ปีเตอร์ มอร์แกน เขาทั้งเขียนบท The Queen, The Audience และเป็นผู้สร้าง The Crown ด้วยนั้น เล่าว่าสิ่งที่เขาเห็นคือชีวิตในรั้วในวังของเชื้อพระวงศ์ สุดท้ายก็คาบเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ นี่คือความเย้ายวนของนักเล่าเรื่องอย่างเขา ในการสร้างความน่าเชื่อถือบนตัวละครที่มีระยะทางชนชั้นกับคนดูมากล้นอย่างนี้

“ผมทำงานทุกชิ้นด้วยความรับผิดชอบต่อเรื่องราวที่เล่าอย่างสูงสุด แต่บางครั้งคนเขียนบทก็จำต้องใส่จินตนาการลงไปด้วย แต่ผมว่าคนดูคาดหวังและเปิดรับสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ดีไม่ดี เรื่องแต่งให้ความความเคารพต่อสถาบันมากเสียยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ทางการเสียด้วยซ้ำ”


อ้างอิง

Pablo Larraín and Kristen Stewart to Give Princess Diana the ‘Jackie’ Treatment in New Film

The royal system is contradictory – but it works.

A Quiet Audience: Why Queen Elizabeth II Has Never Commented on Helen Mirren’s Performance of Her

Fiction is often more honest than official history: The Crown creator Peter Morgan

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here