Home Film News Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 3)

Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 3)

0
Cinephiles in the time of Corona …คู่มือคอหนังยามยาก (VOL. 3)

ในช่วงเวลาของ ‘การรักษาระยะทางสังคม’ เช่นนี้ เราขอเสนอตัวเลือกของการนอนดูหนังอยู่กับบ้าน สำหรับคนรักหนังทุกท่านที่ต้องเผชิญสภาพ “โรงหนังกลายเป็นสถานที่อันตราย” (*คลิกชื่อเรื่องหรือภาพเพื่อเข้าชม*) :

(อ่าน VOL. 1 ได้ที่นี่ และ VOL. 2 ได้ที่นี่)

The Sacrament (2017, Isora Iwakiri)

Moosic Lab เป็นโครงการที่จับผู้กำกับหนังกับคนทำเพลงมาร่วมมือกันสร้างหนังขึ้นมาและมีเวทีประกวดให้รางวัล โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปีล่าสุด และในช่วงเวลาแบบนี้ทางโครงการได้ร่วมมือกับเทศกาลหนังญี่ปุ่นเพื่อคัดเลือกหนังจำนวน 12 เรื่องมาให้ดูออนไลน์กันฟรีๆ! โดยหนังทั้ง 12 เรื่องถูกคัดเลือกจากหนังที่ชนะรางวัลจากปี 2017 และ 2018 มีทั้งหนังสั้นและหนังยาว

หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกที่สุดในบรรดาหนังทั้งหมด 12 เรื่อง เรื่องของนักเรียนหนังคนหนึ่งที่ยังไม่เคยมีหนังเป็นของตัวเองและใช้เวลาไปกับการถ่ายเบื้องหลังให้กับหนังรุ่นพี่ เขาได้ยินตำนานจากเพื่อนสนิทที่เล่าเรื่อง หญิงสาวลึกลับผู้หนึ่งที่จะปรากฏตัวต่อหน้านักเรียนหนังเพื่อให้เขาผู้นั้นถ่ายทำตัวเองและถ้าหากการถ่ายทำสำเร็จหนังเรื่องนั้นจะกลายเป็นมาสเตอร์พีซ อยู่มาวันนึงระหว่างการออกค่ายนอกสถานที่ เขาก็ได้เจอกับหญิงสาวลึกลับผู้นั้นจริงๆ!

หนังโดดเด่นด้วยบรรยากาศสยองขวัญและความรู้สึกแปลกประหลาดที่ทำให้เราไม่ปลอดภัย ซีนการปรากฏตัวของหญิงสาวน่ากลัวที่โคตรขนลุก ทำให้เราดูหนังทั้งเรื่องหลังจากนั้นด้วยความรู้สึกต้องคำสาป ความรู้สึกที่อันตราย เราเพลิดเพลินไปกับการแอบมองสิ่งที่เราไม่ควรจะมอง แอบจับจ้องสิ่งต้องห้ามไปตลอดทั้งเรื่อง

หนังเริ่มด้วยท่าทีแบบหนังสยองขวัญ Found Footage แล้วค่อยๆ กลายเป็นหนังซ้อนหนัง กลายเป็นหนังเพลง ในช่วงท้ายหนังทิ้งท่าทีในตอนแรกและผันตัวเองกลายเป็นหนังเซอร์เรียลสุดขั้วที่ไม่ต้องมาถามหาเหตุผลอะไรกันอีกต่อไป หนังเรียงร้อยด้วยฟุตเตจในแบบต่างๆ ทั้งฟุตเตจที่อัดเหตุการณ์จริงจากกล้องตัวเอก ฟุตเตจของหนังที่ตัวเอกเป็นผู้กำกับ ฟุตเตจ Vlog จากยูทูป ของตัวละครตัวหนึ่ง รวมไปถึงภาพแอนิเมชั่น และมิวสิควิดีโอ หนังเริ่มต้นด้วยกฎของหนัง Found Footage ทั่วไปก่อนที่จะทำลายกฎนั้นทิ้งอย่างน่าสนใจ

Moonless Dawn (2018, Harika Abe)

หนังสั้นขนาดยาวเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องวัยรุ่นสามคน หนึ่งชายสองหญิง ผู้เชื่อมต่อกันด้วยเสียงเพลงและตึกสูงรูปทรงประหลาดย่านชิบูย่า เด็กหนุ่มเป็นนักแต่งเพลงที่อัพผลงานตัวเองอยู่บ่อยๆ มีพ่อเป็นครูขี้แพ้ หญิงสาวเป็นสาวขายบริการที่ไม่ยอมรับเงินจากลูกค้า โดยเธออ้างว่าเธอทำไปเพราะเธอสนุกที่ทำมัน หญิงสาวคนสุดท้ายเป็นเด็กเก็บตัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ไม่ค่อยมีเพื่อนและโดนกดดันจากการศึกษา เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มตัดสินใจเอาเพลงออกจากแชนแนลของตัวเอง ทำให้หญิงสาวทั้งสองที่เป็นแฟนเพลงตามหาเขา ทั้งสามมาพบกันที่ตึกสูงรูปทรงประหลาดตึกหนึ่ง และมีความสัมพันธ์อย่างแปลกประหลาดบนนั้น

เราสามารถพบเจอหนังวัยรุ่นมีปัญหาได้มากมายจากหนังแดนอาทิตย์อุทัย หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องคนสามคนได้อย่างหนักแน่นและความสัมพันธ์ของพวกเขาเมื่อพวกเขามาเจอกันก็น่าสนใจมากๆ หนังหล่อเลี้ยงตัวเองไปด้วยบรรยากาศกึ่งฝันกึ่งจริง ก่อนที่จะจบตัวมันเองด้วยการหักมุมที่ขอยืนยันความเหวอ และนอกจากนี้เพลงประกอบในเรื่องนี้ยังเพราะมากๆ ด้วย

Inner Loop Couple (2018, Taro Shibano)

ชายหญิงคู่หนึ่งพบกันโดยบังเอิญบนรถไฟเจอาร์ สายยามาโนเตะ เขาและเธอเคยพบกันมาก่อน ตอนสมัยที่เธอยังเป็นไอดอลและมีโชว์เดี่ยว เธอยังจำได้ว่าเขาบอกกับเธอว่า “คงจะเจอเรื่องยากๆ อีกเยอะ แต่อย่าล้มเลิกความตั้งใจนะครับ” ความทรงจำในการพบกันช่วงสั้นๆ ยังคงติดตรึงอยู่ในใจ ทั้งคู่ลงที่สถานีปลายทางโอซากิ มันเป็นเวลาดึกแล้ว รถไฟสายที่วิ่งวนเป็นลูปนี้ต้องหยุดลง ชายหญิงเดินคุยกันถึงชีวิตที่ผ่านมา

หนังสั้นโรแมนติกเรื่องนี้น่ารักเอามากๆ บอกเล่าด้วยเรื่องง่ายๆ ตัวละครชายหญิงเปี่ยมเสน่ห์ และบรรยากาศถนนโตเกียวในยามค่ำคืนที่ก็ช่างน่าไปเดินเล่น เหมาะสำหรับใครที่อยากไปโตเกียวในช่วงนี้ กายหยาบเราอาจจะไปไม่ได้ แต่หนังเรื่องนี้จะพาคุณไปได้แน่นอน

CODEC Festival

เทศกาลหนังทดลองนานาชาติในกรุงเม็กซิโกซิตี้ CODEC International Experimental Film and Video Festival ก็เป็นอีกแห่งที่ขอร่วมวงแชร์หนังให้โลกดูในช่วงสถานการณ์โควิด หนังทั้งหมดคือผลงานที่เลือกจากไลน์อัพของเทศกาลนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปีล่าสุด (2015 ถึง 2019) หนึ่งในนั้นคือหนังสั้นไทย “อนัตตา” (2014, มนศักดิ์ คล่องชัยนันต์) แต่แน่นอนว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของลิสต์คือหนังอเมริกัน เม็กซิกัน กับประเทศละตินอเมริกันอื่นๆ ใกล้เคียง

Cinema Oasis VOD

หลังถอยฉากปิดโรงไปตั้งแต่ก่อนคำสั่งในวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ตอนนี้โรงภาพยนตร์ Cinema Oasis ได้ขยับมาเปิดช่องทาง VOD ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นมีหนังออนไลน์จำหน่ายอยู่ 6 เรื่องซึ่งทั้งหมดคือผลงานกำกับจากเจ้าของโรงของ “อิ๋ง เค” สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้แก่ พลเมืองจูหลิง (2008) เซ็นเซอร์ต้องตาย (2014) และ Bangkok Joyride ทั้ง 4 ภาค (2018-2019) ในราคาเรื่องละ 1.99 เหรียญฯ – น่าสนใจว่าต่อไปจะมีผลงานเก่าๆ ของสมานรัชฎ์เรื่องอื่น หรือหนังต่างชาติที่ลับแลหาชมยากสุดขีดแต่เคยเข้าฉายที่โรงนี้ มารวมอยู่ในคอลเลคชั่นนี้ด้วยหรือไม่

Arsenal 3

“สถาบันภาพยนตร์และวิดีโออาร์ต อาร์เซนอล” (Arsenal – institute for Film and Video Art) เป็นองค์กรเก่าแก่ที่ปรับโฉมมาจาก “มิตรสหายของหอภาพยนตร์เยอรมัน” (Friends of the German Film Archive) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1963 ทำงานด้านภาพยนตร์ครบวงจรตั้งแต่มีโรงหนังเป็นของตัวเอง สำนักพิมพ์ที่ทำทั้งหนังสือและดีวีดี จัดจำหน่ายหนังอินดี้ จัดเสวนา เวิร์คช็อป มีบริการต่างๆ ด้านภาพยนตร์รวมถึงเก็บรักษา และยังรับผิดชอบโปรแกรมในสาย Forum กับ Forum Expanded ให้เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินทุกๆ ปีอีกด้วย เมื่อโรงหนังที่เบอร์ลินทั้งสองโรง (Arsenal 1 + 2) ต้องหยุดให้บริการเพราะสถานการณ์โควิด ทางสถาบันฯ เลยเปิดพื้นที่ Arsenal 3 ที่แต่เดิมเป็นช่องทางดูหนังออนไลน์แบบเสียเงินสำหรับสมาชิก ให้ผู้ชมทั่วโลกเข้าไปดูหนังที่ผ่านการคัดสรรของทีมโปรแกรมเมอร์ได้ฟรี (โดยใช้ user name กับ password ที่เตรียมไว้ให้) ซึ่งมีตั้งแต่หนังทดลองสุดโหดดูยาก หนังเฮี้ยนชื่อดัง และหนังลับแลที่เราอาจไม่รู้จักมาก่อน ทั้งหนังร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและหนังคลาสสิก โดยหนังแต่ละโปรแกรมจะมีอายุ 7 วัน เปลี่ยนโปรแกรมทุกเที่ยงคืนของวันศุกร์ – หนังส่วนใหญ่ในโปรแกรมเป็นหนังเยอรมัน หรือเคยผ่านเวทีสาย Forum ที่เบอร์ลินมาแล้ว หลายเรื่องคือหนังที่หลายคนเฝ้ารอ เช่น สารคดีทดลองอเมริกันสุดฮือฮา El Mar La Mar (2017), Ticket of No Return (1979) หนังสุดเฮี้ยนขององค์แม่แห่งวงการหนังเยอรมัน Ulrike Ottinger และหนังซูดานของ Ibrahim Shaddad ผู้กำกับที่อาจเป็นหนึ่งในคนสำคัญของประวัติศาสตร์หนังแอฟริกัน ถ้าประเทศไม่รัฐประหารและปิดโรงหนังยุบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

Lockdown Cinema Club (Vol 1 / Vol 2 / Vol 3)

Lockdown Cinema Club คือโครงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรในแวดวงหนังอิสระฟิลิปปินส์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด และเพื่อตอบแทนเงินบริจาค (ที่เปิดรับทั้งจากในและนอกประเทศ) ที่จะต่อชีวิตคนทำหนังในสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ พวกเขามีหนังอาเซียนให้เราดู (ส่วนใหญ่คือหนังฟิลิปปินส์) โดยปัจจุบันได้ออนไลน์แล้วทั้งหมดสามชุดใหญ่ๆ รวมผลงานของผู้กำกับฟิลิปปินส์หน้าใหม่มาแรงที่เราอาจยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จัก รุ่นกลางที่กำลังเด็ดดวงสร้างชื่ออย่าง Carlo Francisco Manatad, Dodo Dayao, Gym Lumbera, Kiri Dalena, Giancarlo Abrahan, Jerrold Tarog, Jon Lazam, Jet Leyco, Erik Matti, Shireen Seno หรือ Sheron Dayoc ไปจนถึงบิ๊กเนมทั้ง Lav Diaz, Khavn de la Cruz, Raya Martin และ John Torres (รวมถึงหนังสั้นทดลองสุดเดือด Gaze and Hear ของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่หาชมได้ยากยิ่ง) หลากหลายตั้งแต่หนังตลกห่ามๆ แสบสันต์ ไปจนทดลองท้าทายปั่นประสาท สมกับที่เป็นประเทศซึ่งวัฒนธรรมหนังอิสระเข้มแข็งกระตือรือร้นที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

National Film Institute Hungary

สถาบันภาพยนตร์ฮังการี ซึ่งทำหน้าที่เป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติด้วย ได้เผยแพร่หนังคลาสสิกจำนวน 35 เรื่อง กินความประวัติศาสตร์กว้างขวางตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1992 เพื่อเป็นวิทยาทานดิจิทัลในช่วงสถานการณ์โควิด โดยแบ่งประเภทหมวดหมู่เป็นหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์ และอนิเมชั่น ทีเด็ดของลิสต์นี้คือหนังของผู้กำกับฮังกาเรียนระดับตำนานในยุครุ่งเรืองที่ผ่านมาแล้วทุกเวทีทั้งคานส์, เวนิซ, เบอร์ลิน, ออสการ์ อย่าง Zoltán Fábri, Károly Makk, István Szabó และ Márta Mészáros

Cabin Fever

Cabin Fever คือหนึ่งในลิสต์รวมหนังชุดแรกๆ ที่ปรากฏในโลกออนไลน์ช่วงสถานการณ์โควิด และไวรัลอย่างรวดเร็วในจังหวะที่หลายประเทศใหญ่ล็อคดาวน์ปิดเมืองไล่เลี่ยกัน ลิสต์นี้รวมหนัง-วิดีโอทดลองเอาไว้มากกว่าร้อยเรื่อง และยังคงอัพเดทเพิ่มเติมเรื่อยๆ ทั้งจากตัวเจ้าของลิสต์ Kate Lain (ที่เริ่มทำเพื่อใช้เป็น watch list สำหรับนักศึกษาในคลาส หลังมหาวิทยาลัยออกคำสั่งให้เรียนออนไลน์) และผู้ติดตามมิตรสหายในแวดวงเดียวกันที่เสนอชื่อเพิ่มเติมให้ – แบ่งประเภทหมวดหมู่ไว้มากกว่าสิบชุด ให้คนดูเลือกผจญภัยได้ตามอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวเองต้องการ เพราะหนังส่วนใหญ่จะลับแล ใต้ดิน คนรู้จักน้อย หรืออาจแทบไม่มีข้อมูลให้สืบค้น แต่เมื่อลิสต์นี้เริ่มต้นเพื่อการศึกษาภาพยนตร์ จึงมีผลงานของคนทำหนังระดับปรมาจารย์คลาสสิก Jan Svankmejer, Man Ray, Len Lye, Margaret Tait, Kenneth Anger, Maya Deren, Peter Rose, Bruce Baillie, Marie Menken, Barbara Hammer, Toshio Matsumoto และร่วมสมัยอย่าง James Benning, Mike Hoolboom, Sky Hopinka, Miranda July, Mati Diop, Adam Curtis, Sam Taylor-Wood รวมอยู่ด้วย (ตัวลิสต์โหลดดูได้จากไฟล์ excel และ pdf หรือหน้า Google sheets ที่จะโหลดช้าสักหน่อยเพราะคนเข้าดูพร้อมกันค่อนข้างมาก)

SXSW

South by Southwest เป็นเทศกาลหนังแนวหน้าจาก ออสติน เทกซัส ที่ตีคู่มากับเทศกาลหนัง Sundance ในอเมริกา ตัวเทศกาลจะมีทั้งกรจัดฉายหนัง ควบคู่ไปกับ interactive media เทศกาลดนตรี และการจัดเสวนา ไปยันเดี่ยวไมโครโฟน เป็นหนึ่งในเทศกาลหนังอิสระที่ล้ำที่สุดของโลก ตัวเทศกาลหนังนั้นมีทั้งหนังสั้นหนังยาว ฉายทั้งหนังสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ซ้ำยังโด่งดังในฐานะที่เปิดตัวหนังสยองขวัญอิสระ หนังอย่าง TheQuiet Place , Cabin in The Woods ก็เปิดตัวที่นี่

ปีนี้เทศกาลต้องยกเลิกเพราะ COVID -19 ทางเทศกาลจึงเอาหนังยาวทั้งหมดลงออนไลน์ให้ดูฟรีในเวลาจำกัดผ่านทางAmazon Prime ซึ่งแน่นอนว่าดูได้เฉพาะในอเมริกา แต่ถึงกระนั้น หนังสั้นสายประกวดทั้งหมด ทางเทศกาลก็ใจดีปล่อยให้ดูฟรีทั่วโลก

หนังสั้นเทศกาลนี้ไม่ใช่หนังทดลอง แต่เป็นหนังเล่าเรื่องถ่ายเนี้ยบถ่ายสวย แนะนำเป็นพิเศษกับหนังสั้นสาย Midnight ที่เป็นสุนทรสถานความบันเทิงของคนรักหนังสยองขวัญระดับ จิ๋วแต่แจ๋ว

Thai Film Archive

ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำช่อง youtube ของภาพยนตร์เกาหลีใต้ไปแล้ว ต้องบอกว่าหอภาพยนตร์ไทยก็ไม่น้อยหน้า เริ่มมีการอัพโหลดหนังไทยคลาสสิคระดับมรดกของชาติมาให็ได้ชมการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งหนังข่าวสำคัญๆตั้งแต่พระราชกรณียกิจ ไปจนถึงข่าวการนิรโทษกรรม กรณี 6 ตุลา ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นยอด ไล่ไปจนถึงหนังเรื่องจริงๆอย่าง สันติ-วีณา หนังที่เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2497 หลังจากชึ้นชื่อว่าสูญหาย ก็ถูกค้นพบและถูกนำมารีมาสเตอร์อย่างงดงามและไปฉายใน section Cannes Classic หรือ ยุทธนา – ศิริพร หนังสารคดีจากเยอรมนีที่เดินทางมาถ่ายทำชีวิตของชาวไทยในปี พ.ศ. 2506 เศรษฐีอนาถา (พ.ศ. 2500) หนังตุ๊กตาทองเรื่องแรกของไทย และล่าสุดกับ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. 2508) หนังเหล่านี้ไม่ได้สำคัญแค่เพื่อการศึกษาหากมันยังสนุกสนานเพลิดเพลินและมีภาษาหนังคนละแบบกับหนังไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

Manta Ray (2019, พุฒิพงษ์ อรุณเพ็ง)

กระเบนราหู หนึ่งในหนังไทยที่สำคัญที่สุดทั้งในปรเทศและทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เริ่มออกจำหน่าย ดีวีดีและบลูเรย์สวยสดงดงามแล้ว (ทักไปถามซื้อได้ที่เพจของหนัง) แต่ถ้าใครไม่มีเครื่องเล่น หนังก็ลงฉายแบบ on demand ให้ดูกันเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน โดยซื้อหนังได้ในราคา 12US$ (ประมาณ 400 บาท) และจะมีราคาสำหรับเช่าดูตามมาเร็วๆนี้ พิเศษกว่านั้นคือนอกจากจะได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ยังแถมหนังสั้น ชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheel) หนังสั้นที่เล่าแรงงานอพยพชายแดนไทยอย่างน่าทึ่ง จากผู้กำกับคนเดียวกันอีกด้วย

Thin (2006, Lauren Greenfield)

สารคดีตามถ่ายชีวิตของผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาในสถานบำบัด The Renfrew Center ในแคลิฟอร์เนีย พวกเธอมีปัญหาการกินผิดปกติ ไม่ว่าจะกินแล้วล้วงคอออกมาทีหลัง คอยคำนวณแคลอรี่ตลอดเวลาเพื่อเลี่ยงการกินของที่ทำให้ตัวเองน้ำหนักขึ้น หรือไม่กินอะไรเลยเพราะกังวลรูปร่างของตัวเอง กลัวคนรอบข้างบอกว่าอ้วน

“ทำไมถึงกังวลมากนักกับสิ่งที่คนอื่นคิด?”
“เพราะฉันใส่ใจมันมาตลอดทั้งชีวิตไง ถึงได้น้ำหนักลดตั้งแต่แรก”

เป้าหมายของสถานบำบัดคือ ‘การเพิ่มน้ำหนัก’ และให้พวกเธอออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังจบการรักษา ดังนั้นนอกจากโภชนาการที่ถูกต้อง จิตวิทยาก็เป็นสิ่งสำคัญ การกินอาหารคือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของพวกเธอ บางคนเริ่มมีอาการเพราะถูกต่อว่าว่าอ้วน บ้างก็เป็นเพราะความเครียด และอยากควบคุมบางอย่างในชีวิตได้บ้าง

นี่คือสารคดีเรื่องแรกของผู้กำกับลอเรน กรีนฟิลด์ เธอไปที่ The Renfrew Center ครั้งแรกในปี 1997 หลังถูกมอบหมายงานจากนิตยสารไทม์ ต่อมาเธอแวะเวียนไปอีกหลายครั้งเพื่อทำโปรเจกต์ศิลปะของตัวเอง และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงในเรื่องยอมเปิดใจและเชื่อใจให้เธอตามถ่ายจนกลายมาเป็นสารคดีเรื่องนี้ ลอเรนตามถ่ายหญิงสาวในช่วงเวลาส่วนตัว เช่นการแอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำ หรือการทำผิดกฎบางอย่าง การประชุมของเจ้าหน้าที่ เซสชันบำบัด การชั่งน้ำหนักประจำวัน ฯลฯ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here