Home Article Special Article หนัง “ยูเครน” ที่เราอยากดู

หนัง “ยูเครน” ที่เราอยากดู

หนัง “ยูเครน” ที่เราอยากดู

ก่อนที่กระแสข่าวเรื่องการใช้กำลังทหารของรัฐบาลปูตินจะเริ่มก่อตัวขึ้น ก่อนกองทัพรัสเซียจะเปิดฉากรบเต็มกำลังในยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เชี่อได้ว่าภาพจำของยูเครนในอีกหลายฟากของโลกยังคงถูกแช่แข็งไว้ที่การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2014 – แช่แข็งราวกับว่าแรงปะทะทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งหมดได้บรรเทาเบาบางลงแล้วตั้งแต่สิ้นสุดการประท้วงครั้งนั้น เมื่อประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ต้องลงจากตำแหน่งและลี้ภัยไปรัสเซีย

ทั้งที่ระหว่างนั้นก็มีหนังยูเครนซึ่งเล่าเรื่องการสู้รบในภาคตะวันออกของประเทศไปคว้ารางวัลในเทศกาลใหญ่ ทว่าความขัดแย้งระหว่างยูเครน (+ โลกตะวันตก) กับรัสเซีย ก็ยังคงไม่ใช่ประเด็นถกเถียงซึ่งเป็นที่พูดถึง ต้องตระหนักรู้ให้ความสำคัญเร่งด่วน หรือเป็นหลักไมล์เรื่องร้อนที่ต้องแสดงความเห็นหรือเลือกจุดยืนให้ถูกต้องเหมาะควร อาจเป็นเพียงบทสนทนาเล็กๆ เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเทียบกับเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ปะทุขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกันระหว่างหลายปีนั้น

ยิ่งน่าประหลาดใจ เมื่อพิจารณาว่าความขัดแย้งที่สะเทือนทั้งทวีปยุโรปและการเมืองโลกในภาพกว้างอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในวินาทีนี้ เคยถูกมองและใส่ใจรับรู้อย่างมีระยะห่างมากแค่ไหน – ก่อนที่ทุกวันนี้ แทบทุกฝ่ายต่างถูกคาดหวังให้แสดงออกว่า stand with Ukraine ในทุกมิติ

Film Club จึงขอเลือกแนะนำภาพยนตร์ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รู้จักนอกแวดวงเทศกาลหนัง คละปนกันไปทั้งหนังที่มีอายุแล้วสักหน่อย และหนังใหม่ที่เพิ่งทำเสร็จได้เปิดตัวออกฉายสดๆ ร้อนๆ ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งขึ้นสู่จุดสูงสุด แม้ว่าบางเรื่องจะไม่ได้ถือสัญชาติยูเครน หรือเป็นผลงานของคนทำหนังชาวยูเครนโดยตรง แต่ทุกเรื่องได้เข้าไปสำรวจ คลุกคลี เผชิญหน้า หรือเล่าเรื่องจากมุมต่างๆ ของสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งดำเนินอยู่ตลอดมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ


มนุษย์หลังสงครามของ วาเลนติน วาสิยาโนวิช

Atlantis (2019)
Reflection (2021)

ผู้กำกับ: วาเลนติน วาสิยาโนวิช (Valentyn Vasyanovych)

พระเอกของวาสิยาโนวิชในหนังทั้งสองเรื่อง ไม่ว่าจะเขียนชื่อแบบรัสเซีย (เซอร์เก, Sergey) หรือแบบยูเครน (เซอร์ฮีย์, Serhiy) ต่างดำรงอยู่ราวกับเป็นคนเดียวกัน ส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน ผ่านชะตากรรมที่แทบย่ำเดินเส้นทางเดียว (การใช้ชื่อที่แพร่หลายพอๆ กับ “สมชาย” ก็แสดงเจตนาชัดว่าต้องการให้ตัวละครเป็นภาพแทนชาวยูเครนส่วนใหญ่)

เซอร์เกใน Atlantis คือทหารผ่านศึกซึ่งกำลังสู้รบกับอาการ PTSD ในปี 2025 หลังยูเครน “ชนะสงคราม” ในภูมิภาคดอนบาสแล้ว สงครามทุบทำลายสภาพจิตใจของเขา หักพังไม่ต่างกับสภาพบ้านเมืองที่กลายเป็นทวีปสาบสูญ เพื่อกอบกู้ตัวเอง เขาสมัครเป็นอาสาค้นหาเก็บกู้ศพเพื่อนร่วมชาติในพื้นที่สู้รบ หนังพาคนดูขึ้นรถ ออกตระเวนค้นหาซากมนุษย์ในทวีปสาบสูญไปพร้อมตัวละคร ก่อนที่สำนึกรับรู้ของอดีตทหารชาวยูเครนจะค่อยๆ ได้สัมผัสกับความหวัง ปฏิสัมพันธ์ และอุณหภูมิของความเป็นมนุษย์อีกครั้ง

ส่วนเซอร์ฮีย์ใน Reflection เป็นศัลยแพทย์ชาวยูเครนในสถานการณ์ปัจจุบัน (ก่อนรัสเซียบุกเต็มตัวในปี 2022) ที่ถูกกองทัพรัสเซียจับเป็นเชลยศึกในภูมิภาคดอนบาส ภาพสยดสยองของความรุนแรง การหมิ่นหยามลดทอนศักดิ์ศรี และความเย็นชาต่อชีวิตมนุษย์ในพื้นที่สงคราม ทำให้หลังได้รับการปล่อยตัวกลับสู่ชีวิตความเป็นอยู่อย่างชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ เขาต้องค่อยๆ กอบกู้สภาพจิตใจผ่านการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับลูกเมีย และเรียนรู้เพื่อจะกลับไปสัมผัสรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้ได้อย่างที่เคยเป็น


สะเก็ดสงครามของ อลินา กอร์โลวา

No Obvious Signs (2018)
This Rain Will Never Stop (2020)

ผู้กำกับ: อลินา กอร์โลวา (Alina Gorlova)

ในความขัดแย้งและการสู้รบ ไม่ได้มีแค่ทหารผู้ชายติดอาวุธหรือวีรบุรุษสงคราม หนังสารคดีขนาดยาวทั้งสองเรื่องของกอร์โลวา จึงเลือกบันทึกชีวิตและการต่อสู้ของ “คนกลุ่มอื่น” ภายใต้สถานการณ์สงครามที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่

No Obvious Signs เป็นส่วนขยายของสารคดีประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในกองทัพยูเครนเรื่อง Invisible Battalion (2017) โดยกอร์โลวาตามถ่ายชีวิตของทหารหญิงชาวยูเครนที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรับยา พบจิตแพทย์ บำบัดรักษาอาการทางจิตทั้ง Panic attack, PTSD และ trauma – กระบวนการทั้งหมดกินเวลายืดเยื้อ ราวกับว่าสนามรบของทหารหญิงไม่เคยจบแค่ในสมรภูมิ และหลายต่อหลายครั้ง ปัญหาความเจ็บปวดกับการต่อสู้อันโดดเดี่ยวของ(พวก)เธอก็ “ไม่ปรากฏสัญญาณชี้ชัด” ไม่ว่าจะในคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือสายตาและการรับรู้ของสังคมยูเครน

ในขณะที่สารคดีขาว-ดำ This Rain Will Never Stop นำเสนอสภาวะไร้สิ้นสุดของสงครามบนโลกมนุษย์ ผ่านซับเจ็คต์ที่เหลือเชื่อแต่มีตัวตนจริง คือครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่หนีสงครามกลางเมืองในประเทศบ้านเกิด แต่กลับมาเจออีกสงครามในประเทศใหม่ สถานการณ์บีบให้ต้องคิดเรื่องอยู่หรือหนีอีกครั้งหลังลี้ภัยครั้งแรกแค่ไม่กี่ปี และถ้าสิ้นหนทางจนต้องหนีจากยูเครน ทางไหนจะดีกว่ากัน ระหว่างไปหาสมาชิกครอบครัวที่กระจายอยู่ในยุโรป หรือเสี่ยงตายกลับแผ่นดินเกิดที่สงครามก็ยังคุกรุ่นไม่แพ้กัน


เด็กในแดนสงคราม

The Earth Is as Blue as an Orange (2020)

ผู้กำกับ: อิรินา ซีลิค (Irina Tsylik)

ถ้าให้ลองจินตนาการตามในแวบแรก พวกเรานึกภาพชีวิตครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองในดอนบาส (ซึ่งสู้รบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาหลายปี) ไว้แบบไหน? แน่นอนว่าซากปรักหักพังของบ้านเมืองย่อมปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานตำตา ทว่าที่ส่องประกายแข่งภาพเบื้องหลังชวนสลดคือความหวังของสามแม่ลูก พวกเขาอยากถ่ายหนังเล็กๆ ด้วยกันสักเรื่อง เขียนบทจากชีวิตเล็กๆ ของผู้คนในชุมชน ใช้เพื่อนบ้านกับทหารเป็นนักแสดง และกำลังลุ้นผลใบสมัครเรียนฟิล์มของลูกสาวคนโต – เรื่องเล่าของชาวยูเครนตัวเล็กๆ กลางวิกฤติ พาซีลิคไปถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมซันแดนซ์ (สาย World Cinema-Documentary ปี 2020) และกวาดคำชมมากมายเมื่อหนังได้ฉายที่เบอร์ลินในปีเดียวกัน

The Distant Barking of Dogs (2017)
A House Made of Splinters (2022)

ผู้กำกับ: ซิมอน เลเรง วิลมอนต์ (Simon Lereng Wilmont)

วิลมอนต์เป็นคนทำหนังชาวเดนมาร์ก แต่ไปฝังตัวอยู่ในภาคตะวันออกของยูเครนจนได้สารคดีขนาดยาวมาสองเรื่อง – The Distant Barking of Dogs ซึ่งต่อมาได้เข้าชิงสารคดียอดเยี่ยม European Film Awards เล่าช่วงเวลาหนึ่งปีของโอเล็ก (Oleg) เด็กชายวัยสิบขวบที่อยู่กับยายในหมู่บ้านเล็กๆ สองยายหลานซึ่งไม่มีที่ไปได้แต่เฝ้าดูเพื่อนบ้านค่อยๆ ละทิ้งถิ่นฐานจนแทบกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ต้องเรียนรู้ ใช้ชีวิต และเติบโตในช่วงวัยรุ่นอย่างเด็กชายชาวยูเครนตะวันออก คือต้องเผชิญหน้าอันตรายและความท้าทายของสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากในขณะเดียวกัน หนังก็ได้บันทึกภาพความสัมพันธ์ใกล้ชิดของมนุษย์ ซึ่งทั้งเปราะบางอ่อนไหว แต่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการดิ้นรนให้มีชีวิตรอดไปได้ในแต่ละวัน

A House Made of Splinters ขยายพรมแดนจากเด็กในครอบครัว ไปสู่เด็กๆ ชาวยูเครนที่ไร้ครอบครัวและได้รับผลกระทบจากสงครามชนิดหนักหนาสาหัส – หนังสำรวจจับสังเกตชีวิตของเด็กๆ ที่หมุนเวียนเข้าออกบ้านเด็กกำพร้าหลังหนึ่งในยูเครนตะวันออก บ้านทรุดโทรมหลังใหญ่ที่ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์ดูแลโดยกลุ่มผู้หญิง ที่นี่เปิดประตูรับเด็กที่เผชิญปัญหาความยากจน ความรุนแรง หรือพ่อแม่ติดเหล้า แต่ละคนอยู่บ้านนี้ได้นานที่สุดเก้าเดือนเต็ม ก่อนผู้ใหญ่จะตัดสินใจว่าพวกเขาจะได้กลับบ้าน ย้ายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งต่อไปบ้านเด็กกำพร้าแห่งใหม่ เด็กๆ เปลี่ยนหน้าแต่วงจรนี้ยังหมุนต่อไปเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด


คนแปลกหน้าของสงคราม

Boy of War (2018)

ผู้กำกับ: ซิเปรียง เคลมองต์-เดลมาส์ (Cyprien Clément-Delmas), อิกอร์ โคเซงโก (Igor Kosenko)

สารคดีเรื่องนี้จับภาพร่วมสมัยของวัยเยาว์อันสิ้นสูญในยูเครน กล้องเฝ้าสังเกตชีวิตของเด็กหนุ่มวัยสิบแปดกับแรงฝันอันแน่วแน่ที่จะเดินทางไปร่วมรบในภาคตะวันออกเพื่อปกป้องแผ่นดิน เด็กหนุ่มในเครื่องแบบทหารติดตราบ้าเครื่องหมาย สวมชุดลายพรางและฝึกยุทธวิธีรบอย่างเอาเป็นเอาตาย คิดว่าตัวเองเพียบพร้อมและทะลุปรุโปร่งเรื่องสงครามเพราะได้ศึกษาจากคลิปวิดีโอใน YouTube – หนังติดตามเขาตั้งแต่การซุ่มฝึกเตรียมพร้อมร่างกายที่บ้าน ไปจนถึงวันที่เขาตัดสินใจบอกลาแฟนสาวที่อยากมีชีวิตปกติ ขึ้นรถไฟหลายชั่วโมงไปสู่สมรภูมิที่ดอนบาส     

Novorossiya (2022)

ผู้กำกับ: เอนริโก ปาเลนติ (Enrico Palenti), ลูกา เจนนารี (Luca Gennari)

Novorossiya หรือ New Russia คือชื่อที่ฝ่ายสนับสนุนรัสเซียใช้เรียกแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) กับลูฮานสก์ (Luhansk) ที่ประกาศแยกดินแดนเป็นอิสระจากประเทศยูเครน สารคดีของสองผู้กำกับชาวอิตาเลียนพาคนดูลุยเข้าไปถึงใจกลางพื้นที่สีเทากลางสมรภูมิรบในภาคตะวันออก เพียงไม่นานก่อนสงครามเต็มรูปแบบในปี 2022 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ – นอกจากสองหญิงชรากับเหล่าสมาชิกวงเฮฟวีเมทัลชาวยูเครนที่หลบระเบิดอยู่ใต้บังเกอร์สมัยโซเวียตมาแล้วแปดปี หนังยังได้พบคนแปลกหน้าของสงคราม อย่างบรรดาทหารต่างชาติที่โยนตัวเองลงมาในความขัดแย้งที่อีกฟากหนึ่งของโลก รวมถึงชาวอเมริกันที่ประกาศตนว่าเป็นคอมมิวนิสต์


เชื้อชาติ ศาสนา และสงคราม

Like Dew in the Sun (2016)

ผู้กำกับ: ปีเตอร์ เอนเทลล์ (Peter Entell)

เอนเทลล์ถือสัญชาติอเมริกันกับสวิส เพราะเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปู่ย่าตายายของเขาได้ลี้ภัยหนีสงครามและการสังหารหมู่ในยูเครน แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะเปิดกลับมาที่หน้าเดิม เมื่อสงคราม ความรุนแรง การเข่นฆ่าในนามของธงชาติ ศาสนา แผ่นดินแม่ และวัฒนธรรม ยังคงเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ สารคดีจึงย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์บาดแผลของทั้งชาวยิว ชาวทาทาร์มุสลิมจากแคว้นไครเมีย และชาวคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ ซึ่งส่งทอดบ่มเพาะความเจ็บปวดความเกลียดชังต่อมาแบบรุ่นสู่รุ่น ผ่านการพูดคุยกับทั้งชาวยูเครนผู้รักชาติ และฝ่ายสนับสนุนรัสเซียที่ต้องการแยกดินแดน – มองหา “หยาดน้ำค้างกลางแดดแรง” หรือสายสัมพันธ์ของผู้คนที่พอจะก้าวข้ามเส้นแบ่งเหล่านี้ได้บ้าง 

Homeward (2019)

ผู้กำกับ: นาริมาน อาลิเยฟ (Nariman Aliev)

เพราะความตายของลูกชายคนโตที่ดอนบาส พ่อกับน้องชายชาวทาทาร์มุสลิมต้องเดินทางจากกรุงเคียฟกลับบ้าน เพื่อนำร่างพี่ชายกลับไปฝังที่แคว้นไครเมีย ระหว่างการเดินทางที่ยากลำบากปัญหารุมเร้า คลื่นการสื่อสารของพ่อที่เริ่มแก่เฒ่ากับลูกชายที่กำลังเติบโตค่อยๆ เรียนรู้ปรับจูนเข้าหากัน ผ่านการตระหนักรู้ความต้องการ ตัวตน และยอมรับความผิดพลาดในอดีต – Homeward เข้าสายประกวด Un Certain Regard ที่คานส์เมื่อปี 2019 และหนังได้รับเสียงชื่นชมว่าเปรียบเปรยประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครสองพ่อลูกได้งดงามเศร้าสร้อย ประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยของยูเครน และยังทำให้เห็นทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ระหว่างชาวทาทาร์มุสลิมกับคนเชื้อสายยูเครน และอัตลักษณ์ตัวตนที่ถูกเบียดขับเสมอมา


รอยแตกของประวัติศาสตร์

Close Relations (2016)

ผู้กำกับ: วิตาลี มันสกี (Vitaly Mansky)

หลังสิ้นสุดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2014 มันสกีซึ่งเป็นคนทำหนังชาวรัสเซียเชื้อสายยูเครน (ที่เกิดตั้งแต่สมัยโซเวียต) พยายามสืบค้นผลกระทบทางสังคมจากเหตุการณ์ใหญ่ครั้งนั้น ผ่านการพูดคุยกับเครือญาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วยูเครน ทั้งในกรุงเคียฟ ลวิฟ โอเดสซา ดอนบาส ไครเมีย – มองหาคำอธิบายและจุดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างดินแดนที่เป็นกำพืดกับประเทศที่เขาถือสัญชาติ เพื่อหาคำตอบว่ารอยแตกนี้เพิ่งเกิดขึ้นหลังการประท้วงครั้งนี้ หรือร้าวอยู่แล้วตั้งแต่อดีตกาล จากวันที่ยูเครนเสียดินแดนไครเมีย ยานูโควิชหนีจากทำเนียบประธานาธิบดีไปรัสเซีย สืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปนับร้อยปีผ่านสาแหรกเชื้อสายตระกูลขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะยืนอยู่ฝั่งเดียวกันในความขัดแย้งระหว่างประเทศคราวนี้

The Treasures of Crimea (2021)

ผู้กำกับ: อูเกอ ฮูเกินไดจ์ค (Oeke Hoogendijk)

หลังเป็นที่รู้จักของผู้ชม (รวมถึงชาวไทย) ด้วย The New Rijksmuseum (2014) ฮูเกินไดจ์คกลับเข้ามิวเซียมที่อัมสเตอร์ดัมอีกครั้ง แต่คราวนี้พิพิธภัณฑ์ในหนังของเธอกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งสำคัญ เมื่อคอลเลคชันโบราณวัตถุจากแคว้นไครเมียกำลังจัดแสดงอยู่ที่นี่ ในวันที่ไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย – ภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบโครงการกับทีมงานของเขาจึงต้องประชุมหาทางออกครั้งใหญ่ หาคำตอบที่ตอบยากว่าเมื่อสิ้นสุดเวลาจัดแสดง พวกเขาต้องส่งคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ให้ใครกันแน่ คืนทางการยูเครน? หรือคืนแคว้นไครเมีย? (ซึ่งในทางปฏิบัติ เท่ากับการส่งคืนประวัติศาสตร์ของยูเครนให้รัสเซีย?) ยิ่งนานวัน ยิ่งหาจุดลงตัวระหว่างแต่ละฝ่ายไม่ได้ โบราณวัตถุเหล่านี้ยิ่งกลายเป็นจุดสนใจ และภาพสะท้อนของวิกฤติด้านภูมิศาสตร์การเมืองซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่มีผู้ชนะ


ก่อนหน้านี้ Film Club ได้เคยแนะนำหนังและซีรี่ส์ยูเครนไปบ้างแล้ว สามารถย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่:

Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom
Servant of the People
ผลงานของ เซอร์เก ลอซนิตซา (Sergey Loznitsa)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here