Home Film News ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ จาก Boyhood สู่แอนิเมชั่น Apollo 10 ½

ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ จาก Boyhood สู่แอนิเมชั่น Apollo 10 ½

ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ จาก Boyhood สู่แอนิเมชั่น Apollo 10 ½

“ตอนเด็กผมพยายามปกปิดความทุลักทุเลของการเติบโต จนเมื่อผมกลายเป็นพ่อคน ผมถึงเริ่มคิดว่าผมอยากทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็ก”

“เรื่องของเรื่องก็คือ ในขณะที่เรามีหนังเกี่ยวกับนักบินอวกาศและภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา แล้วหนังที่บันทึกความรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ล่ะ ความรู้สึกได้ชิดใกล้กับสิ่งที่เกิดขึ้นล่ะ”

นี่คือไอเดียตั้งต้นของ Apollo 10 ½: A Space Age Childhood หนังโรโตสโคปผสมโมชั่นแคปเจอร์เรื่องล่าสุดของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ โปรดิวซ์โดยเน็ตฟลิกซ์ และเพิ่งฉายรอบแรกในเทศกาล SXSW Film Festival เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ตอบโจทย์คนที่คิดถึงงานโรโตสโคปสไตล์เขาแบบใน Waking Life (2001) และ A Scanner Darkly (2006) หรือประทับใจความนอสตัลเจียอุ่น ๆ ของ Boyhood (2014) มาก่อนแล้ว

“Boyhood เป็นหนังที่เกี่ยวกับส่วนเสี้ยวของชีวิต Apollo ก็เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกี่ยวกับสิ่งที่น่าจะยิ่งใหญ่และสลักสำคัญที่สุดที่มนุษย์เคยทำสำเร็จด้วย” ลิงค์เลเตอร์เล่าถึงที่มาของหนัง

“ผมเริ่มทำ Boyhood ด้วยความคิดที่ว่า ‘นี่ฉันไม่มีเรื่องพิเศษอะไรในวัยเด็กให้ทำหนังเลยนี่’ มันไม่มีอะไรที่น่าสนใจขนาดนั้น ตอนเด็กผมพยายามปกปิดความทุลักทุเลของการเติบโต จนเมื่อผมกลายเป็นพ่อคน ผมถึงเริ่มคิดว่าผมอยากทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็ก ผมรู้สึกว่าผมไม่มีห้วงเวลาที่น่าจดจำในตอนนั้น ผมเลยอยากทำหนังที่เกี่ยวกับทุกอย่างของช่วงชีวิตนั้น นั่นคือที่มาของ Boyhood พอเข้าปีที่สองที่ผมทำ Boyhood ผมก็คิดขึ้นมาได้ว่า ‘เดี๋ยวนะ ปีนั้นพวกเขาเดินบนพื้นดวงจันทร์นี่! นั่นมันน่าสนใจมาก’ แล้วผมก็คิดว่า ‘นี่คือช่วงเวลาที่มหัศจรรย์มากสำหรับการมีชีวิตอยู่เลย!’ ตอนนั้นแหละที่ผมรู้ว่า ผมคือคนเดียวที่จะทำหนังเรื่องนี้ได้”

Apollo 10 ½ เล่าถึงช่วงซัมเมอร์ปี 1969 ที่ชานเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ในช่วงเวลาสำคัญของมนุษยชาติที่นักบินอวกาศของนาซ่ากำลังจะก้าวเท้าลงเหยียบบนพื้นดวงจันทร์ ช่วงชีวิตวัยพรีทีนที่เคยธรรมดาของ “สแตนลีย์” ก็ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เมื่อนาซ่าเชิญเขาไปเข้าร่วมภารกิจลับสุดยอดเพื่อทดสอบระบบไปดวงจันทร์กับยานอะพอลโลสิบครึ่ง (ที่ผลิตมาเล็กเกินไปทำให้นักบินอวกาศผู้ใหญ่เข้าไม่ได้!)

แฟนตาซีของสแตนลีย์กับแฟนตาซีตอนเด็กของลิงค์เลเตอร์ซ้อนทับกัน นั่นก็คือการไปเหยียบดวงจันทร์ นี่จึงเป็นหนังที่เขาทำเพื่อจดจำรายละเอียดของแฟนตาซีนั้น และเขียนบทบันทึกความทรงจำที่สักวันจะเลือนไป

ลิงค์เลเตอร์บอกว่า แม้พ่อของเขาจะไม่ได้ทำงานที่นาซ่า แต่พ่อแม่เพื่อนหลายคนทำงานที่นั่นในตอนนั้น จำนวนคนทำงานที่นาซ่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นและจนในจุดหนึ่งก็มากถึง 4 แสนคน คนดูภาพการลงจอดของยานอะพอลโล 11 ถึง 600 ล้านคน และหนึ่งในนั้นก็คือตัวเขาเองที่อยู่ในช่วงเกรด 2-3 เขาปรับให้ตัวละครอยู่เกรด 4 เพราะอยากทำงานกับตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกนิด แต่ไม่ถึงเกรด 5 เพราะมองว่าความเป็นเด็กทั้งหมดจบสิ้นลงตรงนั้น

หนังเรื่องนี้จึงเป็นส่วนผสมของแฟนตาซีเกี่ยวกับการไปเหยียบดวงจันทร์ ความตื่นเต้นของเขา กลุ่มเพื่อนและพี่น้อง เกี่ยวกับภารกิจของนาซ่า การระลึกถึงบรรยากาศของบ้านเกิดในช่วงเวลาแห่งการเติบโตด้วยท่วงท่าแบบบทกวี และความทรงจำวัยเด็กที่มักจะเล่นตลกกับผู้ใหญ่ที่หวนคิดถึงมัน ผสานกับบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมในยุคนั้นที่พันเกี่ยวกับสงครามอวกาศ สงครามเวียดนาม และการลอบสังหารผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นยุคที่วัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์รุ่งเรือง น่าจดจำ และช่วยให้ใครหลายคนผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้

ในห้วงเวลาที่มืดมนอย่างตอนนี้ หนังเรื่องนี้จึงอาจจะเป็นแสงสว่างที่เตือนว่า ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีความหวัง และวันหนึ่งความหวังนั้นก็อาจจะหวนกลับมา

หลังการฉายที่เทศกาล SXSW หนังสือพิมพ์สกรีนเดลี่เขียนถึงหนังว่า “Apollo 10 ½ สะท้อนว่า ปัจเจกบุคคลมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผ่านปริซึมที่เรียกว่าประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร ….และในหลายครา ไม่สำคัญหรอกว่าความทรงจำเหล่านั้นจะถูกต้องเที่ยงตรงหรือไม่ แต่คำถามที่ว่า ‘เราจดจำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร’ ต่างหากที่สำคัญ”


Apollo 10 ½ จะเริ่มสตรีมทางเน็ตฟลิกซ์ 1 เมษายนนี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here