Home Review Film Review Wandering : ในโลกแห่งการปิดฉลาก

Wandering : ในโลกแห่งการปิดฉลาก

0
Wandering : ในโลกแห่งการปิดฉลาก

*หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ตอนซาระสะอายุสิบขวบ เธอเคยโดนลักพาตัวไป

จะเรียกว่าลักพาตัวก็ไม่ถูกนัก เรื่องจริงคือซาระสะในวัยนั้นเป็นเด็กกึ่งกำพร้า แม่ทิ้งเธอไว้กับป้าและหนีไปกับสามีใหม่ ป้าเห็นเธอเป็นตัวปัญหา และลูกชายวัยม.ต้นของป้าก็ชอบเข้ามาในห้องนอนของเธอ วันนั้นเธอไม่อยากกลับบ้าน แม้ฝนจะตกเธอก็ยังนั่งอ่านหนังสืออยู่ จนมีคนมากางร่มให้

จะเรียกว่าลักพาตัวก็ไม่ถูกนัก เรื่องจริงคือซาระสะในวัยนั้นเป็นเด็กกึ่งกำพร้า แม่ทิ้งเธอไว้กับป้าและหนีไปกับสามีใหม่ ป้าเห็นเธอเป็นตัวปัญหา และลูกชายวัยม.ต้นของป้าก็ชอบเข้ามาในห้องนอนของเธอ วันนั้นเธอไม่อยากกลับบ้าน แม้ฝนจะตกเธอก็ยังนั่งอ่านหนังสืออยู่ จนมีคนมากางร่มให้

เขาคือฟุมิ หนุ่มนักศึกษาผอมบาง คนที่ค่อนข้างเศร้า เขาก็เช่นเดียวกันกับเธอ โดดเดี่ยวอยู่ในสวนสาธารณะ เธอขอไปบ้านเขา เขาอนุญาต เธอนอนหลับที่นั่น หลับอย่างกับคนตาย เขาให้เธอกินไอติมเป็นมื้อค่ำ เธอถามเขาว่าเธออยู่ที่นี่เลยได้ไหม และเขาก็อนุญาตอีก

แต่เขาชอบจ้องมองเธอตอนเธอหลับ เขาตามใจเธอเกินเลยราวกับว่ามีเฉพาะแต่การอยู่ด้วยกันกับเด็กวัยเธอเท่านั้นที่ทำให้เขาสงบจิตใจลงได้ กินข้าวด้วยกัน เล่นกัน ดูการ์ตูนด้วยกัน อ่านบทกวีของ เอดการ์ อลัน โป ด้วยกัน ช่วงเวลาแสนอ่อนโยนของมนุษย์สองคนเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเมื่อฟุมิโดนจับข้อหาพรากผู้เยาว์ เขาเป็นไอ้พวกโลลิคอนรักเด็กและซาระสะเป็นเหยื่อของเขา แม้เธอจะไม่ได้คิดว่าเธอเป็นก็ตาม

หลายปีต่อมา ซาระสะเติบโตขึ้น เธอไม่ได้ข่าวฟุมิอีกเลย ตอนนี้เธอทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ คบหากับชายหนุ่มหน้าตาดี ทำงานบริษัทใหญ่ มีบ้านร่ำรวยที่ต่างจังหวัด ทุกวันหลังเลิกงานเธอรีบกลับบ้านไปทำกับข้าวให้เขา เขาอยากพาเธอไปบ้าน อยากจัดงานแต่งงาน ต่อให้เธอมีอดีตอะไรมาก็ไม่เป็นไร ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนเขาหวงเธอมาก ๆ และมักจะควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ วันหนึ่งเธอกับเพื่อนไปร้านกาแฟลึกลับที่อยู่บนชั้นสองของตึก แล้วเธอพบว่าเจ้าของร้านคือฟุมิของเธอ เขายังคงผอมบางโดดเดี่ยว เธอคิดถึงเขา เธอรู้สึกผิดต่อเขา เธอพบว่าเขามีแฟนแล้ว ใช้ชีวิตเงียบ ๆ แต่เธออยากเจอเขา อยากใช้เวลากับเขา แฟนของเธอตามมาเจอเธอที่ร้าน และทุกอย่างก็เริ่มเลวร้ายลงหลังจากนั้น

นี่คือภาพยนตร์ที่งดงามและเจ็บปวด โดย Lee Sang-il คนทำหนังญี่ปุ่นที่มีเชื้อสายเกาหลี หนังยืนอยู่บนริมขอบของการ romanticise พวกใคร่เด็ก กับการจ้องมองลงไปในน้ำเนื้อของความเป็นมนุษย์ เพราะแม้แต่พวกใคร่เด็กถึงที่สุดก็เป็นมนุษย์ หนังทำให้นึกถึงสารคดีสั้นจากเนเธอร์แลนด์เรื่อง Among Us (2014, Guido Hendrikx) ที่คนทำลงไปพูดคุยกับคนที่เป็นพวกใคร่เด็กซึ่งมีทั้งวัยกลางคนไปจนถึงเด็กวัยรุ่น subject คนหนึ่งในหนังเล่าว่าเขาเฝ้ามองเด็กชายข้างบ้านถอดเสื้อทุกวันโดยไม่อาจระงับอารมณ์เพศของตัวเองได้ เขาถามว่าเขาควรทำอย่างไรดี ในเมื่อเขาเองยังอายุไม่เต็มยี่สิบ เขาต้องอยู่กับความรู้สึกแบบนี้ไปตลอดชีวิต เขาควรฆ่าตัวตายไปเลยหรือเปล่า ทุกอย่างจะได้จบลง

ในโลกของการแปะป้ายติดฉลาก ซาระสะและฟุมิได้รับการแปะป้ายในฐานะเหยื่อและผู้ล่า หนังเปิดตัวซาระสะในวัยผู้ใหญ่ด้วยการให้เด็กวัยรุ่นในร้านที่เธอทำงานดูคลิปการจับฟุมิในอดีต เรื่องราวการถูกลักพาตัวของเธอดำรงคงอยู่ เปลี่ยนเธอจากผู้หญิงคนหนึ่งไปเป็นเหยื่อชั่วนิรันดร์ เช่นเดียวกับที่ฟุมิที่พาเธอไปที่บ้าน แม้เขาไม่ได้ข่มขืนเธอ แต่การกระทำของเขาเพียงพอแล้วที่จะครบองค์ประกอบทางกฎหมายของการพรากผู้เยาว์ และครบองค์ประกอบของสังคมในการแปะป้ายใคร่เด็กให้กับเขา

กล่าวตามจริงหนังอาจจะหมิ่นเหม่และท้าทายได้มากกว่านี้อีกมาก หากฟุมิลงมือกระทำกับซาระสะจริง ๆ อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่ได้กระทำกับซาระสะจริง ๆ กลับไม่ใช่การทำให้พวกใคร่เด็กเป็นเรื่องโรแมนติก แต่นำไปสู่สิ่งซึ่งเจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะเมื่อค้นลงไปในชีวิตของฟุมิ ปมเขื่องในใจของเขาไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกใคร่เด็ก แต่คืออาการป่วยทางกาย ความพิการทางกายภาพของการไม่เติบโตตามวัย และนั่นนำไปสู่ความรู้สึกของการไม่เป็นที่ต้องการจากแม่ การถูกทอดทิ้งชั่วนิรันดร์

หนังฉายภาพครอบครัวของฟุมิที่น่าจะร่ำรวย อยู่บ้านดีไซน์หรู และบอกว่าแม่ไม่สามารถทนกับสิ่งชำรุดได้ ต้นไม้ที่ไม่โตต้องถูกถอนทิ้ง ลูกชายที่ไม่โตต้องถูกเอาไปซ่อนไว้ สิ่งนี้ต่างหากที่กัดกินเขา สำคัญสำหรับเขาเสียจนการเป็นพวกใคร่เด็กก็ยังดีกว่าเป็นของชำรุดของแม่ แปะฉลากชั่วช้ายังดีกว่าฉลากของการคัดทิ้ง เขาถึงกับบอกซาระสะว่าถ้าหากถูกจับคนก็จะได้ ‘รู้ความจริงกัน’

ในขณะเดียวกัน ซาระสะที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นเหยื่อหนึ่งครั้งก็ต้องเป็นไปตลอด แม้เธอจะพยายามบอกทุกคนเบา ๆ ว่าเธอไม่ได้รู้สึกเป็นเหยื่อเลยสักนิดในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานที่มองเธอเป็นเหยื่อ คนรักของเธอก็ยังมองเธอเป็นเหยื่อและใช้ความ ‘ด่างพร้อย’ ที่สังคมแปะป้ายให้เธอให้เป็นประโยชน์สำหรับเด็กขาดรักอย่างเขาที่เชื่อว่า เธอจะไม่มีวันทิ้งเขาไป แม้เขาจะขี้หึงอย่างบ้าคลั่งและไม่สามารถควบคุมการใช้ความรุนแรงในตัวเองได้

หนังเจาะลึกลงไปในตัวเรียวคุง คนรักของซาระสะที่ดูภายนอกปกติได้รับการแปะป้ายเป็นชายหนุ่มอนาคตไกล แต่ภายในกลับสั่นไหวไม่มั่นคง ปรารถนาจะรักและครอบครองคนรักเพื่อชดเชยความรักจากแม่ที่ทิ้งไป เขาเป็นเหมือนด้านตรงข้ามของฟุมิ คนชำรุดขาดพร่องที่อันตราย เพียงแต่สังคมแปะป้ายพวกเขาต่างกัน ที่ทางของสังคมจึงแตกต่างกัน

ในแง่หนึ่งซาระสะจึงกลายเป็นเหยื่อในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ตัว แต่ถูกสังคมแปะป้ายให้เป็นเหยื่อในอีกเรื่องหนึ่งไปแทน การที่เธอไม่สามารถพูดออกมาได้ว่าลูกพี่ลูกน้องของเธอต่างหากที่ล่วงละเมิดเธอ เพราะความกลัวจนพูดไม่ออก ส่งผลให้ฟุมิได้รับบทอาชญากรที่สมบูรณ์แบบ และเธอเก็บความรู้สึกผิดจากการทำร้ายคนเดียวบนโลกที่เธออาจจะรักเอาไว้กับตัว จนเมื่อเธอพบเขาอีกครั้งและบอกกับเขาว่า สำหรับเขา เธออยากจะขอโทษ “ถ้าให้เธอไปตายเธอก็จะไปให้ทันที” เพราะครั้งหนึ่งเขาปกป้องเธอจากโลก แต่เธออ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องเขากลับ อ่อนแอถึงขนาดที่ยอมให้คนรักมีเซ็กซ์ด้วยทุกค่ำคืนทั้งที่เธอไม่รู้สึกรู้สม เป็น asexual ที่ต้องซ่อนความรู้สึกเอาไว้ ทนทรมานในฐานะคนปกติดีกว่าถูกแปะป้ายว่าเป็นเหยื่อไปตลอด


ต้นไม้ที่ไม่โตต้องถูกถอนทิ้ง ลูกชายที่ไม่โตต้องถูกเอาไปซ่อนไว้ สิ่งนี้ต่างหากที่กัดกินเขา สำคัญสำหรับเขาเสียจนการเป็นพวกใคร่เด็กก็ยังดีกว่าเป็นของชำรุดของแม่ แปะฉลากชั่วช้ายังดีกว่าฉลากของการคัดทิ้ง

มันจึงกลายเป็นว่า เด็กหญิงลูกสาวของเพื่อนร่วมงานที่เอามาฝากซาระสะไว้ขณะที่เธอไปเที่ยวกับแฟนใหม่กลายเป็นกระจกสะท้อนของตัวซาระสะในวัยเด็กไปด้วย เมื่อฟุมิกลับมาหาเธอ อย่างก้ำกึ่งว่ามาหาเธอหรือมาหาเด็กหญิงกันแน่ ในเวลาเดียวกันกระบวนการแปะป้ายทางสังคมก็ขยับเขยื้อนกลไกของมันไม่เลิกรา จากคนกับคนไปสู่สื่อ ไปสู่บริษัทของซาระสะ และไปถึงตำรวจ หรือแม้แต่ผู้ชม ยิ่งเมื่อพวกเขาอ่านบทกวีของโปด้วยกัน บทกวีแสนเศร้าเล่าเรื่องของเด็กชายที่มองเห็นความงามในความน่าหวาดสยองของพายุ ทุกคนพร้อมจะกล่าวหาผู้คนโดยมองจากป้ายล่องหนที่แปะไว้กับตัว บทบาทสถานะของเหยื่อ ของผู้ล่า ที่สังคมแขวนไว้ให้พวกเขาจะไม่มีทางสลัดหลุดไปตลอดชีวิต เว้นแต่จะลงมือเชือดข้อมือตัวเองแบบเรียวคุง

หนังจบลงอย่างโรแมนติกที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนสองคนที่ไม่เป็นที่ต้องการของโลก ในอีกทางหนึ่งก็ไม่อาจเป็นของกันและกันได้อย่างสุดใจ เพราะฟุมิไม่อาจทำใจหลงใหลหญิงสาวโตเต็มวัย และซาระสะไม่ปรารถนาเรื่องทางเพศ

หากเพื่อต่อต้านโลกที่ไม่ปรานีต่อความแตกต่าง โลกที่เพียงต้องการการจัดหมวดหมู่และกีดกันคนที่ไม่เข้าพวกออกไปจากสังคมเพื่อให้ตัวเองได้นอนหลับอย่างสบายใจ โลกที่เราเองก็มักเป็นส่วนหนึ่งของการปิดฉลากเหล่านี้ จากความกลัวของเรา ความไม่มั่นคงของเรา และเรามักคิดว่านั่นคือสิ่งชอบธรรม ส่วนสิ่งที่เกิดกับฟุมิและซาระสะก็เป็นเพียงผลข้างเคียงของคนโชคร้ายเท่านั้น แต่พวกเขาก็ตัดสินใจจะต่อต้านโลกของการแปะป้ายไปด้วยกัน ไม่ใช่ด้วยการหันหน้าเข้าหากัน แต่หันมองไปในทิศทางเดียวกัน และอาจจะพิงหลังกันและกัน เพื่อที่จะยืนยันว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนอื่น