ทศวรรษที่ 1960 สงครามเย็นแผ่ขยายเข้าปกคลุมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทหารอเมริกันรวมถึงนักพัฒนาและนักสร้างเขื่อนจากอเมริกา หน่วยงานพัฒนาที่ดิน (BuRec) ทีมเดียวกับที่สร้างเขื่อนฮูเวอร์ การเข้ามาตั้งฐานทัพจำนวนมากในภาคอีสานพร้อมกับเขื่อนถูกสร้างเพื่อส่งกระแสไฟ อูจีน แบลค หัวหน้าทีมประสานงานให้กับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำไทยเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับจอมพลสฤษฎิ์ก็ให้ความร่วมมือกับโครงการสร้างเขื่อนของสหรัฐฯ มีการก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะจอมพลสฤษฎิ์ดำเนินตามนโยบายสหรัฐฯ รวมไปถึง ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศก็สนับสนุนโครงการสร้างเขื่อน
การเข้ามาของอเมริกามีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนจากรัฐนิยมซึ่งเริ่มในสมัยจอมพล ป. เป็นระบอบ “เสรีนิยม” ผ่านการผลักดันโดยธนาคารโลกให้ก่อตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นมาในปี ค.ศ. 1959 การสร้างเขื่อนของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim) เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียต การสร้างเขื่อนในอีสานส่วนหนึ่งนอกจากเพิ่มกระแสไฟฟ้าให้กับฐานทัพอเมริกันใช้ในการทำสงครามเวียดนามแล้ว ยังเพื่อเป็นการแสดงความเจริญก้าวหน้าตามแนวทางทุนนิยมเพื่อจูงใจประเทศอื่นๆ ให้มาเข้าเป็นอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ
ผลจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงทำให้ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เขื่อนทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์กลายสภาพเป็นท้องอ่างเก็บน้ำ สภาพดินไม่เหมาะกับการเกษตร ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านที่ย้ายถิ่นกับผู้อยู่อาศัยเดิม นี่นำไปสู่กระแสการต่อต้านจากชาวบ้านแต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้มากเนื่องจากเป็นยุคเผด็จการทหารที่สืบเนื่องตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษฎิ์ จนถึงถนอม-ประภาส-ณรงค์ ถ้าหากใครต่อต้านการสร้างเขื่อนก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” “ญวนอพยพ” “ไม่ใช่คนไทย” หรือ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” จนกระทั่งปลาย 1980 ชาวบ้านถึงเริ่มร้องเรียนได้
โครงการสร้างเขื่อมผามองนับเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุด คาดว่ามีการอพยพของชาวบ้านกว่า 500,000 คน ในปี 1973 กลุ่ม Quaker องค์กรทางศาสนาคริสต์ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่ใช้ความรุนแรงในการประท้วง ผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้บางส่วนได้รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร กลุ่ม Quaker นี่เองได้เข้ามาเคลื่อนไหวตั้งคำถามผลของการพัฒนา ร่วมกับปัญญาชนไทยได้แก่ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เสน่ห์ จามริก และ ส. ศิวรักษ์ จัดการเสวนา “ผามอง, การตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากรจากบริเวณเขื่อนผามอง ปัญหาทางสังคมเนื่องจากประยุกต์วิทยา” ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 หนังสือพิมพ์ดาวสยาม เอาภาพการเสวนานี้ไปลงในปี พ.ศ. 2519 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมร่วมกับคอมนิวนิสต์รัสเซีย ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ฆาตกรรมกลางกรุง 6 ตุลาคม
หลังจากการเสวนาในครั้งนั้น ไพจง ไหลสกุล (ขณะนั้นทำงานเป็นผู้ช่วยนักข่าวที่ Far Eastern Economic Rview) กับไมเคิล มอร์โรว์หลังจากที่เขาไปทำข่าวการเสวนา ก็เกิดแนวคิดการทำสารคดีโดยมีช่างภาพคือแฟรงค์ กรีน และได้คำสิงห์ ศรีนอกและวิทยากร เชียงกูลเป็นผู้เขียนสคริป โดยให้สุรชัย จันทิมาธรเป็นผู้เชื่อมต่อสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่หลังจากที่ทีมงานได้รับรู้เรื่องราวของทองปาน หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกชักชวนให้มาเสวนา ก็ทำให้ทีมงานเปลี่ยนใจไปทำเรื่องเขาแทน
ไพจง ได้คำแนะนำจากคำสิงห์ในการหานักแสดงผู้มารับบทเป็นทองปาน คือ องอาจ มณีวรรณ์ ผู้มีภูมิลำเนาที่บ้านโนนสัง ตำบลโพนทอง จ.นครราชสีมา เขาเกิดในครอบครัวที่มีพ่อแม่และบรรพบุรุษเป็นชาวนา หลังเรียนจบระดับชั้นประถมสี่ เขาก็ออกมาช่วยครอบครัวทำนา ก่อนจะไล่ล่าตามความฝันเพื่อจะเป็นนักมวย ตอนอายุ 17 ปี จนอายุ 25 ปีก็แต่งงานและเลิกชก กลับมาเป็นชาวนา เขาเคยไปเป็นแรงงานที่ประเทศลิเบียจนพลาดโอกาสไปรับรางวัลสุพรรณหงส์จากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน”
องอาจได้รับบทแสดงเป็นทองปานผู้อพยพหนีเขื่อนมาถึงสองรอบ ไพจงเล่าว่า ทองปาน แม้จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่ในตอนแรกเข้าไม่ได้ถูกเลือกให้เข้าเสวนาเพราะถือเป็นคนนอกของชุมชน เขาเป็นลูกจ้างของชาวนาอีกที ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่มีญาติ เขารับจ้างเลี้ยงไก่ให้ชาวบ้าน ก่อนจะได้เข้ามาร่วมในงานเสวนาของปัญญาชนที่หวังจะเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีปากมีเสียง
คำสิงห์ ศรีนอกเล่าให้ฟังว่า ในระหว่างงานเสวนาทองปานทำกระเป๋าเงินหายในนั้นมีเงินจำนวน 20 บาท เป็นเงินก้อนสุดท้ายของครอบครัว เขาหวังว่าจะนำเงินนั้นไปซื้อยารักษาวัณโรคให้กับภรรยา วันสุดท้ายของการเสวนาเขาขอตัวกลับก่อน เมื่อทีมงานได้ตามเขาไปที่บ้านพบทองปาน “ในอาการคนเมาอยู่ข้างๆ ขวดเหล้า ลูกเล็กๆ และศพของภรรยาของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตก่อนหน้าที่เขาจะถึงบ้าน” หลังจากนั้นทองปานก็ย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง ไพจงและทีมงานก็ไม่ได้พบทองปานอีกเลย
ไพจงเริ่มถ่ายภาพยนตร์เรื่องทองปานเมื่อประมาณ พ.ศ. 2519 โดยฉากงานสัมนาได้ยุทธนา มุกดาสนิทมาช่วยกำกับกล้อง ในฉากนั้นเองที่ไพจงแทบจะปล่อยให้นักแสดงด้นสดแสดงความเห็นของตนเอง จะมีก็แค่นายอำเภอที่เขียนบทให้นักแสดงพูดตาม ฉากที่เหลือถ่ายที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เธอและทีมงานต้องนั่งรถสามล้อเพื่อไปยังสถานที่ถ่ายทำ ระหว่างถ่ายทำทีมงานมักมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ ไพจงเล่าว่า สุรชัยเคยเกือบถูกตำรวจยิง แม้แต่ฉากงานศพก็ยังมีตำรวจมายืนคุม
หลังถ่ายทำเสร็จใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ เธอเอาภาพยนตร์ไปตัดต่อที่ฮ่องกง และต่อมาขายภาพยนตร์ให้กับช่องโทรทัศน์ของประเทศสวีเดน และเงินที่ได้ก็เอาไปทำโพส-โพรดักชั่นจนภาพยนตร์เสร็จประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2520 กว่าจะได้กลับมาฉายที่ไทยก็ปลายปี พ.ศ. 2520 ที่เกอเธ่และสยามสมาคม เธอไม่ได้ขออนุญาตฉายในเมืองไทยในตอนนั้น เพราะคิดว่าเพลง “คนกับควาย” ที่ใช้ประกอบถูกแบน นักแสดงและผู้เกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดหนีเข้าป่า (ในระหว่างนั้นเธออยู่สวีเดน)
ผมหอม พิลาสมบัติ ผู้แสดงเป็นภรรยาของทองปานก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ผมทิพย์ เพราะสามี (ในชีวิตจริง) ของเธอซึ่งเป็นเพื่อนกับคำสิงห์ ศรีนอก เข้าร่วมกับการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และถูกกวาดล้างอย่างหนักหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตำรวจจากนครราชสีมานำเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา เพื่อค้นบ้านของผมหอม
ไพจงเล่าว่า “ทองปานคล้ายกับเป็นหนังชีวิต เวลาดูก็ทำให้นึกถึงชาวบ้านแบบทองปาน นักศึกษาไทยที่อเมริกาดูก็ทำให้เขาคิดว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไรให้ชาวบ้านเหล่านี้ได้ประโยชน์” การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในทางหนึ่ง ผู้ที่ได้ชมส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกลางปัญญาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนที่หวังจะไปพัฒนาสร้างความผาสุกให้กับชาวบ้าน
ตัวภาพยนตร์เองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชนชั้นกลางอยากจะสร้างความสุขให้เกิดกับชนชั้นล่างผ่านภาพจำที่มีต่อคนจนคนอีสาน ทำให้นึกถึงคำพูดของนายอำเภอที่แม้ไพจงจะเป็นคนเขียนบทให้แต่ก็ทำให้เห็นภาพของความต้องการบริหารความสุขเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนคนไทย ดังที่ว่า “ปัญหาของการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้พอใจแก่คนหมู่มากและยาวนานที่สุด”
ตัวภาพยนตร์เองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชนชั้นกลางอยากจะสร้างความสุขให้เกิดกับชนชั้นล่างผ่านภาพจำที่มีต่อคนจนคนอีสาน ทำให้นึกถึงคำพูดของนายอำเภอที่แม้ไพจงจะเป็นคนเขียนบทให้แต่ก็ทำให้เห็นภาพของความต้องการบริหารความสุขเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนคนไทย ดังที่ว่า “ปัญหาของการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้พอใจแก่คนหมู่มากและยาวนานที่สุด”
คำพูดของนายอำเภอมีส่วนที่น่าสนใจพอๆ กับการวิพากย์ตนเองของปัญญาชนในฉากเสวนา “การพัฒนามีทั้งผลดีและผลเสีย ให้ได้ร้อยเปอเซนต์คงไม่มี แต่คำนวณดูแล้วได้รับผลดีมากกว่าเสีย ก็ควรพิจารณากันให้ดี” “เพราะประชาชนไขว้เขว้และมีความไม่เข้าใจ ประชาชนส่วนน้อยควรต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่บ้าง” แนวความคิดเรื่องการจัดการความสุขดังที่นายอำเภอและชนชั้นนำมักยึดถือเอาไว้ใช้ในการปกครองผ่านแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ดังที่ Jeremy Bentham ผู้เผยแพร่แนวคิดนี้ในปลายศตวรรษที่ 18 เน้นในเรื่องของผลลัพธ์ของการกระทำ (consequentialist) โดยยึดหลักว่า “ความสุขสูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด” (The greatest happiness of the greatest number) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก David Hume และ John Priestly
ถ้าบุคคลสามารถสร้างความสุข (happiness) หรือเพิ่มอรรถประโยชน์ (utility) ให้มากขึ้นได้ บุคคลนั้นจะถือว่าได้กระทำในสิ่งที่ดี นี่นำไปสู่การคำนวนอรรถประโยชน์ทางจริยธรรม Bentham เสนอว่าบุคคลที่มีการศึกษาเท่านั้นถึงจะรู้แจ้งถึงการแสวงหาความสุข แนวคิดของ Bentham เป็นผลสำคัญของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของทุนนิยม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ “เสรีนิยม” และปัจเจคบุคคล แทนที่ศาสนจักรและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ Bentham เสนอว่า “นายเหนือหัวของเราคือความสุขกับความทุกข์”
นอกจากนี้ Bentham ผู้เป็นแนวหน้าในการสร้างรัฐโลกวิสัย (secular state) อิสรภาพของการแสดงความคิดเห็น และสิทธิส่วนบุคคล เขายังเป็นผู้ออกแบบคุกสรรพทัศน์ (panopticon) ที่ใช้สอดส่องพฤติกรรมนักโทษแม้จะมีหรือไม่ผู้คุมบนหอคอยนั้นก็ตาม ซึ่งแนวคิดนี้ มิเชล ฟูโกต ก็ได้นำไปพัฒนาต่อว่าเป็นต้นแบบของการควบคุมเรือนร่างของพลเมืองผ่านอำนาจทางวินัย (disciplinary power) ที่ร่างกายตกอยู่ใต้บงการ ทำให้พลเมืองจะเฝ้าระวังพฤติกรรมของตนเองไม่ให้ผิดปกติ
John Stuart Mill ผู้เป็นบุตรของลูกศิษย์ Jeremy Bentham ได้นำแนวคิดของ Bentham มาวิพากย์ใหม่โดยเขาเน้นความสุขในเชิงปัญญา (Aesthetic Pleasure) เช่น ศีลธรรมหรืองานศิลปะ มากกว่าความสุขจากโลกีย์ รวมถึงเน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว (altruism) Mill เป็นผู้ที่เน้นความสำคัญของเสรีภาพซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
แต่แนวคิดที่เน้นยึดเอาอรรถประโยชน์เป็นหลักนี้ก็ได้สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเน้นแต่เรื่องผลลัพธ์ของการกระทำ การเน้นที่ความสุขเป็นสำคัญของคนส่วนใหญ่ได้ละเลยความแตกต่างหลากหลายของบุคคล ความปรารถนาของมนุษย์มีความแตกต่างกัน ความสุขของคนส่วนใหญ่ก็อาจแลกมาด้วยความทุกข์ของคนจำนวนไม่น้อย หรือแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมยอมให้มีการจำกัดเสรีภาพของคนส่วนน้อยเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แต่นักอรรถประโยชน์นิยมก็อ้างว่าการ (คืน) สร้างความสุขให้กับประชาชาชนส่วนใหญ่สุดท้าย ความสุขนั้นก็จะค่อยๆ ตกไปถึงคนจนอยู่ดี ถ้ามัวแต่เน้นเรื่องความเป็นธรรมก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม (totality)
ความสุขได้กลายเป้นเป้าหมายทางการเมือง เป็นเป้าหมายของชนชั้นปกครองที่เอาไว้อ้างในการปกครองคนจำนวนมาก (mass) ในสภาวะสมัยใหม่ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไปได้ด้วยดีกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมที่เน้นสร้างความสุขให้กับคนจำนวนมากที่ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ชนชั้น หรือเพศสภาะวะแบบใด แต่การปฏิบัติการของรัฐที่ต้องสร้างความสุขสร้างรายได้ให้คนจำนวนมากๆ ก็หลีกหนีไม่พ้นการประเมินเชิงปริมาณ เช่น การแข่งกันสร้างความสุขมวลรวมของชาติ (GNH) ซึ่งตามมาด้วยการละเลยมิติเชิงอัติวิสัย (subjective) การสร้างความสุขยังเป็นการสร้างขั้วตรงข้ามนั่นคือความทุกข์ การกระทำใดที่ไม่เป็นประโยชน์หรือสร้างความทุกข์ก็เป็นสิ่งต้องห้ามไม่ดีงาม นั่นทำให้ความสุขกับจริยธรรมเป็นสิ่งแยกออกจากกันไม่ได้ แม้ Bentham จะพยายามแยกศาสนาออกจากการเมืองแล้วก็ตาม
สิ่งที่เรานิยามชะตากรรมของตัวละครผ่านการชมภาพยนตร์ “ทองปาน” ว่านี่คือความทุกข์ การที่เขาและครอบครัวต้องดิ้นรนขัดสน นี่อาจบอกได้หรือไม่ว่าเป็นผลจากโครงการสร้างความสุขของรัฐและชนชั้นปกครองผู้รู้ดี ดังที่ ธเนศ วงยานนาวากล่าวไว้ว่า หลักการความสุขของคนจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนจำนวนมาก ก็พร้อมจะเป็นความทุกข์ หรือพร้อมจะกลับมาทำลายความสุขของคนอีกจำนวนหนึ่ง ความสุขจึงเป็นเป็นความสุขของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
อ้างอิง :
– ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. “30 ปี ผามองและทองปาน: การเมืองของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงยุคสงครามเย็น. 2549
– ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จาก 14 ถึง 6 ตุลา และทองปาน. 2549
– พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู. ชีวิตหลังภาพยนตร์ของนักแสดงสามัญชนใน ทองปาน. 2563
– STILLWATER. ทองปาน 2549. 2007
– ประโยชน์ ส่งกลิ่น. แนวคิดเชิงจริยธรรมในการบริหารรัฐกิจ: การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดเชิงจริยธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน. 2018
– ภูวิน บุณยะเวชชีวิน. จากคอมมิวนิสต์สู่คอมพิวติสต์: การเมืองเรื่องอินเทอร์เน็ต. 2009
– จารุณี วงศ์ละคร. อำนาจชีวะในทัศนะของ มิเชล ฟูโกต์. 2018
– Thomas McMullan. What does the panopticon mean in the age of digital surveillance?. 2015
– ศักดิ์สิทธิ์ ฆารเลิศ. ความสัมพันธ์ระหว่างหลักแห่งอรรถประโยชน์ของจอห์น สจ๊วต มิลล์กับประชาธิปไตย. 2562
– ธเนศ วงศ์ยานนาวา. On Happiness ว่าด้วยความสุข. 2017
ชม “ทองปาน” ได้ที่ Youtube