ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ยาหลอนประสาทของมณีจันทร์ ในหนังทวิภพ

(2004, สุรพงษ์ พินิจค้า)

หนังทวิภพในปี 2547 เป็นหนังย้อนยุคที่ตามรอยบางระจัน (2543) สุริโยไท (2544) และเปิดฉายหลังจากโหมโรงไปไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น กระแสโหยหาความเป็นไทยระลอกนี้ เกิดขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เช่นเดียวการตลาดทุนที่เข้ามาสวนสนามในสังคมไทยอย่างเบิกบาน เห็นได้จากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 ถือเป็นวันที่หุ้นไทยเข้าสู่จุดสูงสุดใน 6 ปีที่ 802.9 จุด นับจากจุดต่ำสุดในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่ 207 จุด เมื่อ 4 กันยายน 2541

แกนหลักของเรื่องกล่าวถึงหญิงสาวที่สามารถผลุบโผล่ไป 2 ภพ นั่นคือ อดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะในหนังได้ยืดระยะการเล่าชีวิตในอดีตข้ามมาถึง 2 รัชสมัยให้สัมพันธ์กับจักรวรรดินิยมที่คุกคามสยามด้วยน้ำมืออังกฤษผ่านสนธิสัญญาเบาวริ่ง และหมาป่าฝรั่งเศสด้วยเหตุการณ์ ร.ศ.112 อาจต้องกล่าวไว้ก่อนว่า หนังนั้นต่างจากเวอร์ชั่นหนังสือโดยทมยันตีที่แต่งขึ้นในปี 2530 พื้นเพจากหนังสือ มณีจันทร์เป็นคนที่ไม่เอาไหนวิชาประวัติศาสตร์ แม้แต่เหตุการณ์ ร.ศ.112 ยังไม่รู้จัก แต่ในเวอร์ชั่นหนังเธอจบประวัติศาสตร์แล้วยังทำงานในสถานทูตฝรั่งเศส อันเป็นถิ่นฐานของศัตรูเลยทีเดียว

ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ ถือว่าทวิภพได้ทะลวงเข้าไปนำเสนอเนื้อในของชาตินิยมได้อย่างจริงจัง เราไม่น่าจะเคยมีหนังเรื่องไหนที่พูดถึง ร.ศ.112 อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 วิตกกังวลอย่างไร ตามประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่เราเล่ากันกันอยู่เสมอๆ กระแสดังกล่าวเป็นบทตัดพ้อที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราผิดหวังกับเศรษฐกิจที่ล่มสลายในต้นทศวรรษ 2540 ดังบทสนทนาที่แม่มณีคนปี 2546 คุยกับคนยุคสนธิสัญญาเบาวริ่ง 2398 ว่า

“เราแต่งตัวแบบตะวันตก นับถือฝรั่งมากกว่าพวกเดียวกัน เรามีทุกอย่างที่ตะวันตกมี เราเป็นทุกอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น เรากินทุกอย่างที่ตะวันตกกิน เราชอบทุกอย่างที่ตะวันตกบอกให้ชอบ เราอยากเป็นเค้า แล้วก็ปฏิเสธที่จะเป็นเรา” แม่มณีเล่า

“ไหนว่าเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นไง แล้วเรายังมีพระเจ้าแผ่นดินมั้ย” หลวงอัครเทพวรากรถาม

“นี่คือ สิ่งเดียวที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรายังเป็นเราอยู่” แม่มณีเล่าอย่างภูมิใจ

นอกจากการบอกกล่าวให้คนรุ่นก่อนฟังถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานาร่วมไปถึงการเปลี่ยนไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” แล้ว มณียังถูกถามว่าแล้วเรานับถือใครระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส มณีตอบแสดงให้เห็นถึงปมด้อยของชาติว่า “เรานับถือไปหมด นอกจากตัวเรา อเมริกาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เด็กๆ ของเราก็นับถือญี่ปุ่นด้วย”

อย่าลืมว่า ตอนนั้น สื่อมวลชนและกลุ่มปัญญาชนสาธารณะเห็นดีเห็นงามกับการโจมตี IMF ที่ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจในประเทศอย่างมหาศาลอันนำมาซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การตัดลดงบประมาณต่างๆ การมีกษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นไทยหนึ่งเดียว ความเป็นเราแบบเดียวให้เรายึดเกาะ และปี 2546-2547 เป็นยุคที่วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นเป็นที่นิยมของเด็กและวัยรุ่นผ่านทางแฟชั่น เสียงเพลงและการ์ตูน

ตัวหนังพยายามแก้ตัวว่า สยามยุคนั้นก็ไม่ธรรมดา ชนชั้นนำสยามมีความพร้อมที่จะรับมือกับแสนยานุภาพจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นความใจสู้พร้อมจะรบด้วยอาวุธ หรือการต่อกรด้วยความรู้ แต่เอาเข้าจริง กำลังทหารของสยามสู้ไม่ได้เลย นำมาซึ่งปัญหา ร.ศ.112 หรือความแห้งแล้งทางภูมิปัญญาดังถ้อยคำที่ หลวงอัครเทพวรากรกล่าวว่า “ในร้อยปีหนึ่ง ประเทศสยามจะมีปราชญ์ สักคนหนึ่งก็แสนเข็ญ” (อนึ่ง ประโยคนี้คือประโยคเดียวกับคำตัดพ้อของแสน ธรรมยศ ในหนังสือ พระเจ้ากรุงสยาม เลยทีเดียว)

ด้วยภาษาหนังที่ตัดสลับยังว่องไว จากฉากนั้นไปสู่ฉากนี้ จากฉากวังหลวงสู่ห้องทำงาน สู่อาคารแบบโคโลเนียล หรือบางทีก็โยนเราไปสู่พื้นที่กลางแจ้ง กลางตลาดร้อยปีที่แล้วอันแสน exotic นั่นทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มไปกับยุคสมัยอันน่าใฝ่ฝัน ด้วยโปรดักชั่นที่ทำให้กรุงเทพฯ ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภาพขาวดำที่เป็นภูมิทัศน์เมืองจากมุมสูงถูกย้อมด้วยสี และทำให้มีความเคลื่อนไหว ได้ทำให้ “ความเป็นไทย” อันน่าโหยหาได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สมดังชื่อหนังในภาษาอังกฤษคือ Siam Renaissance หรือสยามยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

เช่นเดียวกับเรือนร่างของชนชั้นสูง เสื้อผ้าอาภรณ์ อากัปกิริยา ถูกจัดวางอย่างมีสง่าราศี เช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงถึงความมีรสนิยม บทพูดของพระเอกว่า “ลูกผู้ดีต้องคาดเข็มขัดทอง นุ่งซิ่นฟันขาวเป็นลาว ไม่สวย” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความงามแบบสยามที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง อย่ามาทำตัวเป็นพวกลาวที่ด้อยกว่า ไม่ศิวิไลซ์เท่า

ขณะที่สามัญชนในเรื่องเป็นเพียงตัวประกอบทั้งในโลกปัจจุบัน นุ่มเป็นน้องแม่บ้านที่ช่วยรับใช้มณีในปี 2546 ขณะที่เมื่อเธอย้อนกลับไปอดีต เธอก็ไปอยู่ในสถานะพิเศษที่บ่าวไพร่จะต้องคอยดูแล ทุกครั้งที่มณีหายไป พวกเขาจะร้อนใจ เพราะว่านั่นหมายถึงโทษทัณฑ์ปลายทางที่จะโดนโบยเพราะไม่รับผิดชอบให้ดี

การอุปมาว่า สยามจะถูกฮุบดินแดนจากอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการมโนที่เกินจริงโดยแท้ หนังเสนอให้เห็นว่า แม่น้ำเจ้าพระยาจะกลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส อังกฤษมีอำนาจเหนือฝั่งธนฯ ส่วนฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือฝั่งพระนคร

แม้ศัตรูของสยามจะเป็น 2 ชาติอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส อังกฤษมีเซอร์จอห์น บาวริ่งที่แม้จะเป็นคนยโสอันน่าหมั่นไส้ แต่สยามก็ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางการทูตได้ (ในความเป็นจริง อังกฤษนั้นถึงจุดอิ่มตัวในการแสวงอาณานิคมละแวกนี้ เพราะมีทั้งอินเดียและพม่าอยู่ในมือแล้ว) ความมุ่งร้ายให้กับอังกฤษจึงมิได้อยู่ในขั้นเกลียดกลัว ส่วนแรกของหนังแสดงให้เห็นถึงการดีลกับขุนนางตระกูลบุนนาค และการเข้าเฝ้าในวังอย่างสมเกียรติของจอห์น เบาวริ่งพร้อมการเซ็นสัญญาที่เรารู้จักกันดี

แต่ฝรั่งเศสนั้นต่างออกไป ในหนังชี้ให้เห็นผ่านความกักขฬะของกงสุลโอบาเรต์และลามาช ฉากเปิดตัวของโอบาเรต์ก็เป็นการโชว์ภาพที่เขายืนแก้ผ้าอาบน้ำโทงๆ กลางแจ้ง บุคลิกเยี่ยงอันธพาลของเขาเป็นตัวแทนหมาป่าฝรั่งเศสที่กัดไม่เลือก อย่างไรก็ตาม ปมเกลียดฝรั่งเศสนั้นเผยให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการฆ่ากงสุลโอบาเรต์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ การฆ่าลงมือของหลวงอัครเทพวรากรด้วยปืนตามความฝันของโอบาเรต์เอง และครั้งที่ 2 ด้วยน้ำมือของมณีจันทร์ยามที่โอบาเรต์พยายามเข้าลวนลาม ไม้เท้าที่ซ้อนมีดในมือได้พลั้งแทงกงสุลที่น่าขยะแขยงไป และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของหนังและประเทศสยาม

มณีจันทร์ย้อนกลับไปกรุงเทพฯ แล้วพบว่า นุ่ม แม่บ้านได้ทักทายเป็นภาษาฝรั่งเศส และหนักข้อไปกว่านั้นคือ ภาพของหอไอเฟลที่ตระหง่านริมฝั่งเจ้าพระยา เงาของหอไอเฟลที่ทาบทับถนน ทางด่วน และตึกสูง เป็นการตอกย้ำถึงอำนาจของจักรวรรดิฝรั่งเศสอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม หนังได้กำหนดให้มณีจันทร์ย้อนอดีตกลับไปอีกรอบบนเส้นเวลาเดิม เธอได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้วยการผลักให้หญิงชาวอเมริกันเข้าไปชนกับกงสุลโอบาเรต์แทน ดังนั้น การตายของโอบาเรต์จึงถูกแก้ไข อีกนัยหนึ่งก็คือ การเดินหมากรุกทางการเมืองดึงมหาอำนาจในปัจจุบันเข้าไปขวางอำนาจของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ตามไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม การเปลี่ยนรัชสมัยนำมาสู่การเผชิญหน้ากับฝรั่งเศสที่มีจุดสูงสุดอยู่ที่เหตุการณ์ ร.ศ.112 การเสียดินแดน ปรากฏคู่กับการสิ้นชีพของหลวงอัครเทพวรากร คนรักของมณีจันทร์ ตอนจบ มณีจันทร์ไม่ได้กลับมายังปัจจุบันอีก

แต่มณีจันทร์ได้ย้อนไปสู่อดีตจริงๆ น่ะหรือ นักเขียนบางคนตีความว่า มณีจันทร์คือผู้ที่หลงตัวเองอยู่กับกระจก หาคู่ข้ามภพ หลงตัวเองไม่ต่างจากนาร์ซิสซัส และหลงชาติตัวเอง (ทอแสง เชาว์ชุติ, “ทวิภพ กับความหลงตัวเองของมณีจันทร์”, อ่าน 2 : 2 (ตุลาคม-ธันวาคม 2552) : 152-158)


สำหรับผมคิดว่า มณีจันทร์ในหนัง ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับกระจก แต่กลับจมจ่อมอยู่กับยาหลอนประสาทที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยฉบับราชาชาตินิยม ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ มณีจันทร์รู้รายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างดี บทสนทนาของมณีจันทร์กับตัวละครในประวัติศาสตร์อย่างหมอปลัดเล เจ้าพระยากลาโหม (ช่วง บุนนาค) มันคือ จินตนาการบนฐานความรู้ในอดีตแบบบิดเบี้ยวที่เธอมี ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตระกูลนี้ของเธอจึงเห็นแต่ความจงรักภักดีต่อขุนนางตระกูลนี้ แต่ละเลยอำนาจล้นฟ้า อันนำไปสู่ความขัดแย้งกับยุวกษัตริย์ในเวลาต่อมา ข้อสันนิษฐานนี้ มาจากสิ่งที่แม่ของมณีจันทร์สงสัยว่า เธอจะเล่นยาหรือเปล่าแต่เธอก็ไม่กล้าจะคิดไปไกลกว่านั้น

ในตอนจบ เธอได้เลือกแล้วที่จะอยู่ในอีกภพในร้อยปีที่แล้ว การเลือกมีชีวิตอยู่ในยุคหนึ่ง ย่อมหมายถึงการเลือกจบชีวิตอีกยุคหนึ่งไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ การจากไปของมณีจันทร์ด้วยอัตวินิบาตกรรมจึงอาจเป็นเพราะการหนีโลกที่ไม่สมหวังในปัจจุบัน แม้จะอยู่ในยุคที่ทันสมัย แต่อนิจจาเมืองไทยยุคนั้นช่างไม่น่าอยู่ นับถือแต่ฝรั่งและญี่ปุ่น ยังมีครอบครัวที่แตกแยกที่รอเธออยู่ มณีจันทร์น่าจะคิดไม่ต่างจากพระเอกที่ให้ความเห็นว่า “ชาวสยามคงโง่กันทั้งเมือง” เพราะคนไทยแมัจะอ่านออกเขียนได้ แต่ก็อ่านหนังสือกันแค่ปีละ 6 บรรทัดเท่านั้น

ดีไม่ดี อาการโหยหาความรักและผัวของมณีจันทร์ อาจจะปรากฏผ่านสัญลักษณ์ของเพศชายอย่างหอไอเฟล และพระปรางค์วัดอรุณฯ เรื่องได้บอกแล้วว่า มณีจันทร์เลือกอวัยวะเพศชายชาติสยาม

เชื่อว่า มณีจันทร์นี้เองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางจำนวนมากที่เติบโตมากับยากล่อมประวัติศาสตร์ที่จะกลายมาเป็นชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยม ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ เหล่าดาราไทยในทุกวันนี้

หากมณีจันทร์มีชีวิตมาอยู่จนถึงปัจจุบัน คุณคิดว่า มณีจันทร์จะมีสถานภาพทางการเมืองเช่นใด จะกลายเป็นมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุลหรือเปล่า หรือว่าจะตื่นตัวทางการเมืองช้าไปหน่อย คือ มาร่วมกับกปปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ 

หรือว่าจะกลายเป็นไฮโซเมณี่ผู้กลับใจ มาร่วมชุมนุมกับเหล่าเยาวรุ่นแถบดินแดง?

น่าจะมีคนลองแต่งนิยายชื่อ “ทวิตภพ” ในภาคต่อกันดู

LATEST REVIEWS