ในอีกห้าสิบปีต่อมา สิ่งที่พัฒนาไปมีเพียงจรวดเคลื่อนที่เร็วบนฟากฟ้าที่ส่งเสียงเสียดหูผู้คนยามเคลื่อนผ่าน และการบังคับโยกย้ายเทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือลงสู่ชิปที่ฝังเข้าไปในร่าง ท้องแขนของผู้คนกลายเป็นหน้าจอ จำต้องทำเพราะดูเหมือนเงินสดลดความสำคัญเมื่อผู้คนต้องการเงินโอนผ่านท้องแขน รุ่นใหม่ๆ นั้นท้องแขนกลายเป็นหน้าจอเล่นดนตรีโดยส่งสัญญาณตรงไปยังหูได้ด้วยซ้ำ
หากมีเพียงเท่านั้นเองที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นทัศนียภาพของเมืองยังคงเป็นป่าทึบและถนนลูกรัง ที่อยู่อาศัยกระต๊อบไม้ยกพื้นสูงระเกะระกะกลางทุ่ง ยังมีคนตายเปื่อยสลายอยู่ในป่า มีภูติผีเร่ร่อนไป ติดอยู่กับที่ที่ร่างโดนฝังเอาไว้ สำหรับโลกใบนี้ อนาคตคือปัจจุบันที่เก่าลง ชำรุดทรุดโทรมและเสื่อมสลาย
เริ่มต้นจากเรื่องของชายเฒ่าในป่า ถอดรื้อสายไฟออกจากมอเตอร์ไซค์เก่าๆ คันหนึ่ง ที่ถูกซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้ ไม่ไกลกันนั้น มีหัวกะโหลกเปื่อยผุวางอยู่บนดิน มีเศษกระดูกเรียงรายคล้ายศพที่เปื่อยสลายอยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรกโดยไม่เคยถูกเคลื่อนย้าย
เด็กชายคนหนึ่งยืนอยู่ปากทางจ้องมองเข้าไปในป่าตรงนั้นหลายปีก่อนหน้านี้ ที่ตรงนั้นมีผู้หญิงนอนอยู่ในป่า สภาพใกล้ตายเต็มที เด็กชายค้นเจอกระเป๋าใส่เงินที่เธอพกติดตัวมา เธอกำลังตาย เด็กจับมือเธอไว้ตอนที่เธอสิ้นลม เธอจึงติดอยู่กับเขา เธอเริ่มเดินตามเด็กชายไปไหนต่อไหน ว่ากันว่าศพถ้าไม่ถูกเผาตามพิธีทางศาสนาวิญญาณจะไม่ไปเกิด หลายปีต่อมา เธอยังคงเดินตามชายเฒ่าคนนั้น มีแต่ชายเฒ่าและเด็กที่มองเห็นเธอ เดินบนทางดินแดงเสมอมาและตลอดไป ในแต่ละวันเธอจะมาหยุดยืนอยู่หน้ารั้วบ้านหลังเดียวกันทั้งในอดีตและอนาคต เธอคือผีที่สามารถข้ามผ่านกาลเวลาเพราะกาลเวลาของเธอจบสิ้นไปแล้ว
ในโลกฟากหนึ่ง มีผู้หญิงเสียสติขายก๋วยเตี๋ยวคนหนึ่งหายตัวไป ตำรวจออกตามก็ไม่พบ พวกเขามาหาชายเฒ่าเพราะรู้มาว่าชายเฒ่าเป็นคนเห็นผี อาจจะพอตามหาร่างของหญิงที่ถูกเชื่อว่าตายไปแล้วได้ จะได้เอาศพมาประกอบพิธี ลูกสาวคนหายก็กลับมาจากเวียงจันทน์เพื่อตามหาแม่ และขอให้ชายเฒ่าช่วยเหลือแม่ของเธอ เธอย้ายมาอยู่บ้านเขา สังเกตเห็นคราบบนพื้นเรือนและตะปูที่เหมือนมีเศษเนื้อติดอยู่ มันอาจจะหรืออาจะไม่ใช่ร่องรอยของแม่ก็ได้ เธอเจอกระดูกข้อนิ้วห่อผ้าขาวในตู้ เธอเชื่อว่าเขาจะช่วยเธอได้ เพราะเห็นเขาพูดคนเดียวอยู่เรื่อย เขาชงชาดอกไม้แห้งจากในป่าให้ดื่ม และเธอมักหลับใหล
ในโลกอีกฟากหนึ่ง แม่ของเด็กชาย กำลังป่วยหนัก ครอบครัวยากไร้ปลูกผักขาย คนพ่ออารมณ์ร้อนและเมาหัวราน้ำตลอดเวลา เด็กชายวิ่งไปกลับระหว่างบ้านของพ่อกับแผงผักของแม่ มีฝรั่งมาจากที่ไกลๆ บอกจะมาพัฒนาบ้าน พ่ออยากได้รถไถจะได้ปลูกผัก แต่สิ่งที่ได้มาคือโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าที่ไม่รู้จะใช้ไปทำไม เด็กเดินไปกับผีสาวมองดูแม่กำลังตายและพ่อที่กำลังหนี ชายเฒ่าลึกลับโผล่มาหาบอกให้เด็กเอาเงินจากในป่าไปให้แม่แล้วซ่อนไว้ให้ดี ไม่คาดคิดว่าคำแนะนำจะเปลี่ยนชะตาของเด็กและของตัวเอง
หญิงสาวคือผี ผีที่ไม่มีเวลาหากมีคุณสมบัติในการข้ามผ่านกาลเวลา เพราะผีติดอยู่ตลอดไป หญิงสาวที่สาวตลอดกาลนำพาชายเฒ่าข้ามเข้าไปในโลกของเด็กชาย เขาเข้าไปแก้ไขอดีตทีละเล็กน้อยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ ก่อนจะพบว่ายิ่งเขาแก้ ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลงในปัจจุบันทั้งกับตัวเขาเอง แม่ของเด็กชาย และหญิงสาวจากเวียงจันทน์
เราอาจบอกได้ว่า The Long Walk ของ Mattie Do อาจชวนให้คิดถึงหนังอีกสองเรื่องที่ออกฉายไล่เลี่ยกัน หนึ่งคือ Tenet ที่ว่าด้วยการย้อนเวลาเพื่อไปยับยั้งอาชญากรรมด้วยประตูปิดเปิด ที่ทำให้ตัวละครเข้าไปในอดีต ผ่านเวลาที่กลับหลังเพื่อปกป้องอนาคต แต่อนาคตไม่อาจปกป้องได้ เพราะอีกฝั่งที่ต้องต่อสู้ด้วยก็รู้เรื่องนี้เหมือนกัน อีกเรื่องคือ The Call ที่ว่าด้วยตัวละครในปัจจุบันได้รับโทรศัพท์จากอดีต และโดยบังเอิญเธอขอให้คนทางอดีตช่วยแก้ไขบางอย่าง และนั่นทำให้อนาคตของเธอเปลี่ยนแปลง แต่เธอต้องตอบแทนปลายสายในอดีตด้วยการให้ข้อมูลอนาคตของฝั่งอดีตนั้น โดยไม่อาจรู้ว่าอดีตที่เธอช่วยเหลือจะกลับมาควบคุมอนาคตของเธอ ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเช่นการสามารถห้ามการตายของพ่อเป็นเพียงช่วงพักบนชานชาลาของขบวนรถไฟสายเดิม กับสายใหม่ที่พ่อจะต้องตายในอีกแบบหนึ่ง
ถ้าเราเชื่อว่าสายธารของเวลาเป็นเรื่องของพรหมลิขิต สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วย่อมต้องเกิดขึ้น การแก้ไขอดีตก็จะไม่มีความหมาย เพราะมันเป็นเหมือนกับการใช้ทางเบี่ยงที่เมื่อเส้นทางเดิมถูกปิด เหตุการณ์ก็จะไหลไปสู่เส้นทางเลือกอื่นๆ ที่ในที่สุดจะกลับมาบรรจบกับเส้นทางเก่า ทางเบี่ยงจะพาเรามุ่งสู่ปลายทางเดิมไม่ใช่ปลายทางใหม่ ทั้ง The Call และ Tenet ไล่เรื่อยไปจนถึง Back to The Future ต่างอธิบายเวลาในทำนองนี้ การเปลี่ยนอดีตไม่ได้เปลี่ยนอนาคตไปตลอดกาล เพราะมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบลูกโซ่ที่จะย้อนไปสู่ปลายทางเดิม ในขณะที่หนังอย่าง Avengers : Endgame บอกเราว่าเวลาไม่ใช่ทางที่เป็นเส้นตรงแต่เป็นเหมือนแขนงของสายน้ำ ราวกับว่ามีมิติคู่ขนานและความเป็นไปได้ของเหตุการณ์เต็มไปหมด ถ้าเราแก้ไขอดีตที่จุดหนึ่งเท่ากับเราเลี้ยวเข้าไปในความเป็นไปได้อื่นๆ และมันจะพาเราไปสู่กระแสอื่นของเวลา เรื่องเล่าแบบอื่นๆ กล่าวให้ง่ายคือเราสามารถเปลี่ยนอนาคตได้ เพราะอนาคตคือความเป็นไปได้ที่มีหลายมิติคู่ขนาน และ Tenet เองก็บอกไว้เช่นนี้ด้วยการบอกว่า การเปลี่ยนอนาคตไม่ใช่การแก้ไขอดีตแบบโต้งๆ แต่คือการเปลี่ยนความคิดผู้คนคนอื่นๆ ที่มีต่อปัจจุบัน ถ้าเราอยากเปลี่ยนอนาคตเราต้องเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่นๆ และคนที่เปลี่ยนจากภายในจะเป็นบั๊กของกระแสธารเวลาและเปลี่ยนอนาคตจากปัจจุบันไม่ใช่จากอนาคต
ถ้าทั้งหมดชวนให้สับสน เราอาจสรุปง่ายๆ คือมีแนวคิดสองแบบว่า อนาคตเปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แบบแรกชวนให้หดหู่ใจในเส้นทางที่พระพรหมเลือกไว้ให้แล้ว แต่ก็สั่งสอนเราว่าให้ทำปัจจุบันให้ดีเพราะไม่มีอะไรแก้ไขได้ ทางเลือกที่สองบอกว่าอนาคตแก้ไขได้ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปสู่อนาคตแบบใด แต่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงปัจจุบันจะทำให้อนาคตเปลี่ยน ถึงที่สุดทั้งสองแบบคือการอยู่กับปัจจุบันเพื่อพุ่งไปข้างหน้า
หากเวลาใน The Long Walk กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อมองจากฐานคิดแบบพุทธศาสนาที่มองเส้นทางเวลาว่าเป็นการ ‘มูฟออนเป็นวงกลม’ ในนามของวัฏสงสาร เกิดแก่เจ็บตายเกิดใหม่
ตลอดทั้งเรื่องเราจึงมองเห็นความพยายามแก้ไขอดีตของตัวเอง (อดีตของเด็กน้อย) โดยชายเฒ่า เพื่อที่จะพบว่าเมื่อเขาเข้าไปแก้อดีตเรื่องหนึ่งอนาคตของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย จากชายเฒ่าเห็นผีที่คอยช่วยเหลือผู้คนด้วยการุณยฆาต ถึงที่สุดกลายเป็นฆาตกรฆ่าต่อเนื่องเพราะความสะเทือนใจจากการเสียแม่ในอดีต เวลาแบบที่หนึ่ง (แม่ตาย พ่อไปเวียงจันทน์ เติบโตอย่างโดดเดี่ยวกับผีสาวเงียบใบ้ กลายเป็นคนเฒ่าเห็นผีประจำหมู่บ้าน และเข้าใจไปเองว่าคอยช่วยเหลือคนอย่างลับๆ ด้วยการทำให้ตาย) กับเวลาแบบที่สอง (แม่ตายต่อหน้า พ่อขโมยเงินหนีไป เติบโตและกลายเป็นไอ้โรคจิตจับคนมาขังแล้วฆ่า) เป็นเพียงความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะวนกลับมาจุดเดิม แต่จุดเดิมไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ จุดเดิมคือ ‘จุดเริ่มต้น’ ที่จะวนในวงเวียนชีวิตใหม่ ในทรรศนะแบบนี้ วัฏสงสารจึงยิ่งหดหู่มากยิ่งขึ้นเพราะการดิ้นรนไม่ได้นำพาไปสู่สิ่งใด นอกจากวนกลับที่เดิม เราทั้งหมดเป็นเพียงการตายอย่างโดดเดี่ยวแล้วเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานวนไปหลายร้อยหลายพันครั้ง ในฐานคิดแบบนี้จึงมีนิพพานเป็นปลายทาง การไม่กลับมาวนอีก การหลุดพ้นไปโดยตัวเองผู้เดียว ในแง่นี้ ‘นิพพาน’ ได้กลายเป็นทั้งปัญญาและปัญหาที่เราจะไม่หยิบยกมาพูดถึงในที่นี้
ในทรรศนะแบบนี้ วัฏสงสารจึงยิ่งหดหู่มากยิ่งขึ้นเพราะการดิ้นรนไม่ได้นำพาไปสู่สิ่งใด นอกจากวนกลับที่เดิม เราทั้งหมดเป็นเพียงการตายอย่างโดดเดี่ยวแล้วเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานวนไปหลายร้อยหลายพันครั้ง ในฐานคิดแบบนี้จึงมีนิพพานเป็นปลายทาง การไม่กลับมาวนอีก การหลุดพ้นไปโดยตัวเองผู้เดียว ในแง่นี้ ‘นิพพาน’ ได้กลายเป็นทั้งปัญญาและปัญหา
กลับมาพิจารณาวัฏสงสารกันอีกครั้ง เราอาจบอกได้ว่าในทางหนึ่ง วัฏสงสารคือ ‘การเดินเท้าทางไกล’ (The Long Walk) ที่แท้ แถมยังเป็นการเดินทางที่ไม่ไปไหน เพราะเดินอยู่ในวงกลมเดิม แต่วัฏสงสารในเรื่องไม่ใช่เพียงภาพจำลองเฉพาะคนของการตายแล้วเกิดใหม่ แต่ยังเป็นภาพเปรียบเปรยชวนขนหัวลุกเกี่ยวกับรัฐด้วย
เราอาจบอกได้ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดห้าสิบปีนอกจากความแก่เฒ่าลงของตัวละครหลัก หนังฉายภาพการพัฒนาที่แยกขาดออกจากชีวิตอย่างรุนแรง เริ่มจากภาพในอดีตของเด็กชาย การเข้ามาพัฒนาในสิ่งที่คนอื่น (คนนอก คนต่างชาติ นักพัฒนา ชนชั้นกลางในเมือง รัฐ อะไรก็ได้แทนชื่อเข้าไป) เห็นว่าเป็นประโยชน์โดยไม่ได้สนใจความต้องการพื้นฐานที่แท้ มาในรูปของโซลาร์เซลล์ที่จะมอบไฟฟ้าให้กับบ้านที่ยังทำการเกษตรหาเลี้ยงปากท้องด้วยสองมือสองตีน ฉากที่เจ็บปวดคือฉากที่พ่อเอ่ยปากขอรถไถแล้วโดนตอกกลับมาว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจ ให้ไฟฟ้าใช้ก็ควรดีใจไม่ใช่หรือ แต่มีฉากที่เจ็บปวดกว่านั้นเมื่อพ่อเปรยว่าจะเอาไฟฟ้าไปทำไมไม่มีตังค์เสียค่าไฟสักหน่อย แต่สิ่งที่พ่อทำไม่ใช่ความเกรี้ยวกราดที่ถูกหลอกใช้ หากคือคำสั่งให้รักษาแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ให้ดีที่สุดราวกับว่ามันเป็นบุญคุณที่ได้รับมาแม้ว่าไม่ต้องการ และในห้าสิบปีต่อมาแผงโซลาร์เซลล์ก็ยังอยู่
หนังฉายภาพการพัฒนาที่แยกขาดออกจากชีวิตอย่างรุนแรง เริ่มจากภาพในอดีตของเด็กชาย การเข้ามาพัฒนาในสิ่งที่คนอื่น (คนนอก คนต่างชาติ นักพัฒนา ชนชั้นกลางในเมือง รัฐ อะไรก็ได้แทนชื่อเข้าไป) เห็นว่าเป็นประโยชน์โดยไม่ได้สนใจความต้องการพื้นฐานที่แท้
เราอาจขยายภาพการพัฒนาที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชาวประชาหน้าดำในชนบทนี้ได้อีกเมื่อเราเห็นภาพจรวดบินตัดขอบฟ้าที่ไม่ได้ให้อะไรนอกจากเสียงเสียดแก้วหู กับระบบโอนเงินแบบเก่าที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างจนต้องร้องหาเงินสดกันไปเรื่อย ชิปที่มีไว้เพื่อติดตามตัวเอาเข้าจริงก็สามารถถอดทิ้งไปได้จนตำรวจต้องพึ่งคนเห็นผีแทนเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว จนอาจบอกได้ว่าสิ่งที่รัฐมอบให้คือการพัฒนาตามมีตามเกิดที่ไม่ตอบสนองชีวิตตรงหน้า การหยิบยื่นที่เกือบยัดเยียดเพื่อไว้มาทวงบุญคุณทีหลัง ภาพของโลกดินแดง รองเท้าแตะ และความยากจนใน The Long Walk จึงชวนให้นึกถึงภาพเมื่อเร็วๆ นี้ที่หน้าธนาคารแห่งหนึ่งทั่วประเทศไทยที่เหล่าคนทุกข์ยากเข้าไม่ถึงสมาร์ตโฟน ต้อง ‘เดินทางไกล’ (the long walk?) มาเข้าแถวยาวเหยียดหน้าธนาคารเพื่อรอเงินเยียวยาจากรัฐที่เลือกวิธีที่ง่ายจนเกือบมักง่ายให้คนต้องร้องขอ ภาพนี้ซ้อนเข้ากับการเดินยาวนานไปตามทางลูกรังของเด็ก ชายเฒ่าและผีที่ก้มหน้าอย่างไร้ฤทธิ์เดชจะแผลงใส่ใคร
วัฏสงสารของชาวบ้านร้านถิ่น จึงเป็นการ เกิด แก่ เจ็บ และตายไปเองตามมีตามเกิดที่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ผลักกงล้อนี้ให้ไปสู่การเกิดแก่เจ็บตายที่สบายขึ้น เพื่อให้ไปถึงนิพพานได้สะดวกดายขึ้น หากเป็นเพียงปล่อยให้มันเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติและบอกว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไปหานิพพานกันเอาเอง
ชายเฒ่าผู้ข้ามเวลาจึงต้องออกหาหนทางเยียวยาจัดการตนเองด้วยการปฏิเสธวัฏสงสาร ด้วยการปฏิเสธการเผาเพื่อปลดปล่อยตามความเชื่อแบบพุทธ หากฝังร่างของผู้คนไว้ในป่าลึกลับ กักเก็บไว้เป็นภูติผีเพื่อให้ ‘อยู่ด้วยกันอย่างสงบสบาย’ ในโลกที่การตายสบายกว่าการอยู่ เขาเชื่อของเขาแบบนี้ จากประสบการณ์แร้นแค้นในชีวิตที่เคยพานพบ
และการเดินทางข้ามเวลากลับไปแก้ไขอดีตของเขา ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการกลับไปเพื่อหาทางพาแม่กลับมาอยู่ในสุสานส่วนตัวนี้อีกคน ความพยายามในการหลอกใช้ตัวเอง พูดคุยกับเด็กชายเป็นไปเพื่อให้จบสิ้นวัฏสงสารของมารดา โดยการทำให้แม่กลับมาอยู่กับเขาเช่นเดียวกับผีของหญิงสาวและผีตนอื่นๆ ถึงที่สุดการต่อสู้ของเขาก็เป็นรูปแบบของความเห็นแก่ตัวมากกว่าการต่อต้าน
ผีในเรื่องดูไร้ฤทธิ์เดชอะไร เป็นเพียงวิญญาณไร้ปากเสียงแบบเดียวกับมวลชนที่ถูกทำให้เชื่องเซื่องและไร้วิญญาณ ดูเหมือนผีเป็นเพียงเครื่องมือของคนเป็นในการข้ามเวลา ในการมีแต้มต่อของการมองเห็น ในแง่นี้ชายเฒ่าเห็นผี จึงเป็นคล้ายคนที่มองเห็นทุกข์ยากและอาศัยสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อเปลื้องทุกข์ของตนจากการขาดแม่
มันจึงไม่น่าแปลกใจที่การดิ้นรนของเขาจึงไม่ได้ทำให้ทุกอย่างง่ายลงแต่ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น ในทุกการข้ามเวลากลายเป็นการปอกลอกให้เห็นว่า การุณยฆาตมีนามแท้จริงว่าการฆ่าต่อเนื่อง และเมื่อมันไม่เป็นไปตามแผน ผีจะให้โอกาสเขากลับมาเริ่มใหม่ ทรมานใหม่และเจ็บปวดใหม่ แต่การเริ่มต้นใหม่มีความหมายสองแบบคือเป็นโอกาสและเป็นการลงโทษให้ต้องติดอยู่กับสิ่งนี้ไปไม่จบสิ้น
เราจึงอาจบอกได้ว่าผีกลายเป็นส่วนล่างที่สุดของสังคม คนไร้ปากเสียงที่อยู่ก็เจ็บปวด ตายก็ไม่จบสิ้น (เราอาจเจอผีแบบเดียวกันนี้ได้ในนิยายยอดเยี่ยมเรื่อง เนรเทศ ของ ภู กระดาษ ที่ว่าด้วยการ ‘เดินทางไกล’ เช่นเดียวกัน) ในขณะที่คนอย่างชายเฒ่าก็ดิ้นรนเอาตัวรอดไปเรื่อยกลางสมรภูมิของวงจรความยากจนและผลักให้ชุดคิดศีลธรรมของตนไปสู่จุดสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ อาการมึนงงของการไม่อาจควบคุมเวลา เหตุการณ์ หรือชีวิต และแผนการณ์ทวงคืนแม่ของเขายิ่งทำให้ทุกอย่างกลายเป็นวงจรที่เลวร้ายกว่าเดิม ในขณะที่เราก็บอกได้อีกว่าเขาเองก็เป็นเพียงผลพวงของ ‘รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ ที่มองพวกเขาเป็นเพียงผีไร้การพัฒนา