The Koker Trilogy : ภาพยนตร์และภราดรภาพ

(1987, 1992, 1994, Abbas Kiarostami)

เริ่มต้นจากสมุดการบ้านเล่มหนึ่งที่หยิบผิดติดมา สมุดเป็นของเด็กนักเรียนที่นั่งข้างๆ เขาในห้องเรียน ปกสมุดมันเป็นแบบเดียวกันหมด เขาเลยเผลอหยิบมันติดมาที่บ้านด้วย อันที่จริงเขาเอามันไปคืนวันพรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าไม่เพราะครูที่คาดโทษเพื่อนของเขาไว้ ถ้ายังทำการบ้านใส่เศษกระดาษแทนที่จะเป็นสมุดการบ้านมาอีกครั้งล่ะก็ครูจะไล่ออกจริงๆ สำหรับเขานี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เขาอยู่ในหมู่บ้าน Koker ส่วนเพื่อนของเขานั้นรู้เพียงว่าเป็นคนนามสกุลนี้ที่อยู่ในหมู่บ้าน Poshteh ไกลออกไป

หลังจากยื้อกับแม่ที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องเอาไปคืนในวันนี้ เข้าใจว่าลูกชายคงอยากจะไปวิ่งเล่นมากกว่าจะอยู่บ้าน แม่เลยสั่งให้เขาตักน้ำ เลี้ยงน้อง ทำการบ้าน อย่าได้คิดจะออกไปไหนเชียว เว้นแต่จะไปซื้อขนมปังให้แม่ และเขามีเวลาเพียงช่วงสั้นๆ จากการไปซื้อขนมปังที่จะต้องวิ่งซิกแซกข้ามเนินเขา เดินเท้าถามทางไปยังหมู่บ้านที่เขาไม่รู้จัก หาคนที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อเอาสมุดการบ้านไปคืน แต่เขาคิดว่าการเอาสมุดการบ้านไปคืนนี้เป็นเรื่องสำคัญระดับคอขาดบาดตาย เด็กชายวัยประถมจึงมุ่งมั่นออกจากบ้านไป เพื่อเอาสมุดการบ้านไปคืนให้จงได้ 

สามปีต่อมา เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่แถบนั้น พื้นที่ที่ผู้กำกับหนังคนหนึ่งเคยไปถ่ายหนังเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเด็กชายที่เอาสมุดการบ้านไปคืนเพื่อน หลังทราบข่าว เขากับลูกชายขึ้นรถขับออกจากเตหะรานหวังจะไปตามหาเด็กชายที่เคยรับบทนำในหนังเรื่องนั้น ถามทางไปเรื่อยเพราะทางหลักถูกปิด จากหน้าต่างกระจกพวกเขาขับผ่านเมืองที่พังทลาย ผู้คนที่พยายามกอบกู้ตัวเองจากซากปรักหักพังของบ้าน จากจิตใจที่แตกสลายของการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก ผู้คนจำนวนมากไปอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ทางการจัดให้ บางคนก็กลับคืนสู่ซากบ้านเหล่านั้น ระหว่างการตามหาทางลัดทางเลียงที่จะพาเขาไปยังหมู่บ้าน Koker พ่อลูกก็ไปพบกับชีวิตที่ยังคงถูกรุนหลังให้ต้องเคลื่อนไป

ในเวลาเดียวกัน ในกองถ่ายของหนังที่ว่าด้วยพ่อลูกขับรถออกตามหาเด็กชายที่เคยเล่นหนังให้คนพ่อที่เป็นผู้กำกับก็วุ่นวายกับการตามหานักแสดงที่เป็นคนในพื้นที่แผ่นดินไหว บางคนก็มาจากเต็นท์ผู้ประสบภัย บางคนก็มาจากต่างหมู่บ้าน ก่อนที่หนังจะโฟกัสไปที่เรี่องวุ่นๆ ในกองถ่ายเมื่อเด็กหนุ่มที่เขาเลือกมารับบทสามีที่จริงแล้วแอบรักเด็กสาวอยู่และถูกปฏิเสธมาโดยตลอด

นี่คือหนังทั้งสามเรื่องในชื่อที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า The Koker Trilogy เพราะเรื่องราวของหนังทั้งสามเรื่องดำเนินไปอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Koker หนังสามเรื่องที่ไม่ได้เป็นภาคต่อแบบที่เส้นเรื่องดำเนินต่อกันเป็นเส้นตรง แต่กลับเป็นเหมือนการถอยออกมาจากเรื่องเล่าทีละนิดด้วยอาการคล้ายกับการมองเข้าไปในวงปีของต้นไม้ แกนกลางของหัวหอม หรือการขยายออกของจำนวนเลขฟิโบนัชชี เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่มีตอนจบที่เป็นปริศนาไปตลอดกาล

ความแตกต่างเดียวระหว่างผมกับผู้ชมก็คือการที่ผมมีกล้องแต่พวกเขาไม่มี ผมไม่เคยมองว่าผู้ชมของผมจะมีความสร้างสรรค์น้อยไปกว่าผม และผมยังเชื่ออีกว่า บางครั้ง หากปล่อยให้พวกเขาอยู่กับตัวเอง พวกเขาจะหาตอนจบให้กับหนังได้ดีกว่าผมเองเสียอีก! …ผมปรารถนาที่จะมีหนังประเภทที่ผมได้สร้างที่ว่างเอาไว้ข้างในนั้นมาตลอด แบบเดียวกันกับปริศนา (Kiarostami, 1998)1https://www.jstor.org/stable/41858579?seq=1#metadata_info_tab_contents

ลำดับแรกของหนังไตรภาคคือ Where Is The Friend’s Home (1987) หนังเล่าเรื่องตรงไปตรงมาว่าด้วยเด็กชายคนหนึ่งและสมุดการบ้าน ก่อนที่เรื่องเล่าจะถูกทำให้เป็นแค่เรื่องเล่าในหนังที่ทำตัวเหมือนเป็นหนังสารคดีตามหาดาราเด็กในหนังเรื่องนั้นใน And Life Goes On… (1992) ก่อนที่หนังที่เป็นเหมือนเบื้องหลังของหนังตามหาดาราเด็กที่เฉไฉไปสู่ความคลั่งรักจะตามมาใน Through The Olive Trees (1994) หนังสามเรื่องกลายเป็นหนังที่ซ้อนลงบนหนังที่ละชั้น คลี่คลายความงาม ความเป็นไปได้ของภาพยนตร์ ดังที่ Mehrnaz Saeed- Vafa นักวิชาการภาพยนตร์ร่วมชาติได้ให้นิยามถึงสิ่งที่ Kiarostami ยึดถือว่า ‘หนทางที่สั้นที่สุดในการไปสู่ความจริงคือผ่านทางการโกหก’2https://www.criterion.com/current/posts/4139-the-shortest-way-to-the-truth-kiarostami-remembered

ในภาพยนตร์สามเรื่องนี้ จักรวาลของเรื่องเล่าค่อยๆ ขยายตัวออก เพื่อโอบรับความจริงรายรอบเข้าไปไว้ในตัวมันด้วยอย่างงดงาม มันอาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ของเด็กๆ ของและความเอื้อเฟื้อพื้นฐานของมนุษย์ มันอาจเริ่มต้นโดยไม่ได้ตั้งใจว่ามันจะมีภาคต่อๆ มา จนเมื่อปี 1990 สามปีหลังจากหนังออกฉายเกิดแผ่นดินไหวคร้ังใหญ่ Ahmad Kiarostami ลูกชายคนโตของ Abbas เล่าว่า หลังจากทราบข่าวแผ่นดินไหว วันรุ่งขึ้นพ่อของเขาก็ขับรถออกไปที่นั่นทันทีเพื่อตามหาบรรดานักแสดงของเขา ‘พ่อบอกว่า แผ่นดินไหวครั้งนั้นเปลี่ยนมุมมองที่พ่อมีต่อชีวิตไปตลอดกาล’ 

และเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นก็ถูกบันทึกเอาไว้ใน And Life Goes On ความจริงของการตามหานักแสดงถูกนำมาเล่าใหม่ในหนังเรื่องนี้​ ซึ่งได้โอบรับเอาโชคชะตาของผู้คนตามเส้นทางที่ตัวละครผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า (ประการหนึ่งคือหนังของ Kiarostami ในยุคนั้น มักใช้นักแสดงท้องถิ่นที่ไม่ใช่มืออาชีพ ยิ่งทำให้หนังกับชีวิตเข้าใกล้กันมากขึ้น) ภาพยนตร์ของเขาจึงพร่างพรายไปด้วยประกายชีวิต ตัวละครเล็กๆ ที่เพียงผ่านเข้ามาหน้ากล้อง ล้วนมีเรื่องเล่าของตัวเอง พวกเขาเป็นตัวละครและสามารถเลิกเป็นตัวละครได้ทุกเมื่อเพื่อกลับเป็นมนุษย์ 

ภาพยนตร์ของเขาจึงพร่างพรายไปด้วยประกายชีวิต ตัวละครเล็กๆ ที่เพียงผ่านเข้ามาหน้ากล้อง ล้วนมีเรื่องเล่าของตัวเอง พวกเขาเป็นตัวละครและสามารถเลิกเป็นตัวละครได้ทุกเมื่อเพื่อกลับเป็นมนุษย์ 

ใน And Life Goes On… เราไม่ได้เห็นว่าเขาได้พบนักแสดงของเขาหรือเปล่า หากใน Through The Olive Tress นักแสดงเด็กที่เขาตามหากลับโผล่มาเป็นตัวประกอบราวกับแค่เล่นเป็นเด็กนักเรียนแถวนั้นที่ถูกขอให้เอาต้นไม้มาเข้าฉาก ราวกับว่า Where Is Th Friend’s Home เป็นเพียงหนังที่มีอยู่จริงก็เฉพาะแต่ในหนังเรื่อง And Life Goes On… ที่กำลังถูกถ่ายอยู่เท่านั้น เรื่องเล่าถูกผลักให้เป็นเรื่องเล่าของเรื่องเล่าที่ถูกเบียดขับด้วยชีวิตอีกชั้นหนึ่ง หากในทางตรงข้ามตัวละครที่โผล่มาฉากเดียวใน And Life Goes On… ได้กลายเป็นเจ้าของหนังเรื่อง Through The Olive Trees เมื่อหนังเพ่งมองมาทางเขา มองมายังหนุ่มพ่ายรักที่จะได้รับความรักก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในภาพยนตร์ ภาพยนตร์จึงเป็นเสมือนฝันที่เป็นจริงของเขา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างการได้แต่งงานกับหญิงที่เขารักให้เป็นไปได้ มนตราของภาพยนตร์ ได้ทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นเรื่องจริง ทำให้เรื่องเล่าจริงๆ กลายเป็นเรื่องเล่า ทำให้ความจริงเป็นเหมือนความฝัน และทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง ถ้าภาพยนตร์เป็นความลวง ก็เป็นความลวงนี้เองที่คลี่คลาย ส่องสะท้อน และทำให้เราเข้าใจความจริง เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตทำให้เราเข้าใจชีวิต ในบางครั้งรวดเร็วและชัดแจ้งกว่าการใช้ชีวิต

หนังซ้อนหนังของ Kiarostami ลูกเล่นที่น่าทึ่ง หากเทคนิคก็กลายเป็นเนื้อหนัง และหากมองย้อนกลับผ่านดงต้นมะกอกและการคืบเคลื่อนของชีวิตกลับไปยังหนังเรื่องแรกของไตรภาค เราก็พบเห็นความเป็นหนังซ้อนหนังอยู่แต่แรกแล้ว ผ่านสัญญะของประตู

ใน Where is The Friend’s Home คนสุดท้ายที่พา Ahmad ไปบ้านเพื่อนคือชายชราคนหนึ่งที่อาศัยอยูในบ้านประหลาดที่มีหน้าต่างกว้างเท่าประตูบนชั้นสอง คุณตาผู้โดดเดี่ยวป่วยไข้เป็นอดีตช่างทำประตูไม้ลายฉลุอันงดงาม ที่ตอนนี้ประตูบางบานมีค่าอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์ และผู้คนก็เปลี่ยนมใช้ประตูเหล็กหน้าตาน่าเกลียดกันหมด คุณตาเองเดินก็ไม่ค่อยจะไหว และไม่ได้ทำประตูอีกแล้ว คุณตาพา Ahmad ทอดน่องท่องหมู่บ้านระหว่างทาง ชี้ชวนให้เด็กชายดูประตูบ้านหลังต่างๆ ที่เป็นผลงานของเขา มันเป็นเวลาค่ำแล้ว แสงไฟจากในบ้านสาดผ่านกระจกสีและลายฉลุ เกิดแสงเงาซ้อนลวดวายลงบนผนัง กำแพง แสงเรื่อที่คลายกับแสงจากเครื่องฉายภาพยนตร์ส่องลอดผ่านช่องของประตู เด็กชายเดินผ่านแสงและเงา ประตูที่หับปิดบรรจุเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่อยู่หลังประตูเอาไว้ เปิดแง้มเพียงช่องแสงเล็กๆ ให้มองภาพสะท้อน ในทางหนึ่งประตูจึงเป็นเช่นเดียวกับเครื่องฉายและจอ ที่ไว้สำหรับส่องดูชีวิต จนกระทั่งเด็กชายมาถึงบ้านเพื่อนที่ประตูปิดสนิทและไร้เงาสะท้อน ลมพัดมาหอบหนึ่งและเขาตัดสินใจบางอย่าง อันที่จริงประตูปรากฏอยู่ตั้งแต่ฉากแรกของหนัง ประตูบานนั้นตอนแรกพะเยิบไหวอยู่ราวกับมวลเรื่องเล่าพยายามจะออกไปข้างนอก จนครูเดินเข้ามาในห้อง และปิดมันลงจนสนิท ประตูที่ปิดสนิท ประตูที่มีช่องแสง กลายเป็นภาพแทนของเรื่องเล่าที่เปิดออกหรือหับปิด ในตอนท้ายของเรื่อง เด็กชายลงมือทำการบ้านในห้อง จู่ๆ ลมกลางคืนก็กระแทกประตูเปิดออก เห็นมารดาตนกำลังวุ่นอยู่กับการเก็บผ้ากลางกระแสลม ราวกับนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้มองจริงๆ ได้มองชีวิตในฐานะของผู้ชมที่กำลังจ้องมองภาพยนตร์ ผ่านประตู ซึ่งในเวลาต่อมา ภาพยนตร์ในฐานะประตูกลายเป็นหน้าต่างของรถที่เคลื่อนไป ในหนังหลายๆ เรื่องจากนั้นของ Kiarostami ที่มักเล่าเรื่องผ่านการนั่งรถไปด้วยกัน 

ใน And Life Goes On…หนังที่เป็นเหมือนผลึกชีวิตที่เขาได้รับจากการปะทะเข้ากับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และก้าวถัดมาหลังจาก Close-Up (1990) หนังที่ Kiarostami เริ่มเลือนเรื่องเล่าเข้ากับความจริง ก่อนที่จะเอาเทคนิคดังกล่าวมาสานต่อในหนังเรื่องนี้ ผ่านการเดินทางของผู้กำกับหนังและลูกชาย หน้าต่างรถทำหน้าที่แทนจอภาพยนตร์ฉายให้เห็นซากของบ้านเรือนที่พังพินาศ ผู้คนที่หอบข้าวของเดินไปตามถนน ร้านค้าที่ไม่มีอะไรจะขายอีกแล้ว ลูกชายไร้เดียงสาที่คอยถามพ่อถึงสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ขณะที่พ่อแวะถามคนไปเรื่อยๆ ว่าในสภาพบ้านเมืองแบบนี้ เขาจะไปถึง Koker ได้อย่างไร

ภาพของผู้กำกับซ้อนทับเข้ากับภาพของเด็กชายในหนังเรื่องก่อนหน้า ทั้งคู่ทำหน้าที่ตามหาคนเหมือนกัน ในอาณาบริเวณเดียวกัน บนเหล่าลาดเนิน และทางเดินรูปฟันปลา สิ่งที่คนทั้งคู่เหมือนกันคือการทำหน้าที่ของตนในฐานะเพื่อนมนุษย์​ ความห่วงหาอาทรพื้นฐานที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ในหนังของ Abbas ไม่ใช่ความรู้สึกของการเป็นวีรบุรุษกอบกู้โลก ไม่ใช่ความรู้สึกของการเติมเต็มจิตวิญญาณของตนด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น หากมันเรียบง่ายกว่านั้นเพียงแค่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการช่วยเหลือกันและกันบนเส้นความสัมพันธ์อยู่ในระนาบเดียวกัน เพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมโลก คือภราดรภาพไม่ใช่การสงเคราะห์

มนุษย์ในหนังของ Abbas ไม่ใช่ความรู้สึกของการเป็นวีรบุรุษกอบกู้โลก ไม่ใช่ความรู้สึกของการเติมเต็มจิตวิญญาณของตนด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น หากมันเรียบง่ายกว่านั้นเพียงแค่การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการช่วยเหลือกันและกันบนเส้นความสัมพันธ์อยู่ในระนาบเดียวกัน เพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมโลก คือภราดรภาพไม่ใช่การสงเคราะห์

ใน And Life Goes On… ดูเหมือนตัวละครของเขาจะรู้ข้อจำกัดของตัวเองในฐานะชนชั้นกลางจากเมืองหลวงที่เพียงขับรถผ่านผู้คนที่ต้องสูญเสียบ้านเรือนไปจนถึงคนที่ตนรัก หนังเลือกเล่าโดยตั้งกล้องอยู่ในรถมากกว่าที่จะออกไปจับภาพความทุกข์ยาก ภาพที่มีข้อจำกัดตัดสลับระหว่างท้องทุ่ง ลมฟ้าอากาศ และผู้คนเหนื่อยล้า ทุกข์เศร้า หนังใช้สายตาแบบคนนอกที่มีข้อจำกัดของเขา จ้องมองและร่วมทุกข์สุขมาเป็นสายตาเดียวกับของผู้ชม 

ฉากหนึ่งขณะที่เขาจอดแวะส่งนักแสดงที่เล่นเป็นคุณตาใน Where is The Friend’s Home เขาแวะเดินเล่นในหมู่บ้าน ลูกชายพบกับคุณแม่ลูกสี่ที่สูญเสียลูกบางคนและสามีไป บทสนทนาถึงพระเจ้าและความไร้เดียงสาของเด็กที่เป็นความไร้เดียงสาจนเกือบน่าหมั่นไส้ ซ้อนทับกับพ่อที่ได้พบคู่แต่งงานใหม่ที่ตัดสินใจแต่งงานกันทันทีหลังแผ่นดินไหว เพราะไม่อาจรู้ในอนาคตข้างหน้าอีกต่อไปแล้ว ในฉากนี้ ผู้พ่อเดินผ่านบ้านของยายคนหนึ่งที่พยายามจะฉุดกระชากพรมออกมาจากซากบ้าน เขาบอกว่าเขาอยากช่วย แต่เขาปวดหลังเกินกว่าจะทำได้ ทำได้แค่ยกกาน้ำออกมาให้ยายต้มน้ำชงชา เขาถามยายว่าทำไมไม่ให้คนอื่นมาช่วย ยายตอบง่ายๆ ว่าเพราะคนอื่นก็มีปัญหาของตัวเองที่ต้องแก้ไขไม่ต่างกัน อีกฉากหนึ่งที่งดงามมากๆ คือเมื่อเขาจอดถามทาง หญิงชราคนหนึ่งบอกทางเขา พลางพร่ำพรรณนาว่าตัวเองสูญเสียลูกๆ ไปอย่างไร ขณะเขาทำได้เพียงปลอบโยนโดยไม่อาจแก้ไข กับคนที่เขาพอจะรู้จักหรือพอจะช่วยได้ เขาก็รับขึ้นรถมาพาไปส่ง แล้วก็ขอนั่งพัก หรือขอน้ำกินบ้างเขาทำได้เท่านี้และทำได้เพียงเท่านี้เอง

ฉากเล็กๆ เหล่านี้ฉายส่อง ‘ชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป’ ผนังที่แตกร้าวสามารถฉีกเอารูปที่แปะติดอยู่ให้ขาดตามรอยแยกโดยยังคงยึดแน่นกับผนังอยู่อย่างสวยงาม กระถางดอกไม้ในซากหักพังยังมีดอกไม้บานในทุกหนแห่ง ในเต็นท์ผู้อพยพที่สูญเสียบ้าน พวกเขาก็ยังอยากดูบอลโลกในฉากนี้ผู้กำกับถามกับเด็กหนุ่มที่พยายามวางเสาอากาศเพื่อจะดูบอลโลก ว่าทำไมท่ามกลางความโศกเศร้า นายถึงยังมีแก่ใจจะดูบอล และเด็กหนุ่มตอบว่าไม่ใช่ว่าเขาไม่เศร้า เขาเองก็สูญเสียบ้าน น้องสาวและลุงป้าไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อชีวิตต้องเดินต่อไป บอลโลกจัดสี่ปีครั้ง แผ่นดินไหวเกิดสี่สิบปีครั้ง และเขายังคงต้องมีชีวิต (ว่ากันว่าบทสนทนานี้เกิดขึ้นจริงในขณะที่ Kiarostami เดินทางไป)

ผู้กำกับถามกับเด็กหนุ่มที่พยายามวางเสาอากาศเพื่อจะดูบอลโลก ว่าทำไมท่ามกลางความโศกเศร้า นายถึงยังมีแก่ใจจะดูบอล และเด็กหนุ่มตอบว่าไม่ใช่ว่าเขาไม่เศร้า เขาเองก็สูญเสียบ้าน น้องสาวและลุงป้าไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อชีวิตต้องเดินต่อไป บอลโลกจัดสี่ปีครั้ง แผ่นดินไหวเกิดสี่สิบปีครั้ง และเขายังคงต้องมีชีวิต

สัญลักษณ์เหล่านี้กลายเป็นภาพของการยอมรับแต่ไม่ยอมจำนนของผู้คน มนุษย์อาจจะต้องสูญเสีย เจ็บปวดพ่ายแพ้และแต่ละคนอาจจะช่วยเหลือกันได้ไม่มากนัก แต่ความเอื้ออารีอันเสมอภาคจะรักษาเราไว้ในช่วงเวลาที่วิกฤติ วันนี้เราอาจจะเสียทุกอย่างไป แต่ลมยังพัด ดอกไม้ยังบาน บอลยังเตะ ตัวละครง่ายๆ ของ Kiarostami โอบรับความเจ็บปวดยุ่งยากใจเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ลบลืม แต่ก็พยายามจะมีชีวิตต่อ 

ฉากสุดท้ายของหนังจึงงดงามมากๆ ที่เราจะเห็นรถของพ่อไต่เนินขึ้นไปโดยไม่ยอมจอดรับชายคนหนึ่งที่แบกถังแก๊สอยู่ข้างทาง แต่พอรถไถลร่วงลงมาก็เป็นชายคนนั้นที่ช่วยเข็นรถกลับขึ้นไป ในการไปยังจุดหมายปลายทาง ในโลกที่เลวร้าย มีแต่คนเล็กคนน้อยที่ลำบากอย่างเสมอหน้ากันเท่านั้นที่จะคอยช่วยเหลือกัน การไต่รถขึ้นเนินอีกครั้งจึงไม่ใช่แค่การตามหาคน แต่คือการเดินทางผ่านยากลำบากไปด้วยกัน

ความงดงามของความเป็นมนุษย์สามัญ ความมีเรื่องราวของทุกตัวละคร องค์ประกอบ เรื่อเรืองมากขึ้นใน Through The Olive Trees เมื่อ And Life Goes On…กลายเป็นเพียงหนังเรื่องหนึ่งที่กำลังถ่าย และกองถ่ายที่มีผู้กำกับเป็นชายสูงวัยท่าทางใจดีก็ส่งทีมงานออกไปตามหาบรรดาคนแถบนั้นมาเล่นเป็นตัวละครที่ผู้กำกับและลูกชายผ่านทางไปพบ หากใน And Life Goes On… สายตาของ Kiarostami ย้ายออกจากตัวละครหลักแห่งเรื่องเล่าไปหาผู้คนมากมายที่พานพบ เขาก็ขยายสายตานั้นออกมาในภาคนี้ด้วยการหันไปโฟกัสที่ชีวิตของคนที่เป็น ‘ตัวประกอบ’ ฉากเดียวในหนังเรื่องก่อนหน้า

เทียบกับสองเรื่องก่อน Kiarostami เดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ในความเป็นไปได้ของภาพยนตร์ ตัวละครในเรื่องกำลังถ่ายหนัง แต่สิ่งที่อยู่รายรอบกองถ่าย เด็กๆ ที่มาเฝ้าดู ผู้คนที่ยังคงอยู่ในค่ายอพยพ เส้นทางคดเคี้ยวลาดเนินเขา ไปจนถึงบรรดาตัวประกอบต่างๆ ล้วนมีโลกของตัวเอง หนังโฟกัสไปที่ควาไม่ลงรอยของนักแสดงท้องถิ่นกับทีมงาน ตั้งแต่การเลือกเสื้อผ้า ไปจนถึงการที่เด็กหนุ่มๆ ไม่กล้าพูดกับเด็กสาวๆ แม้จะเป็นบทสนทนาในหนัง ก่อนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องหลักของ ฮุสเซน เด็กหนุ่มคลั่งรักกับหญิงสาวที่เขาไฝ่ปอง โดยค่อยๆ ซ้อนทับเข้ากับกระบวนการถ่ายหนังเสียเอง พวกเขาได้เด็กสาวคนหนึ่งมารับบทสาวชาวบ้านที่พ่อลูกพบระหว่างทาง เด็กสาวอุตส่าห์ไปยืมชุดที่สวยที่สุดจากเพื่อนมาใส่เพราะมันเป็นครั้งแรกและอาจจจะเป็นครั้งเดียวที่เธอได้อยู่บนจอหนัง ผู้กำกับชราพบเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เขารู้สึกถูกชะตา เด็กหนุ่มเป็นเด็กวิ่งเสิร์ฟชาในกองถ่าย หลังจากนักแสดงเล่นไม่ได้ ผู้กำกับเลยไปตามเจ้าหนุ่มมาเล่นแทนในบทคู่แต่งงานใหม่ที่ตัดสินใจแต่งงานกันในวันหลังแผ่นดินไหว คู่ของเขาคือเด็กสาวคนนั้น เด็กสาวที่ในความเป็นจริงปฏิเสธรักของเขา เพราะเขาเป็นหนุ่มกำพร้าทำงานก่อสร้างไม่รู้หนังสือ เขาถึงกับบอกว่าจะเลิกทำงานก่อสร้าง อิฐสักก้อนที่ขวางกลางถนนก็จะไม่ลงไปหยิบจับอีกแล้ว บ้านหลังสุดท้ายที่เจาจะสร้างคือบ้านของเขากับเธอ เขาจะเสิร์ฟชาให้เธอ มีดอกไม้แนบมาด้วย เธอจะเสิร์ฟชาให้เขา เขาจะทำอาหารให้เธอกิน เธอเองตอนนี้ก็กำพร้าพ่อแม่เหมือนกับเขา แต่ยายของเธอก็ดูถูกเขา เพราะเขามันจน แต่ถ้าเธอรักเขาแม้เพียงนิด ขอให้เธอพลิกหน้าหนังสือที่เธอเอามาอ่านเตรียมสอบขณะพักกอง ถ้าเธอพลิกหน้าหนังสือเขาจะรักเธอไปจนกว่าเขาจะตาย และการถ่ายทำก็จบลง หน้าหนังสือที่ยังค้าง กระถางดอกไม้ที่ถูกส่งคืนกลับ และเด็กหนุ่มคลั่งรักที่ก็กำลังจะสูญเสียความรักไป

และยังมีดอกไม้ ดอกไม้ข้างทางที่ถูกเก็บไว้ในสมุดการบ้านในหนังเรื่องแรก ที่เป็นเหมือนภาพแทนมิตรภาพเรียบง่าย ดอกไม้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในหนังเรื่องท้าย ดอกไม้ที่บานอยู่ในซากปรักหักพังของบ้านที่ถูกเอามาถ่ายเป็นรังรักของคู่รักหนุ่มสาว ฮุสเซนเด็ดดอกไม้วางบนถาดชาให้หญิงที่เขารัก แต่เธอปฏิเสธมัน เขาจึงเก็บดอกไม้ชนิดเดียวกันนั้น ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ ดอกไม้ที่เธอไม่รับก็จะเป็นของเธอไปเสมอ แม้ว่าเขาสาบานว่าจะไม่ทักเธออีกหากพบเจอเธอ 

และยังมีดอกไม้ไปในทุกหนแห่งทั่วตลอดในหนังทั้งสามเรื่อง ดอกไม้สีชมพู เหลือง ขาว แดงบานอยู่ตรงนั้นตรงนี้ดอกไม้ประดับบ้านพวกนี้ดูเหมือนไม่มีความหมาย แต่มันมีดอกไม้อยู่เสมอ เหมือนกับอากาศบนภูเขาที่ยังคงรื่นรมย์ ดอกไม้เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่จำนนต่อทุกข์ระทมของชีวิต เพราะถึงแม้บ้านจะพังลงไป เรายังรดน้ำให้ดอกไม้บานเสมอ

หากว่าภาพยนตร์คือเรื่องเล่าที่เฝ้าสังเกตชีวิตอันจำเพาะเจาะจงชุดหนึ่ง (ในฐานะนักแสดงนำ) และมองชีวิตอื่นๆ เพียงผ่าน ราวกับตัวประกอบไม่มีชีวิต หนังของ Kiarostami ก็ทำตรงกันข้ามด้วยการผลักให้เด็กชายที่ตามหาเพื่อน ผู้กำกับที่ตามหานักแสดง ตัวเอกของสองเรื่องก่อนหน้า กลายเป็นเพียงตัวประกอบไปเสียเอง ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์สามเรื่องเมื่อประกบกันเข้าจึงเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากเรื่องเล่าของใครใดคนหนึ่งไปสู่เรื่องเล่าของใครก็ได้ ราวกับจะบอกว่าคนทุกคนมีเรื่องเล่า ชายคนครัวที่ปรากฏเพียงฉากเดียวก็เล่าเรื่องภรรยาที่ตายไปของเขา แม้แต่ดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาเพราะไม่ได้รดน้ำก็มีเรื่องเล่าของมันเอง และผู้ชมก็ได้เห็นกับตาถึงการโยกย้ายของสายตาจากเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่นๆ เราทุกคนจึงทัดเทียมกัน เป็นตัวประกอบของกันและกันโดยไม่อาจตัดสินผิดถูกใครได้จากการมองเพียงชั่วครู่ชั่วคราว และการจ้องมองความซื่อสัตย์ของตัวเองในการเป็นคนคลั่งรักของเด็กหนุ่ม ก็พาผู้ชมย้อนกลับไปหาความซื่อสัตย์ของมนุษย์ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีไม่กี่อย่างที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ ในที่สุด เด็กนักเรียน คนทำหนัง และคนคลั่งรักได้กลายเป็นภาพร่างของ เพื่อนร่วมทุกข์ซึ่งกันและกัน

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS