ราด้า แบลงค์ เป็นผู้หญิง เป็นคนดำ เป็นมือเขียนบทละครเวทีดาวรุ่งผู้ดับแสงไปแล้ว ปัจจุบันเธออายุสี่สิบปี นอกจากประกอบอาชีพครูสอนวิชาการเขียนในโรงเรียนมัธยมของรัฐแล้ว งานอีกอย่างของเธอคือปล่อยให้ตัวเองเฉาตายลงไปเฉยๆ ในห้องเช่าขนาดรูหนู
แน่นอนว่าเธอรู้ตัวดีว่าการเปื่อยสลายลงไปตอนนี้ไม่ใช่เรื่องดีนัก เธอยังคงต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการได้มีละครแสดงที่บรอดเวย์สมดังฝัน แต่เป้าหมายก็ดูจะเลือนรางห่างไกลนัก หากไม่ยอมอ่อนข้อลงให้กับพวกคนขาวจอมโอหังที่เป็นใหญ่อยู่ในวงการ
ราวกับพระเจ้ายื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วยวิธีการสุดประหลาด เธอแต่งเพลงแร็ปได้จากสังเกตเห็นก้นงอนๆ ของพวกผู้ชายคนขาวที่เดินผ่านไปมา ราด้าตัดสินใจแล้ว เธอจะเป็นแร็ปเปอร์!
The Forty-Year-Old Version เป็นผลงานการกำกับและการแสดงของราด้า แบลงค์ ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้เปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลซันแดนซ์ปี 2020 และคว้ารางวัลการกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย U.S. Dramatic เมื่อมองในชั้นผิวเผิน มันก็เป็นหนังตลกฟอร์มเล็กล้อโครงสร้างหนังสู้เพื่อฝันทั่วไป แต่เมื่อมองอีกระดับหนึ่ง มันก็แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้หลายระดับของผู้ใหญ่ไม่รู้จักโตในยุคนี้ได้ดุเดือดเหลือเชื่อ
แนวปะทะที่หนึ่ง
ราด้าแก่เกินไปแล้วที่จะเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้มันฟังเพลงอะไรกัน เธอโตมากับเพลงแร็ปที่เป็นเครื่องมือระบายความคับแค้นใจ “ราดามัสไพรม์” ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้ได้ลองอัดเพลงเพราะไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับการริอ่านจะแร็ปครั้งนี้ แม้กระทั่งอาร์ชี่เพื่อนสนิทผู้ควบตำแหน่งเอเยนต์จัดหางานเขียนละครเวทีของเธอก็ไม่เอาด้วย “แร็ปอะไรนะ หล่อนจะแร็ปไปทำไมวะนั่น” ราด้าไม่อาจให้คำอธิบายง่ายๆ ได้ รู้เพียงแค่ว่านี่อาจเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งไม่ให้วิญญาณของตัวเองเฉาลงไป
คนเดียวที่ยอมเอาด้วยกับเหตุก่อการแร็ปของราด้าเห็นจะเป็น “ดี” นักทำบีทดนตรีฮิปฮอปมือฉมัง ฉากที่ดีวิจารณ์เพลงฮิปฮอปท้าต่อยท้าตีไปเรื่อยของแร็ปเปอร์สมัยนี้ว่าไม่เหลือวิญญาณใดๆ แล้ว คือหมัดตรงของราด้าที่ส่งผ่านเขามาอย่างไม่ต้องสงสัย แร็ปช่องทางปล่อยแรงเค้นเครียดของเธอในฐานะผู้หญิง ในฐานะคนดำ ในฐานะคนอายุสี่สิบที่ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย
แนวปะทะที่สอง
เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยวัยกลางคนอื่นๆ ราด้าตระหนักได้แล้วว่าตัวเองกำลังเก่า ทักษะใดๆ ที่เคยมีในยุครุ่งเรืองคือเครื่องยึดเหนี่ยวคุณค่าของเธอเอาไว้ แน่นอนว่าเธอยังฝันถึงการจะได้มีบทละครดีๆ ให้ได้ถูกสร้างและกอบกู้ชื่อเสียงของเธอกลับมาจากการเป็นดาวร่วง เธอทุ่มแรงเขียนบท “ฮาร์เล็ม เอฟ” ละครอันว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของคู่ผัวเมียเจ้าของร้านของชำในย่านฮาร์เล็มที่ถูกสั่นคลอนเมื่อกระบวนการไล่รื้อชุมชนเมือง (Gentrification) ลุกลามมาถึง ฮาร์เล็มจะไม่ใช่ที่ของคนจนอีกต่อไป มือที่มองไม่เห็นของคนขาวฐานะร่ำรวยจะบีบให้พวกเขาจำต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ฮาร์เล็มเอฟถูกปัดตกทันทีที่ถูกเสนอต่อผู้จัดละครเวทีด้วยเหตุที่ว่า มันดำไม่พอถ้าไม่มีฮิปสเตอร์คนขาวปรากฏตัวออกมาเพื่อขับเน้นสิ่งนี้ แน่นอนว่าคนพูดก็เป็นผู้ชายคนขาวรวยๆ พวกนั้นนั่นแหละ
“ถ้าอยากจะก้าวหน้าดูสักหน กูคงต้องช่วยพวกมันชักว่าวกับความจน” เรื่องราวของคนดำจะเป็นที่สนใจของคนขาวก็ต่อเมื่อมันย่อยยับเกินพอดี การรอมชอมให้คนขาวของราด้าจบลงด้วยความเจ็บช้ำแทบทุกครั้ง เป็นเรื่องยากไม่น้อยหากจะต้องตัดสินใจเลือกเอาระหว่างยอมกล้ำกลืนความเจ็บนี้เพื่อกอบกู้เอาความภาคภูมิในฐานะนักเขียนกลับคืน หรือจะยอมรักษาจุดยืนเอาไว้แล้วยอมให้เด็กๆ ในชั้นเรียนจดจำเธอในฐานะนักเขียนไฟมอดตกกระป๋อง (ที่ดันพยายามจะเป็นแร็ปเปอร์เสียด้วย)
เธอมีทางเลือกไม่มาก ถ้าการตัดสินใจครั้งนี้ผิดพลาดราคาที่ต้องจ่ายก็มีมากโข
แนวปะทะสุดท้าย
ราด้าไม่รับโทรศัพท์ของพี่ชายเลยหลังจากแม่ของเธอเสียไป เขาโทรมาขอให้เธอช่วยกันเคลียร์สมบัติของแม่ที่ทิ้งไว้ สมบัติอันอาจจะหมายถึงทั้งภาพวาดจำนวนมหาศาลที่แม่ผู้ศิลปินภาพเขียนระดับแนวหน้าทิ้งเอาไว้ และสมบัติอันหมายถึงความภาคภูมิใจในฐานะศิลปินที่เธออาศัยร่มเงาเพื่อเติบโต เธอรู้ตัวว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในฐานะคนทำงานศิลปะของเธออาจผ่านไปแล้ว และมีเวลาไม่มากที่เธอจะกอบกู้ตัวเองขึ้นมาจากหล่มที่ติดอยู่
หล่มของราด้าไม่ต่างอะไรกับหล่มของพวกเราในวัยกลางคน มันคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือความสำเร็จ เรารู้สึกกระจอกเมื่อเทียบตัวเองกับผู้คนวัยเดียวกันที่อยู่รายล้อม ขณะที่บางคนก็รู้สึกกระจอกไม่แพ้กันเมื่อมองกลับมาหาเรา ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา หรือจะมีทุกอย่างทั้งหมดที่ว่ามานั้นเราก็ยังไม่อาจเคารพตัวเองในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งได้เสียที ฉากที่ประทับใจผู้เขียนมากเป็นพิเศษคือฉากที่การตะกุยตะกายขึ้นจากหล่มของเธอสิ้นสุดลง เมื่อราด้ายื่นไมตรีในรูปอาหารให้แก่คนไร้บ้านจอมโวยวายที่อยู่ถนนฝั่งตรงข้ามอพาร์ตเมนต์
ไม่… เธอไม่ได้หนทางสว่างจากเฒ่าวิเศษลึกลับแบบที่เราจะหาได้จากหนังเสริมกำลังใจทั่วไป “ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษที่นอนขี้รดกางเกงอย่างที่เธอหวังหรอกโว้ย” ถูกต้องแล้ว เธอเองนั้นแหละที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความสำเร็จ มันจะมาเมื่อไร เธอจะภาคภูมิใจกับตัวเองได้มากแค่ไหน มันก็เป็นเรื่องของเธอ
หลังการแสดงรอบปฐมทัศน์จบลง ฮาร์เลมเอฟไม่ใช่ของของเธออีกต่อไป ราด้าโยนไมค์ทิ้ง เธอไม่เหลืออะไรจะเสียอีกต่อไป ไม่สิ… เธอเสียมามาพอแล้วต่างหาก ภาพบนจอหนังขาวดำค่อยเปลี่ยนมามีสีสัน ราด้าในหนังกับราด้าตัวจริงหลอมรวมเข้าหากันอย่างสมบูรณ์ เธอหยอกล้อกับผู้ชายอายุน้อยกว่า พลางกินขนมขบเคี้ยวราคาถูกอย่างเปี่ยมชีวา
ราด้า แบลงค์เป็นผู้หญิง เป็นคนดำ เป็นมนุษย์วัยกลางคนผู้มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
คุณสามารถรับชม The Forty-Years-Old Version ได้แล้วที่ Netflix